“สมัชชาสตรี 4 ภาค” เสนอ 4 ประเด็น สตรีกับเศรษฐกิจ-สุขภาพ-การเมือง-สิทธิความเท่าเทียม มอบรัฐบาลจัดทำนโยบายเร่งผลักดัน กฎหมายแรงงานต่างด้าว เงินทุนประกอบอาชีพ ให้สิทธิพิเศษด้านภาษีแก่องค์กรช่วยเหลือสตรี ออกกฎหมายทำแท้งอย่างเสรี บรรจุหลักสูตรเพศศึกษาทุกระดับการเรียน เพิ่มงบพัฒนาความรู้การเมือง กำหนดสัดส่วนผู้หญิงในการเมืองทุกระดับ จัดตั้งโรงเรียนผู้นำหญิง ช่วยเหลือเยาวชนตั้งครรภ์ไม่พร้อม ดูแลหญิงหม้าย เด็กจากผลกระทบความรุนแรง 3 จังหวัดชายแดนใต้ “จรัญ” ค้านกฎหมายทำแท้งเสรีไม่เป็นประโยชน์ เป็นอุปสรรคบั่นทอนสตรี
วันนี้ (4 มี.ค.) ที่ห้องรอยัลจูบิลี บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จัดการประชุมสมัชชาสตรีแห่งชาติ ประจำปี 2552 ภายใต้หัวข้อ “สองทศวรรษการพัฒนาสตรีสู่ความเป็นเสมอภาคหญิงชายในประเทศไทย” โดยการรับฟังข้อเสนอจากกลุ่มตัวแทนสมัชชาสตรี 4 ภาค พร้อมทั้งมีผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ ทำการวิเคราะห์ เพื่อสรุปเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายแก่รัฐบาลต่อไป ทั้งนี้ นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้เป็นประธานเปิดการประชุมฯ พร้อมทั้งกล่าวว่า สถานภาพของสตรีในปัจจุบันนี้ได้รับการยอมรับมากขึ้น สังคมมีการเปิดโอกาสให้แก่สตรีมีสิทธิเท่าเทียมกับผู้ชายหลายอย่าง เช่น หญิงที่สมรสแล้วก็สามารถเลือกใช้นามสกุลตัวเองได้ หรือเลือกที่จะใช้คำนำหน้าเป็นนางสาวเหมือนเดิมได้ เป็นต้น และทางรัฐบาลเองก็จะให้ความดูแลสตรีให้มากกว่าเดิม โดยรวมไปถึงสตรีผู้พิการ หรือคนที่ไม่มีงานทำ ถูกกดขี่ ถูกเอาเปรียบทางเพศ เพื่อให้พวกเขาเหล่านี้ได้รับโอกาสมากขึ้น จะได้ไม่ถูกล่อลวงเพื่อนำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์ จึงได้สั่งการให้สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) เข้ามาดูแล เพื่อนำข้อเสนอที่ได้จากการประชุมสมัชชาในวันนี้ที่เป็นประโยชน์ไปดำเนินการ
นายอิสสระกล่าวต่อว่า ในส่วนความเสมอภาคของผู้หญิงในทางการเมืองนั้นมีเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน เพราะที่ผ่านมาในส่วนของหน่วยงานราชการ ระดับกระทรวง หรือระดับภูมิภาคก็มีนักบริหารเป็นสุภาพสตรี ปัจจุบันนี้สังคมเปิดกว้างไม่มีอะไรมาปิดกั้นอีกต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อเสนอที่กลุ่มตัวแทนจากสมัชชาสตรี 4 ภาค ได้นำเสนอนั้นแบ่งได้เป็น 4 ประเด็นได้แก่ 1.สตรีกับเศรษฐกิจ เช่น การบังคับใช้กฎหมายแรงงานต่างด้าวอย่างจริงจัง เพิ่มเงินทดแทน สงเคราะห์ ค่าตอบแทน สวัสดิการ เช่นการลาคลอด จัดตั้งกองทุนพัฒนาสตรีในทุกระดับ สนับสนุนเงินทุนประกอบอาชีพสตรีว่างงาน ผู้ต้องขังหญิง ช่วยเหลือกลุ่มสตรี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การให้สิทธิพิเศษด้านภาษีแก่องค์กรที่ช่วยเหลือสตรี กำหนดให้มีโครงการอาสาลาออกในสถานประกอบการและมีเงินทุนสำหรับการประกอบธุรกิจเองได้ เป็นต้น
2.สตรีกับสุขภาพ เช่น การกำหนดมาตรฐานการเข้าถึงสุขภาพผู้หญิง การออกกฎหมายการยุติการตั้งครรภ์อย่างเสรี มีนโยบายให้สิทธิในการตรวจสุขภาพของประชาชนตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป การบรรจุเรื่องเพศศึกษาลงในหลักสูตรการเรียนการสอนทุกระดับ ผลักดันให้มีพระราชบัญญัติสุขภาพของผู้หญิง หรือนโยบายด้านสวัสดิการสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ระยะสุดท้ายอย่างชัดเจน เป็นต้น
3.สตรีกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง เช่น สนับสนุนงบประมาณการพัฒนาความรู้ทางการเมืองสตรี กำหนดสัดส่วนของผู้หญิงในการเมืองทุกระดับให้ใกล้เคียงกัน จัดตั้งโรงเรียนการเมือง/ผู้นำสำหรับสตรี ให้สตรีมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้มีหลักสูตรสตรีศึกษา ตลอดจนการสร้างความเข้าใจแก่ผู้ชาย เพื่อสนับสนุนสตรีให้มีบทบาททางการเมือง เป็นต้น
และ 4.สิทธิมนุษยชนของสตรี เช่น การปรับสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อความปลอดภัย การจัดพื้นที่ทำกินให้กลุ่มชาติพันธุ์อย่างชัดเจน สนับสนุนงบองค์กรสตรี บรรจุเรื่องสิทธิความเสมอภาคหญิงชายไว้ในหลักสูตรการเรียนทุกระดับ มีนโยบายให้การช่วยเหลือเยาวชนที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม สนับสนุนช่วยเหลือหญิงหม้ายและเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ด้านนายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า โลกปัจจุบันจำนวนผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เช่นเดียวกับประเทศไทยผู้หญิงก็มีมากกว่าชายถึงล้านเศษ ทำอย่างไรจะให้ผู้หญิงมีวิถีชีวิตที่ปลอดภัย มีคุณภาพชีวิตไม่ด้อยไปกว่าอารยประเทศ แง่กฎหมายเรามีกฎหมายดีหลาบฉบับทั้งกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ กฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว แต่ไม่สามารถปฏิบัติให้มีผลบังคับใช้ได้จริงจัง อีกทั้งปณิธานการเมืองเรื่องสิทธิสตรีของผู้นำสตรียังไม่เพียงพอ พรรคการเมืองทุกพรรคไม่มีนโยบายสตรีที่สำคัญ พูดไว้เหมือนแค่ดอกไม้ประดับ เพราะนโยบายพรรคมุ่งแต่เศรษฐกิจการเมือง ทำให้สิทธิสตรีอ่อนแอ หากผู้หญิงเข้มแข็งจะสามารถบีบพรรคการเมืองให้เน้นสร้างชีวิตที่ดีของผู้หญิงกลายเป็นนโยบายระดับชาติได้
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของสมัชชาสตรีให้มีการทำแท้งเสรี คงไม่เป็นประโยชน์ที่แท้จริงกับสตรี เพราะคนริเริ่มให้ทำแท้ง คือ ผู้ชาย ปัญหาทั้งหมดเกิดจากผู้ชายไม่รับผิดชอบ หากมีกฎหมายทำแท้งเสรีจะเป็นอุปสรรคบั่นทอนแวดวงสตรี การแก้ปัญหาต้องไปจัดการตั้งแต่ระดับครอบครัว การแก้ปัญหาตั้งครรภ์ไม่พร้อมต้องแนบเนียนสอดคล้องกับทางการแพทย์