ศูนย์ข่าวภูเก็ต - รมต.กระทรวงวัฒนธรรมแนะตั้งศูนย์อนุรักษ์วัฒนธรรมฟูวิถีชีวิตให้ชาวเล หวังสร้างความภูมิให้เด็กรุ่นใหม่กล้าที่จะบอกกับคนภายนอกว่าตัวเป็นใคร
วันนี้ (27 มี.ค ) นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมคณะ ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ใน 3 พื้นที่ ซึ่งประกอบด้วย ชาวเลบ้านหินลูกเดียว ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ชาวเลบ้านแหลมตุ๊กแก หมู่ที่ 4 ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต ชาวเลบ้านราไวย์ ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต เพื่อรับทราบปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ในมิติทางวัฒนธรรม และรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของชาวเลในพื้นที่
การเดินทางมาครั้งนี้ มีชาวเลจากจังหวัดอื่นๆ มาร่วมถ่ายทอดปัญหาให้รัฐมนตรีรับทราบด้วย โดยที่หมู่บ้านแหลมตุ๊กแกชาวบ้านแหลมตุ๊กแกได้จัดให้มีการแสดงพื้นบ้าน “รำรองเฮ็ง” คณะแม่จิ้ว ศิลปินแห่งชาติ ให้คณะรัฐมนตรีได้ชมด้วย
นายธีระ กล่าวภายหลังลงพื้นถึงปัญหาของชาวเลในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและจังหวัดอื่นๆ ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวเล ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับเอกสารสิทธิในที่อยู่อาศัย เรื่องของการประกอบอาชีพ เรื่องของระบบสาธารณูปโภค รวมทั้งเรื่องของชาติพันธุ์ รวมทั้งปัญหาการพัฒนาทางด้านการท่องเที่ยวที่ไม่ยั่งยืน และการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ไร้ทิศทางหวังผลเพียงด้านเศรษฐกิจ ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวเข้าไปกระทบกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาของชาวเล ในภาพรวมได้มีการตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้องของชาวเลในระดับชาติขึ้นแล้ว โดยมีตนเป็นประธานคณะทำงาน และมีอธิบดีกรมต่างที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมเป็นคณะทำงาน
การแก้ไขปัญหา จะมีการแก้ไขในทุกเรื่อง รวมทั้งได้มีการสั่งการให้มีการตั้งคณะทำงานระดับจังหวัดขึ้นโดยคณะทำงานในระดับจังหวัดจะล้อกับคณะทำงานชุดระดับชาติ การแก้ไขปัญหานั้นถ้าสามารถแก้ได้ในระดับจังหวัดก็ให้ดำเนินการได้เลย แต่ถ้าไม่สามารถแก้ได้ในระดับจังหวัดก็จะต้องเสนอต่อไปยังคระทำงานชุดระดับชาติต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเอกสารสิทธิ
โดยในส่วนของรัฐบาลชุดนี้มีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องของเอกสารสิทธิชุมชน ซึ่งจะต้องมีการพิสูจน์สิทธิให้ชัดเจนซึ่งสามารถพิสูจน์กันได้
ส่วนกรณีถ้าที่ดินเป็นของเอกชนก็สามารถพิสูจน์สิทธิกันได้ว่า ใครเข้ามาอยู่ก่อนหรืออยู่หลัง ได้เอกสารสิทธิมาอย่างไร ขณะที่เรื่องของระบบสาธารณูปโภค พร้อมที่จะแก้ไขปัญหา ส่วนเรื่องของการประกอบอาชีพก็เช่นกัน
นายธีระ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ตนอยากจะให้เกิดขึ้นในถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวเลทุกแห่ง คือ การตั้งศูนย์วัฒนธรรมของชาวเลแต่ละกลุ่มขึ้น เพื่อที่จะถ่ายทอดวัฒนธรรมทางด้านต่างๆ ให้กับคนรุ่นหลังได้รับทราบ มีความภูมิใจในการเป็นชาวเลของตัวเองและกล้าที่จะบอกกับคนทั่วไปว่าตัวเองเป็นใคร
ทั้งนี้ เพราะถ้าคนรุ่นหลังกล้าที่จะบอกกับคนทั่วไปว่าตัวเองเป็นใคร ก็จะสามารถอนุรักษ์วัฒนธรรมของชาวเลไว้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมอื่นๆ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่มีใครที่จะรู้ดีกว่าตัวเราเอง และเชื่อว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวที่จังหวัดภูเก็ต หรือจังหวัดอื่นๆ สิ่งที่เขาอยากเห็น คือ ความเป็นชุมชนดังเดิมที่แท้จริง เชื่อว่าถ้ามีการถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ให้กับเด็กๆ ในพื้นที่ และคนในพื้นที่มีความภูมิใจกับสิ่งที่เราเป็น และเอาวัฒนธรรมเดิมกลับคืนมา สิ่งเหล่านี้จะนำให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่มากขึ้น และเชื่อว่าถ้าหากสามารถทำได้ในทุกพื้นที่จะเป็นเรื่องที่ดีมาก ซึ่งเรื่องนี้ตนได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแล้ว
นอกจากนั้น ตนยังอยากให้ชาวเลแม้ว่าจะต่างกลุ่มกัน แต่อยากให้มีการสานความสัมพันธ์ระหว่างกันเอาไว้ เพราะเชื่อว่าคนเหล่านี้มีความเป็นพี่น้ิองกัน เพียงแต่อาศัยอยู่คนละพื้นที่เท่านั้น ซึ่งจากการลงพื้นที่บ้านหินลูกเดียวพบว่า ความสัมพันธ์ของพี่น้องชาวเลมีความเข้มแข็งมาก เพราะในการลงพื้นที่มีชาวเลจากพื้นที่อื่นเดินทางมาร่วมด้วย