ครั้งเดียวคงไม่พอ "ซิโมนี" เศรษฐีโปรแกรมอเมริกันผู้พัฒนาไมโครซอฟท์เวิร์ดและเอ็กเซล จ่ายอีก 1,250 ล้านบาท เพื่อท่องอวกาศรอบสอง ไม่แคร์วิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังถล่มสหรัฐฯ ส่งท้ายปิดกิจการทัวร์อวกาศของรัสเซีย โดยจะขึ้นไปพร้อมนักอวกาศที่จะขึ้นไปประจำบนสถานีอวกาศพฤหัสนี้ ส่วนเขาจะใช้เวลาอยู่นอกโลกนาน 2 สัปดาห์
ชาร์ลส ซิโมนี (Charles Simonyi) เศรษฐีอเมริกัน ผู้มีส่วนในการพัฒนาแอปพลิเคชั่นของไมโครซอฟท์ (Microsoft) จะกลายเป็นลูกทัวร์อวกาศคนแรก ที่ได้ขึ้นไปสถานีอวกาศถึง 2 ครั้ง เมื่อทะยานฟ้าไปพร้อมนักบินอวกาศมืออาชีพชาวสหรัฐฯ และรัสเซีย 2 คนในวันที่ 26 มี.ค.52 นี้ โดยนักบินอวกาศจะประจำอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติเป็นเวลา 6 เดือน ขณะที่เศรษฐีอเมริกัน จะใช้เวลาชื่นชมบรรยากาศนอนกโลกเป็นเวลา 2 สัปดาห์
การท่องอวกาศรอบ 2 นี้ สำนักข่าวเอพีระบุว่า ซิโมนีได้จ่ายถึง 1,250 ล้านบาท ซึ่งรวมกับรายจ่ายครั้งก่อนแล้ว เขาใช้เงินไปกับการท่องนอกโลกกว่า 2,100 ล้านบาท และครั้งนี้อาจเป็นครั้งสุดท้าย ที่รัฐบาลรัสเซียจะอนุญาตให้มีลูกทัวร์ติดตามขึ้นไปบนสถานีอวกาศด้วย
ทั้งนี้ด้วยวัย 60 ปีของซิโมนีนับเป็นผู้ที่อายุค่อนข้างมากที่ได้ท่องอวกาศ ขณะที่สถิติของผู้มีอายุมากที่สุดที่ได้ขึ้นไปสู่วงโคจรรอบโลกคือ จอห์น เกลนน์ (John Glenn') ผู้ท่องอวกาศขณะมีอายุ 77 ปี
ซิมอนีบอกกับภรรยาคนใหม่ ลิซา เปอร์ดอทเตอร์ (Lisa Persdotter) ชาวสวีเดนวัย 28 ซึ่งเป็นภรรยาคนแรกที่เขาแต่งงานด้วยว่า การเดินทางสู่อวกาศครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายของเขา โดยได้บอกแผนการเดินทางดังกล่าวกับภรรยาคนใหม่ขณะหมั้นกัน และเธอก็สนับสนุนแผนการของเขาอย่างยิ่ง แต่มีข้อแม้ว่าอนุญาตให้เดินทางได้แค่ครั้งนี้อีกครั้งเดียวเท่านั้น
"ซิโมนี" เศรษฐีอเมริกันเชื้อชาติฮังการี ที่ปัจจุบันอาศัยอยู่ในซีแอตเทิล เป็นหนึ่งใน 6 เศรษฐีที่ซื้อทัวร์อวกาศผ่านบริษัท "สเปซแอดเวนเจอร์ส" (Space Adventures) ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในมลรัฐเวอร์จิเนีย
ด้าน ไมค์ เซิร์ฟเฟอดินี (Mike Suffredini) ผู้จัดการโครงการสถานีอวกาศ ปฏิบัติกับกับซิโมนีเหมือนกันทุกๆ คนที่ขึ้นไปสถานีอวกาศ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ไปเยือน จะเข้าใจในข้อจำกัดภายใต้ความซับซ้อนของวงโคจร โดยเขาได้ให้ความเห็นว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำให้เกิดความปลอดภัยแก่ทุกคน เช่นเดียวกับที่ทำต่อนักบินอวกาศและสถานีอวกาศอวกาศเอง โดยค่อนข้างมีข้อจำกัดอย่างมากว่าสามารถทำอะไรได้บ้างในสถานีอวกาศฝั่งของสหรัฐฯ
ทางฟากเจ้าหน้าองค์การอวกาศรัสเซียประเมินว่า หลังจากปีนี้แล้วไม่น่าจะมีที่นั่งพอสำหรับลูกทัวร์อวกาศอีก นั่นเป็นเพราะลูกเรือของสถานีอวกาศได้เพิ่มจำนวน 2 เท่า กลายเป็น 6 คน โดยหวังว่า จะขยายพื้นที่รองรับได้ทันสิ้นเดือน พ.ค.นี้ อีกทั้งพื้นที่สำหรับนักบินมืออาชีพก็ถูกวางตำแหน่งไว้หมดแล้ว
หลังกลับจากทัวร์อวกาศครั้งแรก เพียง 2 สัปดาห์เมื่อเดือน เม.ย.50 ซิโมนีกล่าวว่า นักบินอวกาศรัสเซียบอกกับเขาว่า เป็นความแตกต่างและคุ้มค่ามากเพียงใด หากได้กลับไปเยือนอวกาศเป็นครั้งที่ 2 ดังนั้นเมื่อทัวร์อวกาศกำลังจะหยุดกิจการ เขาจึงไม่อยากพลาดโอกาสนี้ไป และเนื่องจากการฝึกครั้งแรก ไม่ห่างจากการเดินทางครั้งนี้เท่าไหร่นัก เขาจึงได้รับสิทธิ์ในการย่นย่อตารางฝึกบิน ซึ่งปกติต้องใช้เวลา 6-8 เดือน เหลือเพียง 3 เดือน และเขาจะกลับสู่โลก ในการเดินทางครั้งล่าสุดนี้วันที่ 7 เม.ย.52
"ผมมองดูว่า ครั้งนี้เป็นความต่อเนื่องจากเที่ยวบินแรก เหตุผลก็เหมือนเดิม เพื่อสนับสนุนงานวิจัยทางด้านอวกาศ เพื่อสร้างความนิยมในเที่ยวบินอวกาศแก่พลเรือน และสื่อสารถึงความน่าตื่นเต้นของวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมไปยังเด็กๆ" ซิโมนีกล่าว
ทั้งนี้ซิโมนี มีความสนใจในอวกาศตั้งแต่วัยเด็ก เขาเป็นตัวแทนนักบินอวกาศรุ่นเยาว์ของฮังการีเมื่ออายุ 13 และได้รางวัลในการเดินทางไปกรุงมอสโคว์ของรัสเซีย เพื่อพบกับหนึ่งในมนุษย์อวกาศของอดีตสหภาพโซเวียต แต่ความสนใจในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้นำพาเข้าสู่สหรัฐอเมริกา และได้เป็นพลเมืองของสหรัฐฯ มา 27 ปีแล้ว
ทั้งนี้ เขาจบปริญญาเอกทางด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ และได้พัฒนาโปรแกรมไมโครซอฟท์เวิร์ดและไมโครซอฟท์เอกเซล จากนั้นเขาได้ลาออกจากไมโครซอฟท์เมื่อปี 2545 และตั้งบริษัทอินเทอร์เนชันแนล ซอฟต์แวร์ (Intentional Software Corp.) และกองทุนชาร์ลซิโมนีเพื่อศิลปะและวิทยาศาสตร์ (Charles Simonyi Fund for Arts and Sciences)
เมื่ออยู่ในวงโคจร ซิโมนีเสนอตัวที่จะทดลองทางการแพทย์ และการทดลองทางด้านรังสีขณะอยู่ในวงโคจร และจะใช้โปรแกรมวินโดว์สเพื่อบันทึกภาพของโลกไว้ ส่วนภรรยาซึ่งแต่งงานกันมาได้ 4 เดือน จะไปให้กำลังใจเขาที่ฐานปล่อยจรวดในคาซัคสถาน ท่ามกลางครอบครัวและเพื่อนๆ อีกนับสิบ แต่บิล เกตส์ (Bill Gates) จะไม่ได้ไปร่วมในวันนั้นด้วย.