ประกายความคิดจากการตกผลึกทางความรู้และประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ทำให้ผลการประชุมนัก วิชาการและผู้ปฏิบัติงานด้านผู้สูงอายุในประเทศไทยทั้งในเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่จัดโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) สนับสนุนโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ว่าด้วยทิศทางการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุไทยน่าพิจารณายิ่ง
ดังข้อมูลของ ทพญ.กนิษฐา บุญธรรมเจริญ นักวิชาการด้านผู้สูงอายุจากสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศกล่าวในการประชุม ทิศทางการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุไทย จัดโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ว่าสถานการณ์ของผู้สูงอายุไทยว่ากำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอันเนื่องมาจากโครงสร้างประชากรไทยเปลี่ยนแปลงไปมากจากการลดลงของประชากรวัยเด็ก จากร้อยละ 30 ในปี 2537 เหลือร้อยละ 24.9 และ 22.4 ในปี 2545 และ 2550 ตามลำดับ สวนทางกลับจำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นมาก จากร้อยละ 6.8 ในปี 2537 เป็นร้อยละ 9.4 และ 10.7 ในปี 2545 และ 2550
ปัจจุบันประเทศไทยจึงก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว โดยมีผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งต้องการความช่วยเหลือดูแลจากลูกหลานเพื่อจะดำรงชีวิตหรือใช้ชีวิตประจำวันต่อไปได้ ผู้สูงอายุเหล่านี้จำต้องพึ่งพิงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และจิตใจ
ภาวะพึ่งพิงเหล่านี้วางอยู่บนเงื่อนไขความสามารถในการดำเนินกิจวัตรประจำวัน โดยจะใช้ตัวชี้วัด Activity Daily Living (ADL) วัดความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันของผู้สูงอายุ ทั้งด้านการอาบน้ำ แต่งตัว รับประทานอาหาร ลุก-นั่ง เคลื่อนที่ ใช้ห้องน้ำ และอาจรวมการกลั้นปัสสาวะและอุจจาระด้วย
ทั้งนี้ ดัชนี ADL จะบอกสังคมให้ทราบถึงภาวการณ์พึ่งพิง หรือสุขภาพการทำงานของร่างกาย (Functional health) ของประชากร ว่าต้องการการดูแล และการจัดบริการช่วยเหลือดูแลมากน้อยขนาดไหน อย่างไร ในประเทศไทยได้ทำการสำรวจภาวะสุขภาพโดยการตรวจร่างกายในปี 2546 ซึ่งรายงานภาวะพึ่งพิงในกิจวัตรพื้นฐานประจำวันที่ผู้สูงอายุไม่สามารถทำได้ในเกณฑ์ปกติของเพศหญิงมีมากกว่าชาย คือราวร้อยละ 3.8 ในผู้หญิง และร้อยละ 4.9 ในผู้ชาย ส่วนด้านการขับถ่ายพบว่ามีผู้สูงอายุที่ไม่อยู่ในเกณฑ์ปกติ ร้อยละ 4.9 และร ้อยละ 7.1 ในชายและหญิงตามลำดับ โดยภาวะพึ่งพิงทั้งสองด้านนี้จะเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น
การศึกษาของนภาพร ชโยวรรณ จากการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทยโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2545 พบผู้สูงอายุร้อยละ 6.3 ต้องอยู่อาศัยคนเดียว ขณะที่มีร้อยละ 7.4 ของผู้ที่ประเมินว่าตนเองสุขภาพไม่ดี และ 2.9 ของผู้สูงอายุที่ทุพพลภาพอาศัยอยู่คนเดียว ยิ่งกว่านั้นเมื่อพิจารณาด้านรายได้ด้วยแล้วจะพบว่ามีผู้สูงอายุมากถึง 1 ใน 4 ที่มีภาวะเปราะบางทางเศรษฐกิจ หรือมีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท/ปี ดังนั้นถ้าผู้สูงอายุเหล่านี้ประสบปัญหาสุขภาพเจ็บป่วยหรือทุพพลภาพก็จำเป็นต้องพึ่งพิงบุตรหลานดูแลทั้งทางร่างกายและเศรษฐกิจ
มากกว่านั้น ข้อมูลของ ทพญ.กนิษฐา ยังย้ำว่าการสูญเสียปีสุขภาวะ (DALYs) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดภาวะสุขภาพโดยรวมทั้งจากการตายและความบกพร่องทางสุขภาพ โดยคำนึงถึงระยะเวลาที่ตายก่อนวัยอันควร และระยะเวลาที่มีชีวิตอยู่ด้วยความพิการหรือความบกพร่องทางสุขภาพ พบว่าประชากรไทยในปี 2547 มีการสูญเสียปีสุขภาวะในผู้สูงอายุประมาณ 1.4 และ 1.5 ล้านปีในชายและหญิงตามลำดับ โดยโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุอันดับ 1 ของการสูญเสียปี! สุขภาวะในชายและหญิงมากถึงร้อยละ 12.5 และ 13.5 โดยโรคร้ายนี้ได้นำความเสี่ยงที่จะเกิดเส้นเลือดในสมองตีบ-แตก แล้วกลายเป็นอัมพฤตหรืออัมพาตตามมา
นอกจากนี้ผู้สูงอายุยังเผชิญโรคสมองเสื่อม พิการทางสายตา และโรคข้อเสื่อม ด้วย ถ้าหากโรคร้ายเหล่านี้รุมเร้าเมื่อใด ผู้สูงอายุนั้นๆ ก็จะตกอยู่ในภาวะต้องพึ่งพิงผู้อื่นทั้งสิ้น ผู้สูงอายุไทยที่มีภาวะพึ่งพิงจึงเพิ่มจำนวนขึ้นมากอย่างน่ากังวล
อนึ่ง ถึงแม้ว่าครอบครัวจะยังคงเป็นแหล่งหลักในการดูแลผู้สูงอายุอยู่ หากก็ลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของจำนวนบุตรเฉลี่ยที่ลดลง การอยู่เป็นโสดมากขึ้น การอยู่อาศัยแบบครอบครัวขยายที่ลดลง การย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยเพื่อการประกอบอาชีพ ประชากรมีอายุขัยเฉลี่ยสูงขึ้นหรือได้รับการรักษาที่ช่วยยืดชีวิตให้อยู่ยาวนานขึ้นถึงจะมีความพิการร่วมด้วยก็ตาม ตลอดจนผู้สูงอายุเองถึงจะมีคู่สมรสและบุตร แต่ก็มีไม่น้อยต้องอยู่ลำพัง ไม่ได้อยู่ด้วยกันกับบุตรหรือคู่สมรสเมื่อย่างเข้าวัยชรา
ข้อมูลข้างต้นจึงชี้ชัดว่าวันนี้สังคมทุกภาคส่วนต้องร่วมกันตอบอย่างจริงจังแล้วว่าครอบครัวจะยังคงแบกรับภาระการดูแลผู้สูงอายุได้ดีมากน้อยแค่ไหน ในช่วงขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุยังค่อนข้างสูง ตลอดจนสถาบันทางสังคมอื่นๆ ยังไม่มีแนวทางชัดเจนว่าจะเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนครอบครัวดูแลผู้สูงอายุที่ประสบภาวะพึ่งพิงอย่างไรบ้าง