xs
xsm
sm
md
lg

คำ“ปาย” ที่หายไป/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี
บรรยากาศถนนคนเดินปาย
กลางเดือนกุมภาพันธ์ปี 2552

นี่เป็นการกลับมาเยือน“ปาย”อีกครั้ง

ปายยามนี้เป็นโค้งสุดท้ายของฤดูกาลท่องเที่ยวที่ยังดูคึกคักใช่ย่อย

ถนนคนเดินไฮไลท์เมืองปายยุคใหม่ ในคืนวันที่ผมไปแอ่วยังมีมนต์แม่เหล็กดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างถิ่นไปเบียดเสียดจอแจบนถนนสายนี้กันโดยไม่ได้นัดหมาย เมื่อม่านราตรีคลี่ปกคลุม

ถนนคนเดินปายหลายคนบอกดูๆแล้วนับวันยิ่งมายิ่งคล้ายถนนข้าวสารเข้าไปทุกที

แรกๆผมก็ว่าอย่างนั้น เห็นอย่างนั้น แต่หลังๆเมื่อมีโอกาสเดินที่ถนนคนเดินปายมากขึ้น ได้สัมผัส ได้สังเกต พบว่าถนนคนเดินปาย มีอัตลักษณ์แห่งความเป็นปายยุคใหม่อยู่ไม่น้อยเลย

ที่เด่นๆเห็นชัดมาก็คือเรื่อง การขายไอเดีย ขายความเป็นปาย ขายความเป็นศิลปะ ขายความแอ็คอาร์ต ขายรสนิยม ขายความพึงพอใจเฉพาะกลุ่ม ขายความ(พยายามทำให้)แปลกกว่าชาวบ้าน รวมไปถึงการขายอัตตา-อีโก้ของคนบางกลุ่มบางพวก
เสื้อยืดปาย มีขายมากมายบนถนนคนเดินปาย
อัตลักษณ์ปายเหล่านี้ดูง่ายๆได้จาก บรรดาร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านสินค้าที่ระลึก ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นความพยายามทำให้ดูเป็นงานศิลปะ เน้นความกิ๊บเก๋ เน้นมุมแจ่มๆ มุมแนวๆ มุมแปลกๆเอาไว้ให้พวกนักท่องเที่ยว วัยรุ่น เด็กแนวถ่ายรูปกัน ชนิดที่ใครนำไปลงในฮิ 5 (Hi 5 ) ก็รู้ว่านี่มันเป็นมุมแบบปายๆที่ไม่ว่าใครจะชอบหรือไม่ชอบ มันก็กลายเป็นมุมมหาชนของคนเที่ยวปายไปแล้ว

อัตลักษณ์ปายอีกอย่างหนึ่งที่ผมเห็นว่าโดดเด่นมาก สามารถแสดงให้คนรู้จักปายได้อย่างชัดเจนและมาแรงมาในช่วงนี้ก็คือ“คำปาย”ที่ปรากฏอยู่แทบทุกหัวระแหงบนถนนคนเดินปาย

คำปาย ในนิยามของผมเป็นคำที่ใช้เรียกหาอะไรก็ได้ที่มีชื่อของ“ปาย”เข้าไปเกี่ยวข้อง เรียกว่าพอเห็นปุ๊บก็รู้ปั๊บว่านี่คือปาย ถ่ายรูปที่ปาย ซื้อมาจากปาย

สำหรับคำปายที่เห็นเด่นชัด ก็คือคำปายบนเสื้อยืดหรือที่บางคนเรียกว่า“เสื้อยืดปาย” ซึ่งมาแรงมากๆในช่วง 2-3 ปีหลัง ขึ้นชั้นสินค้าฮอตฮิตสุดฤทธิ์สุดเดชโดนใจกลุ่มนักเดินทางผู้นิยมปายยิ่งนัก

เสื้อยืดปาย ไม่เน้นแบรนด์ดัง แต่เน้นขายไอเดียความเป็นปาย ที่กลั่นมาจากมันสมองของบรรดาครีเอทีพ พ่อค้า แม่ค้า และการลอกเลียนของนักฉวยโอกาสบางคน ที่สุดแท้แต่จะสรรหาคำปาย คำเก๋ๆ คำเท่ๆ มุกแจ่มๆ คำอาร์ตๆ คำโดนๆ หรือแม้กระทั่งคำเชยๆ(แต่อาจโดนใจใครบางคน) มาสกรีน เพ้นท์ เขียนลงในเสื้อยืดปายกันเต็มถนนคนเดิน

ยกตัวอย่างเสื้อยืดปาย(คำปาย)ที่ผมจำได้ก็มี อ้วก+หลับ = ปาย,ปาย ไปมาแล้ว,ไปมาแล้ว ปาย,at Pai, ปาย 762 โค้ง, กว่าจะถึงปายอ้วกแทบตาย,ปิ๊ง ปาย,เคยรึยัง ไปDrunk ที่...ปาย,สุดปาย สุด...(เป็นรูปส้นเท้าเปลือยๆ 1 คู่) ปายค่ะ,ปายครับ และอีกสารพัดสารพันคำปายที่มีปรากฏอยู่บนเสื้อยืดของบรรดาพ่อค้าแม่ค้าหัวใสที่เสกสรรปั้นแต่งคำปายมาขายกันได้อย่างแยบยล

นอกจากเสื้อยืดปายแล้ว คำ(ที่เกี่ยวกับ)ปายยังปรากฎอยู่ตามสินค้าที่ระลึกอื่นๆอีก อาทิ สติ๊กเกอร์-อะไรก็ปาย(และคำปายอื่นๆอีกเพียบ),กล่องไม้ขีด-ไปปายมา, ป้ายคล้องคอ-รักคนที่ปาย เป็นต้น

ในขณะที่ร้านรวงจำนวนหนึ่งก็นิยมเลือกใช้คำปายมาเป็นจุดดึงดูดลูกค้า ยกตัวอย่างเช่น @ pai ,ชมปาย,เพราะปายมีแรงดึดดูด,ไข่ปาย(ขายไข่ป่ามอาหารพื้นบ้าน),ปายหนาว(pai now) ณ สี่แยกปายหนาว ฯลฯ

การที่คำ(ว่า)ปายกลายเป็นคำสุดฮอตฮิตนั้น แน่นอนว่าปัจจัยสำคัญมาจากการที่เมืองปายสามารถครองใจนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจนกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวสุดฮอตแห่งยุค นอกจากนี้คำปายหากมองด้วยสายตานักการตลาด ถือว่ามีคุณสมบัติยอดเยี่ยมในทางการขายไม่เบา เพราะมันสั้น กระชับ ง่าย โดน สามารถไปใช้ผสมเล่นคำกับอื่นๆได้ไม่ยาก อาทิ ปายไหนปายกัน,สุดสายปายทาง,ปายก็ได้ไม่ปายก็ดี,ไม่ไกลกันเกินปาย,ให้มันเป็นปาย,ต้นร้ายปายดี เป็นต้น

เรียกว่าคำว่าปาย มันมีเสน่ห์ มีความโดดเด่น และมีความแรงอยู่ในตัวของตัวเอง

คุณความดีข้อนี้คงต้องยกให้กับบรรพบุรุษที่พากันเรียกขานเมืองนี้กันว่าเมืองปาย ซึ่ง ณ วันนี้ ตำนานชื่อเมืองปายยังคงมีหลายตำนานหลายที่มาให้ศึกษาตีความกัน

ตำนานแรก ชื่อ“ปาย” เพี้ยนมา"ป้าย" แต่ไม่ใช่ป้ายโฆษณาที่มีอยู่เกลื่อนเมืองปายหรอกนะ หากแต่เป็น คำว่า“ป้าย” ภาษาไทยใหญ่ที่แปลว่า หนี หรืออพยพ ที่น่าจะเป็นการอพยพของย้ายถิ่นของชาวไทยใหญ่มาตั้งรกรากอยู่ ณ ดินแดนแห่งนี้
ของที่ระลึกแบบปายๆ
ตำนานต่อมา"ปาย"มาจากชื่อของ "ขุนส่างปาย"เจ้าเมืองปายคนแรก

อีกตำนานหนึ่งบอกว่า ปายน่าจะมาจาก ชาวพ่ายหรือไปร(กลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้ภาษาตระกูลออสโตร-เอเชียติก สาขาว้า-เรียง) ประชากรดั้งเดิมที่มีหลักฐานการตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่แถบนี้

ส่วนอีกตำนานหนึ่งว่าไว้ ปาย แปลว่า มีช้างมากหรือเป็นที่รวมของช้างจำนวนมาก ซึ่งชาวไทยใหญ่เรียกช้างป่า 1 ตัว ว่าช้าง 1 ปาย

ตำนานสุดท้าย "ปาย"มาจากคำว่า"พลาย" (มีการบันทึกในหอสมุดแห่งชาติ) เนื่องจากเคยเป็นชุมชนเล็กๆแต่มีช้างพลาย(ช้างเพศผู้)อาศัยอยู่ชุกชุมและสามารถคล้องช้างส่งไปเป็นเครื่องบรรณาการให้กรุงศรีอยุธยาได้หลายเชือก โดยเดิมนั้นน่าจะเรียก“เมืองพลาย” ก่อนเพี้ยนเป็น “เมืองปาย”ในปัจจุบัน (ตำนานนี้สอดคล้องกับตำนานชื่อเมืองแม่ฮ่องสอนและเป็นตำนานที่มีคนยอมรับมากที่สุด)

และนั่นก็เป็นตำนานอันหลากหลายของคำว่าปายที่วันนี้กลายเป็นคำสุดฮอตฮิต ถูกอ้างอิงถูกใช้อย่างแพร่หลายกว้างขวาง โดยเฉพาะใน google นั้น จากสถิติระบุว่า“ปาย” คือคำค้นหาอันดับหนึ่งของสถานที่ท่องเที่ยวไทยในปีที่ผ่านมา

สำหรับผมเมื่อพูดถึงความเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมของปายแล้วใจหนึ่งก็ยินดีด้วย แต่อีกใจหนึ่งก็อดเป็นห่วงปายไม่ได้ เพราะปายยุคใหม่ในวันนี้ช่างแตกต่างจากปายยุคแรกๆที่เพิ่งเปิดเป็นเมืองท่องเที่ยวชนิดที่แทบจำไม่ได้

ยุคนั้นเมืองปายสำหรับผมคือ เมืองสงบงามกลางอ้อมกอดแห่งขุนเขา เมืองที่มีสายน้ำชุมฉ่ำ(แม่น้ำปาย)ไหลผ่าน เมืองแห่งรอยยิ้มมิตรไมตรีในวิถีแห่งชาวไทยใหญ่และชาวเมืองปาย เมืองแห่งที่พักราคาประหยัดพร้อมความจริงใจของผู้ประกอบการที่พัก ร้านค้า ร้านอาหาร

ช่วงแรกที่ผมไปปายเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วรู้สึกว่าวันเวลาที่ปายมันดูเดินช้ากว่าปกติอย่างเหลือเชื่อ(แม้หัวใจจะยังคงเต้นในจังหวะความถี่เท่าเดิม)

ปายยุคนั้นจึงเป็นดัง"ยูโทปาย"เมืองในฝันของนักแสวงหา ที่เหมาะแก่การทิ้งชีวิตเส็งเคร็งในเมืองใหญ่(ชั่วคราว) แล้วไปชาร์จแบ็ตหัวใจในเมืองปายให้เต็มล้น ก่อนนำกลับมาเป็นพลังต่อสู้กับวิถีแก่งแย่งในเมืองใหญ่ต่อไป

แต่ปายวันนี้ ไม่ใช่เมืองในฝันของผมอีกต่อไป หากแต่เป็นเมืองท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ แถมยังเป็นเมืองท่องเที่ยวที่เติบโตมากับกระบวนการการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบไทยๆ ที่มุ่งเน้นการกอบโกยมากกว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืน

คิดๆแล้วก็อดเสียดาย“ยูโทปาย”ในยุคนั้นไม่ได้

ยูโทปาย คำๆนี้ไม่น่าเชื่อว่าในคืนวันนั้นบนถนนคนเดินปาย มันคือคำที่ผมพยายามค้นหาเท่าไหร่ก็ค้นหามันไม่เจอ
กำลังโหลดความคิดเห็น