xs
xsm
sm
md
lg

จากไทใหญ่ ถึงล้านนาไทเมือง ย้อนวิถีสู่อดีต จิตวิญญาณที่ปราศจากรสเมรัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ก่อนที่รัฐไทยจะถือกำเนิดขึ้นมาเช่นในปัจจุบันนี้ มีทฤษฎีที่เชื่อกันว่าคนไทมีภูมิลำเนาเดิมอยู่ในหุบเขาตอนกลางของประเทศจีน โดยมีอาณาจักรของตนเองนามว่า "ไทเมือง" ซึ่งมีความยิ่งใหญ่เป็นปึกแผ่นมาตั้งแต่ 3,500 ปีก่อน พ.ศ. ก่อนที่จะล่มสลายลงและแตกออกเป็นชนชาติ "ไท" หลายสายในปัจจุบัน

ในดินแดนภาคเหนือของไทย ยังมีชนกลุ่มน้อยที่สืบเชื้อสายมาจากอาณาจักรไทเมืองหลายกลุ่ม หนึ่งในนั้นคือ ชาวไทใหญ่ที่มีความเชื่อ ประเพณีและวัฒนธรรมที่เข้มแข็งเป็นของตนเอง ถึงแม้ว่าในปัจจุบันความเจริญและสิ่งเร้าจากภายนอกจะเข้ามาส่งผลกระทบให้เกิดความเปลี่ยนแปลง แต่พวกเขายังคงสืบสานภูมิปัญญาและวัฒนธรรมจากบรรพบุรุษในอดีตให้คงอยู่ไว้ ท่ามกลางสิ่งมอมเมาอย่าง "เหล้า" ที่นับวันจะยิ่งเข้ามามีอิทธิพลและแปร "แก่น" สำคัญของพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ให้หลงเหลือเพียงแต่เปลือกนอกของการเฉลิมฉลองเท่านั้น

ไหว้ผีหอเจ้าเมือง : พิธีกรรมแห่งความเชื่อและศรัทธาของชาวไทใหญ่

กว่าสามชั่วโมงในการเดินทางออกจากตัวเมืองเชียงใหม่ ผ่านอำเภอเชียงดาว อำเภอไชยปราการ และจุดหมายสำคัญในการเดินทางครั้งนี้ คือการเข้าร่วมกิจกรรมไหว้หอเจ้าเมือง ณ บ้านลาน ตำบลม่อนปีน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นพื้นที่แนวตะเข็บชายแดน มีอาณาเขตติดต่อกับรัฐฉาน ประเทศพม่า พื้นที่บ้านลานจึงมีชนกลุ่มน้อยซึ่งเป็นชาวไทใหญ่อาศัยพักพิงเป็นจำนวนมาก

"ไทใหญ่" เป็นชื่อที่คนไทยคุ้นเคยมานาน ชาวไทใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ขนาดใหญ่ ที่อาศัยอยู่บริเวณรัฐฉานภาคเหนือของประเทศพม่า บางส่วนอยู่ตะเข็บชายแดนไทย-พม่า บริเวณดอยไตแลง ปัจจุบันชาวไทใหญ่มีถิ่นฐานอยู่ในประเทศต่างๆ หลายประเทศ เช่น พม่า ลาว ไทย และในเขตประเทศจีนตอนใต้ ในประเทศไทยพบชาวไทใหญ่อยู่ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ และแม่ฮ่องสอน

ในอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ บ้านลาน เป็นชุมชนไทใหญ่อีกแห่งที่ตั้งถิ่นฐานอยู่แนวตะเข็บชายแดนไทย -พม่า ทุกๆ ปีในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 7 (ของไทใหญ่ ซึ่งจะตรงกับเดือน 9 ในการนับแบบสากล) จะมีการประกอบ พิธีไหว้หอเจ้าเมือง หนึ่งในสื่อพื้นบ้านของชาวไทใหญ่อันมีบทบาทหน้าที่ แสดงถึงความเคารพและตอบแทนคุณต่อดวงพระวิญญาณของเจ้าเมือง ที่คุ้มครองลูกหลานในหมู่บ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข

เจ้าบ้าน เจ้าเมือง หมายถึง ผู้ที่เคยเป็นเจ้าเมืองปกครองชุมชนไทใหญ่มาในอดีต คนไทใหญ่มีความเชื่อว่าดวงวิญญาณของเจ้าเมืองทั้งหลาย ยังคงทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองคนในชุมชนอยู่เสมอ จึงได้สร้างหอเจ้าบ้านเจ้าเมืองไว้ในหมู่บ้าน และทุกๆ ปีของวันขึ้น 13 ค่ำเดือนเจ็ด คนในชุมชนทุกครัวเรือน สิ่งที่ชาวบ้านนำไปไหว้ก็ได้แก่ ดอกไม้สีขาว ใบไม้สีเขียว ข้าวต้มก้นแหลม ธูปเทียน น้ำส้มป่อย ซึ่งแต่ละอย่างต้องมีจำนวน 2 ชุดต่อ 1 คน เช่น บ้านใดมีสมาชิก 4 คน ก็ต้องเตรียมกรวยใส่ดอกไม้ 8 ชุด ข้าวต้มก้นแหลม 8 ห่อ ธูปเทียน 8 ชุดดังนี้เป็นต้น

ช่วงก่อนฤดูการเก็บเกี่ยว ณ หอเจ้าเมือง อันเป็นที่ประทับของเจ้าเมืองซึ่งเป็นบรรพบุรุษที่ปกป้องรักษาดูแลลูกหลานในหมู่บ้าน เจ้าเมืองจะมาประทับเพื่อรับการเซ่นสรวงจากชาวบ้าน ชาวไทใหญ่ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น การปลูกข้าวจะสักการะ ขอพรให้เจ้าเมืองดูแลผลผลิตให้อุดมสมบูรณ์ โดยสอบถามเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบปี เช่น ฝนฟ้าอากาศ และภัยธรรมชาติ วันนี้ถือได้ว่าเป็นวันรวมญาติเพราะญาติพี่น้องที่อยู่ต่างบ้านต่างเมืองก็จะกลับมาพร้อมหน้ากัน

อาจารย์จรรยา พนาวงค์ หรือครูแดง ผู้ซึ่งทำงานกับชาวใหญ่ ในเขตพื้นที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ มานานหลายปีแล้ว ชี้แจงถึง "โครงการปอยออกหว่าชาวไตใหญ่ไม่ดื่มเหล้า" หนึ่งใน 16 โครงการสื่อพื้นบ้านเพื่อการลด ละเลิกเหล้า (สพล.) ว่า จุดมุ่งหมายหลักของโครงการก็เพื่อรื้อฟื้นด้านคุณค่า บทบาทหน้าที่ของประเพณีปอยออกหว่า และนำไปสู่การปรับประยุกต์และสอดแทรกเข้ากับพิธีกรรมต่างๆ เพื่อ ลด ละ เลิกเหล้า

ครูแดงเล่าว่า ในอดีตการไหว้เจ้าบ้านจะเริ่มตั้งแต่เวลา 09.00 น. ในวันนี้คนในหมู่บ้านส่วนใหญ่จะหยุดงานเพื่อไปร่วมพิธี ในระหว่างรอคนมาพร้อมกันและรอฤกษ์ยามก็จะมีการเล่นไพ่ ดื่มเหล้าของกลุ่มพ่อบ้านที่ไปชุมนุมกันที่บริเวณหอเจ้าบ้าน เมื่อคนไปพร้อมกันแล้วเวลาประมาณ 11.00 น. หมอเมืองก็จะเริ่มเสี่ยงทายว่าวิญญาณเจ้าบ้านเจ้าเมืองได้เสด็จมาหรือยังโดยการ "วาไม้" หากผลการเสี่ยงทายว่าเจ้าเมืองเริ่มมาแล้วก็จะมีการเทเหล้าถวาย เริ่มฆ่าไก่ที่นำมาไหว้ นำไก่ไปต้ม และหมอเมืองก็จะถวายของบวงสรวงที่คนในชุมชนนำมาร่วมกันถวาย
ของที่ใช้ในพิธีไหว้หอเจ้าเมือง จะมีหมอเมือง หรือที่ชาวไทใหญ่เรียกว่า "ปู่เมือง" เป็นผู้นำในการประกอบพิธี ถวายอาหารคาว หวาน ผลไม้ และเหล้า 4 ขวดแก่เจ้าเมือง หลังจากเสร็จพิธี ทั้งอาหารและเหล้า แจกจ่ายให้ชาวบ้านที่เข้าร่วมพิธี ได้ดื่มกินเพื่อเป็นสิริมงคล

และผลจากการดื่มเหล้าก็เริ่มก่อให้เกิดปัญหาขึ้นตามมา ทั้งการทะเลาะวิวาท ปัญหาหนี้สินอันเกิดจากการเสพอบายมุขทั้งสุราและการพนัน

กินจิตวิญญาณ VS กินวัตถุ

การกินอาหารและเหล้าที่ปู่เมืองแจกจ่ายให้ชาวบ้านที่มาร่วมพิธีได้กินนั้น ไม่ใช่การกินเพื่อให้ท้องอิ่ม แต่การกินอาหารและเหล้าที่ผ่านพิธีกรรมนี้เป็นการกินแบบศักดิ์สิทธิ์รวมหมู่ญาติพี่น้อง เป็นการถ่ายทอดวัฒนธรรม สืบสานความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวและในชุมชนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการขัดเกลาและสร้างวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกัน คือต้องมีความรักความห่วงใยการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน โดยผ่านกระบวนการกินอาหารและเหล้า 4 ขวดที่ผ่านพิธีกรรม โดยมีการแจกจ่ายให้ทุกคนได้กินอย่างทั่วถึง

โดยสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป จากอดีตเหล้าที่ใช้ในพิธีไหว้หอเจ้าเมืองเพียง 4 ขวด ก็เพิ่มขึ้นมีการกินเหล้านอกงานพิธีมากขึ้นโดยชาวบ้านที่มาร่วมงานซื้อมากินสังสรรค์ บางครั้งก็มีการทะเลาะกัน

"แต่ก่อนเหล้าในพิธีมี 4 ขวดสามารถแจกจ่ายให้คนที่มาร่วมงานเป็นหลายร้อยคนได้กินกันอย่างทั่วถึงเพราะถือเป็นเหล้าศักดิ์สิทธิ์ เจ้าเมืองให้ความคุ้มครองแต่เดี๋ยวนี้เหล้าที่ผ่านพิธีกรรมเมื่อแจกให้แล้ว ชาวบ้าน(พวกชอบดื่มเหล้า) บอกว่ากินไม่เมาต้องซื้อมาเลี้ยงกันอีก" พ่อปาง ปู่เมืองคนปัจจุบันกล่าว

ในปีนี้ทางโครงการฯร่วมกับคนในชุมชนได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นสร้างสำนึกให้คนในชุมชนเห็นคุณค่าของเหล้าในพิธีกรรมและผลกระทบที่เกิดจากการซื้อเหล้ามาดื่มกินในพิธีกรรม เมื่อชุมชนเริ่มตระหนักรู้จึงร่วมกันวางมาตรการที่จะรณรงค์ลด ละ เลิกเหล้า เช่น มีการขอความร่วมมือให้ร้านงดขายเหล้าในวันทำพิธี มอบประกาศนียบัตรให้แก่ร้านค้าที่ให้ความร่วมมือและขอให้คนที่มาร่วมงดซื้อเหล้ามาดื่มในพิธีซึ่งกระบวนการดังกล่าวทำให้ชุมชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จมีหลายกลุ่มคนหนึ่งในนั้นคือปู่เมืองผู้ที่มีบทบาทสำคัญอันเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดพิธี เป็นบุคคลที่ชาวบ้านเชื่อถือในคำพูด และความรู้ในพิธีกรรม เห็นได้จากในการทำพิธีกรรม ปู่เมืองจะต้องเป็นคนมีสัจจะ คำขอต่างๆจึงจะศักดิ์สิทธิ์ ในพิธีปู่เมืองจะเป็นผู้สื่อสารกับเจ้าเมือง สอบถามว่าเจ้าเมืองมาพร้อมกันหรือยัง เมื่อมาพร้อมกันแล้ว ปู่เมืองก็จะเป็นผู้สั่งให้ ทำการสังเวยไก่แก่เจ้าเมือง ในการสอบถามเรื่องเหตุการณ์ต่างๆ ปู่เมืองก็เป็นผู้ติดต่อกับเจ้าเมืองทั้งหมด

จะเห็นได้ว่า "ปู่เมือง" ที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวไทใหญ่ มีแนวทางการสอนลูกหลานด้วยการกระทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ใช้ตัวเองเป็นสื่อในการสอน โดยไม่ต้องใช้คำพูดใดๆ แต่สอนด้วยการกระทำ เห็นได้จากพ่อป่าง จิ่งต่า ปู่เมืองวัย 69 ปี ปีที่ผ่านมาก็กินเหล้าบ้าง แต่ปีนี้งดไม่กินเหล้า เมื่อก่อนที่บ้านของปู่เมืองจะมีการเลี้ยงเหล้าหลังจากเสร็จงานแล้ว แต่ในปีนี้ก็ไม่มีเลย นับว่าเป็นต้นแบบสำคัญที่จะนำไปสู่การลด ละ เลิกเหล้า

และจากคำพูดของ พ่อนุ โพงจ่าม อายุ 62 ปี อดีตปู่เมือง ที่ทำหน้าที่มาถึง 7 ปี ได้บอกว่า ตนเองไม่กินเหล้ามา 15 ปี เข้าวัดถือศีลตลอด การเป็นปู่เมืองต้องเป็นที่พอใจของเจ้าเมือง ปู่เมืองต้องเป็นคนดีอยู่ในศีลธรรม เป็นคนซื่อสัตย์ มีสัจจะ "การเป็นหมอเมืองไม่ได้อะไรตอบแทน นอกจากได้บุญ"

การสอนให้คนอื่นทำความดี ลด ละ เลิกเหล้า ถ้าผู้นำหรือแกนนำที่จะไปสอนคนอื่นไม่เป็นตัวอย่างที่ดีแล้ว บางครั้งจะถูกย้อนถามว่าตัวเองสามารถที่จะ ลด ละ เลิกได้หรือยัง สิ่งสำคัญในการรณรงค์งดดื่มเหล้าในพิธีกรรมจึงอยู่ที่ตัวแบบ

"โครงการปอยออกหว่าชาวไตไม่ดื่มเหล้า" ได้เข้าไปทำงานในพื้นที่เมื่อเห็นปรากฏการณ์ของปีที่ผ่านมา จึงจัดเวทีกระตุ้นให้ชุมชนเห็นคุณค่าของเหล้าที่ผ่านพิธีกรรมและเหล้าที่ชาวบ้านซื้อมาดื่ม พร้อมผลกระทบที่เกิดขึ้น
 
ทีมงานจึงได้เข้าไปร่วมในพิธีไหว้เจ้าบ้านเจ้าเมืองในปีนี้ด้วย และสิ่งที่ทีมงานได้เปิดเวทีให้ชุมชนมีส่วนร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ และร่วมวางแผนว่าจะทำอย่างไรจะสามารถลดจำนวนคนดื่มเหล้าในพิธี และขอความร่วมมือไปยังร้านค้าให้งดขายเหล้าในวันไหว้เจ้าเมืองซึ่งถือเป็นวันมงคล เป็นวันที่คนในหมู่บ้านมาร่วมทำพิธีแสดงความกตัญญูต่อดวงวิญญาณของเจ้าผู้เคยปกครองบ้านเมือง และขอพรเพื่อเป็นมงคลของชีวิต ซึ่งปรากฏว่าคนในชุมชนบ้านลานได้ให้ความร่วมมือดีมาก คือ เหล้าในพิธีกรรมมีเพียงแค่ 4 ขวด ชาวบ้านไม่มีการซื้อมาเพิ่ม พ่อบ้านแม่บ้านในชุมชนต่างพร้อมใจกันไม่ดื่มเหล้า

ดังนั้นในวันไหว้เจ้าเมืองปีนี้ซึ่งตรงกับวันที่ 16 มิถุนายน 2551 บริเวณลานหน้าหอเจ้าเมืองจึงไม่มีวงเหล้า ไม่มีวงเล่นไพ่ให้เด็กๆ เห็น คงมีแต่เสียงฆ้องกลองที่บรรเลงในพิธี ปีนี้ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่นั่งล้อมวงกันฟังดนตรี สล่าฟ้อนเจิง ก้าลาย ได้ออกมาร่ายรำอวดลายก้า (ท่ารำ) ของตนเองอย่างสนุกสนาน เด็ก ๆได้เห็นศิลปะการร่ายรำแบบโบราณ การบรรเลงดนตรีพื้นบ้าน สีหน้าของพวกเขามีแต่ความสุข ตื่นตาตื่นใจ สนใจในการแสดงของพ่อเฒ่า และหนุ่มๆ ที่ตั้งใจออกวาดลวดลายฟ้อนเจิงกัน รอยยิ้ม...เสียงหัวเราะของบรรดาแม่บ้าน แม่เฒ่า พ่อเฒ่า เด็กๆแสดงถึงความสุข ด้วยเพราะไหว้เจ้าบ้านเจ้าเมืองปีนี้ไม่มีการเล่นไพ่ การดื่มเหล้าก็ไม่มี เสียงดนตรีจึงสร้างสุข สร้างรอยยิ้มให้ทุกคนในบ้านลาน

รวมใจ หลอมพลังที่หมู่บ้านแม่ทรายเงิน

ห่างจากรอยต่อชายแดนไทย-พม่า ลงมาทางใต้ที่อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ในวันที่ท้องฟ้าสดใสของวันแรม 13 ค่ำ เดือน 9 ของชาวล้านนา ชาวหมู่บ้านแม่ทรายเงินได้ร่วมใจกันจัดพิธีไหว้ศาลเจ้าพ่อพญาอินต๊ะ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเสนาของเจ้าพ่อพญาวัง ผู้ปกปักดูแลรักษาหมู่บ้านริมแม่น้ำวังในชุมชนแห่งนี้ เช้าวันนั้นชาวบ้านต่างนำไก่มาจากบ้านคนละตัวมารวมกัน หรือใครไม่มีก็เอาพริก หอม กระเทียมมาช่วยแทน เรียกว่า "ของหน้าหมู่" ที่แสดงฐานะของคนในชุมชน บ้านใครมีอะไรก็เอามา เพื่อทำของเลี้ยงไหว้ศาลเจ้าบ้านเจ้าเมือง เสร็จแล้วค่อยแบ่งให้เท่าๆ กัน นับเป็นประเพณีที่แสดงถึงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทุกคนในชุมชนต่างเป็นเครือญาติกันจะมาทำบุญร่วมกันปีละครั้งเป็นจารีตของชุมชน

แน่นอนว่า ในปีนี้พิเศษกว่าทุกปีตรงที่ไม่มีเหล้าเลี้ยงคนที่มาร่วมงาน นอกจากเหล้าที่ใช้ในพิธีกรรมเท่านั้น นับเป็นความสำเร็จเบื้องต้นที่น่าภูมิใจในความสามัคคีของชาวหมู่บ้านแม่ทรายเงิน

เวชยันต์ วงศ์ลอดแก้ว หัวหน้าโครงการรณรงค์ละเลิกเหล้าในงานประเพณีสลากภัตร ประเพณีที่สำคัญของล้านนาไทย กล่าวถึง ความพยายามในการรณรงค์ให้งดใช้เหล้าในพิธีกรรมต่างๆ ของล้านนาว่า ชาวล้านนามีความเชื่อเก่าแก่ที่สืบทอดมาแต่โบราณจนกลายเป็นประเพณีมาช้านาน อาทิ การทำบุญทานสลากภัตรในช่วงที่ประชาชนว่างจากภาระกิจการทำนาและพระสงฆ์จำพรรษา ที่นิยมทำกันมาตั้งแต่เดือน 12 เหนือเพ็ญ เรื่อยมาจนถึงต้นเดือนยี่เหนือ คือช่วงเดือน 11-12 ของภาคกลาง ชาวบ้านจะนำพืชผลมาถวายเป็นก๋วยสลาก นิมนต์พระสงฆ์จากวัดใกล้เคียงมารับไทยทานสลาก ซึ่งพุทธศาสนิกชนมีศรัทธาร่วมกันถวาย

แต่ในปัจจุบัน เริ่มมีการนำสิ่งมึนเมาอย่างเหล้าเข้ามาร่วมในประเพณีต่างๆ มากขึ้น นอกจากประเพณีสลากภัตรที่เป็นประเพณีสำคัญของหลายจังหวัดในภาคเหนือแล้ว ก็ยังมีประเพณีท้องถิ่นในหมู่บ้าน อาทิเช่น ประเพณีการไหว้ผีเจ้าพ่อเจ้าเมืองและผีต้นน้ำ ฯลฯ ซึ่งการกินเหล้าก็นำปัญหาต่างๆ มากมายมาสู่ชุมชน รวมทั้งที่แม่ทรายเงินในอดีตด้วย

"ที่ผ่านมา เลี้ยงผีเจ้าพ่อไม่ทันไรก็ตั้งวงกินเหล้ากันแล้ว ปีที่แล้วมีคนตีกันทะเลาะวิวาทถึง 9 คู่ ก็เลยมีการวางแผนกันกับพ่อหลวงจ๋อยผู้เฒ่าผู้แก่ที่เป็นผู้ทำพิธี กับมัคทายกและทางผู้นำชุมชนอย่าง สอบต. ผมคิดว่าต่อไปนี้เหล้าจะมาอยู่เหนือจิตใจไม่ได้แล้ว เราจัดสื่อรณรงค์โดยจัดเยาวชนมาเรียนรู้และให้คำแนะนำกับคนที่ไม่กินเหล้า โดยใช้สื่อละครเป็นหลักในการแก้ปัญหาในชุมชน ซึ่งช่วยลดปัญหาสังคมได้ในระดับหนึ่ง"

นอกจากเด็กและเยาวชนแล้ว ศิลปินพื้นบ้านอย่างนักซอก็มีส่วนช่วยรณรงค์เรื่องลด ละ เลิก เหล้าในงานประเพณีในหมู่บ้าน นับเป็นการใช้สื่อบุคคลที่สามารถเข้าถึงจิตใจของคนในชุมชนได้ด้วยการสื่อสารผ่านทางเสียงดนตรี ที่ได้ผลยิ่งกว่าการเข้าอบรมหรือรณรงค์อย่างเป็นทางการวิธีอื่น

นับว่าประเพณีการไหว้หอเจ้าเมืองและเลี้ยงศาลเจ้าบ้านในปีนี้ จะช่วยบรรเทาสถานการณ์เรื่องเหล้าในประเพณีพื้นบ้านได้ จากโครงการปอยออกหว่าชาวไตใหญ่ไม่ดื่มเหล้า จนถึงโครงการรณรงค์ละเลิกเหล้าของชาวไทล้านนาที่หมู่บ้านแม่ทรายเงิน แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของคนในชุมชน ที่ยังยึดขนบวิถีของบรรพบุรุษ ขณะเดียวกันก็ยืนหยัดต่อต้านอบายมุขที่จะมามอมเมาพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขาให้มัวหมอง เพื่อสร้างสังคมในหมู่บ้านของพวกเขาให้เป็นชุมชน "ไท" ปลอดเหล้าในที่สุด








กำลังโหลดความคิดเห็น