เมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน คนมอญได้อพยพเคลื่อนย้ายบรรพบุรุษมาจากเมืองมอญ (ประเทศพม่า) ด้วยสาเหตุแตกต่างกัน เป็นเชลยสงคราม หลบหนีกองทัพพม่า หรือลี้ภัยการเมืองเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย ซึ่งได้รับการต้อนรับจากไทยโดยให้ไปตั้งหลักแหล่งที่เหมาะสม แหล่งที่อยู่ของชาวมอญส่วนใหญ่เป็นบริเวณริมน้ำ ในเขตจังหวัดภาคกลางของไทย ผ่านมา...กระบวนการกลายร่างด้วย “สัญชาติ” ทำให้ลูกหลานชาวมอญเหล่านั้น กลายเป็น “คนไทย” ไปแล้ว และถูกคนที่อยู่อาศัยมาก่อนเรียกขานว่า “คนไทยเชื้อสายมอญ” กระนั้นพวกเขาบอกว่าแม้ว่าจะได้สัญชาติไทยไปแล้ว แต่หัวใจยังคงเป็นมอญอยู่
ชาติกำเนิดก่อเกิดอคติ
สุกัญญา เบาเนิด เลขาธิการชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯ เล่าให้ฟังว่า ตนเป็นคนมอญโดยเชื้อสาย ซึ่งชุมชนมอญส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร มีมากกว่า 30-40 แห่ง ชุมชนละไม่ต่ำว่า 3,000 ตน ผู้คนทั้งชุมชนยังมีวิถีแบบมอญ (พูดจาภาษามอญ นับถือผีมอญ กินอาหารมอญ แต่งตัวมอญ และคิดแบบมอญๆ....) และอีกประมาณครึ่งค่อนจังหวัดก็มีคน (ไทยเชื้อสาย) มอญเต็มไปหมด แต่สิ่งหนึ่งที่มีให้เห็นในทุกชุมชนคนมอญในประเทศไทย ก็คือ พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ
“นานมาแล้วมอญกับไทยสนิทสนมกลมกลืนจนแยกไม่ออก และวัฒนธรรมของมอญคนไทยก็ยอมรับ และมีการหลอมรวมเป็นวัฒนธรรมไทยในปัจจุบัน แต่วันนี้มหาชัยเปลี่ยนไปมาก คนไทยในประเทศนี้ บอกว่า จังหวัดของเรามีแต่แรงงานพม่าเกลื่อนเมืองไปหมด นับเป็นอคติที่เกิดขึ้นโดยความไม่รู้ หรือไม่เข้าใจไม่ทราบได้ แต่ผู้ใหญ่ในสมุทรสาครยังมองคนมอญว่าเป็นคนพม่าอยู่ดีและนั่นมันทำให้ทัศนคติที่คนส่วนใหญ่มองแรงงานมอญย้ายถิ่นเป็นคนเถื่อน โดยตอกย้ำด้วยสื่อคำว่าพม่า”
ปัญหาความมั่นคงลุกลามบานปลายไปถึงปัญหาทางวัฒนธรรม จนเดี๋ยวนี้จังหวัดสมุทรสาครได้ออกประกาศว่าห้ามไม่ให้เผยแพร่วัฒนธรรมของแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะ “พวกสัญชาติพม่า” ด้วยเกรงว่าวัฒนธรรมแรงงานต่างด้าวจะกลืนกินวัฒนธรรมไทยไป คนมอญที่มาเป็นแรงงานต่างด้าวจึงถูกทำให้เป็นคนพม่าด้วยกระบวนการ “สัญชาติ” เช่นเดียวกัน แม้พวกเขาจะโต้แย้งอยู่ในใจหรือด้วยเสียงอันดังเสมอว่า “ข้าเป็นมอญ หาใช่พม่า” เพราะพวกเขามาจากเมืองมอญ
ตัวตนคนมอญ...หาใช่พม่า
สุกัญญา บอกว่า แรงงานมอญย้ายถิ่นที่อพยพมาในช่วงหลังตั้งแต่ปี 2533 ส่วนใหญ่จะพำนักหลังกรอบกำแพงแคบๆ ในมหาชัยนั้นมีร้อยละ 70-80 ส่วนอีกร้อยละ 30 เป็นคนเชื้อสายอื่น เช่น กะเหรี่ยง ทวาย คะฉิ่น คะยา ไทยใหญ่ ปล่อง และพม่า แม้คนมอญย้ายถิ่นจะมี “สัญชาติพม่า” แต่พวกเขาก็มีหัวใจแห่งชนชาติรามัญเชื้อสายมอญเดียวกัน พูดภาษามอญ วิถีแบบมอญ และกลุ่มคนเหล่านี้ก็คำให้อัตลักษณ์ของคนมอญฟื้นกลับมาอีกครั้ง
“ในมหาชัยตอนนี้มีคนมอญเดินให้ขวักไขว่ เดินผ่านก็จะได้ยินภาษาแปลกๆ ที่คนไทยอาจจะไม่คุ้นหู นั่นคือ ภาษามอญ คนมอญย้ายถิ่นเมื่อเข้ามาอยู่ในประเทศไทยจะนิยามตัวเองว่า“หม่อนเดิงหม่อน” แปลว่า มอญเมืองมอญและไม่ชอบให้ใครมาเรียกตัวเองว่าพม่า พวกเขาเลือกที่จะซ่อนความเป็นพม่าไว้ และเลือกแสดงความเป็นมอญให้เด่นชัดโดยผ่านภาษา วัฒนธรรมประเพณี เพื่อสร้างให้เกิดการยอมรับ และประนีประนอมกับคนไทย ดังนั้นภาษามอญจึงไม่จำกัดแต่ในชุมชนเหมือนวันก่อนๆ ตอนนี้มีโรงเรียนสอนภาษาไทย และมอญให้กับเด็กๆ ที่เป็นลูกหลานคนมอญ และมีวัดมอญในมหาชัย เพื่อเป็นศูนย์รวมของคนมอญในไทย”
นอกจากนี้ จากคำบอกเล่าของเลขาธิการเยาวชนมอญกรุงเทพฯ ทำให้ได้ทราบว่าคนมอญมีการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์แบบมอญอีกด้วย ชุดประจำชาติ เป็นสัญลักษณ์ที่ถูกทำให้มีความแตกต่างจากชุดประจำชาติของพม่า คือ โสร่งของมอญมีสัญลักษณ์แถบสีขาวคั่นกลางผืนผ้า ถ้าไม่มีแถบสีขาวนี้คือโสร่งพม่า ส่วนเสื้อของผู้หญิงมอญชายเสื้อจะต้องยาวปิดสะโพกไม่ใช้เสื้อเอวลอยแบบผู้หญิงพม่า นอกจากนี้ ยังมี “เสื้อลายมอญ” มีข้อความเขียนด้วยภาษามอญ และลวดลายซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวตำนาน ประวัติศาสตร์ และสัญลักษณ์รูปหงส์ในธงชาติมอญ
“เห็นได้ชัดว่ามอญย้ายถิ่นไม่อยากให้ใครเห็นว่าพวกเขาเป็นพม่า จึงพยายามสร้างอัตลักษณ์มอญขึ้นมาในสมุทรสาครจึงมีการก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้ตามอัธยาศัย ได้แก่ ศูนย์พัฒนาภูมิปัญญามอญ วัดบางหญ้าแพรก และ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนไทย-มอญพัฒนา ด้วยการสนับสนุนจากกลุ่มคนไทยเชื้อสายมอญ บนพื้นฐานของการมีบรรพบุรุษร่วมกัน เพื่ออนุรักษ์ภาษาและวัฒนธรรมของคนมอญมิให้เสื่อมสิ้นไป สอนภาษาไทยและภาษามอญให้แรงงาน และลูกหลาน เสริมทักษะการ ฟัง พูด อ่าน เขียน ภาษาไทย รวมทั้งอนุรักษ์ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ ก่อนจะเข้าสู่ระบบการศึกษาแบบไทย” สุกัญญา กล่าว
วันชาติ...ย้ำสำนึกชาติพันธุ์
นอกจากภาษา วิถีแบบมอญ อาหารมอญ เพลงชาติ และธงชาติมอญจะเป็นสัญลักษณ์ของคนมอญที่อาศัยอยู่ทั่วทุกมุมโลกแล้ว มอญยังเฉลิมฉลองวันชาติเพื่อเป็นการรำลึกถึงบรรพบุรุษด้วย โดยงานวันชาติมอญเริ่มจัดขึ้นนับตั้งแต่ พ.ศ.2491 หลังพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ ซึ่งกำหนดวันชาติมอญจะตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี เพราะเชื่อว่าเป็นวันแรกที่สร้างเมืองหงสาวดี
สำหรับในประเทศไทยมีการจัดงานวันชาติครั้งแรกในกรุงเทพมหานคร ประมาณปี 2525 โดยกลุ่มคนไทยเชื้อสายมอญที่รวมตัวกันในนามชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯ หากแต่หลีกเลี่ยงริ้วขบวน เปิดเพลงชาติ และเชิญธงชาติมอญ และใช้ชื่อวานว่า วันรำลึกบรรพบุรุษมอญ หรือ วันรำลึกชนชาติมอญ ซึ่งหมายถึงการรำลึกถึงผู้ที่เสียสละ และผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับชนชาติ ตลอดจนทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษผ่านการแสดงออกทางวัฒนธรรมประเพณี
“ตราบใดก็ตามที่เรายังไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริงของแรงงานข้ามชาติ ตราบนั้นอคติทางชาติพันธุ์ต่อคำว่า “พม่า” ก็จะยังคงอยู่ แรงงานมอญย้ายถิ่นจึงต้องพยายามแสดงอัตลักษณ์ของความเป็นมอญ เพื่อให้สังคมได้รับรู้ว่าพวกเขาคือ “คนมอญ” ไม่ใช่ “คนพม่า” เผื่อว่าเราจะลดอคติทั้งหลายลงได้บ้าง” สาวมอญผู้ทำหน้าที่เชื่อมโยงความเข้าใจระหว่างคนมอญกับคนไทย กล่าวทิ้งท้าย
เพราะฉะนั้นการทำความเข้าใจ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใดย่อมสร้างความเข้าใจระหว่างผู้คนต่างวัฒนธรรม นำไปสู่การยอมรับ เคารพ และให้เกียรติในวัฒนธรรมของผู้อื่นเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข