xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องได้-เสีย ปราสาทพระวิหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปราสาทพระวิหารกลายเป็นชนวนระหว่างประเทศไปแล้ว
ประเด็นความขัดแย้งเรื่องของ “ปราสาทพระวิหาร”ได้รับการอนุมัติขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียวได้บานปลายไปไกลถึงยูเอ็นแล้ว เพราะกัมพูชามาเหนือเมฆใช้วิธีร้องไปยังยูเอ็น

หากวันใดที่กองกำลังรักษาสันติภาพขององค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น)เข้ามาป้วนเปี้ยนในแผ่นดินไทย อยากรู้นักว่านอกจากภาพลักษณ์ของประเทศชาติจะเสียหายในสายตาของนานาชาติ แล้วใครกันที่ได้ผลประโยชน์จากเหตุการณ์นี้

อนึ่งเรื่องราวของปราสาทพระวิหารเป็นเสมือนระเบิดเวลาที่ฝรั่งเศสมาวางไว้ให้กับไทย-กัมพูชามาโดยตลอด และนับจากปี 2505 เป็นต้นมา ที่ไทยต้องเสียตัวปราสาทพระวิหารตามคำตัดสินของศาลโลกให้กัมพูชา

เรื่องนี้ดูเหมือนจะถูกแช่แข็งไปชั่วขณะ จนมาปะทุเอาอีกครั้งในรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งเคยคิดกันบ้างไหมว่า ถ้าหากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยไม่ใช่นายนพดล ปัทมะ ผู้เคยเป็นทนายหน้าหอของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร บางทีบทสรุปของเหตุการณ์เขาพระวิหารอาจไม่ออกมาดังเช่นทุกวันนี้

แต่นี่เมื่อปราสาทพระวิหารได้รับเลือกให้เป็นมรดกโลกของกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียว ทั้งที่รัฐบาลก่อนหน้าเขาคัดค้านกันอย่างแข็งขัน แต่รัฐบาลชุดนี้มาแปลกกลับสนับสนุนอย่างแข็งขัน แล้วจะห้ามความสงสัยของคนไทยได้อย่างไร?

แถมยิ่งเมื่อสืบสายไปยังอดีตนายกนายใหญ่ของนพดล ปัทมะด้วยแล้ว มันยิ่งแสดงให้เห็นถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังว่าการเปลี่ยนท่าทีของรัฐบาลต่อเรื่องนี้มีข้อน่าเคลือบแคลงสงสัย

เกาะกง แลก เขาพระวิหาร

ข้อสงสัยถึงผลประโยชน์ของอดีตนายกทักษิณ ที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นข้อแลกเปลี่ยนหนึ่งที่ทำให้ปราสาทพระวิหารได้รับการผลักดันเป็นมรดกโลกของกัมพูชาฝ่ายเดียว คือ การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะไปลงทุนที่เกาะกงในประเทศกัมพูชา เป็นมูลค่าหลายแสนล้านบาท โยงไปถึงเรื่องผลประโยชน์ก๊าซและน้ำมันในพื้นที่ทับซ้อนระหว่างทะเลไทย-กัมพูชา

ซึ่งเรื่องนี้ก็ดูจะมีมูลความจริงอยู่ไม่น้อยเมื่อ พล.อ.เตียบัณห์ รัฐมนตรีกลาโหมกัมพูชา ที่มีความสนิทสนมกับนายทหาร และนักการเมืองไทยจำนวนมาก ออกมาให้สัมภาษณ์บอกนักข่าวว่า อดีตนายกทักษิณ จะมาลงทุนในจังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา นั้น เป็นความจริง แต่ยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้

โดย พล.อ.เตียบัณห์ ระบุว่าธุรกิจที่ พ.ต.ท.ทักษิณสนใจจะไปลงทุนในจังหวัดเกาะกง คือ ธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ ที่มีทั้ง กาสิโน สถานบันเทิงครบวงจร โดยจะร่วมทุนกับกลุ่มของนายพัด สุภาภา คนสนิทของสมเด็จฮุน เซน จะเช่าเกาะทั้งหมดแล้วลงทุนพัฒนา
ส่วนเรื่องธุรกิจพลังงานและน้ำมัน ยังไม่ได้พูดคุยกันอย่างเป็นทางการ ต้องหารือกับสมเด็จฮุน เซน ก่อน ซึ่งนี่ถือเป็นเหตุผลหนึ่งที่สร้างความสงสัยว่าปราสาทพระวิหารอาจถูกนำไปแลกกับธุรกิจในเกาะกงของอดีตผู้นำของไทย ใช่หรือไม่?
ปราสาทพระวิหารมรดกโลกแห่งความขัดแย้ง
ของแถมมรดกโลก

อีกหนึ่งประเด็นที่สืบเนื่องมาจากการอภิปรายถามรัฐบาลกรณีเขาพระวิหารของ พิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ ส.ว.พิษณุโลก ที่เปิดประเด็นถึงท่าทีของรัฐบาลเกี่ยวกับการเปิด "ช่องตาเฒ่า" ที่ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ในการชี้เป็นชี้ตายของการได้ประสาทพระวิหารอย่างสมบูรณ์ของกัมพูชา โดยไม่ต้องพึ่งทางขึ้นฝั่งไทย แสดงให้เห็นผลประโยชน์หากเปิดช่องตาเฒ่า ที่ฝั่งกัมพูชาจะมีทั้งกาสิโน โรงแรม สนามบิน และสถานีรถกระเช้าไฟฟ้า ปัญหาจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะปัญหาที่ต่อเนื่องจากการพนัน การสร้างอิทธิพล

"ช่องตาเฒ่า" อ.กันทรลักษ์ เป็นช่องทางเข้า-ออก ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา หากเดินทางเข้าเขาพระวิหารฝั่งไทย "ช่องตาเฒ่า" จะแยกไปทางด้านซ้าย และถือเป็นช่องตามแนวชายแดนที่เข้า-ออกสะดวก ที่ใกล้เขาพระวิหารมากที่สุด มีการวิเคราะห์กันว่าฝ่ายกัมพูชาเตรียมรับเมืองมรดกโลกด้วยการจะพัฒนาบริเวณเขาธงชัย ฝั่งตรงข้ามช่องตาเฒ่า ให้เป็นเมืองใหม่ที่เพียบพร้อม และเป็นสถานีขึ้น-ลง ของรถกระเช้าลอยฟ้าจากฝั่งกัมพูชาขึ้นตัวปราสาท

เมื่อปี 2546 เคยมี ฝ่ายกัมพูชาและนักการเมืองไทย นักธุรกิจ และนายทหารบางกลุ่มที่ต้องการเปิดช่องตาเฒ่า ให้เป็นด่านถาวร หลังจากแนวคิดของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลการท่องเที่ยว ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เสนอแผนการส่งเสริมการท่องเที่ยวสามเหลี่ยมมรกตเชื่อมโยงไทย-ลาว-กัมพูชา และสรุปลงตรงการสร้างจุดขาย โดยการสร้างสนามกอล์ฟบริเวณสามเหลี่ยมมรกต ในพื้นที่รอยต่อสามชาติที่ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี หลังจากนั้นแผนการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมในแหล่งอารยธรรมขอมในย่านอีสานใต้ก็ตามมา แต่แผนการเปิดช่องตาเฒ่าต้องถูกระงับไปเนื่องจากฝ่ายทหารไม่ยินยอม

เรื่องแผนการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงไทย-ลาว-กัมพูชา ดูเหมือนจะสอดรับกับเอกสารผลการดำเนินการและการเจรจาของกระทรวงการต่างประเทศกรณีกัมพูชาขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ในข้อที่ 8.4.6 ว่า ประโยชน์ที่ได้จากการสนับสนุนการขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหารของกัมพูชาที่ นายกฤต ไกรจิตติ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้ระบุไว้ว่าไทยได้ประโยชน์ คือ

การที่ไทยสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกนั้น เป็นการที่ไทยได้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของไทยในการที่จะร่วมมืออนุรักษ์โบราณสถานที่มีคุณค่าเป็นมรดกโลก ในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกของยูเนสโก

และเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทย-กัมพูชาในการพัฒนาปราสาทพระวิหารให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญภายใต้กรอบความมือทวิภาคีระหว่างไทย-กัมพูชา กรอบความร่วมมือไทย – ลาว – กัมพูชา ในกรอบสามเหลี่ยมมรกต และความร่วมมือในกรอบACMECS ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดทางอีสานใต้ของไทยได้เป็นอย่างมาก

ประโยชน์ที่ไทยได้รับมีเพียง 2 ข้อเท่านั้นหรือ? แต่การสุ่มเสี่ยงเสียดินแดนในเขตพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตรเล่าจะเรียกว่าเป็นการเสียมากกว่าได้หรือไม่?

อีกหน่วยงานหนึ่งที่ค่อนข้างจะสวนกระแสออกมารับลูกทันที เพื่อหวังประโยชน์จากมรดกโลกแห่งใหม่นี้คือ “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” ที่มีแผนเตรียมเจรจาท่องเที่ยวกัมพูชา วางแผนตลาดร่วม หวัง กระตุ้นการท่องเที่ยวอีสานบูม รอเพียงสถานการณ์ขัดแย้งคลี่คลายก่อนเจรจาท่องเที่ยวกัมพูชา

โดย นางพรศิริ มโนหาญ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ได้ให้สัมภาษณ์กับทางหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หัวข้อข่าว ททท.ชูเที่ยวอีสานรับ’พระวิหาร’ มรดกโลก (หน้า 3 ฉบับวันที่ 10 ก.ค.51) กล่าวว่า หลังจากที่ยูเนสโกตัดสินให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแล้ว ททท.มีความสนใจที่จะเข้าไปเจรจากับการท่องเที่ยวกัมพูชาเพื่อวางแผนการตลาด กระตุ้นการท่องเที่ยวร่วมกัน เหมือนกับที่ ททท.ได้ทำแผนการตลาดเชื่อมโยงประเทศอื่นๆ เช่น เวียดนาม และจีน

ทั้งนี้ ผู้ว่าการททท. เปิดเผยว่า นอกจากการกระตุ้นการท่องเที่ยว 2 ประเทศแล้ว ททท. อาจมีแนวคิดทำตลาดพื้นที่ชายแดนระหว่างประเทศไทย-กัมพูชา เช่น ตลาดโรงเกลือ ซึ่งคาดว่าจะมีความน่าสนใจมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มที่สนใจการท่องเที่ยวทางบก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตลาดนักท่องเที่ยวระดับกลาง-ล่าง หรือกลุ่มที่เข้ามาท่องเที่ยวเอง
ปราสาทพระวิหารมรดกโลกแห่งใหม่ที่มากไปด้วยผลประโยชน์แอบแฝง
“อานิสงส์มรดกโลกใหม่ของเพื่อนบ้านเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่กลับมาท่องเที่ยวซ้ำในประเทศไทย ถือเป็นกลุ่มสินค้าใหม่ที่จะสร้างความน่าสนใจให้คนที่สนใจเที่ยวในประเทศไทยกลับเข้ามา ทั้งยังดึงกลุ่มท่องเที่ยวที่เข้ามาในกัมพูชา ให้เข้ามาเที่ยวในไทยเพิ่มด้วย”ผู้ว่าการททท. กล่าว

แต่ทั้งนี้เมื่อกระแสสังคมคัดค้านรุนแรงก็เลยทำให้แนวคิดนี้เงียบหายไป

อย่างไรก็ตามเมื่อลองตรองดูว่าฝ่ายไทยเคยยื่นข้อเสนอในการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกร่วมกัน เพราะมีโบราณสถานในฝั่งไทยที่เกี่ยวข้องกับปราสาทพระวิหารรวมอยู่ด้วย แต่ทางกัมพูชายังปฏิเสธจนท้ายที่สุดยืนกรานขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว แล้วกัมพูชายังจะยอมให้ผลประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวตกอยู่กับฝ่ายไทยหรือ?

จุดยืน

ในส่วนของบรรดานักวิชาการทั้งหลาย ก็ได้ออกโรงเตือนด้วยความเป็นห่วงหลายต่อหลายครั้ง อาทิ นายอดุล วิเชียรเจริญ อดีตประธานคณะกรรม การมรดกโลก ได้ออกมาเตือนว่า ตอนนี้ต้องดูว่ากรรมการร่วม 7 ประเทศจะมากำหนดแผนและเขตอนุรักษ์หรือเขตกันชนอย่างไรบ้าง

โดยรัฐบาลต้องเตรียมตัวตั้งแต่บัดนี้ ประกาศจุดยืนของรัฐว่าการทำเขตกันชนจะยินยอมหรือเห็นด้วยเฉพาะเท่าที่ไทยเห็นสมควรเท่านั้น ไม่ใช่ยอมตามที่กรรมการร่วม 7 ประเทศเป็นผู้กำหนดขอบเขตเท่าใดก็ได้ เพราะเขตกันชนจะกินพื้นที่เข้ามายังฝั่งไทย และต้องประกาศว่ารอบบริเวณเขตกันชนจะไม่ยอมให้มีการก่อสร้างและพัฒนาใดๆ เพราะเป็นพื้นที่ของไทย และเมื่อมีการประชุมกรรมการ 7 ประเทศ

หากมีการพยายามรุกล้ำเข้ามาจะเป็นเรื่องระหว่างกัมพูชาและไทยเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับประเทศอื่น เมื่อถึงตอนนั้นถ้ามีความพยายามดึงดันกินพื้นที่ไทย จะเป็นเหตุผลสมควรที่ไทยจะลาออกจากการเป็นภาคีกรรมการมรดกโลกได้

ในขณะที่ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า )ก็ได้ออกแถลงการณ์ในนามกลุ่มนักวิชาการ อันเป็นผลมาจากการสัมมนา “ปราสาทพระวิหาร วาระแห่งชาติ” ในวันพุธที่16 ก.ค. 2551 ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา แสดงจุดยืน 4 ข้อด้วยกัน คือ

1.เราไม่ยอมรับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาและเราไม่ยอมรับการขึ้นทะเบียนร่วมโดยแนวทางใดๆก็ตามที่ไม่คำนึงถึงมิติด้านเขตแดน

2.เราเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกแถลงการณ์ร่วมโดยเด็ดขาดและโดยเร็วที่สุด หากรัฐบาลไม่ยกเลิกเราในฐานะภาคประชาชนจะไม่ยินยอมให้ความร่วมมือกับกัมพูชาในการขึ้นทะเบียนมรดกโลกและจะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อคัดคาน

3.เราเรียกร้องให้วุฒิสภาสอบสวนICOMOSและคณะกรรมการมรดกโลกของไทย ในกรณีการผลโยชน์ทับซ้อน และไม่ปกป้องผลประโยชน์ของชาติ

4.นักวิชาการของสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ดังรายนามข้างล่างนี้ได้ร่วมกันเพื่อติดตามและดำเนินการใดๆในประเด็นปราสาทพระวิหาร เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติในนาม “คณะกรรมการติดตามประเด็นวาระแห่งชาติ เรื่องปราสาทพระวิหาร”

ทั้งนี้ยังได้ที่การเขียนป้ายข้อความ ต้านการเป็นมรดกโลกของปราสาทเขาพระวิหารเป็นภาษาต่างๆถึง 21 ภาษาซึ่งล้วนแต่เป็นภาษาของคณะกรรมการมรดกโลกทั้ง 21ประเทศ อีกทั้งยังแนะในสถาบันอุดมศึกษาแห่งอื่นๆออกมาแสดงจุดยืนของตนด้วย

และอีกกลุ่มหนึ่งที่ออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องอย่าง ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ นักวิจัย สถาบันไทยคดีศึกษา มธ. นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวิติศาสตร์ นายสมปอง สุจริตกุล อดีตเอกอัครราชทูต และพล.อ.ปฐมพงษ์ เกสรศุกร์ ที่ปรึกษากองบัญชาการทหารสูงสุด ที่ได้จัดแถลงข่าวเฉพาะสื่อมวลชนไปเมื่อ วันพุธที่16 ก.ค.2551 ที่สถาบันไทยคดีศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ เวลา14.30 น.

โดยได้นำเอกสารต่างๆ ที่อ้างว่าเป็นเอกสารลับที่เกี่ยวข้องกับการเสนอปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกมาเปิดเผย และยังนำวิซีดีสัมภาษณ์ นายอดุล วิเชียรเจริญ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกที่เมืองควิเบก ประเทศแคนาดา ไม่สมบูรณ์เพราะพิจารณารับรองปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเพียงหลักเกณฑ์เดียวเท่านั้น ทำให้ขาดความสมบูรณ์ของการเป็นมรดกโลก

นายเทพมนตรีกล่าวว่า กลุ่มนักวิชาการจึงอยากขอให้รัฐบาลเปิดเวทีไต่สวนสาธารณะสำหรับกรณีปราสาทพระวิหารโดยเฉพาะ แต่จะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเขตชายแดน ให้เกิดความโปร่งใส และต้องการให้ประชาชนรับทราบข้อเท็จจริง ทั้งนี้ หากเปิดเวทีจะต้องนำข้อมูลต่างๆตั้งแต่ปี 2505 จนถึงปัจจุบันว่ามีเรื่องอะไรเกิดขึ้นบ้างออกมาเปิดเผย รวมทั้งอยากให้รัฐบาลและภาคประชาชนมีโอกาสชี้แจงทั้งสองฝ่าย

ซึ่งนี่ถือเป็นหนึ่งในการช่วยเผยข้อเท็จจริงอันคลุมเครือของเรื่องนี้ให้สังคมไทยกระจ่างขึ้น ว่าแท้จริงแล้วกรณีเขาพระวิหารนั้นรัฐบาลทำไปเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ หรือผลประโยชน์ของใครบางคนกันแน่ ?!?
กำลังโหลดความคิดเห็น