xs
xsm
sm
md
lg

Sit-Talk: อะไรๆ ก็เชียงใหม่ (2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


Sit-Talk เป็นที่นั่งคุยแห่งใหม่ที่ ‘ปริทรรศน์’ เปิดขึ้นเพื่อชักชวนคุณๆ มา ‘นั่ง’ (Sit) คุยกันแบบสบายๆ เกี่ยวกับ ‘สถานการณ์’ (Situation) ชวนคิด ชวนคุย ชวนทะเลาะ (แต่ไม่วิวาท) และเขย่าฝันในยุคสมัยของเรา โดยไม่มีฝั่ง มีข้าง ในบรรยากาศเป็นกันเอง และ ‘ปริทรรศน์’ หวังว่า Sit-Talk ครั้งต่อๆ ไปจะมีคุณมานั่งคุยกับเราด้วยจริงๆ

‘อะไรๆ ก็เชียงใหม่’ ยังเป็นห้วข้อนั่งคุยต่อจากเมื่อวาน มี รจเรข วัฒนพาณิชย์ ผู้ประสานงานชุมชนคนรักป่า ศาสตราจารย์เฉลิมพล แซมเพชร ประธานภาคีคนฮักเจียงใหม่ คำรณ คุณะดิลก จากสำนักข่าวประชาธรรม และ วชิรา รุธิรกนก นักเขียนและคอลัมนิสต์ที่ไปๆ กลับๆ เชียงใหม่ ทั้ง 4 คนยังนั่งคุยกับเรา

วันนี้คือส่วนที่เหลือจากเมื่อวาน และอาจนำไปสู่ข้อสรุปเล็กๆ น้อยๆ ที่ว่าบ้านที่เราอยู่จะน่ารักหรือไม่น่ารัก นอกจากแขกที่มาบ้านเราจะทำตัวดีแล้ว ตัวเราเองก็ต้องรู้จักปัดกวาด ดูแล ติดตามเรื่องราวของบ้านเรา และจับมืออย่างแข็งแรงกับคนในบ้านอีกหลายๆ คนเป็นเครือข่ายรักษาบ้าน

ว่าจะไม่พูดอะไรที่เกี่ยวการเมือง แต่ฟังเรื่องนี้แล้วก็คงยืนยันอย่างหนึ่ง-ไม่ว่าจะในระดับท้องถิ่นหรือระดับประเทศ ยังไงเราก็หนีเรื่องการเมืองไม่พ้น...จริงๆ

...........

ปริทรรศน์-ย้อนไปที่เมื่อกี้คุณวชิราบอกว่าไม่ชอบปาย ทำไมถึงไม่ชอบปาย

วชิรา-ไม่รู้จะตอบว่าอะไร มันไม่รู้สึกอะไรกับมันเลย รู้สึกว่าปายไม่น่ารัก ผมไปปายเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ไปต่อรถ สี่แยกตรงนั้นยังไม่มีไฟแดงเลย ไปนั่งรอรถ รู้สึกว่าทำไมมันน่ารักอย่างนี้วะ รู้แล้ว รู้สึกมันไม่เป็นมิตร คำนี้แหละ ไม่เป็นมิตรอีกแล้ว

รจเรข-แต่เชียงใหม่ก็ยังเป็นมิตรอยู่นะ ถึงมีคนมาอยู่เรื่อย ต้องบอกว่าถึงเชียงใหม่เปลี่ยนไปก็จริง แต่ความเป็นมิตรของเชียงใหม่ยังอยู่

ปริทรรศน์-ความเป็นมิตรเกิดจากอะไร

รจเรข-จากผู้คน

คำรณ-จากผู้คนที่เขาไม่ได้อยู่ในเมืองใหญ่ เขาจะมีความเป็นมิตรอยู่เสมอ เวลาเห็นคนแปลกหน้า เขาจะถามว่ามีอะไรหรือเปล่า เป็นอะไรหรือเปล่า กินข้าวหรือยัง มีปัญหาอะไรก็จะช่วยนะ

วชิรา-อย่างผมเอง ประโยคแรกที่ถาม คือแกเป็นคนเชียงใหม่แต๊ๆ อ่ะ ผมก็เรียกเขาว่าอุ๊ย ทุกครั้งที่เจอเขาจะชอบถามว่ากินข้าวหรือยังเป็นประโยคแรกเสมอ ผมไม่เคยได้ยินประโยคอย่างนี้ที่กรุงเทพฯ ยกเว้นเวลาไปเจอพี่ๆ เออ มันน่ารักดีเนอะ อันนี้ผมว่าในระดับคนที่สัมพันธ์กัน แต่มันน่าจะมีอีกระดับหนึ่ง อย่างเช่นเมื่อกี้ที่พูดถึงคนต่างๆ ที่มาอยู่ที่นี่ ผมว่าสิ่งที่เขาทำมันก็ดูเป็นมิตรนะ สิ่งต่างๆ แล้วเขาก็อาศัยในเมืองนี้ ผมว่าพลังที่มองไม่เห็นมันทำให้ดูน่ารักขึ้น ทำให้ดูเป็นมิตรขึ้น

คำรณ-เรามาคุยกับคนทางด้านศิลปวัฒนธรรม ศิลปิน หรือนักเขียนที่มาอยู่ พวกนี้ก็รู้สึกว่าพอมาอยู่ตรงนี้แล้วมันก็มีกลุ่มก้อนอยู่ เป็นกลุ่มก้อนที่รู้จักกันและก็เหนียวแน่นถ้ามีงานอะไรสักอย่างคนก็จะไปกันหมด ซึ่งต่างจากกรุงเทพฯ บางทีขี้เกียจ รถติด แต่ที่นี่เราจะเห็นหน้ากันตลอดตามเทศกาลที่มีงานศิลปวัฒนธรรมดีๆ

รจเรข-ด้วยความที่เชียงใหม่มันไม่ใหญ่มาก ทำใหเกิดความพอดี คุยกันง่าย

วชิรา-อันนี้สำคัญมากนะ

รจเรข-มันทำให้เกิดความสมดุลในแง่ที่บอกว่าเชียงใหม่พัฒนาไปเร็วมาก เราไม่อยากให้เป็นแบบนั้น ในขณะเดียวกันก็มีอีกด้านที่มันยังถ่วงตรงนั้นไว้ เลยยังมีความน่ารักให้เห็นอยู่ทุกวันนี้ว่าทำไมเราเห็นว่าตรงนั้นก็ไม่ดี ตรงนี้ก็ไม่ดี พัฒนาไปก็แย่ แต่อีกมุมหนึ่งอย่างน้อยสุดมันก็ยังมีบรรยากาศของการแลกเปลี่ยน มันยังถ่วงดุลกันได้

คำรณ-อย่างพวกแฟชั่นที่มาเขาจับกลุ่มก็ได้นะ กลุ่มสตูดิโอ กลุ่มออกแบบ กลุ่มผ้า เขาก็จับกลุ่มเขาได้ สถาปนิกใหม่ๆ มาเขาก็จับกลุ่มกินกาแฟ คุยกันถึงเรื่องจะสร้างเเมสคาเฟ่แบบนี้นะ เขาก็มีกลุ่มของเขา

รจเรข-มัน Connect กันได้คือด้วยความที่ว่าเพราะเชียงใหม่ไม่ใหญ่เกินไปนัก ทำให้คนต่อกันติด

วชิรา-แล้วขนาดของเมืองมันเอื้อนะ 10 นาทีก็ถึง เจอกันง่าย

คำรณ-แล้วผมว่ามันมี Participate มี Activity ทางวัฒนธรรมด้วยกัน เพื่อนมีการแสดงภาพเขียน เดี๋ยวก็ต้องจัดวนกันไปวนกันมา มีดนตรีมาเล่นที่กาดสวนแก้ว มีเทศกาลภาพยนตร์ยุโรปมันก็จะเจอหน้าพวกกลุ่มๆ กันอย่างนี้

ปริทรรศน์-จากที่ฟังความหลากหลายของผู้คนที่เข้ามาที่เชียงใหม่ ด้านหนึ่งก็สร้างผลกระทบ แต่ด้านหนึ่งเหมือนจะเป็นความหลากหลายที่เป็นจุดแข็งที่สร้างเสน่ห์ให้แก่เชียงใหม่ด้วย

เฉลิมพล-ต้องเข้าใจว่านักท่องเที่ยวไม่ได้สร้างผลกระทบ แต่ผู้ที่จัดการบริหารที่จะสร้างสิ่งต่างๆ ที่ทำให้เกิดผลกระทบ นักท่องเที่ยวแค่ไปเที่ยว ไปดู แต่ถ้าเราไม่สร้างสิ่งที่ไม่เหมาะสมขึ้นมันก็ไม่เกิดผลกระทบ อย่างต่างประเทศเช่นที่ออสเตรีย เมืองที่บีโธเฟนชอบไปอยู่ เขาชอบคิด ชอบเขียนเพลงเพราะมันสงบ ยังเป็นธรรมชาติ คนก็ยังไปเที่ยว เป็นเมือง เป็นตำบลที่มีชีวิต

รจเรข-มันเป็นวิถีชีวิตของคนมีอำนาจที่ควบคุมเมือง

วชิรา-นักท่องเที่ยวเป็นแค่เหยื่อที่ด่าง่าย เอะอะอะไรก็ด่ามันไว้ก่อน เพราะมันไม่ตอบโต้อะไร มันก็จะสำนึกตัวว่ากูผิด กูผิดเอง

ปริทรรศน์-คุณเฉลิมพล คุณคำรณ คุณรจเรขก็พยายามจะคัดง้างกับสิ่งเหล่านี้ด้วยการรณรงค์ เรียกร้อง อย่างภาคีคนฮักเจียงใหม่ เรื่องผังเมือง ได้ผลมั้ย เพราะสุดท้ายแล้วผู้ที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ...

คำรณ-อะไรๆ ก็จะเปลี่ยนไปตามกาล ไม่มีอะไรหยุดนิ่ง แต่อะไรที่เสื่อมโทรมไปก่อนกาลเพราะความไม่รู้และความโลภของมนุษย์ นี่มันน่าเสียดาย ตรงนี้เราพยายามหยุดไว้บ้าง สิ่งที่จะต้องเปลี่ยนไปตามกาลของมันก็ต้องขยับเปลี่ยนไป แต่เราจะตั้งรับกับมันยังไง

วชิรา-แต่ผมว่ามันได้ผลนะ อาจจจะไม่ได้ผลกับคนที่มีอำนาจควบคุมข้างบน แต่สิ่งที่คนเขาอยู่มาก่อน ที่ทำๆ กันไว้อย่างน้อยก็ส่งผลถึงผมที่เพิ่งมา ผมก็เห็นว่ามันมีมุมนี้อยู่ด้วยนะ ไม่ใช่มาแล้วนึกอยากจะทำอะไรก็ได้ จะบอกว่าไม่เกิดผลเลยก็ไม่ได้

เฉลิมพล-คนท้องถิ่นหรือคนนอกที่มาอยู่ ที่มีความคิดในเชิงความสมดุล ความเหมาะสม แต่เนื่องจากภาคประชาชนไม่มีโอกาสเข้าไปร่วมพูดคุยหรือกำหนดนโยบาย ความคิดดีๆ ก็เลยไม่ถูกนำไปใช้ ฟังแต่นักธุรกิจอย่างเดียว ยกตัวอย่างทรัพยาการธรรมชาติ เชียงใหม่เมื่อก่อนทรัพยากรมีมาก แต่ยังไม่มีกลุ่มคนลุกขึ้นมาดูแล จนกระทั่งที่เราจะเห็นชัดเจนตอนเริ่มจะมีกระเช้าไฟฟ้าขึ้นดอยสุเทพเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว มีกลุ่มนักวิชาการใน มช. (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) บอก เฮ้ย ไม่ได้นะ แล้วก็เริ่มกระจายไปเรื่อยๆ ถ้าไม่มีกลุ่มนี้ขึ้นมาป่านนี้กระเช้าไฟฟ้าขึ้นแล้ว ตอนนี้เราก็ไม่รู้ว่าจะเป็นยังไง เราก็เริ่มขยายวงออกไป แต่เราไม่มีอำนาจมากพอ

ปริทรรศน์–ไปๆ มาๆ เหมือนจะเชื่อมโยงไปถึงเรื่องการเมือง

เฉลิมพล-แน่นอน เพราะประชาชนไม่มีส่วนร่วมคิดไง เพราะโครงสร้างไม่ให้ บางทีเขาอาจจะเชิญไปนั่งคุย แต่เราไม่มีอำนาจสั่งการ ตอนนี้มีกฎหมายเรื่องการมีส่วนร่วมใช่มั้ย แต่มันก็ต้องใช้เวลา

คำรณ-ผมเห็นแนวโน้มเริ่มเปลี่ยนท่าทีเยอะนะ ในระดับเทศบาลเองก็แยกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายนี้ก็ต้องหันมาเล่นกับภาคประชาชน

รจเรข-ไม่คิดเรื่องการเมืองไม่ได้นะ

คำรณ-อบจ. (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) ใหม่ก็มีทีท่ายินดีที่จะทำงานร่วมกัน

รจเรจ-พูดถึงเชียงใหม่ การเมืองมันควบคุมความเป็นไปของเมือง ถ้าประชาชนไม่มีส่วนร่วม ถ้าประชาชนส่วนใหญ่บอกว่าการเมืองก็ปล่อยนักการเมืองทำไป มันไม่ได้ เพราะไม่อย่างนั้นแล้วเมืองเป็นยังไง เราก็มานั่งก่นด่ากันอยู่อย่างนี้ไง

ปริทรรศน์-ภาคประชาชนของเชียงใหม่แข็งแรงดี?

เฉลิมพล-มีการยกตัวอย่างว่าความแข็งแกร่งของภาคประชาชนเชียงใหม่เป็นตัวอย่างที่ดี ภาคีคนฮักเจียงใหม่ที่เข้าไปเกี่ยวข้องโปรเจกต์ต่างๆ เดี๋ยวนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดเองก็ยอมรับ เพราะเรารวมคนจากหลายสาขา แล้วเสนอความคิด สิ่งที่เราไม่เห็นด้วยหรือต่อต้านมันก็เป็นจริง

รจเรข-เพราะมีคนจากหลายกลุ่มด้วย หลายสาขามารวมกันที่มารวมกันเป็นภาค

คำรณ-เชียงใหม่มันดี เพราะเวลาเคลื่อนจะเคลื่อนเป็นขบวน มีตั้งแต่งานวิชาการ งานวิจัยที่ทำหนุนหลัง มีองค์กรเอ็นจีโอคอยจับประเด็น มีองค์กรร่วม องค์กรประสานงาน มีปีกที่จะดำเนินงานกดดัน ชุมนุมหน้าศาลากลาง มีหลายระดับ ไม่ใช่ใครทำอะไรลอยๆ แต่จะมีข้อมูลสนับสนุนเสมอ มีงานวิจัยวางไว้อย่างดี

รจเรข-มันไม่เฉพาะกลุ่มภาคีคนฮักเจียงใหม่ที่ทำงานในเมือง แต่ตัวเชียงใหม่เมืองรอบนอกก็เยอะมาก เป็นฐานของคนบนพื้นที่สูง มีเอ็นจีโอทำงานกันค่อนข้างเข้มแข็ง มีงานวิจัย มีนักวิชาการที่เข้มแข็งพอ อย่างอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงษ์ อาจารย์อานันท์ กาญจนพันธุ์ คนเหล่านี้เป็น Back Up ที่แข็งแรงมาก แล้วก็เอางานวิจัยมาเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฝายชุมชน เรื่องเกษตร

เฉลิมพล-เพราะเชียงใหม่เรามีความหลากหลาย นอกจากทรัพยากรธรรมชาติแล้ว ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์ นี่คือเสน่ห์อย่างหนึ่ง ถ้าเราไม่เข้าไปดูแล ก็จะเกิดปัญหาตามมา

วชิรา-ผมว่าปัญหาอาจจะอยู่ที่คนจากที่อื่นเวลาพูดถึงเชียงใหม่ มันก็จะมีภาพหลอกๆ แค่ไม่กี่ภาพ แต่อย่างผมมาอยู่ ผมจะค่อยๆ รู้ว่าอำเภอโน้น อำเภอนี้ก็เชียงใหม่เหมือนกันนะ

คำรณ-อย่างถ้าเราพูดให้คนกรุงเทพฯ ฟัง เชียงใหม่ คนกรุงเทพฯ นึกถึงอะไร ภูเขา อากาศเย็น ดอกไม้สวย ลอยกระทง สงกรานต์

วชิรา-มันจะมีภาพหลอกๆ แค่นี้ไม่กี่ภาพ แต่ว่าองค์ประกอบที่ประกอบเป็นเชียงใหม่จริงๆ ผมว่ามันมีอย่างอื่นอีกนะ

ปริทรรศน์-คุณวชิราเองก็เป็นคนกรุงเทพฯ ถ้าเรามองจากเชียงใหม่เล้วย้อนไปกรุงเทพฯ ถ้าอย่างนั้นกรุงเทพฯ ดูไม่ค่อยมีความอบอุ่นหรือเปล่า การรวมกลุ่มก็...

คำรณ-กรุงเทพฯ เป็น Beautiful Hell เป็นนรกที่งดงาม

วชิรา-แต่ผมไม่ได้เกลียดกรุงเทพฯ นะ ไม่ได้หนี ถ้ากรุงเทพฯ รถไม่ติดขนาดนั้นผมก็อยู่ได้นะ คือผมรู้สึกว่ากรุงเทพฯ ก็มีสิ่งเหล่านี้ แต่มันเชื่อมกันไม่ได้เพราะถนนมันไม่เชื่อมกัน กรุงเทพฯ ก็มีคนแบบนี้อยู่ มีนักวิชาการ มีศิลปิน กลุ่มนักเขียน ซึ่งก็จะไปแฮงค์ตามที่ต่างๆ แต่กลุ่มเหล่านี้ไม่เชื่อมถึงกัน

คำรณ-กรุงเทพฯ มันค่อนข้างเหงานะ ใช่มั้ย ถ้าเราอยากจะพักผ่อน ก็คือหนึ่ง-ดูหนัง สอง-ไปร้านเหล้า

วชิรา-ผมใช้วิธีขับรถไปบางแสนร้อยกิโล ชั่วโมงหนึ่งน่ะ กว่าจะได้เห็นทะเลเน่าๆ หนึ่งอัน

คำรณ-อย่างที่นี่มันใกล้ เหงาปุ๊บไปบ้านเพื่อน นั่งกินข้าว แต่กรุงเทพฯ ต้องนัด แบบเชิญมากินข้าวกัน กรุงเทพฯ ไม่ค่อยมี กินข้าวกันข้างนอก ของเรายังมีกินข้าวบ้าน

รจเรข-เขาไม่มีเวลา รถติดอยู่บนถนนหลายชั่วโมงก็แย่แล้ว จะให้เขาเอาเวลาไปทำอะไร

เฉลิมพล-เลิกงานทีจะออกกำลังกายก็ต้องขับรถเป็นชั่วโมง ทีนี่ 15 นาทีจะไปสนามไหนก็ไปได้

วชิรา-ผมยังงงเลยว่าทำไมเชียงใหม่ต้องมีฟิตเนสด้วยวะ

เฉลิมพล-นั่นไง

คำรณ-แรงมากนะ

(หัวเราะ)

วชิรา-ไม่เห็นความสำคัญเลยว่าทำไมเชียงใหม่ต้องมีฟิตเนส สนาม 700 ปีก็วิ่งไปดิ เต็มไปหมด ไม่เข้าใจเลย

เฉลิมพล-ไปวิ่งมันไม่เท่ ต้องอยู่ในฟิตเนส (หัวเราะ)

วชิรา-กรุงเทพฯ ไม่ได้เลวหมดนะ

คำรณ-อยู่สัก 3-4 วันก็ไม่เป็นไร แต่อยู่นานๆ นี่สิ

รจเรข-หายใจไม่ค่อยออก

ปริทรรศน์-พูดถึงผู้มีอำนาจ ก็ไม่ใช่แค่นักการเมืองท้องถิ่น แต่ยังต้องพูดไปถึงระดับนโยบาย โดยเฉพาะการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

เฉลิมพล-ททท. เขาเรียกทำลายทั่วไทย

(หัวเราะ)

เฉลิมพล-แน่นอนว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นเหล่งรายได้ แต่เราต้องดูว่าเขามาเที่ยวอะไรกันแน่ คนที่มาเที่ยวเชียงใหม่เขาอยากมาเที่ยวไนท์ ซาฟารีเหรอ นั่นอาจจะเป็นส่วนนิดหน่อย แต่จริงๆ ที่มาเที่ยวศิลปวัฒนธรรม ธรรมชาติ หน้าหนาวอยากขึ้นมาเชียงใหม่ใส่เสื้อสีเขียว สีแดง

ปริทรรศน์-ทุกวันนี้เชียงใหม่ยังหนาวอยู่มั้ย

คำรณ-หนาว ใครไม่หนาวก็ไปขึ้นดอยอินทนนท์ (หัวเราะ)

วชิรา-ต้องถามว่าเชียงใหม่ตรงไหน

เฉลิมพล-ยังมีฤดูหนาว ยังเรียกวินเตอร์ได้

รจเรข-แต่หน้าร้อน ร้อนขึ้นมากๆ อันนี้ก็สังเกตได้ชัดเหมือนกัน

วชิรา-ร้อนแทบบ้าเลย

เฉลิมพล-พอหมดฝน ท้องฟ้าจะใส เดือนธันวาคมดอกไม้ป่าเริ่มออก ดอกไม้จะพรึบหมดเลย

คำรณ-ฤดูดอกไม้ขาว ตามด้วยฤดูดอกไม้ม่วง ปิดด้วยดอกแสดแดง

รจเรข-แต่อย่าลืมว่าเชียงใหม่ส่วนไหน เพราะเชียงใหม่มันประกอบด้วยความหลากหลายมาก

วชิรา-ผมว่าเชียงใหม่ยังชะลอทัน เหมือนป่วยระยะสุดท้ายแต่ยังไม่ตาย

คำรณ-ก็ยังไม่ป่วยมาก นอกจากจะกระแทกเข้าเหมือนกับตอนพืชสวนโลกที่อัดเข้ามาตอนนั้น ตายเลย ถ้าค่อยๆ ก็ยังพอไปได้

รจเรข-ตอนนี้ยังชะลอมันอยู่ มีกลุ่มคนที่ชะลอมันอยู่หลายกลุ่ม

ปริทรรศน์-ยังไงก็ตาม ในวันข้างหน้าเชียงใหม่ก็ต้องเปลี่ยนเป็นมหานคร

คำรณ-แต่มันคงเป็นมหานครที่มีข้อพิเศษของมัน เราต้องพยายามหยุดอะไรบางอย่าง

เฉลิมพล-ความจริงแล้วการพัฒนามันต้องโตกันไป แต่เราต้องดูพื้นที่ ขยายให้มันกว้างไป อย่าให้มันกระจุกอยู่แค่ตรงนี้อย่างเดียว แล้วมันก็จะเป็นปัญหาสะสมอยู่ตรงนี้ อย่างไนท์ซาฟารีหรือพืชสวนโลกก็ไม่ควรมีที่เชียงใหม่หรอก เพราะเรามีสวนพฤกษศาสตร์ที่แม่ริม แล้วสวนสัตว์เราก็มีอยู่แล้ว ถ้าจะสร้าง ไปนู่น แถวลำปาง หรือออกไปทางออบหลวงไปไกลๆ

ปริทรรศน์-ถามเล่นๆ ได้มั้ยว่าเราจะนิยามเชียงใหม่ว่าอะไรดี อย่างคุณวชิราบอกว่าปายเมื่อก่อนเป็นมิตร แล้วอย่างเชียงใหม่ตอนนี้มันเป็นยังไง

วชิรา-ยาก

รจเรข-คิดไม่ออก

คำรณ-เชียงใหม่เดี๋ยวนี้ชักจะก๋ากั่นมากเกินไป

ปริทรรศน์-แปลว่าเชียงใหม่เป็นผู้หญิง

คำรณ-ไม่รู้สิ มัน Modernize ไม่ไปในทางเลวนะ แต่ชักจะไปในทางที่เสี่ยงมาก

วชิรา-คือเมืองใหญ่ขนาดนี้ แต่ไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่ชัดเจน เป็นไปได้ยังไง งงมาก ทุกคนยังต้องรอคิวขึ้นรถแดง ซึ่งจอดหรือไม่จอดก็ไม่รู้ เรียกราคาเท่าไหร่ก็ไม่รู้ จะปล่อยตรงไหนก็ไม่รู้

เฉลิมพล-คนที่เขามาเที่ยว เขาจ่ายครั้งเดียวไม่เป็นอะไร ไม่เดือดร้อน แต่คนที่อยู่นี่สิ ระบบไม่มี

วชิรา-ผมโดนปล่อยลง เลี้ยวมา ลุงปล่อยตรงนี้นะ ไม่เอาตังค์ เอ๊า ไม่ไปก็ไม่บอกตั้งแต่แรก เคยเรียกสามล้อ สามล้อที่นี่แฟนเขาจะนั่งข้างๆ น่ารักดี ไม่เห็นที่กรุงเทพฯ แล้วบอกว่าเดี๋ยวขอไปส่งแฟนก่อนนะ เราก็นึกวิ่งคงอยู่ในทางเดียวกัน โอ้โห อ้อมไปกาดหลวง แล้วค่อยกลับมา

รจเรจ-นี่อาจจะเป็นเสน่ห์ของเชียงใหม่ (หัวเราะ)

************

เรื่อง-ทีมข่าวปริทรรศน์

หมายเหตุ ร่วมเสนอเรื่องน่าคุยได้ที่ paritut@manager.co.th



กำลังโหลดความคิดเห็น