xs
xsm
sm
md
lg

อนาคตไฟใต้ : สื่อ ทหาร เด็ก และทักษะทางวัฒนธรรม (2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เหตุการณ์ไฟใต้ ที่กำลังครุกรุ่นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งยังไม่มีวี่แววของความสงบ หรือลดสภาวะตึงเครียดให้กับเหล่าบรรดาคนที่อยู่ในพื้นที่หรือคนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นทหาร ชาวบ้าน หรือเด็กผู้ที่เป็นเปรียบเหมือนเมล็ดพันธุ์ที่กำลังจะเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ เพราะร่องรอยความเจ็บปวด ความหวาดกลัวยังคงฝังอยู่ในความคิดของคนในท้องที่ โครงการวิจัยอนาคตไฟใต้สามารถสะท้อนแง่มุมเล็กที่บ่งบอกให้เห็นว่า เราจำเป็นต้องเข้าใจในเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม รวมถึงการเคารพในสิทธิความเป็นมนุษย์ อย่างน้อยก็เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการดับไฟใต้ครั้งนี้
‘ปริทรรศน์’ วันนี้จะนำเอาข้อมูลจากการเข้าร่วมสัมมนาโครงการวิจัย ‘อนาคตไฟใต้: สื่อ ทหาร เด็ก และทักษะวัฒนธรรม’ ซึ่งจัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน) และศูนย์ข่าวสันติภาพ มูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาธิปไตยและการพัฒนา เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา เสนอต่อจากเมื่อวานนี้


เมล็ดพันธุ์เลือด?: เด็กใต้ในฐานะเหยื่อความรุนแรง
เมล็ดพันธุ์หรือเด็กที่เติบโตขึ้นภายใต้สภาวะความรุนแรง ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นสิ่งที่สังคมไทยควรหันมาให้ความสำคัญ เพราะแน่นอนว่าความคิดอ่านของเด็กในพื้นที่ย่อมแตกต่างไปจากเด็กในสังคมอื่นๆ
งานวิจัยเรื่อง ‘ความรุนแรงในภาคใต้กับความคิดของเด็ก: ศึกษากรณีเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ’ โดย ซากีย์ พิทักษ์คุมพล เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราสามารถมองเห็นความคิดของเด็กที่รับผลกระทบโดยตรงได้
“รายงานวิจัยฉบับนี้มุ่งเน้นจะตอบโจทย์สำคัญสามประการ คือภายใต้พื้นที่สีแดง เด็กมีความคิดอย่างไร ปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมในชีวิตประจำวันของเด็กเป็นอย่างไร และสุดท้ายคือในสภาวะที่ยังไม่มีทางออกเช่นนี้ เด็กมีความคิดต่ออนาคตของพวกเขาอย่างไร” ซากีย์กล่าวการวิจัยครั้งนี้ทำการเลือกโรงเรียนในพื้นที่อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส 3 แห่ง แบ่งเป็นโรงเรียนประถมของเอกชน โรงเรียนประถมของรัฐบาล และโรงเรียนมัธยมตันหยงมัสซึ่งเป็นแห่งเดียวของอำเภอมาสุ่มตัวอย่างและทำการวิจัย
การวิจัยเริ่มต้นจากการให้เด็กของแต่ละโรงเรียนเขียนเรื่องเล่าพร้อมภาพประกอบ 3 เรื่อง คือ หมู่บ้านของฉัน โรงเรียนของฉัน และสิ่งที่ฉันอยากเป็นในอนาคต จากนั้นจึงให้ตอบแบบสอบถามถึงความเปลี่ยนแปลงในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา สุดท้ายจึงทำการสุ่มนักเรียนจาก 3 โรงเรียน โรงเรียนละ 3 คน มาสอบถามข้อมูลเชิงลึกอีกครั้ง
ผลการศึกษาพบว่า เด็กรับรู้ถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในชุมชนและรู้สึกหวาดกลัว คือจากที่เคยรู้สึกปลอดภัยก่อนหน้านี้ กลายเป็นว่าเด็กรู้สึกว่าตัวเองปลอดภัยในบางครั้ง เพราะบางครั้งจะมีคนแปลกหน้าเข้ามาในหมู่บ้าน ทำให้รู้สึกหวาดระแวง ในวันที่พวกเขาใส่ชุดนักเรียนก็จะรู้สึกได้ถึงความปลอดภัย แต่เมื่อใดที่ต้องใส่ชุดนักศึกษาวิชาทหารออกจากบ้านจะรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยตลอดเวลา
“เด็กยังรู้สึกว่าตัวเองไปไหนมาไหนได้อย่างปกติ แต่อาจจะถูกจำกัดด้วยเรื่องของเวลามากขึ้น เด็กบางคนยอมรับว่ากลัวที่ต้องเดินออกนอกบ้าน แต่ยังรู้สึกอยากเล่นกับเพื่อน นั่นแสดงให้เห็นว่า ความรุนแรงสร้างผลกระทบต่อเด็ก แต่ไม่ได้ทำให้ความเป็นเด็กหายไป” ซากีย์กล่าว
เด็กส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงไม่ได้เกิดความรู้สึกอยากแก้แค้นผู้ที่มาทำร้ายบุคคลอันเป็นที่รักของพวกเขา และยังสามารถยอมรับกับความสูญเสีย และปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีพอสมควร
“ประตูแห่งการสร้างความสมานฉันท์ยังไม่ได้ปิดเสียทีเดียว เด็กหลายคนไม่ต้องการแก้แค้น โดยให้สาเหตุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจะไม่จบลงเสียทีหากยังมีการแก้แค้น บางคนเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าจะตัดสินคนเหล่านั้นเอง หรือเชื่อว่าในท้ายที่สุดการแก้แค้นก็เท่ากับการสร้างเวรสร้างกรรมต่อไปอีก” ซากีย์กล่าว
แต่ในช่วงท้ายมีผู้เข้าร่วมสัมมนาได้แสดงความเห็นว่า อาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะจากที่เคยได้พบปะพูดคุยกับเด็กในท้องที่อื่นแล้ว เด็กบางคนยังอยากจะแก้แค้นผู้ที่ก่อเหตุจนทำให้พวกเขาต้องสูญเสียบุคคลในครอบครัวไป บางรายต้องการรายชื่อของผู้ก่อความรุนแรงเพื่อที่จะจดจำและแก้แค้นเมื่อโตขึ้น บางคนต้องการนำรายชื่อของบุคคลพวกนี้ไปวางที่กลางหมู่บ้านเพื่อให้ทุกคนได้รู้ว่า ใครคือคนที่เข้ามาทำร้ายพวกเขา
ความสัมพันธ์ของเด็กไทยพุทธ และมุสลิมยังคงมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน แม้จะได้รับผลกระทบจากความหวาดระแวง ซึ่งจะเห็นได้ว่าเด็กๆ ยังคงรักกันเหมือนเดิม โดยไม่ได้แบ่งแยกเชื้อชาติความเป็นพุทธ จีน หรืออิสลาม ทุกคนยังคงเป็นเพื่อนกันและเล่นด้วยกันเหมือนเดิม
ส่วนความคาดหวังต่ออาชีพที่อยากเป็นในอนาคตนั้น เชื่อมโยงกับสภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้น คือเด็กๆ สนใจอาชีพที่เอื้อต่อการแก้ปัญหาความรุนแรง เช่น หมอ พยาบาล ทหาร ข้าราชการ เป็นต้น
เข็มพร วิรุณราพันธ์ ได้เสนอความเห็นเกี่ยวกับงานวิจัยครั้งนี้ว่า อยากอ่านเนื้อหาให้มากกว่านี้ คิดว่าที่เหลือน่าจะมีความหมายที่สะท้อนความได้เชิงลึกมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งอยากเห็นภาพวาดที่ได้กล่าวถึง
“เนื้อหาในภาพวาด การใช้สีในภาพวาด จะสะท้อนอะไรออกมาได้มากกว่านี้ เพราะนอกจากจะเป็นการทำวิจัยแล้วการสื่อสารกับเด็กเท่ากับเป็นการเยียวยาเด็กไปในตัว”
ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข แสดงทัศนะต่อรายงานการวิจัยครั้งนี้ว่า
“งานวิจัยเช่นนี้จะช่วยให้เราทราบว่า เด็กมีปฏิสัมพันธ์อย่างไรกับบริบทความรุนแรงแวดล้อมตัวเขาที่เกิดขึ้น แล้วเกิดโต้ตอบ เรียนรู้ ปรับตัวอย่างไร ซึ่งจะแตกต่างไปจากสังคมในสังคมอื่น
“หากมองอีกมุมหนึ่งคือ การที่เด็กเขายังทน เพราะยังมีความรู้สึกดีๆ มีความหวังดีๆ ว่ายังคงจะเกิดเรื่องดีๆ ได้อยู่”

ขัดกันฉันมิตร : คู่มือทักษะวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนใต้
การบรรยายในชื่อตอน ‘ขัดกันฉันมิตร: คู่มือทักษะวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนใต้’ โดย แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นการนำเสนอแนวทางการอยู่ร่วมกันด้วยทักษะทางวัฒนธรรมท่ามกลางความขัดแย้ง ปะทะ ต่อรองทางวัฒนธรรรม ซึ่งงานเขียนของแพร มีผู้นำเสนอความเห็นโดย สมชาย เสียงหลาย รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม รศ.ดร.วรวิทย์ บารู สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดปัตตานี
หนังสือ “คู่มือทักษะวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนใต้” เป็นหนังสือว่าด้วยเรื่องวิถีชีวิต ความสัมพันธ์ ความเป็นมา และวัฒนธรรมของผู้คน 3 ชาติพันธุ์ใหญ่ๆ คือชาวมลายูมุสลิม ชาวไทยพุทธ และชาวจีนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากพื้นที่สามจังหวัดแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ไม่เพียงแต่ความแตกต่างของกลุ่มชาติพันธุ์ หากภายในกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่ๆ ก็ยังมีความหลากหายของกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยๆ อีกหลายกลุ่ม เช่น ชาวจีนอาจแบ่งเป็นกลุ่มวัฒนธรรมย่อมตามภาษาถิ่น เช่น ชาวจีนฮกเกี้ยน จีนแต้จิ๋ว จีนแคะ จีนไหหลำ จีนกวางตุ้ง คนมุสลิมไม่ได้มีเพียงคนมลายูมุสลิม แต่ยังมีปาทานมุสลิม ไทยมุสลิม อินเดียมุสลิม ซึ่งผู้คนที่แตกต่างเหล่านี้มีรายละเอียดทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน
นอกจากนี้แล้ว ความแตกต่างทางวัฒนธรรมยังสัมพันธ์กับภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่อาศัย อาชีพ และสิ่งแวดล้อม เช่น สำเนียงภาษามลายูของชาวมุสลิม ในจังหวัดยะลา อาจแตกต่างจากภาษามลายูในจังหวัดนราธิวาส สำเนียงภาษาถิ่นใต้ของชาวไทยพุทธที่มาจากสงขลาและพัทลุงอาจแตกต่างกันอย่างมากกับสำเนียงภาษาตากใบของชาวไทยพุทธ
ในบางพื้นที่ของจังหวัดปัตตานีและนราธิวาส วิถีชีวิตรวมถึงประเพณีบางอย่างของชาวนา ชาวสวนก็แตกต่างกับประเพณีและวิถีชีวิตของชาวประมง
หนังสือเล่มนี้ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ คือ 1. ความเข้าใจข้ามพรมแดนของวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของคนที่มีวิถีการดำเนินชีวิตไม่เหมือนกับเรา 2. วัฒนธรรมท้องถิ่นของคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3. คนทั่วไปสามารถอ่านได้ 4.เป็นหนังสือที่อ่านง่าย ไม่เป็นวิชาการ ไม่ซับซ้อน โดยทั่วไปเรามักจะคิดว่าเรารู้จักกับคนต่างวัฒนธรรมนั้นดี แต่จริงๆ แล้วแทบจะไม่รู้จักเลย นึกว่าเข้าใจและยอมรับกัน แต่ไม่ได้เป็นเช่นนั้นจริง นึกว่ามีแต่คนไทยพุทธที่ไม่เข้าใจคนมุสลิม คนมุสลิมหลายคนก็ไม่เข้าใจคนต่างศาสนาเหมือนกัน จึงเกิดคำถามระหว่างวัฒนธรรมตามมามากมาย เช่น ทำไมคนอิสลามถึงไม่กินหมู ทำไมต้องคลุมฮิญาบ มีภรรยาได้ 4 คนได้จริงหรือ หรือคนอิสลามเองก็สงสัยว่าทำไมคนไทยพุทธเข้าวัดอยู่ได้ ทำไมคนพุทธต้องไหว้รูปปั้น ทำไมกินเหล้าทุกวันแล้วไม่ผิดศีลหรือ โดยมีเนื้อหา คือ 1. ชีวิตประจำวันและวัฒนธรรมของผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2. อดีตและปัจจุบันของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
นอกจากนี้ ยังมีพิธีกรรม สถาบันองค์กร อย่างมัสยิด วัด ศาลเจ้า สถาบันสอนศาสนาที่แตกต่างกันเวลาประกอบพิธีกรรมของแต่ละชาติ สิ่งที่ยกตัวอย่างมาถือว่าเป็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ผู้เขียนต้องการแสดงให้เห็นถึงกลไกท้องถิ่น เพื่อเข้าถึงวัฒนธรรมที่หลากหลาย เพราะวัฒนธรรมก็เป็นส่วนหนึ่งที่แสดงออกถึงการแตกแยก ดังนั้น จึงต้องใส่ใจในวัฒนธรรมของชาติที่ไม่เหมือนกับของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของภาษา เพราะแต่ละที่จะใช้ภาษาแตกต่างกันหรือคล้ายกันมากจนแยกไม่ออก หากพูดผิดก็อาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง
การที่เราเข้าใจวัฒนธรรมของคนอื่นถือเป็นทักษะเริ่มต้นที่ดี ที่ทำให้เราหันมาใส่ใจคนรอบข้าง ให้เกียรติซึ่งกันและกัน อย่างเวลาเราเห็นคนอิสลามไม่กินหมูเราก็สามารถเข้าใจได้ ไม่แสดงอาการรำคาญเวลาร่วมโต๊ะอาหาร ในครั้งนี้ถือว่าคู่มือทักษะทางวัฒนธรรมนี้นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการเรียนรู้วัฒนธรรมของจังหวัดชายแดนใต้
สุดท้ายแล้วปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คงไม่สามารถจบลงได้ด้วยมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงลำพัง แต่ปัญหานี้จะสามารถผ่านพ้นไปได้ด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยอาศัยองค์ประกอบทางด้านความรู้ ความเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรม การเคารพสิทธิมนุษยชน รวมทั้งนำเอาหลักจริยธรรมเข้ามาปฏิบัติผ่านมุมมองของความสงบสุข และสันติภาพ

ที่มาข้อมูล : เอกสารสัมมนา โครงการวิจัยอนาคตไฟใต้ สื่อ ทหาร เด็ก และ ทักษะทางวัฒนธรรม


***************************                                                         เรื่อง - วลี เถลิงบวรตระกูล / หทัยรัตน์ เอมอ่อง







กำลังโหลดความคิดเห็น