xs
xsm
sm
md
lg

เพลงไทใหญ่ : เพลงการเมืองที่หวนถึง หรือ เพลงรักที่ใฝ่หา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 
     เสียงนกร้องเพลงขับขานตอนเช้าปลุกให้ตื่นจากภวังค์ และเสียงนี้อีกเหมือนกันที่ทำให้นึกถึงหญิงสาวไทใหญ่คนหนึ่ง ซึ่งเธอมักจะร้องไห้เมื่อได้ยินเสียงนกร้อง

     ...นกร้องเพลง หญิงสาวไทใหญ่ร้องไห้...

     เสียงเพลงของนกนี้น่าจะมีบางสิ่งที่สื่อถึงเธอ และสิ่งนั้นก็น่าจะเป็นเรื่องที่เศร้าพอดู และคิดว่าน่าจะลองชวนเธอพูดคุย อย่างน้อยความเศร้าที่อยู่ในใจของเธอจะได้ระบายออกมาบ้าง

 
     เมื่อได้โอกาสจึงไม่รอช้าที่จะถามถึงสาเหตุ คำตอบของเธอทำให้ฉันรู้สึกเศร้าตาม เธอบอกว่า “ได้ยินเสียงนกร้องตอนเช้าแล้วคิดถึงบ้าน”

 
     บ้านของเธออยู่ไกลถึงหลายพันกิโลเมตร และเป็นเส้นทางที่ทรหดอดทนน่าดูสำหรับการกลับบ้าน ไม่ใช่แค่ลักษณะทางกายภาพของเส้นทางเท่านั้นที่ลำบาก แต่มันหมายถึงการเดินทางที่ต้องเสี่ยงถึงชีวิตด้วย ก็ได้แต่หวังว่าสักวันหนึ่งเธอจะได้กลับไปฟังเสียงนกร้องเพลง แล้วร้องไห้ออกมาด้วยความดีใจที่บ้านของเธอ ที่บ้านน้ำจ๋าง เขตรัฐฉาน ในประเทศพม่า

 
     เมื่อนึกย้อนกลับไปถึงเรื่องเสียงเพลงของนกกับหญิงสาวไทใหญ่ ทำให้รู้สึกว่าเสียงนกร้องเป็นส่วนหนึ่งของเสียงเพลงแห่งธรรมชาติ ที่ให้ทำคนอื่นทั่วไปสามารถเข้าถึงมันได้ง่าย เพราะไม่มีกฎเกณฑ์อะไรที่มากีดขวางการเสพเพลงธรรมชาติ เพียงแต่ว่าตัวประสบการณ์และจินตนาการที่อยู่ในใจของแต่ละคนเท่านั้น ที่มันจะเป็นตัวแปรให้คนตีความเพลงธรรมชาติที่ได้ยินแตกต่างกันออกไป

 
     และบทเพลงแห่งธรรมชาตินี้น่าจะเป็นต้นสายธารของเพลงปัจจุบัน ซึ่งเป็นเพลงที่มีดนตรี ทำนอง และเนื้อหาที่ใช้ภาษาเป็นตัวเล่าเรื่องราวแทนการจินตนาการ ฉะนั้นเพลงปัจจุบันนอกจากจะ เป็นเครื่องช่วยกล่อมเกลาอารมณ์และจิตใจของเราแล้ว ในเนื้อหาของเพลงเองยังเป็นตัวสะท้อนบางแง่มุมของสังคม ณ ขณะนั้นให้เป็นที่รับรู้แก่คนอื่นทั่วไปว่าสภาพสังคมในตอนนั้นเป็นเช่นไร และเพลงยังถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ทางด้านวัฒนธรรมซึ่งบ่งบอกความมีตัวตนและมีพื้นที่ยืนของตนเองด้วย


ย้อนอดีตเพลงไทยใหญ่ สู่กาลปัจจุบัน

 
     เมื่อพูดถึงเพลงปัจจุบันก็อดที่จะนึกถึงสาวไทใหญ่คนนั้นไม่ได้ เพราะถ้าเธอได้ยินเสียงเพลงไทยใหญ่เธอจะร้องไห้เหมือนได้ยินเสียงนกร้องไหม เพลงไทใหญ่ในปัจจุบันที่มีภาษาเป็นตัวเล่าเรื่องแทนการจินตนาการมันยังคงมีตัวเชื่อมโยงความรู้สึกให้เธอรู้สึกเศร้าอย่างนั้นอยู่หรือเปล่า และเพลงไทใหญ่ในปัจจุบันได้เล่าเรื่องราวอะไรที่เกี่ยวกับความเป็นไทใหญ่ให้หวนถึงบ้านอีกบ้างไหม หรือว่าเนื้อหาของเพลงปัจจุบันได้ทำให้เธอได้คิดถึงใครคนหนึ่งแทน

 
     ชาวไทใหญ่นี้ อาจไม่เป็นที่คุ้นหูสำหรับใครหลายๆ คน แต่ถ้าใครอยู่ภาคเหนือหรือไปเที่ยวทางเหนือบ่อยๆ ก็อาจจะพบชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้อยู่บ้าง หรือแม้กระทั่งในกรุงเทพก็ยังมีชุมชนไทใหญ่อาศัยอยู่ ไทใหญ่เป็นชนชาติหนึ่งที่อยู่ในรัฐฉานเขตประเทศพม่าเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงเรานี่เอง และในปี 2501 ได้เกิดเหตุการณ์วิกฤติ เมื่อพม่าไม่ยอมทำตามข้อตกลง ‘สัญญาป๋างโหลง’ (ทำไว้เมื่อ ปี 2490) ที่ได้ทำไว้กับไทใหญ่ คะฉิ่น และ ชิน ว่าหลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษเป็นเวลา 10 ปีแล้วสามารถแยกตัวออกเป็นรัฐอิสระได้ แต่เมื่อถึงคราวการณ์กลับไม่เป็นไปตามข้อตกลงเพราะพม่าได้คืนคำ แผ่นดินนี้จึงเกิดการนองเลือดเพื่อเรียกร้องอิสรภาพกลับมาอีกครั้ง ชาวไทใหญ่ส่วนหนึ่งจึงอพยพเข้ามาในเมืองไทยเพื่อเป็นที่พักพิงและรอคอยความหวังที่จะกลับไปเหยียบบ้านเกิดอย่างภาคภูมิใจ

 
     เมื่อได้ศึกษาแล้วจึงพบว่า เพลงของคนไทใหญ่ในช่วงนี้จึงเป็นบทเพลงหนึ่งที่น่าศึกษาไม่น้อย เพราะบางเพลงเมื่อฟังข้ามผ่านเสียงดนตรีเข้าไปแล้วได้พบเนื้อหาที่แสดงถึงการต่อสู้ หรืออาจพูดได้ว่าเพลงไทใหญ่ในช่วงสมัยหนึ่งเป็นสัญลักษณ์ในการเรียกร้องความเป็นรัฐอิสระจากพม่า ใช้เพลงเป็นเครื่องมือในการสร้างจิตสำนึกให้คนไทใหญ่รู้สึกถึงความมีตัวตนของกลุ่มชาติพันธุ์ตัวเอง เพื่อให้เกิดความฮึกเหิมและรวมกลุ่มกันลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นไทให้กับตัวเอง

 
     ดังที่ อัมพร จิรัฐติกร ได้ศึกษาเพลงของไทใหญ่ไว้และสามารถสรุปได้ความว่า เพลงของไทใหญ่ในช่วงต้นปี 2500 มีลักษณะเป็นดนตรีไทใหญ่เดิมที่เล่นด้วยเครื่องดนตรีอย่างซอ ระนาด พิณ และขับร้องกันสดๆ คล้ายเพลงฉ่อยหรือลำตัด และดนตรีโฟล์กซองเริ่มเข้ามาแทนที่โดยนักศึกษาที่ไปเรียนในมหาวิทยาลัยเมืองใหญ่ๆ ของพม่า

 
     ในช่วงระหว่างปี 2510-2520 ชาวไทใหญ่นิยมฟังดนตรีสากลกันมากขึ้น และเพลงการเมืองก็ถูกผลิตออกมามากเช่นกัน เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่วงดนตรีเพื่อชีวิตของไทยกำลังเบ่งบาน ‘ชายคำเหล็ก’ นายแพทย์ซึ่งอุทิศเวลามาเป็นนักแต่งเพลงด้วย ก็ได้แต่งเพลง ‘ข้อหมายป๋างโหลง’ ออกมา โดยให้นักร้องโฟล์กซองรูปหล่อเสียงดีชื่อ ‘สายมาว’ เป็นผู้ขับร้อง และวงดนตรีที่ร้องเพลงการเมืองเหมือนวงคาราบาวบ้านเราก็คือ วงเจิงแลว (เจิง = ชั้นเชิง, แลว = ดาบ) วงดนตรีของกองทัพกู้ชาติเมืองไต (Mong Tai Army) ที่มีขุนส่าเป็นหัวหน้า เนื่องจากเพลงการเมืองในช่วงนี้มีมากขึ้นและได้รับความนิยมจากชาวไทใหญ่เป็นอย่างมาก จึงทำให้เพลงไทใหญ่ในช่วงหลังได้ถูกพม่าตรวจสอบก่อนที่จะผลิตออกมา ว่ามีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองหรือไม่ ถ้ามีก็จะถูกห้ามผลิต หากจะฟังเพลงการเมืองก็ต้องหาเพลงใต้ดินมาฟังกัน ดังนั้นเพลงในระยะหลังจึงมีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักทั่วไปเหมือนอย่างที่เห็นทั่วไปในบ้านเรา
วัดป่าเป้า
‘ไทยใหญ่ทาวน์’ วัดป่าเป้า แนวร่วมเพลงไทใหญ่

 
     แต่มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจว่าชาวไทใหญ่ที่อยู่ในเมืองไทย เมืองที่มีอิสระเสรีภาพในการสร้างสรรค์เพลงและเสพเพลง เพลงการเมืองไทใหญ่นี้ยังได้รับความนิยมสำหรับชาวไทใหญ่ที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทยหรือไม่ หรือว่ายุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปบวกกับการแพร่ขยายของสื่อไทยมากขึ้น จึงทำให้เพลงสมัยใหม่ที่มีเนื้อหาฉันรักเธอ เธอรักฉันของบ้านเราได้เข้าไปแทรกซึมจนทำให้คนไทใหญ่เริ่มหันมานิยมฟังเพลงประเภทนี้มากขึ้น เหมือนอย่างตอนนี้ที่กระแสเพลงเกาหลีเข้ามาถาโถมบ้านเราอย่างไม่หยุดหย่อน

 
     เพื่อไขความกระจ่างนี้จึงได้ไปแวะเวียนเยี่ยมชมแผงซีดีเพลงไทใหญ่ในย่านชุมชนวัดป่าเป้า ซึ่งบริเวณนี้เป็นที่อยู่อาศัยของชาวไทใหญ่จำนวนมาก จนชาวไทใหญ่บางคนเรียกชุมชนนี้ว่า ‘ไทยใหญ่ทาวน์’ วัดป่าเป้าเป็นวัดเก่าแก่ของชาวไทยใหญ่ ที่ตั้งของวัดนี้อยู่บริเวณด้านนอกคูเมืองเชียงใหม่ฝั่งแจ่งศรีภูมิ เมื่อเดินเข้าไปวัดก็จะเจอร้านขายของชำของชาวไทยใหญ่ ขายของทั่วไปเหมือนของบ้านเรา แต่ที่โดดเด่นสะดุดตาคือ เสื้อผ้าเด็กหลากสีสันแบบชาวไทใหญ่แขวนขายอยู่ด้วย

 
     สอบถามได้ความว่า ส่วนมากพ่อแม่มักซื้อไปให้ลูกใส่เทศกาลปอยหลวง (งานบุญ) ต่างๆ ของชาวไทใหญ่ วันนี้ที่มาเป็นวันพระจึงเห็นชาวไทใหญ่มาทำบุญที่วัดนี้ค่อนข้างมาก มีทั้งคนแก่ วัยกลางคน จนกระทั่งวัยหนุ่มสาวที่มากับพ่อแม่ สอดคล้องกับที่ได้ยินมาว่าชาวไทยใหญ่ผูกพันและนับถือพระพุทธศาสนาอย่างมาก สถูปเจดีย์ที่นี่มีสถาปัตยกรรมแบบไทยใหญ่ผสมกลมกลืนได้กลิ่นอายแบบพม่าด้วย เห็นได้จากที่มีสิงห์ตั้งประดับอยู่ข้างหน้าเจดีย์ และดูจากร่องรอยการผ่านฝนผ่านหนาวของเจดีย์และอาคารทั่วไปสันนิษฐานได้ว่าว่าวัดแห่งนี้น่าจะมีอายุยาวนานไม่น้อย สถานที่แห่งนี้จึงน่าจะเป็นศูนย์รวมของชาวไทใหญ่เป็นเวลาช้านาน

 
 
     เมื่อสำรวจสภาพทั่วไปของวัดโดยทั่วแล้ว จึงได้เห็นแผงซีดีเพลงไทยใหญ่ตั้งอยู่มุมหนึ่งของวัด ลุงเจ้าของร้านนี้บอกว่าจะมาขายเฉพาะวันพระกับวันที่มีงานเทศกาลต่างๆ ซึ่งจะมีนักร้องไทยใหญ่มาร้องเพลงจัดคอนเสิร์ตที่วัดแห่งนี้ด้วย และเพลงที่ขายดีก็จะเป็นเพลงทั่วไปที่ร้องโดยนักร้องหนุ่มสาวไทยใหญ่สมัยใหม่ อย่างเช่น จายแสงเมือง กับ จายหนุ่มแลง และคนที่มาซื้อก็เป็นหนุ่มสาวจนถึงวัย ๔๐ ส่วนเพลงการเมืองของวงเจิงแลวก็พอขายได้บ้าง ซึ่งพอขอดูซีดีเพลงของวงเจิงแลวก็พบว่ามีอยู่ไม่กี่แผ่น

 
     วงเจิงแลว เป็นวงดนตรีการเมืองที่เก่าแก่ของไทใหญ่ อาจารย์แสงชื่นหรือลุงแสงชื่น ผู้ทำหน้าที่แต่งเพลงให้กับวงเจิงแลว ได้ให้ข้อมูลว่า วงเจิงแลวก่อตั้งประมาณปี ค.ศ. ๑๙๘๔ โดยมีจายมู ในนามเยาวชนผู้รักชาติไม่ได้สังกัดกลุ่มไหน ร่วมกับ จายต่าวู และเพื่อนอีก ๒-๓ คน รวมกลุ่มตั้งวงเจิงแลว เจิง หมายถึง ชั้นเชิง และนอกจากแลว หมายถึง ดาบ แล้ว แลว ยังหมายถึงเลขคี่ โดดเดี่ยว ไม่ขึ้นอยู่กับใคร แค่ฟังความหมายของชื่อวงแล้วก็ทำให้ทราบถึงอุดมการณ์อันแน่วแน่ในการต่อสู้ด้วยเสียงเพลงเพื่อให้ชาติไตได้รับเอกราชจากพม่า วงเจิงแลว นี้แต่งเพลงการเมืองล้วน และเป็นวงดนตรีเดียวที่แต่งเพลงการเมืองออกหน้า หลังวงเจิงแลวก็มีรุ่นหลังบ้าง แต่ก็ไม่ได้ออกเป็นประจำทุกปี ปัจจุบันนี้หัวหน้าวงก็คือ จายต่าวู
จากการพูดคุยกับคุณลุงแสงชื่นทำให้ทราบว่า เพลงการเมืองปัจจุบันมีไม่ต่ำกว่า ๒๐-๓๐% จากเพลงไทใหญ่ทั้งหมด แฟนเพลงของวงเจิงแลวมีไม่เกิน ๒๐-๓๐ % ส่วนใหญ่เป็นปัญญาชน มีพื้นฐานการเมือง รู้การเมือง โดยทั่วไปอายุคนฟังประมาณ ๓๐ ขึ้นไป ต่ำกว่า ๒๕ ก็พอมีอยู่แต่ว่าค่อนข้างน้อย นอกนั้นส่วนมากจะชอบฟังเพลงป๊อป อันดับสองเพลงเพื่อชีวิต และอันดับสามคือเพลงปลุกระดม คนไทใหญ่ในรัฐฉานฟังเพลงการเมืองเยอะกว่าที่ไทย แต่ต้องหาแอบขายกันเพราะถูกทางการพม่าห้ามปราม อีกทั้งคนไทยใหญ่ส่วนใหญ่ที่อยู่ในเมืองไทยอยู่ภายใต้อิทธิพล popular culture ของไทย ถ้าฟังเพลงไทยใหญ่ก็ฟังแนวเพลงป๊อปเหมือนกับของไทย และคนแต่งเพลงการเมืองไทใหญ่มีไม่เกิน ๑๐ – ๒๐% แผงซีดีส่วนใหญ่ก็จะมีตามงานเทศกาลของไทยใหญ่ ตัวแทนจำหน่ายแบบไม่ถูกกฎหมายก็มี เช่น แผงซีดีที่ตลาดแม่เหี่ย ตลาดต้นพยอม ตลาดธานินท์ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ในตัวเมืองเชียงใหม่ แผงซีดีไทใหญ่มีประมาณ ๑ ใน ๒๐ ก็แผงเพลงไทย นอกจากมีวงเจิงแลวที่เป็นวงดนตรีสัญชาติไทใหญ่ที่ทำเพลงการเมืองแล้ว วงดนตรีเพื่อชีวิตของบ้านเราอย่างวงคาราบาวยังทำเพลงที่เกี่ยวกับไทใหญ่คือ อัลบัมฉานสเตท ซึ่งเป็นเพลงที่แสดงความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และเป็นกำลังใจให้กับชาวไต นอกจากนี้ยังมีพงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ ที่เคยแต่งเพลงเกี่ยวกับไทใหญ่ให้ด้วย
เพลงส่วนใหญ่ของวงเจิงแลวจะทำดนตรีที่ย่างกุ้งแล้วส่งมาร้องอัดที่เชียงใหม่ ทำที่เชียงใหม่หรือที่กรุงเทพก็มีบ้างแล้วมาผสมกัน เพื่อจะได้เกิดความหลากหลาย อีกเหตุผลหนึ่งคือทำเพลงการเมืองที่นี่ง่ายกว่า ถ้าทำดนตรีที่ย่างกุ้งต้องทำแบบลับ ทำแค่ดนตรี music arrangement และราคาถูกกว่าทำในไทย ถ้าทำในไทยทั้งหมดต้นทุนจะสูง วงเจิงแลวไม่ได้ทำเพื่อหวังผลกำไร ทำเพื่อปลูกจิตสำนึกให้คนไทใหญ่ลุกขึ้นมาต่อสู้ต่อไป และเพลงทั่วไปของไทยใหญ่ที่ทำในเมืองไทยก็มีจำนวนมากเหมือนกัน แสดงให้เห็นถึงความนิยมเป็นอย่างมากของชาวไทยใหญ่ที่อาศัยอยู่ในไทย อย่างเช่นที่เมืองเชียงใหม่ปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า ๒๐-๓๐% ของเพลงไทยใหญ่ทั้งหมด ซึ่งเป็นอัลบัมที่ทำเฉพาะในตัวเมืองเชียงใหม่ นอกจากวงเจิงแลวก็ไม่มีวงอื่นทำเพลงการเมืองล้วนๆ อย่างเดียว ถ้ามีวงอื่นทำบ้างก็เป็นเพลงผสมผสานกันระหว่าง เพลงรัก เพลงเพื่อชีวิต และเพลงการเมือง ตรงนี้อาจเป็นข้อสรุปได้อย่างหนึ่งว่าที่นักแต่งเพลงไม่นิยมทำเพลงการเมืองเพียงอย่างเดียวนั้นเป็นผลสืบเนื่องจากคนฟังไม่ค่อยนิยมฟังกัน จึงทำให้ได้ผลตอบแทนน้อยหรืออาจจะขาดทุนได้ถ้าทำเพลงการเมืองล้วนๆ จึงต้องมีการผสมแนวเพลงอื่นลงไปด้วยเพื่อให้ได้ผลตอบรับที่ดีด้วย
นอกจากได้มุมมองของคนทำเพลงการเมืองแล้ว จากการพูดคุยชาวไทยใหญ่ที่อยู่ในเมืองเชียงใหม่นี้ยังได้แนวคิดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับความนิยมการฟังเพลงของคนไทยใหญ่ที่อยู่เมืองไทยว่า การฟังเพลงการเมืองไทยใหญ่หรือเพลงทั่วไปขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น อายุ ประสบการณ์ที่ได้เจอ สภาพแวดล้อม การศึกษา และอิทธิพลของเพลงต่างประเทศด้วย เป็นต้น เช่น คนรุ่นอายุประมาณ ๓๐-๓๕ ปี อย่าง นายอัลไต กับ นายยี่พงษ์เมือง จะชอบฟังเพลงการเมืองไทยใหญ่เป็นพิเศษและยังฟังอยู่เป็นประจำ เพราะรู้เรื่องการเมืองไทใหญ่และมีความสนใจการเมืองไทใหญ่ อีกทั้งยังบอกด้วยว่าเนื้อหาของเพลงมีความหมายดี มีความลึกซึ้ง ฟังแล้วได้คิดตาม ไม่เหมือนกับเพลงสมัยนี้ที่ฟังเข้าใจง่าย ไม่ต้องคิดอะไร และไม่ค่อยมีลูกเล่น ฟังได้แค่นิดเดียวแล้วรู้สึกเบื่อ นายยี่พงษ์เมืองยังบอกอีกด้วยว่าคนไทใหญ่ที่รัฐฉานนิยมฟังเพลงการเมืองไทยใหญ่มากกว่าคนไทยใหญ่ที่นี่ ถึงแม้ว่าจะต้องหาแอบฟังกันก็ตาม อาจเป็นเพราะคนไทใหญ่ที่อยู่ที่รัฐฉานอาจจะได้รับความกดดันจากทหารพม่ามากกว่าคนไทยใหญ่ที่อยู่ที่นี่ก็เป็นได้ จึงรู้สึกอยากเป็นอิสระและใช้การฟังเพลงการเมืองเป็นทางออกให้กับตัวเอง
อีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจ คือ เด็กวัยรุ่นไทยใหญ่ที่อยู่ในช่วงอายุระหว่าง ๑๘-๒๒ ปี อย่างน้องแดงเดือนกับน้องปูก่ำจะนิยมฟังเพลงสมัยใหม่มากกว่า เป็นเพราะว่าเมืองเชียงตุงที่น้องแดงเดือนอยู่มาก่อนที่จะข้ามมาฝั่งไทยนั่นอยู่ใกล้กับชายแดนไทย จึงได้รับอิทธิพลจากเพลงไทยเป็นส่วนมากและฟังเพลงไทยตั้งแต่อยู่ที่เชียงตุงแล้ว และวัยรุ่นที่นั่นจะชอบฟังเพลงไทยมากกว่า ไม่ฟังเพลงการเมืองไทยใหญ่และไม่ค่อยรู้เรื่องการเมืองด้วย และอาจเป็นเพราะว่าถ้าใครมีม้วนเทปซีดีเพลงนี้ก็จะถูกจับเลยไม่มีใครฟัง บางคนรู้เรื่องไทใหญ่บ้างแต่ไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ อาจเป็นเพราะที่เชียงตุงไม่มีการกดขี่ประชาชนมากเหมือนเมืองอื่น เพลงที่นิยมก็แล้วแต่เพลงใหม่ๆจะออกมา และเพลงที่ฟังก็ฟังตามสภาพแวดล้อมมากกว่า ไม่ได้หมายความว่าชอบหรือไม่ชอบเพลงไทยใหญ่ อย่างถ้าเป็นท่าขี้เหล็กคนที่นั่นก็ไม่ฟังเพลงไทยใหญ่กันเลย จะฟังเพลงไทยมากกว่าอยู่ที่สิ่งแวดล้อม แต่ถ้าไปอยู่ที่คนส่วนใหญ่นิยมภาษาไทใหญ่ก็ฟังกันเยอะ แต่ถ้าอยู่ในสังคมวัยรุ่นแถวชายแดนก็ฟังเพลงไทย เชียงตุงที่นั่นก็มีไทลื้อเค้าก็นิยมฟังเพลงจีนเพราะอยู่ใกล้กับเมืองจีน ส่วนน้องปูก่ำนั้นเป็นชาวไทยใหญ่ที่เกิดเมืองไทย เพลงไทยใหญ่ก็ฟังอยู่บ้างเพราะที่บ้านก็เปิดฟังเพลงไทยใหญ่ทั่วไปกับเพลงการเมือง แต่ด้วยความที่เกิดเมืองไทยอยู่ในสภาพแวดล้อมของคนไทยจึงทำให้ชอบฟังเพลงไทยมากกว่า ส่วนนักร้องไทยที่ชื่นชอบคือพี่ป๊อด โมเดิร์นด็อก ขวัญใจของวัยรุ่นไทยส่วนใหญ่นั่นเอง

 
 
     จากการพูดคุยทั้งหมดนี้ทำให้พอมองเห็นทิศทางเพลงไทยใหญ่ปัจจุบันว่า เพลงการเมืองไทยใหญ่มีพื้นที่ทางตลาดค่อนข้างน้อยกว่าเพลงทั่วไปถึงแม้ว่าจะมีอิสระในการทำเพลงการเมืองในไทยก็ตาม อาจเป็นเพราะว่ามีคนรุ่นใหม่มาทดแทนคนรุ่นเก่ามากขึ้นและอยู่ในสังคมหรือสภาพแวดล้อมที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อนจึงทำให้ความสนใจต่อเพลงการเมืองไทยใหญ่มีน้อยลง และส่งผลให้เพลงการเมืองทำในเชิงธุรกิจไม่ได้เพราะไม่คุ้มทุน จึงเหลือแต่วงเจิงแลวที่ยืนหยัดด้วยอุดมการณ์ในการทำเพลงการเมืองเพื่อปลูกจิตสำนึกให้คนรุ่นหลังต่อไป แต่นั่นไม่สามารถสรุปได้ว่าคนไทยใหญ่ไม่ได้รักชาติไต ถึงแม้เพลงไทยใหญ่ทั่วไปจะได้รับความนิยมมากกว่าก็ตาม และเพลงไทยใหญ่ไม่ว่าจะเป็นเพลงการเมืองหรือเพลงรักก็เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการประกาศตัวตนให้คนข้างนอกได้รู้ว่าชาวไทยใหญ่ยังมีอยู่และมีพื้นที่อยู่ในสังคม ความนิยมหรือความชอบสิ่งๆหนึ่งคงไม่สามารถตัดสินความรักแผ่นดินเกิดของคนๆ หนึ่งได้ เหมือนกับบ้านเมืองเราที่ไม่สามารถตัดสินวัยรุ่นสมัยนี้ที่ไม่ร่วมเดินขบวนแบ่งแยกสีว่าไม่รักบ้านเมืองของตัวเอง
ส่วนสาวไทยใหญ่ที่เป็นตัวจุดประกายให้เกิดความสนใจเรื่องเพลงไทยใหญ่นี้ไม่ได้อยู่ให้สอบถามความรู้สึกนึกคิด แต่คิดว่าตอนนี้เขาน่าจะกำลังฟังเสียงนกร้องเพลงอยู่ นั่นแหนะ...ส่งยิ้มมาให้เชียว

 
     เรื่องโดย : วรพร สิงขรอาจ

-แหล่งที่มาของข้อมูล

ยศ สันตสมบัติ. ๒๕๔๒. การสืบทอดและสร้างใหม่ของอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ในสังคมไทใต้คง. ในบทความนำเสนอในงานสัมมนาเรื่อง “ประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมของชนชาติไท” , โครงการประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมชนชาติไท จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

อัมพร จิรัฐติกร. ๒๕๔๔. บทเพลงแห่งรัฐฉาน การประกาศตัวตนของคนไทยใหญ่. ในสารคดี ฉบับพฤษภาคม.

ผู้ให้สัมภาษณ์
อาจารย์แสงชื่น สร้อยคำเฮือง นักแต่งเพลงวงเจิงแลว และนักข่าวสำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News)
นายอัลไต ไคคานฟ้า นักข่าวสำนักข่าวฉาน
นายยี่พงษ์เมือง ผู้ประกาศข่าวไทใหญ่ทางสถานีวิทยุ RFA (Radio Free Asia)
นายแดงเดือน รับจ้างทั่วไป
นายปูก่ำ นักศึกษาไทยใหญ่ที่มหาวิทยาลัยราชมงคลวิทยาเขตลานนา

หมายเหตุ ไทใหญ่ หมายถึง ชาวไทใหญ่ที่อยู่นอกประเทศไทย
ไทยใหญ่ หมายถึง ชาวไทใหญ่ที่อยู่ในประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น