หากความสำเร็จของ แทมมารีน ธนสุกาญจน์ เมื่อครั้งครองตำแหน่งรองแชมป์เยาวชนหญิงเดี่ยววิมเบิลดันในปี 1995 จะเป็นก้าวแรกของการปรากฎตัวในฐานะนักเทนนิสหญิงจากเมืองไทยที่ประสบความสำเร็จสูงสุดเท่าที่เคยมีมาและกลายเป็นผลงานที่ "แทมมี่" ได้ต่อยอดความสำเร็จจนกระทั่งครองแชมป์อาชีพในระดับดับเบิ้ลยูทีเอทัวร์มาแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่ผลงานของ นพวรรณ เลิศชีวกานต์ สาวน้อยจากเมืองเชียงใหม่ผู้วัดรอยเท้ารุ่นพี่ได้สำเร็จบนคอร์ตหญ้าของออลอิงแลนด์เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านน่าจะเป็นหมายเหตุอันน่าสนใจยิ่งสำหรับวงการเทนนิสหญิงไทย ที่เวลานี้ต้องการดาวรุ่งเพื่อขึ้นมาทดแทนคลื่นลูกเก่าซึ่งนับวันจะอ่อนแรงลง
ย้อนกลับไปในเดือนกรกฎาคม ห้วงเวลาของ "สตอร์เบอร์รี่ย์ วิบครีม" ภายในสนาม ออลอิงแลนด์ การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศในประเภทเยาวชนหญิงเดี่ยวได้กลายเป็นที่จับตาจากสื่อทั่วโลก เมื่อหนึ่งในเยาวชนหญิงทีได้เข้ารอบชิงคือ สาวน้อยนักหวดจากเมืองไทย "นพวรรณ เลิศชีวกานต์" ที่ลงสนามดวลแร็กเก็ตกับนักเทนนิสเจ้าถิ่นอย่าง "ลอร่า ร็อบสัน" แม้ว่าผลการแข่งขันสาวไทยวัย 16 ปีจะพ่ายไปด้วยสกอร์สุดสูสี 2-1 เซตครองตำแหน่งรองแชมป์ฯหากชื่อของ "น้องนก" ก็ได้แจ้งเกิดทันทีเพราะผลงานดังกล่าวไม่เพียงแต่จะสร้างความหวังใหม่ให้กับวงการเทนนิสไทย หากยังเป็นการตามรอยรุ่นพี่อย่าง แทมมี่ ที่เคยสร้าชื่อไว้เมื่อ 13 ปีก่อน โดยก่อนหน้าการทำผลงานที่วิบเบิลดัน "นพวรรณ" คว้าแชมป์อาชีพระดับไอทีเอฟที่เมืองบาลิกปาปาน ประเทศอินโดนีเซียเป็นการอุ่นเครื่อง และหลังจากวิมเบิลดัน เธอก็ยังสร้างชื่อในแกรนด์สแลมในประเภทเยาวชนหญิงคู่ของ ยูเอส โอเพ่นด้วยการจับคู่กับ "ซานดรา โรมา" นักเทนนิสดาวรุ่งจากสวีเดนซึ่งผลงานดังกล่าว "น้องนก" ไปถึงตำแหน่งแชมป์และส่งผลให้เวลานี้เธอคือนักเทนนิสเยาวชนหญิงมือ 1 ของโลกคนแรกของประเทศไทย
ช่วงเวลาปิดฤดูกาล สาวน้อยจากเชียงใหม่ที่ตระเวนแข่งเก็บคะแนนและเพิ่มเขี้ยวเล็บประสบการณ์ให้กับตนเองมาตลอดทั้งปีได้กลับมายังบ้านเกิด หากแต่เธอก็ไม่ได้ปล่อยให้เวลาผ่านไปเพราะฤดูกาล 2009 น้องนกในอายุที่ย่างเข้า 17 ปีเต็มตัดสินใจลงแข่งเทนนิสอาชีพแบบเต็มตัวโดยมีต้นทุนอยู่ในกระเป๋ากับอันดับที่ 356 ของโลกพร้อมกับทีมงานผู้ฝึกสอนชาวสหรัฐฯ "ชัค คริสซี" ที่ถูกจัดหามาโดยสมาพันธ์เทนนิสอาเซียน (SEATF) มุ่งหน้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ และในเวลานี้ "น้องนก" ได้เก็บตัวซุ่มซ้อมอยู่ที่
"ปิยรมย์สปอร์ตคลับ" สุขุมวิท 101/1 ซึ่งทีมงาน MGR Sport มีโอกาสได้เข้าพูดคุยช่วงสั้นๆระหว่างที่เธอพักจากการฝึกซ้อม
สาวน้อยจากเชียงใหม่ ที่ต้องห่างจากอ้อมอกพ่อแม่ มาใช้ชีวิตนักกีฬาอาชีพอย่างเต็มตัวที่กรุงเทพฯ เผยถึงช่วงเวลาที่ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์และความมั่นใจต่อเป้าหมายใหญ่ซึ่งรออยู่เบื้องหน้าว่า "ส่วนตัวแล้วรู้ว่าเส้นทางข้างหน้ามีแต่ความยากลำบากรออยู่ เพราะที่ผ่านมาเป็นการแข่งขันในระดับเยาวชนแต่ปีหน้าคือสนามจริงในระดับอาชีพ แน่นอนว่า คู่ต่อสู้ที่จะได้ประแร็กเก็ตต้องมีฝีมือมากกว่าสมัยเยาวชนหลายเท่าตัว แม้เราตีดีก็ใช่ว่าจะเอาชนะได้ง่ายๆ”
สำหรับวิธีพัฒนาตัวเองให้ขึ้นไปเทียบชั้นนักเทนนิสรุ่นใหญ่ สาวน้อยซึ่งใช้ทั้งสองมือประคองโฟร์แฮนด์และแบ็คแฮนด์ เผยว่า “ต้องปรับอารมณ์ให้เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ต้องเปลี่ยนความคิดโดยเฉพาะในจังหวะเสิร์ฟต้องนิ่งกว่าเก่า หากพบสถานการณ์กดดันต้องเอาแต้มมาให้ได้” สำหรับฤดูกาล 2009 แม้ นพวรรณ จะมีอันดับ 356 ของโลกอยู่ก่อนแล้วแต่เนื่องด้วยข้อจำกัดของดับเบิ้ลยูทีเอ ที่อนุญาติให้นักเทนนิสหญิงลงสนามอาชีพได้เต็มฤดูกาลเมื่อมีอายุครบ 18 ปีส่งผลให้ในปี 2009 "น้องนก" มีสิทธิ์ลงแข่งได้ไม่เต็มจำนวนทัวร์นาเม้นท์ซึ่ง “โค้ช ชัค คริสซี" วางแผนไว้แล้วว่าจะได้นักเทนนิสดาววรุ่งของไทยลงสนามประมาณ 10 ถึง 20 รายการขณะที่แกรนด์สแลมทั้ง 4 ต้องลงแข่งรอบคัดเลือกทั้งหมดพร้อมทั้งลงเล่นระดับเยาวชนไปด้วยเพราะอายุยังไม่เกินที่จะทำผลงาน
ตามแผนที่วางไว้จะทำให้ตลอดทั้งปี 2552 นพวรรณ จะได้อยู่เมืองไทยเพียงแค่ 1-2 เดือนต่างจากปีก่อนๆที่ได้กลับมา 3-4 เดือน แน่นอนว่าความกังวลของเด็กสาวที่จากบ้านมาไกลหนีไม่พ้นความรู้สึกคิดถึงครอบครัว ซึ่งน้องนกเผยว่า “ท่านคงคิดถึงหนูมาก ตอนนี้ต้องพยายามคุยกันมากขึ้นเพื่อทำความเข้าใจว่าปีหน้าเราอาจเจอหน้ากันไม่ถึงเดือน แต่ในอนาคตข้างหน้าถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้พ่อเดินทางไปด้วยในบางโอกาสที่โค้ชไม่ว่าง เพราะพ่อเองเคยเล่นเทนนิสท่านน่าจะพอให้คำแนะนำได้บ้างแต่ตอนนี้เพื่อผลงานและอันดับโลกที่สูงขึ้นการเดินทางจึงมีเพียงแค่หนูกับโค้ชเท่านั้น”
แม้ว่า "น้องนก" จะพอทำใจรับได้กับเรื่องที่ต้องห่างจากครอบครัวเพื่อเป้าหมายสำคัญในชีวิตนักเทนนิส แต่ลึกๆแล้วก็ใช่ว่าเธอจะปฏิเสธความเป็นวัยรุ่นหากแต่เวลาอันจำกัดและความรับผิดชอบทำให้เด็กสาวจากเชียงใหม่ต้องกลายเป็นผู้ใหญ่เกินตัวเมื่อหวดสาวดาวรุ่งผู้มี โมนิกา เซเลส เป็นต้นแบบเผยว่า “หนูไม่มีเวลาไปเที่ยวกับเพื่อนๆเหมือนคนอื่นๆ ใจจริงเสียดายเหมือนกัน แต่เราเลือกมาทางนี้คงกลับตัวไม่ทันแล้ว ตอนนี้ดีที่สุดคือเพื่อนคุยทางเอ็มเอสเอ็นมีอยู่ 6-7 คนส่วนมากเป็นชาวต่างชาติ อันที่จริงแล้วหนูไม่ค่อยมีเพื่อนคนไทยรุ่นเดียวกัน เพราะเดินสายเเข่งเทนนิสมาตั้งแต่เด็ก ส่วนมากจะสนิทกับรุ่นพี่นักเทนนิสอย่าง "พี่แจน" สุชานันท์ วิรัชประเสริฐ "พี่ร็อบบี" นภาพร ตงสาลี "พี่แฝด" สนฉัตร-สรรค์ชัย รติวัฒน์ พี่ปิ้ก ดนัย อุดมโชค และที่ใกล้เคียงหน่อยน่าจะเป็น "พ้ง" กิตติพงษ์ วชิระมโนวงศ์”
แม้ปีหน้าจะกลายเป็นนักเทนนิสอาชีพเต็มตัว น้องนก เผยว่าคงต้องอาศัยบ้านคุณ ชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ ประธานสมาพันธ์เทนนิสอาเซียนและอุปนายกลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไทยอยู่ต่างบ้านต่อไปเป็นปีที่ 4 เพราะตนเองไม่มีญาติในเมืองกรุง “เวลานี้หนูอยู่บ้านคุณชัยภักดิ์ มีความสุขมาก ลูกสาวของท่านก็อายุใกล้เคียงกัน ท่านจัดห้องส่วนตัวให้อยู่เป็นสัดเป็นส่วนจะเลี้ยงสุนัขท่านก็ไม่ว่า” ส่วนเรื่องเงินรางวัลทั้งหมด น้องนก เผยว่าจะจัดการเก็บออมใช้จ่ายด้วยตนเองเหมือนที่ผ่านมา “ไม่ได้ขอเงินพ่อแม่มา 3-4 ปีแล้ว ได้เงินรางวัลมาก็ส่งกลับไปให้ท่านส่วนหนึ่ง ที่เหลือก็บริหารจัดการเอง ใช้ส่วนหนึ่งออมในบัญชีส่วนหนึ่ง ปีหน้าหนูคงทำเหมือนเดิม เก็บเองสบายใจดี คิดว่าคงไม่ได้รบกวนสมาธิในการแข่งขันแต่อย่างใด”
ถึงเวลานี้สิ่งที่อยู่บนบ่าของเด็กสาววัย 17 ปีอย่าง นพวรรณ เลิศชีวกานต์ มิใช่เพียงแค่ทำผลงานในระดับโลกหากแต่เป็นการก้าวย่างสู่ความรับผิดชอบชีวิตตนเองในฐานะนักเทนนิสอาชีพอันหมายถึงการความรับผิดชอบในการฝึกซ้อม การเดินทางตระเวนแข่งขัน เรียนรู้ที่จะอยู่กับความกดดันจากผลงาน และต้องทิ้งช่วงชีวิตวัยรุ่นของเด็กผู้หญิงไปเกือบหมดสิ้น แต่ถึงแม้เส้นทางนี้จะยากเย็นเพียงใด "น้องนก" เชื่อว่าเธอรับมือไหวดังที่กล่าวทิ้งท้ายในการพูดคุยครั้งนี้ว่า "จากนี้จะขอเก็บเกี่ยวประสบการณ์อีกสัก 3-4 ปีเพื่อสร้างรากฐานให้แน่น เมื่อร่างกายและจิตใจแกร่งพอแล้วก็น่าจะเบียดขึ้นไปติดท้อป 20 ของโลกได้ไม่ยาก สิ่งสำคัญคือกำลังใจ เมื่อก่อนเคยเหนื่อยท้อแท้บ้าง แต่พอได้รู้ว่ามีคนไทยตามเชียร์อยู่ก็กลับมาสู่เส้นทางที่ควรจะเป็นได้ทุกครั้งไป หวังว่าสิ่งดีๆเช่นนี้จะอยู่กับหนูไปจนถึงวันที่ความฝันกลายเป็นความจริง”