xs
xsm
sm
md
lg

รอยธรรมในรอยทาง…พระบัณฑิตอาสา ผู้นำแสงประทีปสู่ขุนเขา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 8 ปีก่อน พระบัณฑิตอาสากลุ่มหนึ่ง จากโครงการพระบัณฑิตอาสาพัฒนาชาวเขา ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ออกเดินทางจาริกปฏิบัติศาสนกิจในชุมชนบนพื้นที่สูงในดงดอยห่างไกล เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคนในชุมชนบนพื้นที่สูง

เฉกเช่นในอดีตกาลบรรพ์...ที่มหาบุรุษผู้หนึ่งได้เที่ยวจาริกไปตามดินแดนต่างๆ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเรียกขานว่า “ชมพูทวีป” กว่าสองพันห้าร้อยปีถัดมา เหล่าศิษยานุศิษย์ผู้สืบทอดคำสอนของมหาบุรุษผู้รู้แจ้ง ได้ออกจาริกตามรอยพระบาทขององค์ศาสดา เพื่อเผยแผ่คำสอนของพระพุทธองค์เหมือนเช่นครั้งพุทธกาล

“พระบัณฑิตอาสา” ผู้จาริกตามรอยพระบาท โดยมิเลือกเชื้อชาติ ศาสนา หรือเผ่าพันธุ์วรรณะ ท่ามกลางวิกฤตศรัทธาของชาวพุทธที่กำลังคลอนแคลน การทำงานของเหล่าพระนิสิตเหล่านี้จึงเปรียบได้ดังแสงประทีปบนขุนเขาห่างไกลจากสังคมเมืองอันสับสนวุ่นวาย

10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 52 ลำห้วย

10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง...คือความเร็วโดยประมาณ เท่าที่รถขับเคลื่อนสี่ล้ออันเป็นพาหนะที่เราโดยสารอยู่จะสามารถเคลื่อนไปข้างหน้าได้เร็วที่สุด หนทางเบื้องหน้า...แทบจะเรียกได้ไม่เต็มปากว่าคือถนน เพราะนอกจากเต็มไปด้วยหลุมบ่อและก้อนหินใหญ่น้อยที่คนขับต้องคอยหักหลบเป็นระยะแล้ว มันยังต้องตัดผ่านลำห้วยที่ไหลคดเคี้ยวผ่านภูเขาและหมู่บ้านอันเป็นจุดหมายของเราข้างหน้าอีกกว่า 52 ลำห้วย

หลายครั้ง ที่เมื่อรถวิ่งมาอยู่ดีๆ ถนนหินลูกรังก็หายไปดื้อๆ เราเลยจำต้องใช้เส้นทางน้ำแทนถนน รถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อต้องบุกฝ่าไปตามลำห้วยและโขดหิน เป็นหนทางเดียวที่จะเดินทางต่อไปได้ สมรรถนะของรถที่ใช้เป็นพาหนะจึงต้องพร้อมเผชิญกับความวิบากของเส้นทาง

ภายนอกหน้าต่าง ความมืดโรยตัวปกคลุมภูมิประเทศสองข้างทางจนมองไม่เห็นสิ่งใด นอกจากแสงไฟหน้ารถและม่านฝุ่นสีแดงที่ปลิวคละคลุ้งทุกครั้งที่ล้อรถแล่นผ่าน คนขับรถมีท่าทางไม่ค่อยสบายใจนัก เพราะถนนเส้นนี้ ยิ่งมืดก็ยิ่งเปลี่ยว ตลอดระยะทางกว่าสองชั่วโมงที่วิ่งมาจากตัวอำเภอแม่สะเรียง มีรถสวนมาแทบนับคันได้ และเมื่อพระจันทร์ยิ่งลอยสูงขึ้นก็ไม่เห็นแสงไฟรถคันใดสวนมาอีกเลย

ทุ่มเศษ คณะเดินทางตัดสินใจแวะพักกินมื้อเย็นกันบริเวณริมห้วยไร้ชื่อแห่งหนึ่ง อาหารง่ายๆ อย่างข้าวเหนียว น้ำพริกและเนื้อย่างถูกแจกจ่ายไปรอบวง อิ่มแล้วก็รีบออกเดินทางต่อเพื่อให้ถึงจุดหมาย

บ้านสล่าเชียงตอง หมู่บ้านเล็กๆ ที่อยู่เกือบสุดชายแดนประเทศพม่า

.....

สี่ทุ่มเศษ

หลังจากหลับๆ ตื่นๆ ภายในรถที่โคลงเคลงมาตลอดทาง ก็ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นด้วยความสงบนิ่งกว่าปกติ รถของเราจอดอยู่กลางลำห้วยตื้นๆ รอสัญญาณจากอาศรมเชิงเขาว่าจะให้วิ่งต่อไปในทิศทางใด ไม่นาน แสงสว่างจากไฟฉายก็โบกเป็นสัญญาณให้รถค่อยๆ ไต่ขึ้นไปบนเนิน จากนั้นชายอีก 4-5 คนก็ออกมาจากอาศรมเพื่อช่วยโบกรถให้ไต่ผ่านไม้กระดานแคบๆ ข้ามร่องหลุมลึกขนาดใหญ่จนสำเร็จ

อาศรมบ้านสล่าเชียงตอง เป็นเรือนไม้หลังใหญ่ใต้ถุนสูง ตั้งเด่นอยู่ท่ามกลางเงามืดของขุนเขาและแสงจันทร์ในคืนเดือนหงายรางๆ หมู่บ้านแห่งนี้ยังไม่มีไฟฟ้าเข้าถึง นอกจากพลังงานจากแผงโซล่าเซลล์ในตอนกลางวัน เมื่อก้าวขึ้นสู่บริเวณตัวอาศรมจึงมีเพียงแสงตะเกียงไฟฟ้าจากแบตตารี่ และแสงสว่างจากเทียนพรรษาเล่มโตเท่านั้น

พระไพบูลย์ รวิวณฺโณ เป็นพระเพียงรูปเดียวที่จำพรรษาอยู่ ณ อาศรมแห่งนี้ เวลานั้นหลวงพี่ไพบูลย์ยังไม่จำวัด หากแต่กำลังรอคณะเดินทางอันประกอบไปด้วยทีมงานโครงการฯ และสื่อมวลชนจากต่างถิ่นที่มาเยือนในคืนนี้
 
โครงการพระบัณฑิตอาสาพัฒนาชาวเขา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยวิทยาเขตเชียงใหม่ ได้จัดให้มีพระนิสิตจากวิทยาเขตต่างๆ เข้ามาปฏิบัติศาสนกิจในชุมชนบนพื้นที่สูงตั้งแต่ปี พุทธศักราช 2543 เป็นต้นมา เพื่อให้พระนิสิตที่เข้ามาในโครงการได้ทำหน้าที่ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคนในชุมชนบนพื้นที่สูง ซึ่งพระบัณฑิตอาสาเป็นผู้ที่จบในระดับอุดมศึกษาทั้งสิ้น แต่ยังขาดประสบการณ์ในการทำงานกับชุมชนโดยเฉพาะชุมชนบนพื้นที่สูง

พระไพบูลย์เองก็เป็นหนึ่งในพระนิสิตที่เข้าร่วมโครงการฯ แม้ท่านจะมีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่อีสาน จ.สุรินทร์ แต่พระไพบูลย์ตัดสินใจเลือกมาปฏิบัติศาสนกิจภายหลังสำเร็จการศึกษาในดินแดนห่างไกลจากบ้านเกิด ที่มีความแตกต่างทั้งในด้านภาษา ประเพณีวัฒนธรรม และเชื้อชาติ หมู่บ้านสล่าเชียงตอง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่ติดเขตชายแดนพม่า ในหมู่บ้านมี 2 กลุ่มชาติพันธุ์คือ ปกาเกอะญอและไทใหญ่ ชาวบ้านนับถือ2 ศาสนาคือ พุทธและคริสต์ แต่ทว่า พระบัณฑิตสามารถทำงานได้ทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่ที่นับถือทั้งสองศาสนา

ทุกเช้า หลวงพี่ไพบูลย์จะออกบิณฑบาต โดยมีลูกศิษย์วัดชาวเขา ทั้งเด็กที่นับถือพุทธและคริสต์ เป็นเด็กวัดเดินตามพระ ซึ่งพ่อแม่ของเด็กเหล่านั้นก็เข้าใจและสนับสนุนให้บุตรหลานของตนมาช่วยงานหลวงพี่ที่วัด เพราะไว้ใจว่าทางวัดจะไม่บังคับให้เด็กๆ เปลี่ยนความเชื่อหรือศาสนา

ซึ่งในประเด็นนี้ ทั้งหลวงพี่ไพบูลย์ และทางทีมงานโครงการฯ เห็นตรงกันว่า ในการปฏิบัติงานจะให้ความเคารพชาวบ้านในประเด็น 'สิทธิทางวัฒนธรรม' คือ สิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนที่จะนับถือศาสนาใดก็ได้ ด้วยทุกศาสนาต่างก็สอนให้เป็นคนดี จึงเน้นที่การแลกเปลี่ยนระหว่างศาสนาคริสต์กับพุทธ โดยไม่จำเป็นต้องพูดถึงการเปลี่ยนแปลงศาสนา พระบัณฑิตจะเข้ามามีบทบาทในการฝึกสอนเด็กให้รู้จักคิด อบรมศีลธรรม และรู้จักอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมของตน โดยเฉพาะวัฒนธรรมการแต่งกายที่นับวันจะเปลี่ยนไปตามสังคมเมืองมากขึ้น

วันรุ่งขึ้น หลังจากตามไปดูกิจกรรมที่พระบัณฑิตอาสาพาเด็กๆ ทั้งสองศาสนาไปเยี่ยมผู้สูงอายุในหมู่บ้าน เพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์ให้คนในชุมชนเสร็จแล้ว เราก็ออกเดินทางต่อไปยังบ้านห้วยโป่ง ที่กำลังจะจัดงานร้อยใจสานสายใยคนในชุมชน และบวชป่าเพื่อพ่อหลวง

ที่บ้านห้วยโป่ง ชาวบ้านที่นั่นได้ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาเรื่องป่าและแนวทางการแก้ไขโดยใช้บวชป่าเป็นสื่อ โดยประเพณี “กี่จึ” หรือมัดมือของชาวปกาเกอะญอ ซึ่งอดีตประเพณีนี้ ทุกพื้นที่รวมทั้งที่นี่จะมีเหล้าเป็นเครื่องเซ่นในพิธีกรรมและในวันงานจะมีการดื่มเหล้าฉลองกันอย่างมาก บางครั้ง มีปัญหาที่เกิดขึ้นตามมา ทั้งปัญหาหนี้สิน หรือการทะเลาะวิวาท เป็นต้น

เมื่อพระบัณฑิตทำงานในพื้นที่ ต้องการสร้างสมานฉันท์ให้คนในชุมชนโดยจุดหมายปลายฝันคือสร้างสุขให้ชุมชน ดังนั้นเมื่อชาวบ้านร่วมกันเลือกประเพณีกี่จึมาแล้ว พระบัณฑิตจึงมีเวทีให้ชาวบ้านร่วมกันวิเคราะห์ประเพณีและสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งพบว่ามีเหล้าเข้ามาเกี่ยวข้องมากและชาวบ้านต้องเสียเงินมากในการซื้อเหล้าด้วย ดังนั้นชาวบ้านต้องการลดเหล้าในประเพณี ซึ่งพระใช้ศีล5 เข้ามาช่วยเป็นเครื่องมือในการทำงานทำให้ชาวบ้านพร้อมใจกันที่จะละเหล้าในงานครั้งนี้

อดุลย์ ดวงดีทวีรัตน์ ผู้ช่วยผู้ประสานงานโครงการ การสื่อสารเพื่อการพัฒนาพระบัณฑิตอาสาพัฒนาชาวเขา (สพข.) กล่าวว่า การรณรงค์ลด ละ เลิก อบายมุข แก่ชุมชนชาวเขาในพื้นที่สูง เป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน เพราะชาวบ้านใช้เหล้าในประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ มาเนิ่นนาน ดังนั้น การจะให้เลิกในระยะเวลาอันสั้นจึงมิใช่เรื่องง่าย ต้องค่อยๆ ปรับความเข้าใจโดยให้ชาวบ้านเป็นผู้ยอมรับและตัดสินใจเอง

จุดประทีปในดวงใจ

นอกจากที่หมู่บ้านห้วยโป่งแล้ว การรณรงค์เลิกเหล้าในพิธีกรรมต่างๆ ยังขยายวงไปอีกในหลายพื้นที่ เนื่องจากคณะทำงานเล็งเห็นว่า พระสงฆ์เป็นสื่อบุคคล ซึ่งมีพลังในการทำงานพัฒนาสุขภาพของประชาชน และทางโครงการฯ ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างเสริมและพัฒนาแนวคิดในการพัฒนาสังคมแบบใหม่ แก่พระบัณฑิตอาสาที่เข้าไปดำเนินกิจกรรมกับกลุ่มชาติพันธุ์พื้นที่สูงตามแนวชายแดน ในเขตพื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง และแม่ฮ่องสอน จำนวน 35 อาศรม

บ้านแม่ปูนล่าง เป็นชุมชนหนึ่งที่ตั้งอยู่หมู่ที่ 9 ตำบลเวียง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย บ้านแม่ปูนล่าง ประกอบด้วยประชากรที่อยู่ร่วมกันหลากหลายชาติพันธ์ เช่น ชนเผ่าไทลื้อ มูเซอแดง มูเซอดำ ลั๊วะ และเผ่าว้า ดังนั้นประชากรบ้านแม่ปูนล่างจึงนับถือศาสนา และมีความเชื่อที่แตกต่างกันออกไป อาทิเช่น ชาติพันธุ์มูเซอดำและว้าจะนับถือศาสนาคริสต์, ชาติพันธุ์ ไทลื้อ ลั๊วะและมูเซอแดง จะนับถือพระพุทธศาสนาและศาสนาผีลัทธิดั้งเดิม โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อและลั๊วะที่นับถือพุทธจะมีความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนามาตั้งแต่อดีต

หนึ่งในเทศกาลประเพณีทางพุทธศาสนาที่ได้กระทำกันมาแต่อดีตกาลของชาวไทลื้อและลั๊วะ คือ ประเพณีตานพระประทีป ซึ่งจะจัดขึ้นในทุกเดือนยี่ (เดือนของชาติพันธุ์ลั๊วะ) ของทุกปี แต่เดิมก่อนการจัดประเพณีทางวัดและชาวบ้านจะประชุมกันเพื่อเตรียมงานกันเป็นเวลาครึ่งเดือน เพื่อแบ่งหน้าที่กันทำและหาวัสดุอุปกรณ์ในการประกอบประเพณี เมื่อถึงวันขึ้น 8 ค่ำก็จะพากันมาทำบุญตานพระประทีปกันทั้งหมู่บ้าน โดยใช้ระยะเวลา 7 วัน โดยทุกวันในตอนเช้าก็จะเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้มีพระคุณ เจ้ากรรมนายเวร ตลอดรวมถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับดับขันธ์ไปแล้ว และก็ขอพรจากพระภิกษุสงฆ์ สามเณร เป็นเวลาทั้งหมด 6 วัน

วันสุดท้ายคือวันขึ้น 15 ค่ำ (เดือนยี่) ตอนเช้าทุกครอบครัวจะนำอาหารและเครื่องครัวไปทำบุญกันที่วัด และร่วมฟังเทศนาธรรมที่พระสงฆ์ได้แสดงธรรม ในช่วงในตอนกลางคืนจะมีการร่ายรำฟ้อนเจิง และแสดงวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ลั๊วะ แต่ปัจจุบันประเพณีตานพระประทีป ได้เลือนหายไปจากชุมชนแต่ก็ยังมีผู้รู้และปราชญ์ชาวบ้านได้พูดคุยกันให้ชาวบ้านได้ฟังกัน ทั้งนี้เป็นเพราะประเพณีตานพระประทีปต้องอาศัยความศรัทธาที่มั่นคง แต่ปัจจุบันชาวบ้านไม่ได้สนใจในพิธีกรรมในทางศาสนามากนัก ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมามากมายคือเด็กไม่รู้ประเพณีวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ของตนเองและได้รับวัฒนธรรมใหม่ ๆ มาเป็นแบบอย่าง รวมถึงการให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมเหมือนเดิม เนื่องจากปัจจุบันนี้ต่างคนก็ต่างไป ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

แต่ในปีนี้ เทศกาลตานพระประทีปได้ถูกจัดขึ้นที่หมู่บ้านแม่ปูนล่างอีกครั้ง โดยมีพระบัณฑิตอาสาเป็นแกนนำ ด้วยการสนับสนุนของ สพข. , มหาจุฬาฯ และ สสส. แสงประทีปจึงกลับมาสว่างไสวตลอดหนทางสู่อาศรมพระบัณฑิตอาสาบ้านแม่ปูนล่าง

เลิกฝิ่นด้วยศีลห้า

ห่างจากแสงไฟของประทีปที่บ้านแม่ปูนล่าง เหนือขึ้นมาบนยอดดอยเป็นที่ตั้งของบ้านแม่จันใต้ หมู่บ้านของชาวไทยภูเขาเผ่าอาข่า ที่ตั้งอยู่บนภูเขาสูงสลับซับซ้อนปกคลุมไปด้วยป่าไม้ ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปลูกข้าว ข้าวโพด ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะผู้นำครอบครัวยังมีค่านิยมแบบเก่าๆ คือการติดยาเสพติดประเภทฝิ่นอยู่เกือบจะทุกหลังคาเรือน จึงทำให้ฐานะและความเป็นอยู่ยากจน

ในด้านความเชื่อชาวบ้านจะนับถือวิญญาณสิ่งลี้ลับว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาก เช่น ก่อนจะทำไร่ข้าว จะนำเครื่องบูชาต่าง ๆ ไปทำพิธีในไร่ข้าว เพื่อให้พืชผักเจริญงอกงาม และเป็นศิริมงคลแก่เจ้าของ หรือหากคนภายในหมู่บ้านเกิดเจ็บป่วยขึ้นก็จะมีการทำพิธีเรียกขวัญหรือผูกข้อมือ นอกจากนี้ยังมีประเพณีที่สำคัญในหมู่บ้าน เช่น ประเพณีเล่นลูกข่าง (Kal tahl pal-eq) ซึ่งจะจัดในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี ซึ่งชาวบ้านบ้านแม่จันใต้จะมีการรักษาประเพณีวัฒนธรรมความเชื่อของชนเผ่าไว้ได้อย่างดียิ่ง โดยเฉพาะประเพณีที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับความเชื่อและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของตนเอง

แต่เนื่องจากปัจจุบันความเจริญด้านเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ค่านิยมที่เปลี่ยนไปเช่นความเชื่อ ที่เกิดจากสภาพของสังคมที่เจริญขึ้นตลอดจนการศึกษา โดยเฉพาะเยาวชนที่ไปศึกษาข้างนอก เมื่อมีความรู้มากขึ้นเริ่มมีทัศนคติเกี่ยวกับความเชื่อเปลี่ยนไป ดังนั้นการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรมปัจจุบันจึงไม่ได้รับความร่วมมือของคนในชุมชนเท่าที่ควร เมื่อเป็นเช่นนี้ประเพณีวัฒนธรรมจึงขาดการเรียนรู้สืบทอดโดยเฉพาะเยาวชนไม่มีความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรมของตนเอง คงมีแต่ผู้สูงอายุบางกลุ่มที่ยังคงปฏิบัติกันอยู่ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของอาข่าอาจหายไปได้ คงเหลือไว้แต่ตำราให้ได้เรียนรู้ไม่มีผู้สืบทอดอย่างเป็นแน่แท้

ดังนั้นทางพระบัณฑิตอาสาพัฒนาชาวเขา (ธรรมจาริก) และชาวบ้านจึงได้คิดริเริ่มจัดทำโครงการสืบสานประเพณีปีใหม่ลูกข่างอาข่า เพื่อเป็นการฟื้นฟูและอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชนเผ่าให้คงอยู่และกลับมามีคุณค่าทั้งสังคม ทางกาย อารมณ์(จิตใจ) และปัญญา ดังความสุขที่ได้รับในอดีต

พระพยัพ ถิรจิตฺโต แห่งอาศรมธรรมจาริกบ้านแม่จันใต้ กล่าวว่า พันธกิจ 6 ประการที่ที่ทางโครงการพระบัณฑิตอาสาได้มอบให้เป็นเครื่องมือในการทำงาน คือ หนึ่ง การอบรมศีลธรรมแก่ชุมชนบนพื้นที่สูง สอง การสอนศีลธรรมในสถานศึกษา สาม การรงณรงค์ลด ละ เลิก อบายมุข สี่ การจัดสวัสดิการและสงเคราะห์ให้กับชาวชุมชน ห้า การส่งเสริมอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม และหก การส่งเสริมอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของชนเผ่า แต่กว่าที่จะปฏิบัติภารกิจทั้งหกสำเร็จลุล่วงได้นั้น พระบัณฑิตอาสาเองก็ต้องผ่านการทดสอบความมุ่งมั่นหลายครั้งหลายหน

เช่นเมื่อตอนที่ท่านมาอยู่ที่บ้านแม่จันใต้ใหม่ๆ นั้น ชาวบ้านไม่เคยรู้จักพระสงฆ์มาก่อนเลย เมื่อตอนที่ท่านมาถึงนั้นเป็นช่วงปลายฤดูฝนย่างเข้าฤดูหนาว ไม่มีที่อยู่ จำต้องไปอาศัยอยู่ที่โรงเรียนเก่า เมื่อออกบิณฑบาตท่านก็ไม่ได้อะไรเลย เพราะชาวบ้านไม่รู้จักการใส่บาตร พระพยัพต้องฉันมาม่าที่นำติดตัวมาด้วยอยู่นานนับเดือน กว่าจะมีครอบครัวชาวเขาผู้หนึ่งใส่บาตรให้ จนกระทั่งมีอาศรมเป็นที่พักพิงถาวรในอีกหลายปีต่อมา

“ตอนนั้นหมู่บ้านแม่จันใต้เป็นหมู่บ้านสุดท้ายที่ไม่มีใครเลือก แต่อาตมาก็ตัดสินใจมุ่งมั่นมาที่นี่ เมื่อมาใหม่ๆ ครั้งแรกชาวบ้านไม่ให้การต้อนรับ พูดคำเดียวว่าเขาไม่เอาพระ บอกว่าเขาไม่รู้จักพุทธศาสนา ไม่รู้จะเลี้ยงพระอย่างไร กลัวพระจะทำความลำบากให้ พอได้ยินอย่างนั้นก็คิดว่ากว่าจะมาถึงที่นี่ต้องใช้เวลาเดินทางหลายวัน ยังไงขอให้ได้อยู่สักอาทิตย์ก็พอแล้ว เลยบอกเขาไปว่าไม่เป็นไรหรอกเรื่องกินเรื่องอยู่ ปัจจัยสี่เดี๋ยวจะจัดการเอง จะไม่รบกวน ขออย่างเดียวคือที่นอนเพราะไม่รู้จะไปนอนตรงไหน”

ภาษาก็เป็นอุปสรรคหนึ่งที่สำคัญ ชาวบ้านไม่รู้จักภาษากลาง พระพยัพเองก็พูดภาษาอาข่าไม่ได้ การสื่อสารกันจึงเป็นเรื่องลำบาก แต่พระบัณฑิตรูปนี้ก็ไม่ย่อท้อ ท่านเริ่มจากการผูกมิตรกับเด็กๆ โดยใช้ขนมและนิทานเป็นตัวเชื่อมมิตรภาพ ทุกวันเด็กๆ จะมาฟังนิทานและหัดสวดมนต์ที่อาศรม พระพยัพจึงมีโอกาสเรียนรู้ภาษาอาข่าจากเด็กๆ ด้วย เมื่อเด็กเริ่มคุ้นเคยกับพระ การเข้าหาพ่อแม่ผู้ปกครองจึงไม่ใช่เรื่องยาก พระพยัพเริ่มออกเยี่ยมเยียนพูดคุยถึงไร่ชาวอาข่า ท่านเคยแม้กระทั่งแบกคนป่วยหนักเดินเท้าพาไปส่งโรงพยาบาลในอำเภอแม่สรวย ทำให้ชาวบ้านเลิกหวาดระแวงและเข้าใจพระพุทธศาสนามากขึ้น

ปัจจุบันพระบัณฑิตอาสาปฏิบัติศาสนกิจโดยใช้เรื่องของการแปลงศีล 5 ไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง เช่น การงดดื่มเหล้าฉลองในประเพณี การไม่ฆ่าสัตว์ ตัดชีวิต และงดเว้นอบายมุขทุกชนิด ทั้งนี้การนำเรื่องของศีล 5 ไปใช้นั้น จะนำสอดแทรกในพิธีกรรมและความเชื่อของชุมชน ไม่ได้เป็นการไปทำลายความเชื่อที่มีแต่เดิมของชุมชน หากแต่เป็นการค้นหาสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาเลือนคุณค่าดั้งเดิมของประเพณีของชาวอาข่า

พระพยัพทิ้งท้ายด้วยพุทธวจนะของพระพุทธองค์ ที่สร้างแรงบันดาลใจแก่พระบัณฑิตอาสาที่ทำงานเผยแผ่คำสอนและช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ซึ่งท่านยึดถือเป็นหลักในการทำงาน

“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงจาริกไปเพื่อประโยชน์และความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ พวกเธอจงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถพยัญชนะครบบริสุทธิ์บริบูรณ์ สัตว์โลกทั้งหลายที่มีกิเลสดังผงธุลีในดวงตาน้อยมีอยู่ ย่อมเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม จักมีผู้รู้ธรรม แม้เราก็จะไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรม”













กำลังโหลดความคิดเห็น