xs
xsm
sm
md
lg

เผยผลวิจัย เด็กไทย 1 ใน 4 ยิ่งโตยิ่งโง่!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เปิดผลวิจัยเด็กไทย 1 ใน 4 สมองทึบตกเกณฑ์มาตรฐาน ชี้ยิ่งโตยิ่งโง่ เหตุปัจจัยสิ่งแวดล้อม อาหาร หลักสูตรการศึกษา ขณะที่ “หมอประเวศ” ย้ำจีดีพีไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดการพัฒนาประเทศ ชี้ข้อมูลสำคัญมากถ้าพัฒนาระบบ 

วันนี้ (17 ก.พ.)  ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเกี่ยวข้องรวม 30 องค์กร จัดการประชุมวิชาการ ระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1 หัวข้อ “ข้อมูลสุขภาพเข้มข้น สุขภาพชุมชนเข้มแข็ง” 
 
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวว่า การพัฒนาประเทศไม่ควรใช้จีดีพีเป็นเป้าหมายสูงสุดในการพัฒนาประเทศ แต่ควรตั้งเป้าหมายไปที่การมีสุขภาพดี เพราะสุขภาพหมายถึงทุกอย่างทั้งกายและใจ ซึ่งประเทศไทยมีทรัพยากรเพียงพอที่จะทำให้ประชาชนมีสุขภาพดีได้ แต่ต้องทำให้เกิดการพัฒนาอย่างสมดุล หากนำข้อมูลมาคิดและปฏิบัติ และวิเคราะห์ ก็จะเกิดเป็นความรู้

“การพัฒนาระบบสุขภาพควรเริ่มจากชุมชน คือไม่ทิ้งกัน ควรมีการสำรวจประชากร เช่น คนจน พิการ คนชรา ว่าถูกทอดทิ้งหรือไม่ เท่าไร เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการช่วยเหลือ ขณะที่ภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ต้องทำงานเชิงรุก อย่างบางจังหวัดมีพยาบาลเยอะ ก็ควรมีระบบส่งเสริมให้พยาบาลไปเป็นอาสาพยาบาลในชุมชน โดยอาจเพิ่มแรงจูงใจ ซึ่งหากมีการดำเนินการมากขึ้นก็อาจจะจัดตั้งเป็นคลินิกพยาบาลเวชปฏิบัติ ขายไปตามศูนย์อนามัยต่างๆ ได้อีกทาง” ศ.นพ.ประเวศ กล่าว

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า ระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบสุขภาพ ทั้งใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 และธรรมนูญสุขภาพว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2552 การมีข้อมูลข่าวสารสุขภาพที่ดี หมายถึงการนำข้อมูลแปลงเป็นสารสนเทศ แล้วสร้างให้เกิดความรู้ จึงเป็นเครื่องมือสำคัญของการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศและท้องถิ่นให้เข้มแข็ง การมีข้อมูลข่าวสารสุขภาพที่ดีเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการสร้างระบบข้อมูลและความรู้ที่ยั่งยืน

รศ.นพ.วิชัย เอกพลากร ผอ.สำนักงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย กล่าวถึงวิจัยเรื่องการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายว่า ประเทศไทยทำโครงการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยทั่วประเทศใน 21 จังหวัดครั้งล่าสุดในปี 2551-2552 ในประชากร ด้วยการสัมภาษณ์ ตรวจสุขภาพ เช่น ตรวจเลือด วัดความสูง น้ำหนัก พบกลุ่มตัวอย่างอายุ 1-14 ปี จำนวน 9,000 คน ในเรื่องการพัฒนาการทางสมอง ข้อมูลเบื้องต้นถือว่าน่าตกใจ เพราะมีเด็กที่มีเชาวน์ปัญญา(IQ) ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยมาตรฐาน คือ 90 จุดลงมา มีถึง 1 ใน 4 หรือประมาณร้อยละ 25 ส่วนเด็กไอคิวปกติ 90-109 อยู่ที่ร้อยละ 40 และไอคิวเกินมาตฐานแบ่งเป็น สมองดีร้อยละ 12 ฉลาดละ 3 และอัจฉริยะร้อยละ 2 ซึ่งเกณฑ์ของไอคิวที่ต่ำกว่ามาตรฐานไม่ควรมีเกินจำนวน 1 ใน 4

“ผลจากการสำรวจเบื้องต้นชี้ให้เห็นว่า พัฒนาการของเด็กลดลงเมื่อเริ่มเข้าโรงเรียน แสดงให้เห็นว่าสิ่งแวดล้อม การศึกษา อาหาร มีส่วนประกอบทำให้เด็กไอคิวแย่ลง ซึ่งควรนำข้อมูลดังกล่าวไปสู่การวางแผนปรับแก้การกระตุ้นพัฒนาการของเด็กตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งที่ผ่านมาจากการสำรวจหลายครั้งก็ยังได้ผลใกล้เคียงกับตัวเลขดังกล่าว ทั้งนี้โอกาสที่จะพัฒนาเด็กให้มีไอคิวดีขึ้นสามารถทำได้ด้วยการเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม อาหาร หลักสูตรการศึกษา อาจจะสามารถแก้ปัญหาได้” รศ.นพ.วิชัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น