xs
xsm
sm
md
lg

ผลสำรวจไข้หวัดใหญ่ 2009 พบผู้ติดเชื้อแล้ว 17% อีก 5.8% ไม่แสดงอาการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สวทช. แถลงผลการประเมินสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 จากการสำรวจแบบสอบถามกับประชากรกลุ่มตัวอย่างใน 4 จังหวัด ร่วมกับการสุ่มเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจหาภูมิคุ้มกัน ที่ดำเนินการศึกษาร่วมกับกรมควบคุมโรค มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
สวทช. จับมือสำนักระบาดวิทยาและสวนดุสิตโพล ลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ 2009 ในกลุ่มตัวแทนประชากร 4 ภูมิภาค ร่วมกับการสุ่มเจาะเลือดตรวจวัดภูมิคุ้มกันเพื่อยืนยันการติดเชื้อที่แท้จริง พบผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่แล้วราว 17.2% และอีก 5.8% ที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ นักวิจัยเผย แม้การระบาดระลอกที่ 2 มีจำนวนผู้ป่วยลดลงจากระลอกแรก แต่อย่าประมาทเพราะยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน

รศ.นพ.ประสิทธ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่าตั้งแต่มีการพบผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ H1N1 หรือไข้หวัดใหญ่ 2009 ในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อประมาณเดือน เม.ย. 2552 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในช่วงของการระบาดระลอกที่ 2 มีจำนวนผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการประมาณ 35,000 กว่าราย และเสียชีวิต 218 ราย (ข้อมูลถึงวันที่ 17 มี.ค.53) แต่คาดว่ายังมีผู้ติดเชื้ออีกเป็นจำนวนมากที่มีอาการไม่รุนแรง และไม่ได้รับการยืนยันการติดเชื้ออย่างเป็นทางการ

สวทช. จึงได้ร่วบกับสำนักระบาดวิทยา, สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ทำแบบสำรวจสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่กระจายอยู่ในชุมชน โดยที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ได้เข้ารับการรักษาในระบบสาธารณสุข ควบคู่กับการสุ่มเจาะเลือดตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกันต่อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เพื่อยืนยันอัตราการติดเชื้อที่แท้จริงสำหรับประเมินสถานการณ์การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในประเทศไทย และแนวโน้มการระบาดในอนาคต โดยมีระยะเวลาดำเนินงานตั้งแต่เดือน ก.ค.52-เม.ย.53

ด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษกลุ่มวิจัยและพัฒนานักระบาดวิทยา สำนักระบาดวิทยา ซึ่งร่วมในทีมวิจัย เปิดถึงวิธีการสำรวจว่า ได้เลือกทำการสำรวจประชากรที่เคยป่วยด้วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือมีอาการไข้ ไอ และเจ็บคอ ในพื้นที่ 8 อำเภอ ใน 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ นครราชสีมา และนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 อยู่ในอันดับต้นๆ โดยทำการสำรวจ 3 ช่วงเวลา

ขณะนี้ดำเนินการสำรวจไปแล้ว 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ในเดือน ก.ค.-ก.ย.52 และครั้งที่ 2 ในเดือน พ.ย.52-ม.ค.53 สำรวจเป็นจำนวน 1,683 ครอบครัว รวมสมาชิกครอบครัวทั้งสิ้น 6,312 คน ร่วมกับการสุ่มเก็บตัวอย่างเลือดจากประชากรกลุ่มตัวอย่างในจังหวัดชียงใหม่และนครศรีธรรมราช จำนวน 84 ครอบครัว ซึ่งมีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 222 คน ในช่วงเดือน ก.ค.-ธ.ค.52

ผลการสำรวจประมาณการณ์ได้ว่ามีประชากรกลุ่มตัวอย่างติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่แล้ว 17.2% ของประชากร โดยแบ่งเป็นในช่วงแรก 9.4% และในช่วงที่ 2 คิดเป็น 7.8% หรือหากเทียบสัดส่วนกับประชากรทั่วประเทศ ประมาณได้ว่ามีผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่แล้ว 10 ล้านคน หรือราว 1 ใน 6 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งได้มีการแถลงข่าวผลการศึกษาในช่วงแรกไปเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 53 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ เข้าร่วมพร้อมกับสื่อมวลชนอีกจำนวนมาก และนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการประเมินสถานการณ์ของโรคระบาดโดยใช้แบบสำรวจข้อมูลเชิงสังคมร่วมกับการสำรวจเชิงคุณภาพโดยการสุ่มเก็บตัวอย่างเลือด

นพ.จักรรัฐ บอกอีกว่าจากการสำรวจดังกล่าวยังพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ประมาณ 60-70% ไม่ไปพบแพทย์ เนื่องจากมีอาการไม่รุนแรง อีกทั้งยังพบว่ามีประชากรประมาณ 5.8% ที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ แต่ไม่แสดงอาการป่วย

"ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจในครั้งนี้สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อทำนายการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในระยะต่อไป และเตรียมความพร้อมในการควบคุมและป้องกันการระบาด รวมทั้งยังสามารถใช้เป็นแนวทางในการสำรวจการระบาดของโรคติดเชื้ออื่นๆ ได้ โดยไม่ต้องใช้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านสาธารณสุขมากนัก และหากเลือกกลุ่มประชากรตัวอย่างได้เหมาะสม ก็จะทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นตัวแทนของประชากรทั้งหมดได้" นพ.จักรรัฐ กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ และสื่อมวลชน

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร จากสำนักระบาดวิทยา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในประเทศไทยขณะนี้อยู่ในช่วงปลายของระลอกที่ 2 ซึ่งโดยรวมแล้วมีจำนวนผู้ป่วยลดลงจากการระบาดในระลอกแรก โดยจังหวัดที่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จังหวัดระยอง กรุงเทพฯ นนทบุรี พะเยา และเชียงใหม่

"แม้จำนวนผู้ติดเชื้อในระลอกที่สองจะน้อยลง แต่ก็ยังไม่ควรประมาท เพราะยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ยังไม่เคยติดเชื้อและไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคดังกล่าว ฉะนั้นประชาชนจึงควรดูแลสุขภาพและปฏิบัติตามคำแนะนำในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่อย่างเคร่งครัด และเตรียมพร้อมรับมือกับการระบาดของโรคอย่างต่อเนื่อง" นพ.โสภณ กล่าว
รศ.นพ.ประสิทธ์ ผลิตผลการพิมพ์
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์
กำลังโหลดความคิดเห็น