xs
xsm
sm
md
lg

4 สตรีนักต่อสู้ รับรางวัล “ผู้หญิงปกป้องมนุษยชน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กำหนดวันจัดงานสตรีสากล 8 มี.ค. มอบรางวัลเป็นกำลังใจให้ผู้หญิงนักต่อสู้ งานนี้มี 4 คนได้รับรางวัล“ผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชน” กลุ่มส6(ซอซิกซ์) กลุ่มสตรีจากชายแดนใต้ร่วมรับด้วย

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กำหนดจัดงานวันสตรีสากล 8 มีนาคม ประจำปี 2551 เพื่อมอบรางวัลเป็นกำลังใจให้แก่ผู้หญิงที่มีบทบาทและผลงานดีเด่นในการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน อีกทั้งเพื่อร่วมรณรงค์เผยแพร่ให้สังคมตระหนักถึงบทบาทผู้หญิงนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน

โดยการจัดงานในครั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดให้มีการมอบรางวัลดีเด่น “ผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชน” ประจำปี 2551 โดยมีผู้ได้รับรางวัล 4 ราย ได้แก่ ปริยนัดดา พันธุ์แสนกอ (แม่หลวงนาลอ) ผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนของกลุ่มชาติพันธุ์, ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ผู้เสียหายจากการรักษาพยาบาลที่ผิดพลาด,พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ นักพัฒนาที่ทำงานเคียงข้างประชาชน และกลุ่มส6 (ซอซิกซ์) การรวมตัวของผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

**กลุ่มสตรีสานสัมพันธ์สู่สันติสุข (สอซิก)**
เกิดจากการรวมตัวของผู้หญิง ทั้งชาวไทยพุทธและมุสลิม ที่ได้รับผลกระทบ จากเหตุการณ์ความไม่สงบ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น กรณีกรือเซะ ตากใบ เป็นผู้ที่เคยผ่านการอบรมเยียวยาจิตใจ จัดโดย กลุ่มผู้หญิงเพื่อสันติภาพและศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นจุดเริ่มที่ทำให้เธอเหล่านั้นผูกพัน กลายเป็นเพื่อนกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกันด้านจิตใจ และคิดจะทำกิจกรรมต่อเนื่อง

คำว่า “สอซิก” มาจากตัวอักษร ส. เสือ ที่เป็นชื่อกลุ่มจำนวน 6 ตัว มีเป้าหมาย เพื่อ ๑) ช่วยเหลือเด็กกำพร้าและยากจน ทุกคน ไม่ว่าจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ ๒) ใช้การเยี่ยมเยียนและฟื้นฟูจิตใจผู้ที่ได้รับผลกระทบ ด้วยการพบปะและพูดคุยระบายความทุกข์ซึ่งกันและกัน ๓) ช่วยติดตามสิทธิอันควรจะได้รับของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาครัฐ ทำให้การช่วยเหลือทำได้รวดเร็วขึ้น ๔) จัดหาและส่งเสริมอาชีพที่สามารถสร้างรายได้จุนเจือครอบครัว แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ และที่สำคัญคือ ๖) ยุติความรุนแรงด้วยสันติวิธี

**นางปริยนัดดา พันธุ์แสนกอ**
ทำงานประสานการดำเนินการช่วยเหลือเรื่องการขอสัญชาติไทยให้กลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและเป็นล่ามกรณีมีคดีความในชั้นศาล จัดตั้งชมรมกลุ่มแม่บ้าน และชมรมผู้ติดเชื้อเอดส์ ในนาม “ชมรมเพื่อนรักชายแดน”

ตลอดระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน นางปริยนัดดา ได้พยายามชักชวนให้ชาวบ้านได้มีการจัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยการจัดให้มีพื้นที่ป่าชุมชน ซึ่งมีทั้งพื้นที่ที่เป็นป่าใช้สอย และป่าอนุรักษ์ ซึ่งได้มีการจัดทำแนวกันไฟเป็นประจำทุกปี

**ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา**
คุณแม่คนหนึ่งซึ่งรักลูกมาก หวังจะได้เห็นร่างกายที่สมบูรณ์หลังลืมตาดูโลก แต่เนื่องจากเกิดความผิดพลาดของคณะแพทย์ในการรักษาขณะคลอด ทำให้ลูกชายคนแรกซึ่งปัจจุบันอายุ ๑๗ ปี มีอาการหลังคด ปวดหลัง เดินกะเผลก ปวดขามากจนไม่สามารถเดินระยะไกลๆ ได้

โดยปรียนันท์ กล่าวว่า การออกมาเรียกร้องให้เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์นั้น สิ่งที่อยากได้ไม่ใช่รางวัล แต่คือความเป็นธรรมแก่ลูก สามารถหาผู้รับผิดชอบให้ลูกได้ การบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข อย่างบังเกิดผล เพื่อสร้างสานความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแพทย์และคนไข้ ความขัดแย้งระหว่างทั้งสองฝ่ายหมดไปจากสังคมไทย และการนำรูปแบบการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไปใช้ในทุกประเทศทั่วโลก

**พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ**
จากการศึกษาวิชาเอกสังคมศาสตร์การพัฒนา เป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้หญิงคนนี้สนใจกิจกรรมช่วยเหลือสังคม

ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พรเพ็ญรับการชักชวนจากนายสมชาย หอมละออ ร่วมทำงานในฐานะผู้ช่วยประสานงาน คณะกรรมการรณรงค์ประชาธิปไตย เน้นการรณรงค์สร้างความเข้าใจแก่สังคม เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว
ด้วยความเป็นผู้ใฝ่เรียนรู้ ได้ไปศึกษาต่อระดับประกาศนียบัตรด้านการค้าระหว่างประเทศ ณ สถาบันเทคโนโลยี (Royal Institution of Technology- RMIT) กรุงเมลเบอร์น ประเทศออสเตรเลีย และศึกษาระดับปริญญาโท คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิชาเอกประวัติศาสตร์เอเชีย ซึ่งสนใจประวัติศาสตร์ของประเทศเวียดนามเป็นพิเศษ และโดยศึกษาอย่างจริงจัง ทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ และภาษา

จากนั้น เข้าร่วมงานกับสภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (Forum Asia) ได้รับมอบหมายให้ร่วมทีมให้ความช่วยเหลือแก่นักการเมือง ชาวกัมพูชา ลี้ภัยการเมืองเข้ามาในประเทศไทย คดีลอบสังหาร สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีของประเทศ

ต่อมา ร่วมกับทีมงาน และเพื่อนพ้อง ก่อตั้งมูลนิธิผสานวัฒนธรรม รับผิดชอบเป็นผู้ประสานงานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ และผู้ประสานงานโครงการการเข้าถึงความยุติธรรมและการคุ้มครองทางกฎหมาย เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย แก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคม ได้แก่ แรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัยทางการเมือง ประชาชนที่ประสบเคราะห์กรรมจากเหตุการณ์ไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะ ประการหลัง คุณพรเพ็ญ เคยมีประสบการณ์ทำงานมา ๑ ปี ปัญหาที่พบคือกระบวนการยุติธรรมล่าช้ามาก แต่ชาวบ้านรวมกลุ่มกันเข้มแข็ง
นอกจากรับผิดชอบงานในมูลนิธิผสานวัฒนธรรมแล้ว ยังได้ร่วมทำงานกับองค์กรพัฒนาเอกชน และหน่วยงานของรัฐ เช่น เป็นอนุกรรมการ ในคณะอนุกรรมการรณรงค์ต่อต้าน การทรมาน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อตรวจสอบการทรมาน และการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่อีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น