xs
xsm
sm
md
lg

Sit-Talk: อะไรๆ ก็เชียงใหม่ (1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


Sit-Talk เป็นที่นั่งคุยแห่งใหม่ที่ ‘ปริทรรศน์’ เปิดขึ้นเพื่อชักชวนคุณๆ มา ‘นั่ง’ (Sit) คุยกันแบบสบายๆ เกี่ยวกับ ‘สถานการณ์’ (Situation) ชวนคิด ชวนคุย ชวนทะเลาะ (แต่ไม่วิวาท) และเขย่าฝันในยุคสมัยของเรา โดยไม่มีฝั่ง มีข้าง ในบรรยากาศเป็นกันเอง และ ‘ปริทรรศน์’ หวังว่า Sit-Talk ครั้งต่อๆ ไปจะมีคุณมานั่งคุยกับเราด้วยจริงๆ

“สุดสัปดาห์นี้จะไปเที่ยวไหน”-“ไปเชียงใหม่”

“ว่าจะไปหาที่เงียบๆ เขียนหนังสือที่เชียงใหม่สักเดือน”

ฯลฯ

เชียงใหม่ จังหวัดสามัญประจำบ้านสำหรับหลายต่อหลายคนที่นึกอะไรไม่ออกก็เป็นต้องแบกเป้ขึ้นเชียงใหม่ไว้ก่อน โดยเฉพาะบรรดาศิลปิน นักเขียน ช่างภาพ นักศึกษา เอ็นจีโอ

‘ปริทรรศน์’ จึงเกิดคำถามที่ไม่ต้องซีเรียสจริงจังว่าทำไม? ‘อะไรๆ ก็เชียงใหม่’ กันเสียทุกครั้ง จังหวัดที่เป็นศูนย์กลางล้านนาแห่งนี้มีอะไรดี มีเสน่ห์อะไรซุกซ่อนอยู่

ใช่, เราเดาไปต่างๆ นานาถึงแรงดึงดูดลึกลับของเชียงใหม่ อย่างการผสมกลมกล่อมระหว่างความเป็นเมืองกับวิถีชีวิตดั้งเดิม สภาพธรรมชาติที่ไม่มีในกรุงเทพฯ บรรยากาศพิเศษบางอย่างที่อวลอยู่ในอากาศ ร้านกาแฟปริมาณเกินพอดี ฯลฯ แต่จริงๆ แล้วเชียงใหม่มีแต่ด้านที่งดงามเท่านั้นจริงๆ หรือ การเข้าไปของคนมากหน้าหลายตา ทั้งที่ไปเที่ยวและไปตั้งรกรากที่นั่นสร้างแรงกระเพื่อมอะไรให้กับจังหวัดน่ารักๆ แห่งนี้บ้าง แล้วเชียงใหม่กำลังจะแปลงโฉมหน้าไปอย่างไร เชียงใหม่ยังหนาวอยู่หรือเปล่า

นั่งคุยกับ รจเรข วัฒนพาณิชย์ ผู้ประสานงานชุมชนคนรักป่า-คนเชียงใหม่ ศาสตราจารย์เฉลิมพล แซมเพชร ประธานภาคีคนฮักเจียงใหม่ คำรณ คุณะดิลก จากสำนักข่าวประชาธรรม 2 คนหลังอยู่เชียงใหม่มานานมากจนกลายเป็นคนเชียงใหม่ และหนึ่งหนุ่มนักเขียนและคอลัมนิสต์ที่ไปๆ มาๆ เชียงใหม่ได้ 2 ปีแล้ว วชิรา รุธิรกนก เรานั่งคุยกันที่บ้าน เทพศิริ สุขโสภา หรือ ‘อาจารย์เทพ’ แห่งซอยวัดอุโมงค์ (เสียดายที่อาจารย์เทพไม่ได้คุยด้วย)

ตอนแรกว่าจะคุยกันสบายๆ แต่สุดท้ายก็เลี่ยงเรื่องเครียดๆ ไม่พ้น คุยเสร็จคุณอาจจะรู้ (หรือไม่รู้) ว่าอะไรคือเสน่ห์ของเชียงใหม่ เผื่อว่าคุณจะ ‘อะไรๆ ก็เชียงใหม่’ บ้าง และจะรู้ว่าเราควรอยู่กับเชียงใหม่อย่างทะนุถนอมได้ยังไง

.............

ปริทรรศน์–ศิลปิน นักเขียน เอ็นจีโอ นักศึกษา อะไรๆ ก็จะขึ้นมาที่เชียงใหม่ จะทำอะไรก็ไม่รู้ล่ะ แต่จะมาไว้ก่อน เหมือนกับเป็น Landmark เลยอยากมานั่งคุยกันว่าทำไม แล้วมันมีผลพวงอะไรที่เกิดกับเชียงใหม่บ้าง

รจเรข-มันตอบไม่ได้ว่าเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นหรือแย่ลงได้อย่างชัดเจน เพราะบางอย่างมันก็ดีขึ้น บางอย่างมันก็แย่ลง มันก็เป็นพัฒนาการก็ดีขึ้นนะ ถ้าพูดถึงในแง่ของความสะดวกสบาย ถ้าพูดถึงความยากลำบากจากความสะดวกสบายก็มีอีก

คำรณ-คือเชียงใหม่มันเปลี่ยนไปนะครับ เปลี่ยนไปจากเชียงใหม่ที่ทุกคนอยากมาเยือน ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปหมดแล้ว มันมีความโมเดิร์นมากขึ้น

รจเรข–แต่มันก็ยังมีคนอยากมาอยู่นะ

คำรณ–มันคล้ายๆ กับมีมายาคติเก่าว่ายังมีอย่างนั้น อย่างนี้ มีวิวสวย มีธรรมชาติ มีวัด มีประเพณีงดงาม แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีคนอยากมาเที่ยว อยากมาเดินแถวอาร์ซีเอ มันเปลี่ยนมาเป็น Metropolitan มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีการรักษาวัฒนธรรมที่หลากหลาย เชียงใหม่ยังคงเป็นเมืองที่มีวัฒนธรรมมากมาย เมืองเป็นเมืองที่อยู่ใกล้ชนบท 10-15 นาทีก็ถึงแล้ว

ปริทรรศน์-นั่นคือเสน่ห์ของเชียงใหม่?

คำรณ–ไม่ทราบ

รจเรข–ไม่แน่ใจ

เฉลิมพล–อย่างผมไม่ใช่คนเชียงใหม่ แต่มาอยู่เชียงใหม่นาน ตั้งแต่ 2508 มาเรียนที่มหาวิยาลัยเชียงใหม่ เด็กๆ เราพยายามคิดอะไรกับเชียงใหม่ เพราะเชียงใหม่ไม่ได้มาง่ายๆ ตอนมาก็ต้องนั่งรถไฟเป็นวัน ทางถนนก็ไม่ค่อยดี อันตราย แต่ว่าเชียงใหม่เราได้ข่าวว่าอยู่ในหุบเขา มีสาวสวยๆ ผูกผมมวย ก็เห็นมาจากรูป แล้วผมว่าทุกคนก็ใฝ่ฝัน เพราะเชียงใหม่แตกต่างจากภาคกลาง

คำรณ–เชียงใหม่มีแต่ภูเขาลับขอบฟ้า

เฉลิมพล–ใช่ๆ มันแทบจะออกมาอีกโลกหนึ่ง ประกอบกับที่อากาศก็ดี ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใส อากาศดีมีหน้าหนาว

คำรณ–พอมาถึงจริงๆ นี่มันเหนื่อย พอมาถึงก็ คุ้มจริงๆ คนสมัยก่อนขึ้นดอยสุเทพ ต้องเดินขึ้นไปถึงข้างบน เดี๋ยวนี้นั่งรถแป๊บเดียวก็ถึงแล้ว บรรยากาศมันหายไปหมด

รจเรข–ใช่ๆ เดี๋ยวนี้ขึ้นดอยสุเทพ น้อยคนที่ขึ้นไปบูชาพระหรือไปทำบุญ ช่วงหลังขึ้นไปมีร้านมีอะไรเต็มไปหมด คือขึ้นไปเพื่อไปเที่ยว ไปชมวิว น้อยคนที่จะขึ้นไปเพื่อบูชาพระ ไปไหว้พระ ไปทำบุญ

คำรณ–เดี๋ยวนี้เหมือนฟื้นวัฒนธรรมขึ้นมาเพื่อขาย มันไม่ได้ทำวัฒนธรรมด้วยจิตวิญญาณ

รจเรข–แต่ทุกวันนี้ทุกคนก็ยังมา (หันไปทางวชิรา)

วชิรา-บังเอิญ (หัวเราะ) ไม่ได้ตั้งใจขนาดนี้

ปริทรรศน์–คุณวชิราขึ้นมาเชียงใหม่เพื่อทำงานกับมาเที่ยว

วชิรา–ใช่ ขึ้นมาหาเพื่อนครับ เพราะเพื่อนมีอพาร์ตเม้นต์ที่มันไม่ค่อยได้อยู่ ก็เลยให้เรามาอยู่ก่อน แต่ผมมาเชียงใหม่บ่อยอยู่แล้วตั้งแต่สมัยเรียน มาแอบนอนในหอมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขึ้นมาโบกรถไปเที่ยวแม่สาย

ปริทรรศน์–คุณวชิรามองเชียงใหม่อย่างไร ทำไมมันจึงมีแรงดึงดูดผู้คนให้จะต้องขึ้นมา ใครๆ ก็ต้องมาที่นี่กัน มาถ่ายรูป ทำโปสการ์ด มาทำแกลเลอรี มาเขียนหนังสือ มาทำงานศิลปะ

วชิรา–คือถ้าตอบตอนนี้ผมมองจากคนที่อยู่ที่นี่แล้วนะ ผมอยู่ที่นี่แล้ว แต่ก่อนหน้าที่จะมาผมก็ไม่คิดว่ามันจะขนาดนี้...

ปริทรรศน์–คำว่าขนาดนี้มันหมายถึงอะไร

วชิรา–สำหรับผมมันน่าอยู่มาก เพราะว่าผมเป็นคนเมืองโดยกำเนิด เกิดกรุงเทพฯ โตกรุงเทพฯ มีชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ แต่พอช่วงโตขึ้นเราก็ชอบออกไปเที่ยวต่างจังหวัด แล้วมันก็จะมีความชอบส่วนตัวที่เราชอบวิถีชีวิตแบบเมือง กับอยากอยู่ใกล้ๆ ธรรมชาติ ผมมาเจอแบบนี้ ที่นี่ ตอนที่มาแล้วด้วยนะ คือมาแล้วค่อยๆ อยู่ไปเรื่อยๆ ค่อยๆ รู้สึกว่า 10 นาทีเราก็ขับรถออกไปเจอภูเขาแล้ว

คำรณ-ถ้าจะเลือกอยู่ในเมือง 5 นาทีก็ดริงก์ได้แล้วใช่มั้ย

วชิรา-ใช่

รจเรข–มันมีทุกอย่างความสะดวกสบาย

วชิรา–แบบนี้มันน่าจะเป็นเมืองที่ค่อนข้างลงตัวมาก

เฉลิมพล-จากประสบการณ์ของเรา ตอนมาปีแรกเราก็ยังเด็กอยู่ ความคิดอะไรมันก็ไม่มีมากในเรื่องของความเป็นอยู่ แต่เราก็พอใจ พออยู่ๆ ไปเราก็ต้องยอมรับว่าเชียงใหม่นี่เริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างวัตถุนิยม พูดง่ายๆ ในช่วงประมาณ 20-25 ปีที่ผ่านมา เพราะก่อนหน้านั้นเราก็ยังเป็นชุมชนสังคม งานประเพณีก็ยังเป็นแบบประเพณีจริงๆ ไม่เหมือนในปัจจุบัน มันมีความเปลี่ยนแปลง มีการพัฒนาในทางเศรษฐกิจมากขึ้น เน้นการท่องเที่ยวมากขึ้น ไม่ได้มองในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสังคมที่คุณต้องตามหา เราเกรงว่าเชียงใหม่จะเริ่มแย่แล้ว เพราะเรามานึกย้อนอีกทีว่าเสน่ห์ของเชียงใหม่คือทรัพยากรธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม และสังคมชุมชน แล้วอากาศก็เปลี่ยนแปลงตลอดปี มี 3 ฤดูพูดง่ายๆ มีฝน แล้ง หนาว

รจเรข-ชัดมาก

เฉลิมพล-แม้กระทั่งเดี๋ยวนี้ ไม่ว่าจะเป็นเมกกะโปรเจคต์ ไนท์ซาฟารี พืชสวนโลกฯ ก็ไปตั้งในเขตอุทยานแห่งชาติ เราลืมไปว่าเชียงใหม่ออกไปแค่ 4-5 นาทีก็เจออุทยานแห่งชาติแล้ว เจอชนบทแล้ว คือถ้าลองถามคนกรุงเทพฯ ที่ไม่ค่อยได้มาเชียงใหม่ หรือถ้าถามคนทั่วไปก็ตอบว่าเชียงใหม่น่าอยู่ น่าเที่ยว เราก็ยอมรับว่าส่งผลให้การท่องเที่ยวเราดีขึ้น แต่ไอ้ผลกระทบที่เกิดขึ้น เราไม่ได้มาตีเป็นมูลค่า ถ้าถามคนเชียงใหม่อย่างผม ผมก็บอกนรกนะ

คำรณ-พืชสวนโลกฯ มีคนมาเป็นล้านนะในช่วงเวลาสั้นๆ ไม่กี่เดือน

เฉลิมพล-รถราติดตลอดเลยเดี๋ยวนี้ ถ้าถามผมนะ เราอยู่ในนี้เพราะต้องทำงานทำการอยู่ในนี้ อยากจะหนีไปหลบที่อมก๋อย แม่แจ่ม เพราะว่าเราเคยอยู่เชียงใหม่ที่เงียบสงบ เป็นธรรมชาติค่อนข้างมาก ในการพัฒนาเราไม่ปฏิเสธ แต่การพัฒนาคุณต้องนึกถึงองค์ประกอบอื่นด้วย ไม่ใช่เอาแต่เศรษฐกิจลูกเดียว เดี๋ยวนี้มีทั้งผับ ทั้งอะไรก็ไม่รู้ คนมาเที่ยวก็เหมือนกรุงเทพฯ แล้วจะขึ้นมาทำไม คือเราต้องรักษาเอกลักษณ์ แต่เราไม่ได้รักษา

รจเรข–ต้องบอกผู้นำท้องถิ่น ถ้าเกิดว่าเทศบาลเมืองเชียงใหม่ไม่เอาเรื่องพวกนี้ล่ะ แต่ทีนี้กลุ่มคนที่มาบริหารก็เป็นกลุ่มนักธุรกิจ ซึ่งตรงนี้มันคุยกันมานาน จำได้ว่าเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เขาคุยเรื่องผังเมืองว่าเชียงใหม่ต้องทำเรื่องผังเมืองให้จริงจัง เท่าที่ทราบเทศบาลไปดูงานกันที่ต่างประเทศ แต่กลับมาก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเรื่องนี้มันหายไปไหน แม้แต่เรื่องระบบการขนส่งก็ไม่ได้ทำอะไรให้มันเป็นจริงเป็นจังขึ้น มันเป็นมานานมาก ซึ่งคนเชียงใหม่ก็ตื่นตัวเรื่องนี้นะ ร้องเรียน จัดกลุ่มอะไรกัน แต่ว่ามันก็สู้ผู้นำระดับข้างบนไม่ได้

คำรณ-ท้องถิ่นที่ไม่เข้าใจกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เทศบาลจะบริหารงานแบบข้ามาคนเดียว ถ้าจะทำโครงการซึ่งมีการลงทุน การทุบ ก่อสร้าง เพื่อให้มีการลงทุน แต่งานที่จะจัดเวทีคุยกัน ระดมการจัดการ เทศบาลไม่เคยทำ เพราะมันไม่มีงบประมาณ นี่คืองานที่ทำโดยมองงบประมาณเพียงอย่างเดียว

ปริทรรศน์-ก่อนจะไปเรื่องเครียด ถามคุณวชิราหน่อยว่า ทำไมคนทำงานศิลปะต้องมาเชียงใหม่

วชิรา-ผมว่าสภาพแวดล้อมมันเหมาะแหละ ไม่น่ามีอย่างอื่น เหมือนดินมันดี มันเหมาะไปซะทั้งหมดเลย แต่ก็มีข้อเสียนะผมว่า มันทำให้ขี้เกียจเกินไป ต้องคอยเตือนตัวเอง นั่งนิ่งๆ ดูภูเขามันก็สวยแล้วไง บ่ายหนึ่งมันก็หมดไปเลย แต่ขณะเดียวกันผมว่าถ้าใช้อันนี้ให้เป็นประโยชน์ มันทำงานได้เยอะกว่า เหมือนรอบที่แล้ว ตั้ม-วิสุทธิ์ (วิสุทธิ์ พรนิมิตร-นักเขียนการ์ตูนชื่อดัง) มาเชียงใหม่ก็คุยกัน ตั้มเพึ่งมาแสดงงานแป๊ปเดียวก็ชอบเลย ขนาดมันอยู่แค่ 2-3 วัน แต่ว่าเวลาในชีวิตต่อวันมันเหลือเยอะขึ้น ซึ่งสิ่งนี้มันไม่เจอที่กรุงเทพ

ปริทรรศน์–คุณคำรณกับคุณเฉลิมพลมองว่าการเข้ามาของคนนอกมันไปรุกรานความเป็นท้องถิ่น ในฐานะที่คุณวชิราก็เป็นคนนอกที่เข้ามา มองยังไงในเรื่องนี้

วชิรา–ผมว่าอันนี้เรื่องเล็ก เรื่องใหญ่อยู่ที่ใครเป็นคนมีอำนาจควบคุมการเปลี่ยนแปลงต่างหาก (เน้นเสียง) เพราะว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่เมืองจะไม่มีคนเข้า-ออก เพราะถ้าอย่างนั้นก็เท่ากับว่าเป็นเมืองที่ตายแล้ว ผมคิดว่าเป็นเรื่องปกติของทุกเมือง แต่ที่น่าสนใจกว่าคืออำนาจในการควบคุมการเปลี่ยนแปลงหรือว่าการดูแลการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มันอยู่ที่ใคร ถ้าเราหาเจอแล้วสามารถไปต่อรองกับอันนั้น หรือทำให้อันนั้นมันกระจายออกไปอย่างที่อาจารย์คำรณบอก ผมว่าสิ่งต่างๆ มันก็จะคลี่คลายไปเอง

คำรณ-การเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงโดยตามธรรมชาติก็พอรับไหว คนที่เข้ามาอยู่แบบไม่ใช่นักท่องเที่ยว มาอยู่แบบพื้นเมือง มันก็พอเข้ากันได้ แต่คนที่มาเป็นนักท่องเที่ยว ต้องอาบน้ำร้อน ที่พักแบบโรงแรมก็ต้องขึ้น กลัวว่าถ้าเผื่อมันมีเหตุการณ์พิเศษ อย่างกรุงเทพเกิดน้ำท่วมคนก็จะทะลักหนีขึ้นมาอยู่เชียงใหม่กัน

วชิรา–แต่อันนี้ไม่ตลกนะ เพื่อนหลายคนก็เริ่มคิดแบบนี้นะ ว่าอายุ 30 กว่าจะ 40 มาซื้อที่เชียงใหม่เหอะ เพราะเดี๋ยวกรุงเทพฯ น้ำท่วมมันคิดกันจริงๆ ไม่ได้คิดเล่นๆ

ปริทรรศน์-เชียงใหม่มันมีความเป็นเมืองกับความเป็นชนบทที่ผสมกันลงตัวหรือเปล่า จึงทำให้คนอยากมา เพราะกำลังคิดว่าจังหวัดภาคเหนือมีตั้งเยอะตั้งแยะที่สวยงาม มีป่า มีธรรมชาติ

คำรณ–มันไม่มีความสะดวก

เฉลิมพล–เชียงใหม่เป็นเมืองประวัติศาสตร์ มีวัฒนธรรมเก่าแก่ เคยเป็นประเทศอิสระไม่ขึ้นอยู่กับสยาม คนพื้นที่ที่เราอ่านประวัติเป็นคนที่นุ่มนวล นิสัยใจคอดี แต่ผมเห็นด้วยกับน้องเขาที่ว่าการเปลี่ยนแปลงมันขึ้นอยู่กับนักธุรกิจ นักการเมืองที่เข้ามา

คำรณ-คนที่ขึ้นมา เขาจะรู้สึกว่าเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีทุกอย่าง อยากได้ Adventure แต่ในขณะเดียวกันก็ยังได้ความสะดวก แต่พอพวกนี้มาอยู่เชียงใหม่สักพัก อยากจะไปอยู่เชียงรายหรือไปอยู่น่านและขยายต่อ

รจเรข-ตอนนี้เริ่มขยายไปเชียงราย

คำรณ-เริ่มเปลี่ยน เริ่มรู้รสของอะไรบางอย่าง ตอนนี้ถ้าเผื่อจะเอาแบบคนกรุงเทพฯ อยู่แบบคนกรุงเทพฯ เลย แต่ให้ได้ Adventure เต็มที่เลยก็ต้องมาเชียงใหม่

ปริทรรศน์-ผมขอยกตัวอย่างอำเภอปาย มีคนหลายคนพูดว่าปายกำลังถูกแปลงร่างให้ตอบสนองต่อคนชั้นกลางที่เข้าไป

คำรณ-ปายพังแล้ว เพราะคนพื้นบ้านที่อยู่ที่นั่นไม่แข็งพอ ในขณะที่เชียงใหม่คนที่อยู่ในเมือง เขายังแข็งพอ ยังใช้ชีวิตปกติธรรมดา แต่ปายมันเป็นที่ที่คนลงไปหมด ที่ดินเปลี่ยนมือหมด

เฉลิมพล-ปายนี่น่าเสียดายมาก ครั้งแรกที่ผมไปเมื่อประมาณ 20-30 ปีที่แล้ว มันเป็นชุมชนหมู่บ้านที่อยู่ในหุบเขา มีลำธาร ตอนนั้นเริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้าไปแล้ว 10 กว่าปีก่อนเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงมาก

คำรณ-เดี๋ยวนี้จะเป็นพัทยา เป็นป่าตองแล้ว สมัยก่อนยังมีความสวยงาม นักศึกษาไปอยู่เช่าบ้านเดือนละ 500 ขายผัดผักราดข้าว

เฉลิมพล-แต่คนที่เขาไม่เคยเห็นอาจจะยังชอบอยู่ไง แล้วชาวบ้านก็อยู่ไม่ได้

รจเรข-ปายเปลี่ยนไปเยอะ

วชิรา-เปลี่ยนตั้งแต่หนังเรื่องรักจังหรือเปล่า คือเปลี่ยนโดยสิ้นเชิงนะผมว่า

รจเรข-มีการพยายามทำงานวิจัยว่าปายจะไปในทิศทางไหน แต่ในที่สุดพอทำเสร็จก็เสนอให้กับหน่วยงานท้องถิ่น นักการเมืองท้องถิ่น แต่ว่าไม่ทำตาม กลัวชาวบ้านจะไม่สะดวก ทั้งที่มีข้อเสนอเยอะแยะเกี่ยวกับปาย แต่ไม่สามารถจะดำเนินการได้ มันเป็นความคิดในแง่ที่ว่าถ้ามีคนมา เขาก็จะมีรายได้

เฉลิมพล-เมื่อปีที่แล้วมีโครงการจะสร้างกระเช้าลอยฟ้าจากปายไปแม่ฮ่องสอน เพราะรถวิ่งลำบาก เขาจะให้ได้ชื่อว่าเป็นกระเช้าที่ยาวที่สุดในโลก ผมบอกว่าคิดได้ยังไง ทางรถยนตร์ก็ดีอยู่แล้ว มันคือการท้าทาย คือความสวยงาม แล้วการสร้างกระเช้ามันทำลายป่าเท่าไหร่ นักธุรกิจเขาชอบเพราะเขาได้เงิน แต่ระหว่างทางไปแม่ฮ่องสอนมันมีทัศนียภาพที่สวยงาม

ปริทรรศน์-คุณวชิราคงเคยไปปาย

วชิรา-ผมไม่ชอบ ผมก็มองเหมือนเดิมว่าอำนาจการเปลี่ยนแปลงอยู่ที่ใคร ขณะที่เรานั่งคุยกันอย่างนี้ก็ไม่เห็นมีนักการเมืองท้องถิ่นมาคุยกับเราเลย คือมันทำอะไรได้ล่ะ เหมือนเชียงใหม่เราจะบอกว่านักท่องเที่ยวเขามากินเหล้า มาเที่ยวเหมือนกรุงเทพฯ แต่ว่าบรรยากาศเปลี่ยนไปนิดหน่อย ผู้หญิงหน้าตาเปลี่ยนไป มีภูเขา มีกาดหลวง มีร้านกาแฟเต็มไปหมด ปีที่แล้วผมทำการบ้านเรื่องร้านเหล้า เฉพาะที่จดทะเบียนมี 800 กว่าร้าน เกือบ 900 ร้าน นั่นคือแถวปี 2006 นี่เฉพาะที่จดทะเบียนด้วยนะ ผ่านไปแล้ว 2 ปี ตอนนี้มีเท่าไหร่แล้ว ปริมาณร้านเหล้าที่มากขนาดนี้ มันเกิดขึ้นได้ยังไง แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่นักท่องเที่ยว แล้ว 900 ร้านนี่ทุกร้านเหมือนกันหมด มีเบียร์โปรโมชัน ใครอยากจัดงานก็ไปจ้างคอนเสิร์ต เอาวงดังๆ มากลายเป็นเรื่องน่าเบื่อมาก

รจเรข-แต่มันไม่ได้รองรับนักท่องเที่ยวอย่างเดียวนะ มันก็รองรับคนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นมา เหมือนกับเยาวชนทุกที่ในประเทศไทยที่เติบโตเพราะธุรกิจการค้าของผู้ใหญ่ ร้านเกมเต็มเป็นหมดเลยนะ ถามว่ามีนักท่องเที่ยวมั้ย ไม่มีหรอก มีแต่เด็กเชียงใหม่ เด็กวัยรุ่นผู้ชายผู้หญิงอยู่เยอะแยะไปหมด

วชิรา-ผมว่ามันอาจจะมีอีกองค์ประกอบหนึ่ง ด้วยความที่ว่ามันเกือบจะเป็นเมืองการศึกษา มีมหาวิทยาลัย แต่รู้สึกว่ามันไม่มีบรรยากาศของการศึกษา การแลกเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ ไม่มีการปะทะสังสรรค์ ให้เห็นได้มากเท่ากับการที่มีนักศึกษา แต่กลับมีร้านเหล้ามากขึ้น

ปริทรรศน์-เชียงใหม่ใช่แหล่งของการปะทะสังสรรหรือแลกเปลี่ยนทางความคิดเหรอ เพราะถ้าเป็นคนนอกที่ไม่ได้อยู่เชียงใหม่ก็เห็นว่าที่นี่ก็มีนักวิชาการ มีศิลปิน มีคนทำงานศิลปะเยอะ มีร้านเหล้าด้วย ก็น่าจะเป็นแหล่งสำหรับถกเถียงพูดคุยกัน

วชิรา-ผมว่ามันมีอยู่นะ แต่ไม่ถึงกับเป็นแหล่ง

คำรณ-คือสมัยก่อน ช่วงปี 2515-2517 ตอนเย็นพวกนักศึกษาก็จะอยู่หน้ามหาวิทยาลัยใช่มั้ย นั่งกินเหล้ากัน แต่ก็ยังถกเถียงปัญหาสังคม ปัญหาการเมือง ยังมีการพูดคุยกันอย่างนี้อยู่ แต่สมัยนี้ หน้ามหาวิทยาลัยไม่มีร้านเหล้าแล้ว นักศึกษาไม่ค่อยกินเหล้าเท่าไหร่ เย็นๆจะไปออกกำลังกาย จ๊อกกิ้ง กินนม กินน้ำผลไม้ ทุกคนจะคิดถึงปัญหาของตัวเอง ความสำเร็จของตัวเอง แต่พอค่ำๆ ถึงจะออกไปตามผับ

(โปรดติดตามต่อวันพรุ่งนี้)

**************

เรื่อง-ทีมข่าวปริทรรศน์

หมายเหตุ ร่วมเสนอเรื่องนั่งคุยได้ที่ paritut@manager.co.th
ศาสตราจารย์เฉลิมพล แซมเพชร (คนซ้าย) คำรณ คุณะดิลก (คนขวา)
วชิรา รุธิรกนก (คนซ้าย) รจเรข วัฒนพานิชย์ (คนขวา)




กำลังโหลดความคิดเห็น