องค์การอวกาศแดนหมีขาวที่บุกเบิกทัวร์อวกาศมาหลายปี มีแผนจะยุติโครงการพานักเที่ยวมหาเศรษฐีขึ้นไปเปิดหูเปิดตาบนสถานีอวกาศนับตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป เหตุเพราะเตรียมขยายสถานี เพื่อรองรับนักบินอวกาศขึ้นไปประจำการเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว และกระสวยโซยุซยังต้องรับภาระหนัก อีกหลังนาซาปลดระวางยานทั้ง 3 ลำ
อนาโตลี เปอร์มินอฟ (Anatoly Perminov) ผู้บริหารสูงสุดขององค์การอวกาศรัสเซีย (Russian Federal Space Agency) เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์รอสซีอิสกายา กาเซตา (Rossiiskaya Gazeta) ของรัฐบาลเมื่อวันที่ 21 ม.ค.52 ที่ผ่านมาว่า รัสเซียจะเลิกโครงการจัดทัวร์อวกาศตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นไป โดยเที่ยวบินอวกาศของรัสเซีย ที่มีลูกทัวร์เดินทางไปด้วยจะออกเดินทางในเดือน มี.ค.ปีนี้ เป็นเที่ยวสุดท้าย
รัสเซียจะเลิกพานักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักขึ้นไปเปิดหูเปิดตาบนสถานีอวกาศนานาชาติหรือไอเอสเอส (ISS) ด้วยเหตุที่ว่า สถานีอวกาศนานาชาติกำลังจะขยับขยายจากเดิม ที่มีลูกเรืออวกาศประจำการอยู่ได้จำนวน 3 นาย ให้เพิ่มเป็น 6 นาย โดยจะมีลูกเรือจากแคนาดา ยุโรป และญี่ปุ่น ขึ้นไปประจำการบนไอเอสเอสด้วยในส่วนที่เป็นสถานีอวกาศของประเทศนั้นๆ ซึ่งกำลังเร่งต่อเติมให้แล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ และลูกเรือแต่ละคนควรจะมีเวลาสำหรับการทำงานวิจัยบนไอเอสเอสเฉลี่ย 10-35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
ตามรายงานในเอพีระบุอีกว่า เปอร์มินอฟยังบอกเหตุผลด้วยว่า รัสเซียเคยสัญญากับคาซัคสถานไว้ว่าหากเป็นไปได้ จะจัดเที่ยวบินขนส่งนักท่องอวกาศในเชิงพาณิชย์อีกเพียงเที่ยวเดียวเท่านั้น ซึ่งก็คือเที่ยวบินถัดไปนั่นเอง ทั้งนี้ รัสเซียใช้ศูนย์อวกาศไบโคนัวร์ (Baikonur cosmodrome) ในคาซัคสถาน เป็นฐานปล่อยจรวด
นับตั้งแต่ปี 2544 รัสเซียได้จัดโครงการทัวร์อวกาศร่วมกับบริษัท สเปซ แอดเวนเจอร์ (Space Adventures Ltd.) ในสหรัฐฯ และมีมหาเศรษฐีที่ยอมจ่ายเงินไม่ต่ำกว่า 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อออกไปสัมผัสบรรยากาศนอกโลกกับยานโซยุซ (Soyuz) มาแล้ว 6 ราย โดยรายล่าสุดคือริชาร์ด การ์ริออต (Richard Garriott) นักออกแบบเกมคอมพิวเตอร์ชาวอเมริกัน ที่ออกไปทัวร์อวกาศเมื่อเดือน ต.ค. ปีที่ผ่านมา
สำหรับลูกทัวร์อวกาศคนสุดท้ายของรัสเซียนั้นไ ม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น ชาร์ลส ซิโมนี (Charles Simonyi) มหาเศรษฐีซอฟต์แวร์ชาวอเมริกันเชื้อสายฮังการี ที่เคยไปทัวร์อวกาศกับโซยุซมาแล้วรอบหนึ่งเมื่อ 2 ปีก่อน และเตรียมจะไปเที่ยวไอเอสเอสครั้งที่ 2 ในเดือน มี.ค. 52
ทั้งนี้ ยานโซยุซและยานโพรเกรส (Progress) ของรัสเซีย เป็นหนึ่งในกำลังสำคัญในการบำรุงรักษาและต่อเติมขยายสถานีอวกาศนานาชาติอยู่แล้ว และหลังจากปี 2553 ยังอาจจะต้องรับภาระหนักมากขึ้น เนื่องจากว่าสหรัฐฯ จะปลดระวางยานอวกาศชุดที่ใช้อยู่ในปัจจุบันทั้งหมด ได้แก่ เอนเดฟเวอร์ แอตแลนติส และดิสคัฟเวอรี
ส่วนยานลำใหม่ที่จะนำมาใช้แทนนั้นมีกำหนดเริ่มใช้งานได้ในปี 2558 ทำให้ระหว่างนั้นนักบินของสหรัฐฯ ต้องพึ่งพากระสวยอวกาศของรัสเซียไปก่อน และแม้ว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาองค์กรอวกาศรัสเซียจะได้เงินทุนจากรัฐบาลมากขึ้นก็ตาม แต่ก็ยังประสบกับปัญหาด้านการเงินอยู่ดี