ถึงแม้ว่าเชียงใหม่จะกลายเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของประเทศไทยมาหลายสิบปี นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติต่างเดินทางมาพักผ่อนปีละนับล้านๆ จนดูเหมือนว่าเชียงใหม่แทบไม่หลงเหลือความท้าทายอีกต่อไป เหล่านักเดินทางแบกเป้อย่างบรรดาแบ๊คแพ็คเกอร์เริ่มมองหาสถานที่ที่ยังคงสงบและเป็นธรรมชาติ แทนตัวเมืองเชียงใหม่ที่มีความเจริญไม่ต่างอะไรจากกรุงเทพฯ แต่ทว่า ยังมีอำเภอเล็กๆ อีกแห่งหนึ่งที่ถูกมองข้ามไป ทั้งที่อยู่ห่างจากเชียงใหม่เพียงไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง
บางทีอาจเป็นความโชคดีของอำเภอแห่งนี้ที่ยังคงเติบโตช้า และไม่เป็นที่หมายตาของนักลงทุนเทียบเท่าอำเภออื่นๆ ของเชียงใหม่ จึงทำให้อำเภอแห่งนี้ยังคงสงบและเรียบง่ายเหมือนอย่างเช่นที่เคยเป็นอยู่เมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา
"สันป่าตอง" ดินแดนที่ครั้งหนึ่งเคยเต็มไปด้วยดอกตองสีเหลืองบานสะพรั่งจนเป็นที่มาของชื่ออำเภอ ที่มีอายุยืนยาวจนครบรอบ 123 ปีถึงบัดนี้
ย้อนตำนานสันป่าตอง
บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 ถนนสายเชียงใหม่ - ฮอด เป็นเส้นทางที่จะนาพานักท่องเที่ยวย้อนกลับไปสู่บรรยากาศในอดีต เปิดตำนานดินแดนที่รุ่มรวยวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นล้านนา ซึ่งถูกแสงสีของตัวเมืองเชียงใหม่บดบังมาเนิ่นนานอย่างน่าเสียดาย
เพียง 22 กิโลเมตรจากตัวเมืองเชียงใหม่ อำเภอเล็กๆ สงบเงียบก็ปรากฏขึ้นแก่สายตา แม้จะไม่ได้โอบล้อมด้วยภูเขาสูงอย่างอำเภออื่นๆ ของเชียงใหม่ แต่สันป่าตองก็มีเสน่ห์ของเมืองเก่าที่หาดูได้ยาก ทั้งวัดวาอาราม แหล่งโบราณคดี และวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นที่ยังคงอนุรักษ์เอาไว้ ทำให้สันป่าตองน่าค้นหาต่างจากเมืองท่องเที่ยวอื่น
อำเภอสันป่าตองก่อตั้งเมื่อประมาณ พ.ศ. 2416 พื้นที่เป็นเขตการปกครองของอำเภอแม่วาง และอำเภอบ้านแม ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2477 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศยุบอำเภอแม่วางให้มารวมกับอำเภอบ้านแมเป็นอำเภอเดียวกัน เรียกว่า "อำเภอบ้านแม" โดยมีที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ที่บ้านเปียง หมู่ที่ 13 ตำบลบ้านแม ต่อมาเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2482 ได้มีการย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้ง ณ ที่บ้านสันป่าตอง หมู่ที่ 10 ตำบลยุหว่า ซึ่งเป็นที่ตั้งปัจจุบัน และเปลี่ยนชื่ออำเภอเป็น "อำเภอสันป่าตอง" มาจนถึงทุกวันนี้
คำว่า "สันป่าตอง" ตั้งตามชื่อหมู่บ้าน ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ดอน จึงได้ชื่อขึ้นต้นว่า "สัน" ส่วนคำว่า "ป่าตอง" ได้มาจากป่าต้นตอง (ต้นไม้พุ่มขนาดใหญ่ ลำต้นมีหนาม ดอกสีเหลือง) ซึ่งขึ้นเป็นจำนวนมากในพื้นที่
และในปีนี้ที่เมืองเชียงใหม่มีอายุครบรอบ 712 ปี อำเภอสันป่าตองเองก็จะมีอายุครบรอบ 123 ปีเช่นกัน ทางอำเภอสันป่าตอง จึงได้ร่วมกับ สภาวัฒนธรรมอำเภอ สมาคมพ่อค้า และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดโครงการเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอำเภอสันป่าตอง โดยใช้ชื่อว่า "แอ่วสันป่าตอง มองวัฒนธรรม เลิศล้ำงานศิลป์" เพื่อเป็นการเผยแพร่ศิลปะที่เกิดจากภูมิปัญญาของศิลปินในท้องถิ่น รวมทั้งประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่หลากหลายให้สาธารณชนทั่วไปได้รับทราบ
นิมิต วันไชยธนวงศ์ นายอำเภอสันป่าตอง กล่าวถึงที่มาในการจัดงานครั้งนี้ว่า เมื่อตนเองย้ายจาก อ.เทิง จ.เชียงรายมาที่นี่แล้วพบว่าสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งของสันป่าตองตกสำรวจ ทั้งที่มีรถนักท่องเที่ยวแน่นขนัดโดยเฉพาะในช่วงปลายปี เนื่องจากเป็นเส้นทางผ่านไปยังดอยอินทนนท์ และแหล่งหัตกรรมอย่างบ้านถวาย แต่กลับไม่มีผู้สนใจหยุดแวะพักเที่ยวชมแหล่งท่องเที่ยวของอำเภอสันป่าตองเลย
"อำเภอสันป่าตองเป็นเส้นทางผ่านจริงๆ นักท่องเที่ยวผ่านปีๆ หนึ่งร่วมล้านคนซึ่งผ่านไปเปล่าๆ จึงได้เริ่มคุยกันกับทางท้องถิ่นและชุมชนว่า ถ้าหากจะคิดนำมาเป็นจุดขายอย่างเดียวของสันป่าตองคือ 'วัฒนธรรม' จึงได้มีการสืบค้นตำนานของสันป่าตองและรวบรวมมาเผยแพร่ให้อำเภอของเราเป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยว"
อำเภอสันป่าตองประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทั้งคนเมือง ไทยเขิน ไทยยอง ลั๊วะ จีน มอญ อินเดีย และอิสลาม ทำให้มีวัฒนธรรมประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นแต่ละชนเผ่า หนึ่งในนั้นคือ กลุ่มบุคคลเชื้อชาติจีนที่มีความสำคัญ ในการร่วมก่อตั้งรากฐานและประสานประโยชน์กิจกรรมหลายภาคส่วนของท้องถิ่นอำเภอสันป่าตอง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2427 - 2550 เป็นเวลา 123 ปี
การเรียบเรียงของรุ่งโรจน์ เปี่ยมยศศักดิ์ จากคำบอกเล่าของ เซียมเกียง แซ่อึ้ง และประกอบ อุดมพันธุ์ สองชาวสันป่าตองเชื้อสายจีนระบุว่า การเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวจีนในสันป่าตองเริ่มจากจุดเปลี่ยนที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การมีทางหลวงหมายเลข 108 ตัดผ่านเส้นทางอำเภอสันป่าตองถึงจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทำให้อำเภอสันป่าตองเป็นทำเลที่ดีในการทำธุรกิจการค้า เพราะเป็นจุดที่เหมาะสมในการติดต่อธุรกิจแลกเปลี่ยนสินค้าต่างๆ ที่มีอาณาเขตติดต่อกัน เช่น ชุมชนบ้านกาด, ชุมชนหนองตอง, ชุมชนทุ่งเสี้ยว, ชุมชนแม่ขาน, อำเภอหางดง, อำเภอจอมทอง, อำเภอสารภี, อำเภอฮอด, อำเภอแม่สะเรียง ฯลฯ ซึ่งเป็นย่านธุรกิจสายใต้ที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่
ทำเลเศรษฐกิจที่ดีในขณะนั้น (พ.ศ. 2427 - 2550) ก็คือ ย่านสามแยกสันป่าตอง - บ้านกาด เพราะเป็นจุดศูนย์กลางไม่ห่างจากตลาดสดและที่ว่าการอำเภอสันป่าตองมากนัก โดยมีบ้านสามแยกของ ก๋งไครซิ่ว แซ่อึ้ง (คุณวิบูลย์ อุดมพันธุ์) ตั้งอยู่ คูหาเรือนห้องแถวด้านหน้าขายของประเภทโชว์ห่วยสินค้าจิปาถะ และเป็นตัวแทนขายรถจักรยานราเล่ห์ ของบริษัทจากกรุงเทพ ซึ่งเป็นสินค้าที่นำสมัยของยุคนั้น สำหรับโรงเรือนด้านหลัง เป็นส่วนที่ทำธุรกิจเกษตรกรรม พืชไร่ของท้องถิ่นสันป่าตอง ด้านหลังอาณาเขตติดกับโรงเรียนสอนภาษาจีน
เนื่องจากกลุ่มกัลยาณมิตรของก๋งไครซิ่ว มีตั้งแต่พ่อส่างส่วย, พ่อหนานแก้ว, แม่อุ้ยดี ซึ่งเป็นกลุ่มเพื่อนบ้านละแวกเดียวกัน และกลุ่มสมาคมตลาดต้นลำไยในเมืองเชียงใหม่ โดยกลุ่มคนจีนในสันป่าตองต่างยกย่องท่านเป็นผู้นำทางความคิดและมองการณ์ไกล โดยเฉพาะยุคนายอำเภอวัฒนา มุสิกโปดก ได้มีการร่วมมือกับทางราชการอยู่เป็นประจำ การทำคุณทดแทนแผ่นดินบ้านเมือง การร่วมบริจาคสร้างศาสนสถาน สร้างสิ่งสาธารณประโยชน์เป็นส่วนที่ผู้คนในยุคนั้นได้เห็นและกล่าวขวัญถึงอยู่ตลอด การงานเหล่านั้น ก๋งไครซิ่วมิใช่กระทำการเพียงผู้เดียว แต่อาศัยความร่วมมือจากหมู่คณะตลาดสันป่าตองร่วมมือกับทางราชการ และประชาชนทั่วไปของอำเภอสันป่าตองอย่างต่อเนื่องถึงรุ่นหลัง
ทางด้านชุมชนชาวไทยมุสลิมเอง ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้ามาตั้งรกรากที่อำเภอสันป่าตองมาช้านาน ดูเซ็น อรุณสวัสดิ์ อายุ 74 ปี ชายชราชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในตำบลยุหว่าเล่าว่า มุสลิมกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งรกรากที่สันป่าตองเป็นชาวเบงกาลี เดินทางมาจากประเทศปากีสถานตะวันออก ปัจจุบันคือ ประเทศบังคลาเทศ เมื่อประมาณ พ.ศ. 2430 โดยนายอับดุลราซิส และคณะราว 20 คน ได้เข้ามาอาศัยอยู่บริเวณตลาดสดสันป่าตองประกอบอาชีพค้าขาย ทั้งนี้ในกลุ่มนี้บางท่านก็ได้แต่งงานกับสตรีชาวพื้นเมืองจึงทำให้มีลูกหลานญาติมิตรที่เป็นชาวพื้นเมืองสืบมาจนถึงทุกวันนี้
ครอบครัวชาวมุสลิมมักอาศัยอยู่บริเวณใกล้ๆ กับตลาดสดสันป่าตอง จนถึงบริเวณหลังตลาด ชาวมุสลิมที่เข้ามาพำนักอยู่ในอำเภอสันป่าตองเหล่านี้ได้ประกอบอาชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและขยันหมั่นเพียร บ่อยครั้งที่คนเหล่านี้ต้องนำสินค้าใส่หลังรถจักรยานแล้วปั่นรถจักรยานไปขายสินค้าในสถานที่ห่างไกล และกันดารจนสามารถสร้างฐานะให้มั่นคงเป็นปึกแผ่นได้ พร้อมทั้งได้ทำความดีตอบแทนพระคุณของแผ่นดินอย่างซื่อสัตย์สุจริต
ในอดีตชุมชนมุสลิมสันป่าตองกับชุมชนเพื่อนบ้านทั้งคนจีนและคนพื้นเมืองจะมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ลูกหลานชามุสลิมจุถูกสอนให้เรียกเพื่อนบ้านว่า อะแปะ, อาซิ้ม, อาอึ้ม, ยาย, แม่, ป้า เป็นต้น และเมื่อถึงวันฉลองเทศกาลต่างๆ ของชาวมุสลิม คนมุสลิมก็จะนำอาหาร ขนม หรือผลไม้ไปมอบให้กับเพื่อนบ้าน ในทางกลับกันเมื่อถึงเทศกาลตรุษจีน หรือเทศกาลปีใหม่เมือง เพื่อนบ้านก็จะนำขนมเข่ง, ขนมเทียน หรือผลไม้มาให้เพื่อนมุสลิมเช่นกัน
ภัคพล คำหน้อย ผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับ 'คนเมือง' อธิบายว่า นอกจากสองกลุ่มชาติพันธุ์ข้างต้นแล้ว คนเมืองในอำเภอสันป่าตอง ยังเป็นประชากรส่วนใหญ่ของอำเภอที่อาศัยอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ แทบทุกหมู่บ้าน แม้แต่ในหมู่บ้านของชาวเขิน ไทยยอง หรือลั๊วะ ก็จะมีคนพื้นเมืองปะปนอยู่ด้วย ลักษณะทางสังคมของคนเมืองส่วนใหญ่ก็ผสมผสานกลมกลืนกับกลุ่มชนอื่นๆ โดยทั่วไปทั้งด้านขนบธรรมเนียมประเพณี พิธีกรรม ศาสนา ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะคนเมืองอาศัยอยู่ในบริเวณนี้มาก่อนเมื่อชนกลุ่มอื่นมาอาศัยอยู่ร่วมกันก็มีการแลกเปลี่ยนและรับเอาวัฒนธรรมของกันและกันมาใช้เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ตามลักษณะพื้นฐานของคนล้านนา
ขณะที่ความเชื่อเกี่ยวกับความเป็นมาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ตำนานพื้นบ้าน และเอกสารสำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทำให้ชาวมอญในอำเภอสันป่าตองมีความเชื่อในเรื่องความเป็นมาของชาติพันธุ์ของตนเองว่าเป็นชาวมอญที่สืบเชื้อสายมาจากชาวมอญในสมัยหริภุญชัยและอาศัยอยู่ที่นี้มานานพร้อมๆ กับการกำเนิดของพระนางจามเทวีตามตำนานโยนก ปัจจุบันชาติพันธุ์มอญหรือเม็งในเขตอำเภอสันป่าตอง มีอยู่เพียง 2 หมู่บ้าน คือหมู่บ้านหนองครอบ และบ้านกอโชค
เปิดเส้นทางวัฒนธรรม จากเวียงท่ากาน-บ้านร้องตีมีด
แม้สันป่าตองจะไม่มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่โดดเด่นเหมือนอย่างอำเภอหางดงหรืออำเภอใกล้เคียงอื่นๆ แต่ก็ทดแทนด้วยแหล่งโบราณคดีและสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมอื่นๆ โดยเส้นทางท่องเที่ยวนั้นเริ่มต้นจากศาสนสถานอย่างวัดน้ำบ่อหลวง, วัดร้องขุ้ม, วัดหัวรินที่ตั้งกลุ่ม "ประสานใจ" โครงการที่ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี ไปจนถึงศูนย์วัฒนธรรมบ้านเพียงละว้าที่วัดบ้านเพียง
หลังจากอิ่มใจอิ่มบุญกันแล้ว นักท่องเที่ยวยังสามารถแวะซื้อสินค้าที่ระลึกที่ถนนไม้แกะสลักสันป่าตอง หรือ "กาดสล่า" ที่พ่อครูบุญมีและพ่อครูธงชัยได้ริเริ่มการแกะสลักไม้ เดิมเป็นหมู่บ้านเล็กๆ อยู่ห่างจากถนนสายหลัก เป็นที่รู้จักกันเฉพาะในหมู่พ่อค้าคนกลาง อย่างบ้านกิ่วลาน้อยซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดงานศิลป์แกะสลักไม้ส่งไปจำหน่ายยังบ้านถวาย จนกระทั่งในปัจจุบันกลายเป็นสถานที่รวมช่างแกะสลักไม้ที่มีฝีมือของอำเภอสันป่าตอง
สถานที่น่าสนใจอีกแห่งคือ บ้านร้องตีมีด หมู่บ้านที่มีชื่อเสียง มีความสามารถและฝีมือในการตีเหล็กให้เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ มากมาย เช่น จอบ เสียม คราด ใบไถ มีด พร้า เคียว ฯลฯ ไม่ทราบแน่ชัดว่าเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยใด แต่การตีเหล็กของหมู่บ้านนับว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ชุมชนแห่งนี้ได้มีการรวมกลุ่มของสล่าตีมีดซึ่งส่วนใหญ่เริ่มสูงอายุ มาร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานและเผยแพร่ศิลปะการตีมีดของอำเภอสันป่าตองให้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย โดยจะผลิตตามที่มีผู้มาว่าจ้าง และทำส่งให้แก่พ่อค้าคนกลางเพื่อไปจำหน่ายตามที่ต่างๆ โดยเฉพาะตลาดนัดวัวควายที่ทุ่งฟ้าบดของอำเภอสันป่าตอง แต่จากการขาดการสนับสนุนและไร้ผู้สืบทอด ทำให้ทราบว่าช่างตีเหล็กรุ่นดังกล่าวนี้อาจจะเป็นรุ่นสุดท้ายของบ้านร้องแล้ว
วัดศรีนวรัฐและคุ้มเจ้าแก้วนวรัฐ คือ สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อีกแห่งที่ไม่ควรพลาดชม วัดศรีนวรัฐตั้งอยู่ ณ บ้านทุ่งเสี้ยวบนถนนสายเชียงใหม่-ฮอด ระหว่างกิโลเมตรที่ 29-30 มีเนื้อที่ทั้งหมด 2 ไร่ 3 งาน มีศรัทธาหมู่บ้านประมาณ 500 หลังคาเรือน จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ ไม่พบหลักฐานวันเวลาในการก่อสร้างที่แน่นอน ทราบแต่เพียงว่าสร้างขึ้นก่อนสมัยเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในอดีต
ใกล้กันนั้น ยังเป็นที่ตั้งของคุ้มเจ้าแก้วนวรัฐ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2470 เป็นเรือนไม้แบบพื้นเมืองเชียงใหม่ ยกใต้ถุนสูง มีระเบียงโดยรอบ ด้านหน้าเป็นชานกว้าง มีห้องโถงกลางและห้องบรรทม ด้านหลังมีชานเชื่อมกับครัว มีบันไดขึ้นทางด้านหลัง พื้นที่โดยรอบประมาณ 5 ไร่ ทางทิศตะวันออกของคุ้มซึ่งติดกับห้องบรรทมจะมีต้นลำดวนและต้นมะปรางขนาดใหญ่ซึ่งพระราชชายาเจ้าดารารัศมีได้ทรงปลูกไว้ เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ได้ถ่ายทอดความทรงจำในอดีตให้ฟังว่า ในเทศกาลปอยหลวงจะมีโคมไฟแขวนประดับไว้หน้าคุ้มเพื่อเฉลิมฉลอง ซึ่งสามารถมองเห็นแสงโคมได้ไกลถึงอำเภอจอมทองเลยทีเดียว
ห่างออกมายังบ้านต้นแหนน้อย ตำบลท่าวังพร้าว อำเภอสันป่าตอง คือ ที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทเขิน บ้านต้นแหนน้อย ก่อตั้งโดย นายเอนก ปวงคำ ได้ดำเนินการโดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 เริ่มเก็บสะสมเหรียญโดยเฉพาะรัชกาลที่ 5 จำพวก เงินโสรส เงินอัฐ เงินเสี้ยว และเงินพดด้วง อูบ เซี้ยนหมาก แอบเหลี่ยม และเครื่องเงิน ของตระกูล จากนั้นได้เก็บสะสมข้าวของเครื่องใช้สมัยก่อน เช่น กับดักสัตว์ต่างๆ, เครื่องมือทำนา และเครื่องประกอบพิธีกรรมต่างๆ ของหมู่บ้าน และจากชุมชนชาวเขินใกล้เคียง เพื่อรวบรวมไว้เป็นหลักฐานทางวัฒนธรรมและเพื่อการอนุรักษ์สิ่งของเครื่องใช้ โดยขอบริจาคจากญาติพี่น้องและซื้อด้วยเงินของตนเอง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อต้องการรวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ของชาวไทเขินให้ผู้ที่สนใจมาศึกษาหาความรู้ และรู้จักรากเหง้าและบรรพบุรุษของตนเอง และเพื่อเป็นวิทยาทานแก่ทุกคน
ใกล้เคียงกันนั้น ในหมู่บ้านต้นแหนหลวง ยังมีหมู่เรือนไม้ล้านนาโบราณอีกนับสิบกว่าหลังคาเรือนที่ชาวบ้านช่วยกันอนุรักษ์เอาไว้ บ้านเหล่านั้นปลูกสร้างด้วยไม้เนื้อแข็งทั้งหลัง หลังคามุงกระเบื้องแบบโบราณ ภายในบ้านยังคงรักษาทุกอย่างไว้ครบถ้วน ทั้งเรือนครัวที่ยังใช้เตาถ่าน มียุ้งฉางเก็บข้าว ห้องน้ำแยกจากตัวบ้านตามแบบการวางผังเรือนของคนโบราณเหมือนในอดีต
ปิดท้ายเส้นทางของวัน ด้วยการเที่ยวชมโบราณสถานเวียงท่ากาน ซึ่งเป็นเมืองโบราณ ตั้งอยู่ในเขตบ้านท่ากาน ตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ คำว่า "ท่ากาน" ชาวบ้านเล่าว่า มาจาก "ต๊ะก๋า" ในตำนานเล่าว่า เมื่อก่อนหน้านี้มีกาเผือกตัวใหญ่จะบินลงที่นี่ ชาวบ้านกลัวว่าถ้าบินลงแล้วจะเกิดความเดือดร้อนในหมู่บ้านจึงพากันไล่อีกา หรือต๊ะก๋าไม่ให้มาลง ก็เลยเรียกกันต่อมาว่าบ้านต๊ะก๋า ต่อมาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2450 เจ้าอาวาสวัดท่ากาน ได้เปลี่ยนชื่อใหม่ให้เป็น บ้านท่ากาน เนื่องจากคำว่า บ้านต๊ะก๋า ไม่เป็นภาษาเขียน ลักษณะตัวเมืองล้อมรอบด้วยคูน้ำ - คันดิน รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้างประมาณ 500 เมตร ยาวประมาณ 700 เมตร ปรากฏแนวคูเมือง 1 ชั้น กว้างประมาณ 10-12 เมตร และมีกำแพงดินหรือคันดินล้อมรอบ 2 ชั้น ปัจจุบันเหลือสภาพคูน้ำ-คันดิน 3 ด้าน
การเดินทางไปยังเวียงท่ากาน สามารถเดินทางโดยรถยนต์จากเชียงใหม่ โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 108 (เชียงใหม่ - ฮอด) ถึงหลักกิโลเมตรที่ 30 หรือบ้านทุ่งเสี้ยว เลี้ยวซ้ายเข้าไปอีก 1.8 กิโลเมตร จะถึงบริเวณโบราณสถานกลางเมืองเวียงท่ากาน ส่วนการไปชมโบราณสถานที่อยู่ภายในเวียงท่ากานและรอบ ๆ เวียงท่ากาน มีถนนภายในเมืองและรอบเมืองคอยอำนวยความสะดวกอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม อำเภอสันป่าตองยังคงมีแหล่งเรียนรู้และสถานที่ท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมอีกหลายแห่งที่น่าสนใจ หากใครที่กำลังจะเดินทางไปเชียงใหม่ ลองวางแผนไปท่องเที่ยวที่อำเภอสันป่าตองดูบ้าง ไม่แน่ว่าคุณอาจจะติดใจมนต์เสน่ห์ของเมืองเล็กๆ แห่งนี้ก็ได้