xs
xsm
sm
md
lg

จากชาวสังขละบุรีถึง ‘คนบุกรุกป่า’ ชะตากรรมของกะเหรี่ยงโปแห่งผืนป่าตะวันตก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เนิ่นนานมาแล้วที่ภาพของชนเผ่ากะเหรี่ยงในความรับรู้ของ ‘คนไทยเมือง’ บางกลุ่ม มีเฉพาะแค่ชนกลุ่มน้อยตามตะเข็บชายแดน กองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) บ้างรู้จักผิวเผินในแง่มุมการท่องเที่ยวเพียงแค่หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว จ.แม่ฮ่องสอน

กะเหรี่ยงเป็นที่รู้จักในฐานะชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย แต่น้อยคนจะรู้ว่าในผืนป่าตะวันตก…ผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์แห่งสุดท้ายของประเทศ ยังมีชาวกะเหรี่ยงอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่อาศัยมายาวนานหลายร้อยปี ไม่ใช่ในฐานะผู้อพยพหรือชนกลุ่มน้อยอย่างเช่นทุกวันนี้ แต่เป็นกองกำลังสำคัญป้องกันการคุกคามของพม่ามาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ

แต่ทุกวันนี้..ชะตากรรมของชาวกะเหรี่ยงโป กำลังเปลี่ยนสถานะจากผู้อยู่อาศัยกลายเป็นผู้บุกรุกป่าและอุทยานแห่งชาติ ทั้งที่ที่นั่นคือบ้านที่พวกเขาอยู่อาศัยมานานหลายศตวรรษ และรุ่มรวยไปด้วยวัฒนธรรมในดินแดนของชุมชนเก่าแก่โบราณกลางป่าใหญ่

-1-
คนในผืนป่าตะวันตก

ทุ่งใหญ่นเรศวร ผืนป่าระดับตำนานที่มีทั้งเสือ ช้าง กระทิงอยู่อย่างชุกชุม และเป็นถิ่นอาศัยของเสือโคร่งที่มีมากเป็นอันดับ 2 ของโลก ซึ่งเชื่อกันว่ายังมีเหลืออยู่ในป่าแห่งนี้อีกนับร้อยตัว

เขตพื้นที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จรดป่าห้วยขาแข้งอันกว้างใหญ่ กินอาณาเขตกว่า 6,222 กิโลเมตร ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก แต่ชาวกะเหรี่ยงเชื่อว่าผืนป่าแห่งนี้เป็นว่าเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ และขนานนามว่า “เวียจาทิโพ้” หรือ เวียผะดู หมายถึง ทุ่งหญ้าที่กว้างใหญ่

หลายปีที่ผ่านมา มีความพยายามที่จะสร้างถนนรุกคืบตัดผืนป่ามรดกโลกแห่งนี้ในรัฐบาลบางยุค แต่ทว่า คณะกรรมการอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตก (กอต.) ได้ขอให้ยกเลิกการสร้างถนนผ่าป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ยุติการสร้างถนนเชื่อมเมืองกาญจน์ กับอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ซึ่งสุดท้ายในเดือนธันวาคม พ.ศ.2548 ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีได้ประกาศยกเลิกการสร้างถนนสายนี้

ทางลูกรังคดเคี้ยวเต็มไปด้วยฝุ่นสีแดงจึงเป็นหนทางเดียวที่ตัดผ่านผืนป่ามรดกโลก ที่เต็มไปด้วยทรัพยากรทั้งป่าไม้ เหมืองแร่ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งเป็นที่หมายปองของกลุ่มนายทุนและผู้มีอิทธิพล

ตำบลไล่โว่มีทั้งหมด 6 หมู่บ้าน เป็นชุมชนชาวกะเหรี่ยงโปที่อาศัยอยู่ในผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ปัญหาที่ชาวบ้านเหล่านี้ได้ประสบมาก็คือเรื่องที่ทำกินและความเป็นอยู่ ความเชื่อและข้อห้ามต่างๆ ที่ขัดกับกฎหมายการอนุรักษ์ ทำให้วิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรได้รับผลกระทบมาก

ยกตัวอย่างเช่น ชาวบ้านอยู่ในพื้นที่ ก่อนนี้เคยทำไร่หมุนเวียน แต่ทุกวันนี้ทำไม่ได้แล้ว เพราะว่ารัฐมีข้อจำกัดว่าห้ามตัดไม้ทำลายป่า แต่จริงๆ แล้ววิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงจะมีการจัดการป่าด้วยความเชื่อ ทิวา คงนานดี ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงที่เกิดในตำบลไล่โว่ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เล่าว่าชาวกะเหรี่ยงจะไม่ทำลายต้นไม้ แม่น้ำ เพราะเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ทุกอย่างมีเจ้าของ ดินก็มีพระแม่ธรณี น้ำมีเจ้าแม่คงคา และข้าวมีพระแม่โพสพ ความเชื่อเป็นสิ่งที่ชาวกะเหรี่ยงควรจะอนุรักษ์ไว้

แต่การจัดการของภาครัฐที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ รัฐจำกัดสถานที่โดยที่รัฐไม่ได้มีขอบเขตให้หมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงได้ดำรงอยู่ ในการประกาศอุทยานแห่งชาติหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซึ่งไปทับสถานที่ของชาวกะเหรี่ยงที่อยู่มาดั้งเดิม จึงไปกระทบต่อวิถีชีวิตของคนที่อยู่มาก่อน เมื่อช่องทางทำกินน้อยลง ชาวบ้านจึงทำอะไรไม่ได้เลย

“ในทุ่งใหญ่นเรศวร การเลี้ยงชีวิตของเราไม่ค่อยมีการซื้อขายเท่าใดนัก นอกจากจะนำพริกออกมาขายเพื่อที่จะแลกกับน้ำปลา กะปิ เกลือ ตั้งแต่สมัยโบราณเพราะว่าเราไม่รู้จะเอาผลิตภัณฑ์อะไรนอกจากพืชสวนพืชไร่มาแลกบ้าง ขายบ้าง เราคิดว่ามันเป็นชีวิตที่พอเพียง ไม่เอื้อต่อการขาย เล็กๆ น้อยๆ เพื่อเป็นค่ากะปิน้ำปลาเฉยๆ แต่จริงๆ แล้วพวกเราพอใจในสิ่งที่ดำรงอยู่ได้โดยไม่กระทบต่อป่าเขา และภาครัฐก็ไม่ไปกดเรามากเกินไป” ทิวาบอกความในใจ

-2-
ข้าว-พริก จิตวิญญาณของคนกะเหรี่ยง

“คนกะเหรี่ยงซื้อข้าวกิน…เสียศักดิ์ศรี” เป็นคำสอนของบรรพบุรุษที่ชาวกะเหรี่ยงทุกผู้ทุกคนจดจำได้ดี

แต่ทว่า ทุกวันนี้ชาวกะเหรี่ยงแห่งผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวรต้องยอมละวางศักดิ์ศรีที่บรรพบุรุษพร่ำสอนลงชั่วคราว เพราะปัญหาที่เกิดจากการทับซ้อนเรื่องเขตอุทยานแห่งชาติที่เป็นทั้งมรดกโลก

“ณ ปัจจุบันชาวบ้านไม่สามารถขยายที่ดินทำกินได้เลย ขยายไม่ได้ไม่เท่าไหร่ แม้แต่จะทำกินดั้งเดิมก็ไม่ได้ เพราะถูกประกาศทับไว้แล้วก็เลยทำกินไม่ได้ บางครั้งก็ขัดสน หรือไม่ก็ต้องให้ลูกหลานไปทำงานในเมืองแล้วคอยเงินเดือนลูกออกเพื่อที่จะซื้อข้าวสารเข้าไป ทั้งที่เขาเคยเป็นคนผลิตได้เอง แต่ต้องมาซื้อข้าวข้างนอกจากนายทุนที่ราคาแพงมาก ปี๊บละสองสามร้อยบาทกลับไปสู่บ้านเขา ตรงนี้จะให้วิถีชีวิตของเขาดำรงอยู่อย่างไร”

ลูกหลานกะเหรี่ยงโปแห่งผืนป่าทุ่งใหญ่ฯ ตั้งคำถาม จะให้เขาอยู่แบบดั้งเดิม หรือว่าให้เขาเปลี่ยนไปเป็นเหมือนอย่างคนในเมือง

“แต่ถ้าให้เปลี่ยนผมคิดว่าง่าย เพราะว่าเราเอางบประมาณจากภาครัฐทุ่มเข้าไปชาวบ้านเขาก็เปลี่ยนแล้ว มีรถใช้ มีมือถือ เราจะเอาแบบไหน แต่ถามชาวบ้านทั่วไปเขาต้องการชีวิตดั้งเดิมมากกว่า ถึงแม้ไม่มีไฟฟ้าใช้ ถึงแม้ไม่มีรถรา เขาก็สามารถอยู่ได้ เพียงแต่ให้มีที่ทำกิน และมีงบประมาณพัฒนาด้านการศึกษาและศิลปวัฒนธรรมที่เขาดำรงอยู่” ทิวากล่าวต่อ

ทางออกของปัญหา คือ ต้องหาจุดกึ่งกลาง โดยให้ภาครัฐกำหนดว่า พื้นที่บริเวณนี้เป็นเขตพื้นที่อนุรักษ์วัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงด้วย นอกเหนือไปจากเป็นพื้นที่อนุรักษ์ของอุทยาน

“ทุ่งใหญ่นเรศวรแม้จะเป็นอุทยานแห่งชาติก็ตาม แต่มีคนที่อยู่ในนั้นมาเป็นสองสามร้อยปี แล้วทำไมป่าไม่หมด เขาทำยังไง ให้รัฐเข้ามาศึกษาและพูดคุยกับชาวบ้านก่อน เพื่อกำหนดขอบเขตให้ชาวบ้านทำกิน สัญญากับเขาว่าสิบปียี่สิบปี ป่าเหล่านี้จะยังอยู่เหมือนเดิม ในเมื่อลูกหลานเขาเกิดขึ้นมา จะต้องจัดสรรเฉพาะในส่วนที่เรากำหนดไว้ทั้ง 6 หมู่บ้าน หรืออีกทางหนึ่งคือ สร้างโฉนดรวมทั้ง 6 หมู่บ้านในทุ่งใหญ่ฯ เป็นโฉนดรวมทั้งหมด โดยไม่เป็นที่ของใครคนใดคนหนึ่ง ห้ามซื้อขาย คนก็จะทำกินอยู่ในนั้น แต่ว่าห้ามทำลายป่านะ

"เราก็มาดูแลสัญญากันห้าปีสิบปี หรือเอาเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลในขณะที่เขาทำมาหากิน ถ้าหากเขาทำเกินกว่าที่ทางภาครัฐกำหนดไว้ก็ดำเนินการไปเลย แต่ถ้าหากเขายังทำอยู่ในขอบเขตที่เจ้าหน้าที่ควบคุมได้ ผมว่าน่าจะให้โอกาส ทำเป็นโฉนดรวมให้เขาไปเลย โดยไม่มีของใครทั้งนั้น ทุกคนทำกินได้ แต่ห้ามซื้อขาย เพื่อป้องกันนายทุนเข้ามายึดครอง”

ขณะที่ นวพล คีรีรักษ์สกุล ชาวกะเหรี่ยงอีกผู้หนึ่งแสดงทัศนะว่า พริกกะเหรี่ยงที่คนเมืองรู้จักดีนั้นเป็นเสมือนตัวตนของคนกะเหรี่ยง เพราะพริกกะเหรี่ยงไม่สามารถเติบโตเดี่ยวๆ ได้ ต้องปลูกแซมกับพืชไร่อื่นๆ เช่นเดียวกับคนกะเหรี่ยงเอง ที่ต้องพึ่งพาอาศัยธรรมชาติในการดำรงชีวิต ไม่สามารถอยู่โดดเดี่ยวแยกจากดิน ป่าและน้ำได้

“คนกะเหรี่ยงต้องพึ่งพาป่าอาศัยธรรมชาติ ถ้าคนกะเหรี่ยงไม่เข้าใจตัวตนของคนกะเหรี่ยงเอง เราสูญพันธุ์แน่ในยุคโลกาภิวัตน์ !” นวพลเอ่ยอย่างมั่นใจ ทางรอดและข้อเสนอก็คือ ให้ภาครัฐประกาศให้พื้นที่ตำบลไล่โว่ทั้ง 6 หมู่บ้าน เป็น ‘เขตอนุรักษ์วัฒนธรรมกะเหรี่ยง’ นอกเหนือไปจากเขตอุทยานฯ และพื้นที่ป่ามรดกโลก

-3-
วัฒนธรรมกับนัยเบื้องหลังคำว่า ‘กะเหรี่ยง’


ในประเทศไทยชาติพันธุ์กะเหรี่ยงกลุ่มใหญ่ๆ อยู่ 2 กลุ่ม คือ กะเหรี่ยงโป และปกากะญอ ซึ่งทั้งสองต่างเป็นกะเหรี่ยงเหมือนกัน มีขนบธรรมเนียมประเพณีและวิถีความเชื่อแบบเดียวกัน คือ นับถือศาสนาพุทธกับผี มีบางส่วนที่นับถือศาสนาคริสต์ควบคู่ไปกับการนับถือผี

คำว่า ‘กะเหรี่ยง’ เป็นคำเรียกกลุ่มชนเผ่าทั้งสี่ อันประกอบด้วยซู, ส่อง, มะแว และตองสู่ ที่นักมานุษยวิทยากำหนดขึ้นเพื่อแบ่งกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ที่จริงแล้ว ซู-ส่อง คือชาติพันธุ์เดียวที่เป็นชื่อดั้งเดิม ต่อมาชนเผ่าซูเรียกตัวเองว่าโผลว ส่วน เรียกตัวเองว่า ปกากะญอ

กะเหรี่ยงในป่าทุ่งใหญ่ฯ เป็นกะเหรี่ยงโปหรือกะเหรี่ยงโผลว แต่คนภายนอกก็ยังขาดความเข้าใจในวิถีชีวิตของพวกเขาอีกหลายแง่มุม จึงนำมาสู่ ‘โครงการศูนย์วัฒนธรรม อบต.ไล่โว่เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา" ที่ถูกจัดสร้างขึ้นมาให้เป็นแหล่งรวบรวมเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของชนเผ่าชาวกะเหรี่ยงแห่งทุ่งใหญ่นเรศวร ที่จะนำมาเพื่อความรู้ ความเข้าใจในความหลากหลายของชาติพันธุ์ และความเคารพต่อกันในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษยชาติผู้ร่วมโลกเดียวกัน

ทิวาในฐานะตัวแทนเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมบอกว่า ศูนย์วัฒนธรรมแห่งนี้ดำเนินการโดย อบต.ไล่โว่เป็นผู้สนับสนุนแต่ต้องมีสภาวัฒนธรรมหมู่บ้านดูแล ชาวบ้านใครมีของอะไรดีก็นำมาแสดงให้นักท่องเที่ยวดู หรือมีอะไรดีในหมู่บ้านนั้นๆ ก็นำมาจัดแสดง

“จริงๆ แล้ว พิพิธภัณฑ์ชนเผ่ามันเป็นเพียงการแสดงให้เห็นว่าในพื้นที่แห่งนี้มีการพัฒนาและมีสิ่งต่างๆ อยู่ในพิพิธภัณฑ์เท่านั้น แต่หากอยากจะสัมผัสวิถีชีวิตจริงๆ ต้องเข้าไปดูในชุมชน ขณะนี้ยังมีปัญหาในการจัดการอยู่ ใครจะเป็นผู้ดูแลจัดการ มีการพูดคุยกันสภาวัฒนธรรมหมู่บ้านมาเป็นตัวแทนบริหารจัดการ อาจจะออกมาในรูปแบบการท่องเที่ยว มีการบริจาค 5-10 บาทพอบำรุงรักษาให้ศูนย์ดำเนินการอยู่ได้ ที่สำคัญคือให้ประชาชนทุกคนต้องมีส่วนร่วมด้วย”

ทิวากล่าวว่าสิ่งสำคัญนอกจากให้เกิดการเรียนรู้และเข้าใจชนชาติกะเหรี่ยงมากขึ้นแล้ว พวกเขาเองก็ต้องเรียนรู้และยอมรับคนอื่นๆ ด้วย

“ให้เขายอมรับตัวเองว่าเราเลือกเกิดไม่ได้ เราเกิดเป็นกะเหรี่ยงต้องภูมิใจ แต่เราอยู่ในประเทศไทย เราต้องเรียนหนังสือไทย ต้องปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญทุกประการ เราต้องเท่าเทียมกัน แล้วต้องมีใจรักอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ และฟื้นฟูสิ่งที่มันขาดหายไป มิฉะนั้นศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นหดหาย เมื่อรับวัฒนธรรมจากภายนอกเข้ามา ทำให้ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ สูญหายด้วย”

ส่วนเหตุผลที่ก่อตั้งศูนย์วัฒนธรรมฯ ไว้ที่ปากทางเข้าหน้าชุมชนและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เพราะไม่ต้องการให้กระทบกับชุมชนชาวกะเหรี่ยงและหมู่บ้านด้านใน เพื่อให้เห็นเป็นตัวอย่าง แต่ถ้าอยากสัมผัสจริงๆ จะต้องเดินเท้าหรือนั่งรถเข้าไปดูในหมู่บ้านเอง เพื่อไม่ทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงที่มีอยู่ภายในเขตอุทยาน

“ในเรื่องความเป็นอยู่ทั้งหมดในทุ่งใหญ่เราไม่มีการซื้อขาย คุณทำกินได้ คุณจะต้องดูแลป่าด้วย ให้เขาอยู่คู่กับป่าด้วย ด้วยความเชื่อที่มีอยู่ของชาวกะเหรี่ยงที่รักดิน รักน้ำ รักป่าอยู่แล้ว ดูแลป่าดูแลน้ำอยู่แล้ว การทำไร่หมุนเวียนไม่ใช่การทำลายหน้าดิน หรือการทำไร่เลื่อนลอยอย่างที่คนในเมืองเข้าใจ ขอบเขตการทำมาหากินอาจจะสัก 15-20 ไร่ แต่มีการหมุนเวียนไม่มีใครทำทั้ง 20 ไร่ไหว ปีนี้อาจจะทำ 5-10 ไร่แล้วปีต่อๆ ไป ก็เขยิบไปทำไร่ข้างๆ หมุนเวียนไป”

ความหวังเล็กๆ ของชาวกะเหรี่ยงแห่งผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เพียงหวังว่าคนที่เข้ามาชมหรือรับทราบข่าวคราวศูนย์วัฒนธรรมฯ ของพวกเขา จะเปิดใจยอมรับและเข้าใจความแตกต่างทางชาติพันธุ์มากขึ้น

“ถามว่าทุกวันนี้เด็กไทยรู้จักประวัติศาสตร์ไทยมากน้อยแค่ไหน ทำให้ทุกวันนี้จึงมีอคติต่อความเป็นพม่าว่าเป็นศัตรู ถ้าเด็กเรียนรู้ในประวัติศาสตร์ลงลึกจริงๆ ไม่มีใครเป็นศัตรูใครทั้งนั้น เพราะความเป็นมนุษย์ ความเป็นคนที่จะต้องดำรงอยู่ด้วยขอบเขตกำหนดโดยประเทศ ฉะนั้น จุดมุ่งหมายของเราคือให้เขามีความคิดว่าเขาอยู่ประเทศไหน เขาอยู่ในแผ่นดินไหน เขาควรจะตอบแทนแผ่นดินนั้นด้วยใจรัก” ทิวาทิ้งท้าย


********************************

‘เวียจาทีโพ้ ภี่เซอโปว์’ ดินแดนศักดิ์สิทธิ์

ตำนานการอพยพของชนเผ่ากะเหรี่ยงแห่งผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เชื่อกันว่ามีการอพยพครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2318 ในสมัยพระเจ้าอลองพญาของพม่าทำสงครามรบกับมอญ มอญพ่ายแพ้ถูกกองทัพพม่าไล่ติดตามฆ่าฟันอย่างล้างผลาญชนชาติมอญให้สิ้นสูญ ในเวลานั้นกะเหรี่ยงซึ่งเป็นมิตรกับมอญจึงได้อพยพหลบหนีข้ามภูเขาเข้ามาสู่เขตไทย นับเป็นช่วงที่กะเหรี่ยงอพยพเข้าสู่ประเทศไทยมากที่สุด


เส้นทางการอพยพในคราวนั้น เริ่มเดินทางจากเขตมะละแหม่งจนมาถึงด้านลำน้ำกษัตริย์สู่ที่ราบเวียจาทีโพ้ ภี่เซอโปว์ ทุ่งหญ้ากว้างกลางป่าใหญ่ทางภาคตะวันตกของไทย ซึ่งหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในการอพยพของชาวกะเหรี่ยงในคราวนั้น ยังได้ปรากฏอยู่ในชุมชนเก่าแก่ทิไล่ป้า ของอ.สังขละบุรีในทุกวันนี้

เมื่อแรกเริ่มเมืองสังขละบุรี ก่อนปี พ.ศ.2126 หัวหน้ากะเหรี่ยงชื่อ ‘พู้เซิงละ’ ชาวกะเหรี่ยงอีกกลุ่มหนึ่งได้ตัดลำน้ำแม่กษัตริย์เข้าทางด่านเจดีย์สามองค์ เข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนเล็กๆ อยู่บริเวณพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ‘ทุผุงทิซวยโว่’ แถบลำน้ำซองกาเลีย ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองสังขละบุรี และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาศรีสุวรรณคีรี สืบทายาทปกครองเมืองสังขละบุรีมาจนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน ร.ศ.120 ทำให้สังขละบุรีมีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านของกาญจนบุรี มีบทบาทสำคัญคือ เป็นกองกำลังป้องกันการรุกรานของพม่า และเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด มีผู้คนสัญจรไปมาค้าขายสมกับเป็น ‘เมืองท่าแพ’

เรื่อง : รัชตวดี จิตดี
ภาพ : ธนารักษ์ คุณทน


พิธีผูกข้อมือเรียกขวัญของชาวกะเหรี่ยง
พิธีกรวดน้ำของชาวกะเหรี่ยง

ทิวา คงนานดี ผู้ก่อตั้งเครือข่ายฟื้นฟูการศึกษาและวัฒนธรรม กับพะตีหนิงเหย่ง เทียนขจรศรี เป็นคนเก็บสะสมของเก่าแล้วมอบให้ศูนย์วัฒนธรรมกะเหรี่ยง

อาคารศูนย์วัฒนธรรม อบต ไล่โว่ เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา
กำลังโหลดความคิดเห็น