ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – ภาคเอกชนเชียงใหม่เตรียมเสนอ “นายกฯสมัคร” ช่วยเร่งรัดโครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ระหว่างนำคณะลงพื้นที่เชียงใหม่ช่วงสุดสัปดาห์นี้ ชี้โครงการล่าช้าส่งผลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งระบบสูญเสียโอกาส ขณะที่ “บุญเลิศ” นายก อบจ.หมาดๆ เสนอผลักดันระบบส่งมวลชนเมืองเชียงใหม่งบ 8,000 ล้าน ส่วนเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีประชุมเตรียมการต้อนรับแล้ว หากสบโอกาสพร้อมขอช่วยดันโครงการพัฒนาต่อเนื่อง
นายณรงค์ ตนานุวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงการเตรียมลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 13-14 มิถุนายนนี้ เพื่อติดตามสถานการณ์การท่องเที่ยวว่า ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่นายกฯจะเดินทางลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ด้วยตัวเอง หลังจากที่ได้รับทราบข้อมูลแล้วว่า การท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่อยู่ในสถานการณ์ที่ตกต่ำ เห็นได้ชัดจากช่วงงานเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาที่นักท่องเที่ยวลดจำนวนลงไปอย่างมาก ซึ่งมีสาเหตุมาจากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งราคาน้ำมันที่แพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการจัดงานสงกรานต์ที่มีกระจายทั่วประเทศ รวมทั้งข่าวเกี่ยวกับมลพิษอากาศเมืองเชียงใหม่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว
สำหรับประเด็นหลักที่ทางภาคเอกชนเตรียมจะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี จากการหารือร่วมกันแล้วได้เตรียมที่จะนำเสนอและร้องขอให้รัฐบาลเร่งผลักดันโครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ ที่ล่าช้ามานานและทำให้จังหวัดเชียงใหม่สูญเสียประโยชน์หลายด้าน ที่ควรจะได้รับไปอย่างน่าเสียดาย โดยเฉพาะประโยชน์ทางด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากโครงการนี้เป็นที่คาดหวังในการผลักดันให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงจัดการประชุมและสัมมนา หรือตลาด MICE
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้มีการลงทุนด้านโรงแรมที่พักอย่างมากจนปัจจุบันมีห้องพักรวมกว่า 30,000 ห้อง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มประชุมสัมมนา ที่จะมาหลังจากศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเปิดใช้ แต่ปรากฏว่าจนถึงเวลานี้โครงการนี้กลับล่าช้าอย่างมาก ทำให้ห้องพักโรงแรมในเชียงใหม่อยู่ในภาวะโอเวอร์ซัปพลาย และส่งผลกระทบตามมาในหลายด้าน ดังนั้น จึงอยากให้รัฐบาลทำให้เกิดความชัดเจนและผลักดันโครงการนี้
รายงานข่าวแจ้งว่าที่ผ่านมา คณะกรรมการร่วมภาคเอกชนจังหวัดเชียงใหม่ ได้เคยมีความเห็นร่วมกันว่าการที่โครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ มีการชะลอหรือล่าช้าออกไป จะส่งผลให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชียงใหม่สูญเสียโอกาสด้านการท่องเที่ยวทั้งระบบ ไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากตลาด MICE หรือตลาดการประชุมสัมมนาถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการท่องเที่ยวสูงมาก ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปกว่า 3 เท่าตัว ตลอดจนจะสูญเสียงบประมาณที่รัฐบาลได้ลงทุนสำหรับโครงการนี้ไปมากกว่า 286 ล้านบาท
ด้านนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่(อบจ.) ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง เพิ่งรับรองผลการเลือกตั้ง และเริ่มเข้าทำงานที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่แล้ว รายงานข่าวแจ้งว่าได้เตรียมที่จะจัดทำข้อมูลและโครงการเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในช่วงสุดสัปดาห์นี้เช่นกัน โดยได้เตรียมที่จะเสนอผลักดันโครงการจัดทำระบบขนส่งมวลชนเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโครงการที่นายบุญเลิศ ผลักดันมาตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่แล้ว
นายบุญเลิศ ได้หารือร่วมกับ ดร.รังสรรค์ อุดมศรี อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะหัวหน้าโครงการจัดทำแผนแม่บทและออกแบบ เพื่อก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโครงการที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ว่าจ้างให้สถานบริการวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินการศึกษาในช่วงปี 2549 และศึกษาแล้วเสร็จพร้อมนำเสนอรายงานฉบับสมบูรณ์ให้ สนข.และรัฐบาลแล้วตั้งแต่ต้นปี 2550
ดร.รังสรรค์ กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า ระบบขนส่งมวลชนแบบรถประจำทางด่วนพิเศษ (Bus Rapid Transit หรือ BRT) เป็นระบบที่มีความเหมาะสมกับเมืองเชียงใหม่มากที่สุด ขณะที่เชื้อเพลิงที่ใช้จะเป็นไปในแบบผสมผสานระหว่างน้ำมันดีเซลกับไฟฟ้า หรือไฮบริด(Hybrid) แผนพัฒนาระบบแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 สำหรับ 3-10 ปี และระยะที่ 2 สำหรับ 11-20 ปี ซึ่งระยะที่ 1 จะประกอบด้วยโครงข่าย 4 เส้นทางระยะทางรวมไป-กลับประมาณ 106 กิโลเมตร มีค่าใช้จ่ายในการลงทุนก่อสร้างและติดตั้งระบบรวมราว 8,000 ล้านบาท โดยสมมติว่ารัฐบาลอนุมัติโครงการภายในปี 2551 น่าจะสามารถออกแบบรายละเอียดก่อสร้างได้เสร็จภายในปี 2552 จากนั้นเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2553 และสามารถใช้งานได้ในปี 2555
“หากระบบขนส่งมวลชนเมืองเชียงใหม่เริ่มใช้งานได้ คาดการณ์ว่าจะทำให้ปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนตัวในการเดินทางลดลง และมีการเปลี่ยนมาใช้รถขนส่งสาธารณะเดินทางเพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนการใช้เพียงประมาณ 8% น่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 27% โดยจากคำนวณคาดว่าในช่วง 10 ปี ระบบขนส่งมวลชนนี้จะช่วยลดการใช้น้ำมันได้กว่า 270 ล้านลิตร และลดการปล่อยก๊าซจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ได้ถึง 4,8000 ตัน” ดร.รังสรรค์ กล่าว
ทั้งนี้เส้นทางระบบขนส่งมวลชนเมืองเชียงใหม่ระยะที่ 1 ทั้ง 4 เส้นทาง ประกอบด้วย เส้นทางที่ 1 ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่-สวนสัตว์กลางคืนเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เป็นเส้นทางแนวเชื่อมเหนือ-ใต้ ของตัวเมือง ระยะทางไป-กลับรวมประมาณ 40 กิโลเมตร เส้นทางที่ 2 สนามกีฬา 700 ปี-ตลาดสันทราย เชื่อมด้านตะวันตก-ตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง ระยะทางไป-กลับรวมประมาณ 22 กิโลเมตร เส้นทางที่ 3 สวนสัตว์เชียงใหม่-บวกครก เชื่อมด้านตะวันตก-ตะวันออกของเมือง ระยะทางไป-กลับรวมประมาณ 34 กิโลเมตร และเส้นทางที่ 4 ท่าแพ-เม็งราย เป็นเส้นทางในย่านธุรกิจและการท่องเที่ยวในตัวเมือง ระยะทางไป-กลับรวมประมาณ 8 กิโลเมตร โดยในแต่ละเส้นทางจะมีการวางสถานีรับส่งผู้โดยสารทุก 300-600 เมตร
ขณะที่นายอุปถัมภ์ ภวภูตานนท์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี กล่าวว่า ได้รับการประสานเบื้องต้นว่าในระหว่างการเดินทางลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ของนายกรัฐมนตรี เพื่อติดตามสถานการณ์การท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะ อาจจะเดินทางมาตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานของเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีด้วย ซึ่งเวลานี้เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีก็กำลังที่จะประชุมเตรียมความพร้อมต้อนรับอยู่
อย่างไรก็ตาม หากมีโอกาสได้นำเสนอข้อมูลความต้องการต่อนายกรัฐมนตรี ถ้าเป็นไปได้อยากจะขอให้มีการสนับสนุนโครงการพัฒนาต่อเนื่องของเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีที่ถูกระงับไป เช่น โครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้า หรือ การก่อสร้างศูนย์วัฒนธรรม เป็นต้น เนื่องจากเป็นโครงการพัฒนาที่เชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ ในส่วนของโครงการอุทยานช้าง ยืนยันว่าหากคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยก็คงไม่มีการดื้อดึงที่จะผลักดัน