“โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร” คำถามที่เด็กทุกคนต้องเคยถูกถามจากพ่อแม่ หรือคุณครูอย่างน้อยก็ครั้งหนึ่งในชีวิต แล้วคำตอบหลายหลากก็พรั่งพรูออกมาจากปากของหนูๆ ไม่ว่าจะเป็นพยาบาล ทหาร ตำรวจ คุณหมอ คุณครู และที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ “นักบินอวกาศ” อาชีพในฝันของหนูน้อยช่างฝันทั้งชาย หญิง
ทว่าแต่แล้วเมื่อโตขึ้น ความฝันนั้นก็ค่อยๆ เลือนหายไป เมื่อพวกเขารู้ว่าการจะเป็นนักบินอวกาศสักคนนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด วันนี้ M-Feature มีเรื่องราวบางส่วนของความฝันเล็กๆ เกี่ยวกับชุดนักบินอวกาศ มาฝากกัน
การออกไปผจญภัยนอกโลกนั้นหลายคนคิดว่าเป็นเรื่องสนุก แต่แท้จริงแล้วเป็นเรื่องที่อันตราย เพราะไม่เพียงแค่ต้องเผชิญกับอากาศที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าศูนย์ถึง 185 องศาเซลเซียส จนถึงสูงกว่าศูนย์ 150 องศาเซลเซียสเท่านั้น ไหนจะขยะหรือฝุ่นจำนวนมหาศาลที่รอจะพุ่งชนพวกเขาจากการออกไปปฏิบัติงานภายนอกยานอวกาศ หรือสถานีอวกาศที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงอีกเล่า
ชวลิต รัศมีนิล ผู้เชี่ยวชาญด้านชุดนักบินอวกาศ อธิบายให้ฟังถึงชุดนักบินอวกาศที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบันว่า “ชุดนักบินอวกาศในประเทศที่มีการส่งนักบินอวกาศขึ้นไปนอกโลก จะมีชุดเป็นของตัวเอง อย่างของสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย
ชุดนักบินอวกาศส่วนใหญ่จะแบ่งชุดออกเป็นสองกลุ่ม คือชุดที่ใช้ใส่ในระหว่างเครื่องขึ้นและกลับสู่พื้นโลก และชุดที่ใส่ออกไปท่องอวกาศ เพื่อปฏิบัติภารกิจ หรือที่เรียกว่า EMU (Extravehicular Mobility Unit) อย่างเช่น ออกไปซ่อมอุปกรณ์สถานีอวกาศ ออกไปซ่อมหรือติดตั้งอุปกรณ์ดาวเทียม หรือออกไปดูแลกระสวยอวกาศ
ชุดทั้งสองประเภทจะแยกออกจากกัน โดยของสหรัฐอเมริกาจะมีชุดที่ใช้สำหรับเดินทางขึ้นหรือลงจากสถานีอวกาศเป็นชุดสีส้ม เราจะเห็นเฉพาะตอนที่นักบินขึ้นไปกับยานอวกาศ ส่วนของรัสเซียจะเป็นชุดสีขาวที่เรียกว่าชุด sokul เอกลักษณ์คือ ตามข้อต่อชุดจะเป็นห่วงอะลูมิเนียมสีน้ำเงิน แต่ชุดที่ใส่ออกไปนอกยานอวกาศจะใช้ชุดอีกชุดหนึ่งเรียกว่าชุด orlan
ชุดที่ใช้สำหรับขึ้นไปสู่อวกาศ ตัวชุดสีส้มและสีขาวจะเน้นหนักไปที่อุปกรณ์ยังชีพ จะมีอาหาร ชูชีพสำหรับลงน้ำ แท่งจุดไฟ ตัวชุดสามารถพองน้ำได้ ในกรณีที่นักบินอวกาศจะต้องตกลงไปในน้ำ หรืองกลางป่า ทีมที่จะเข้าไปช่วยเหลือซึ่งจะเป็นเครื่องบินหรือเฮลิคอปเตอร์จะมองเห็นได้ง่าย
นอกจากนี้ยังมีหมวกเหล็กคลุม มีกระจกคลุม มีม่านบังรังสียูวี ถุงมือ รองเท้าบูต มีเฮดโฟนไมโครโฟน และอื่นๆ มีก๊าซออกซิเจนเติมเข้าไปในท่อเพื่อส่งเข้าไปในชุดพวกนี้ ในตัวชุดเองก็จะมีแพมเพิส ไว้เพราะนักบินอวกาศจะไม่สามารถทนได้นาน และไม่สามารถถอดชุดได้ถ้าหากปวดท้องหรือปัสสาวะ เนื่องจากต้องรอเวลา 12-14 ชั่วโมง จึงจำเป็นต้องมีแพมเพิร์สเตรียมไว้ในนั้นเลย
ส่วนชุดที่ออกไปท่องอวกาศจะมีขนาดใหญ่และเทอะทะกว่า เพราะต้องใช้เพื่อออกไปเดินภายนอกยานอวกาศ หรือสถานีอวกาศ ปกติชุดนี้จะต้องไปทำการใส่ก่อนออกนอกยานประมาณ 3-4 ชั่วโมง เพื่อปรับระดับความดันและระดับออกซิเจน และเพื่อให้นักบินอวกาศสูดออกซิเจนบริสุทธิ์ก่อนที่จะใส่ชุดนี้
หลักการจะคล้ายกับการดำน้ำสคูบา คือต้องใส่ภายใต้สภาวะที่ควบคุม ไม่ใช่ใส่แล้วสามารถเดินออกไปได้เลย ขั้นตอนในการใส่ชุดนักบินอวกาศใช้เวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมง เพื่อเวลาพวกเขาออกไปทำงานข้างนอกแล้วเกิดเหตุฉุกเฉิน จะได้ไม่มีปัญหารองรับความดัน หรือที่นักดำน้ำเรียกว่า Bend ซึ่งจะเกิดกับนักบินอวกาศเหมือนกัน
ถ้าเข้าสู่อวกาศเร็วผิดปกติ เมื่อเปลี่ยนจากความดันหนึ่งเข้าไปสู่อีกความดันหนึ่งแล้วกลับเข้ามาสู่อีกความดันหนึ่ง นักบินอวกาศจึงต้องได้รับการฝึกใต้น้ำเพื่อจำลองสภาวะไร้น้ำหนัก แต่ก็ยังแตกต่างจากในอวกาศ น้ำจะทำให้เกิดความหน่วง ซึ่งจะทำให้ควบคุมร่างกายได้ง่ายกว่า และนักบินอวกาศจะยังคงรู้ทิศทางด้านบนด้านล่าง นอกจากนี้ ระหว่างการฝึกยังมีผู้ชำนาญการคอยดูแลด้วย
กระแสไนโตรเจนที่อยู่ในเลือดจะระเหยออกไปไม่หมด จะเป็นฟองอากาศอยู่ในเส้นเลือด และหากไปบล็อกอยู่ในสมองจะทำให้สมองขาดเลือด อาจทำให้เกิดอัมพฤกษ์หรืออมพาตถาวรได้ จึงมีวิธีแก้ปัญหาโดยการให้นักบินอวกาศสูด
ออกซิเจนบริสุทธิ์ก่อนออกทำงาน เผื่อว่ามีเหตุฉุกเฉิน พวกเขาจะสามารถกลับสู่สถานีอวกาศได้เร็วขึ้น แต่โดยปกติจะมีการคำนวณออกซิเจนไว้แล้ว และในตัวชุดจะมีอุปกรณ์ป้องกันรอยรั่ว ส่วนตัวชุดจะมีท่อสำหรับอาหารและน้ำดื่มซ่อนอยู่ รวมทั้งแพมเพิร์สไว้ให้นักบินด้วย เรียกว่าเป็นห้องน้ำย่อยๆ เลยก็ว่าได้
เนื่องจากเวลาออกไปปฏิบัติงานบางครั้งอาจนานถึง 5-6 ชั่วโมง พวกเขาจะไม่ได้กลับเข้ามา ถึงแม้จะหิวข้าวก็กลับเข้ามาไม่ได้ ต้องทำงานให้จบแม้ว่าจะต้องอยู่ถึง 9 หรือ 10 ชั่วโมงก็ตาม
ส่วนอาหารสำหรับนักบินอวกาศ ไม่ใช่อาหารเม็ดหรือแคปซูลอย่างที่เข้าใจกัน แต่จะเป็นอาหารแพ็คแห้ง อาหารกระป๋อง เมื่อถึงสถานีอวกาศเขาจะนำมาเติมน้ำอุ่น หรือเวฟตามปกติ น้ำดื่มถ้าเป็นพวกน้ำผลไม้จะถูกทำให้เป็นผง แล้วค่อยมาเติมน้ำร้อน น้ำเย็น เขย่าแล้วจึงดื่มได้ บนสถานีอวกาศนักบินทุกคนจะไม่มีการอาบ
น้ำ จแต่ะใช้วิธีเช็ดตัวแทน
อากาศที่ใช้ในการหายใจนั้น ชุดสีส้มและสีขาวจะใช้ออกซิเจนปกติบนโลก การเคลื่อนไหวทำได้สะดวกกว่า แต่อีกชุดที่นักบินอวกาศใส่ออกไปนอกยานอวกาศจะใช้ออกซิเจนบริสุทธิ์เท่านั้น และการเคลื่อนไหวก็ลำบากกว่าชุดแรก เพราะเป็นชุดแข็ง ช่วงกลางลำตัวจะเคลื่อนไหวไม่ได้ แต่ข้อมือหรือไหล่จะเคลื่อนไหวได้จำกัด ตั้งแต่ไหล่ออกไปถึงปลายมือจะเคลื่อนไหวได้บางส่วน เพราะทำจากผ้า และใยผสมบางอย่างที่ใช้ป้องกันวัสดุและรังสีบางชนิด
ตัวยานอวกาศและตัวนักบินที่ออกไปทำงานจะเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 7กิโลเมตร ต่อวินาที หากมีวัตถุ ฝุ่นหรือเม็ดกรวด เม็ดทรายพุ่งชนอาจจะเกิดการเจาะทะลุได้ แม้ว่าชุดจะมีการป้องกันการทะลุถึง 3 ชั้นก็ตาม แต่เมื่อไหร่ที่ชุดถูกเจาะทะลุจะมีสัญญาณเตือน นักบินต้องรีบกลับเข้ามายังตัวยานอวกาศทันที
ชุดนักบินอวกาศ EMU ประกอบไปด้วย วัสดุ 13 ชั้น ได้แก่ ชั้นอุณหภูมิภายใน 2 ชั้น ชั้นควบคุมความดัน 2 ชั้น ชั้นป้องกันความร้อนและอนุภาคฝุ่นหรือหิน 8 ชั้น และชั้นนอกอีก 1ชั้น วัสดุเหล่านี้ประกอบด้วยไนลอน สแปนเด็กซ์ ไนลอนเคลือบด้วยยูรีเทน ดาครอน ไนลอนเคลือบด้วยยางนีโอพรีน ไมลาร์ กอร์เท็กซ์ เคฟลาร์ และโนแมกซ์
ชุดนัดบินอวกาศทำเป็นหลายชิ้นส่วนที่มีขนาดต่างๆ กัน แต่สามารถนำมาต่อกันเพื่อให้เหมาะกับรูปร่างของนักบินแต่ละคนได้ เช่น ส่วนแขน ขา หรือลำตัว ที่มีหลายขนาดให้เลือก ชุดนักบินอวกาศ มีน้ำหนักถึง 300 กิโลกรัม เมื่อชั่งบนโลก แต่ในอวกาศ ชุดอวกาศอยู่ในสภาพไร้น้ำหนักอย่างสิ้นเชิง
ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก
วารสาร “วัสดุกับชุดนักบินอวกาศ”
Did You Know
ชุดนักบินอวกาศชุดแรกเกิดพร้อม ยูริ กาการิน นักบินอวกาศคนแรกของโลก ชาวรัสเซีย ด้วยยานวอสต๊อค1 ถูกส่งขึ้นไป เมื่อ 12 เมษายน 1961