xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการเตรียมชงแผนขนส่งฯเชียงใหม่ให้รัฐบาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รูปแบบระบบขนส่งที่คาดว่าจะนำมาใช้ในเมืองเชียงใหม่ เพื่อแก้ปัญหาการจราจร
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – นักวิชาการชี้ถึงเวลาต้องเร่งผลักดันให้เกิดระบบขนส่งมวลชน ที่มีประสิทธิภาพในเมืองเชียงใหม่แล้ว ก่อนการจราจรเผชิญหน้าภาวะวิกฤตภายใน 4-5 ปีข้างหน้า เนื่องจากเมืองมีการเจริญเติบโตต่อเนื่อง เผยมีการนำเสนอแผนแม่บทรถ BRT โครงข่าย 4 เส้นทาง ครอบคลุมทั้งเมืองเชียงใหม่ มูลค่าลงทุน 8,000 ล้านบาท ให้ สนข.และ คจร.พิจารณาแล้ว แต่คงต้องรอให้รัฐบาลใหม่ที่จัดตั้งหลังการเลือกตั้งเป็นผู้ชี้ชะตา ระบุช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลงได้ปีละไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท

ดร.รังสรรค์ อุดมศรี อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะผู้จัดการโครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทและออกแบบเพื่อก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนเมืองเชียงใหม่ เปิดเผยความคืบหน้าการผลักดันระบบขนส่งมวลชนเมืองเชียงใหม่ว่า การจัดทำแผนแม่บทและออกแบบเพื่อก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนเมืองเชียงใหม่ ได้ศึกษาแล้วเสร็จไปตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2550 และได้มีการจัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์นำเสนอให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจร(สนข.) รวมทั้งมีการนำเสนอให้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก(คจร.) พิจารณาด้วยในช่วงประมาณเดือนมิถุนายน 2550

ทั้งนี้หลังจากการพิจารณา คจร.ได้มีข้อเสนอแนะ และอยากที่จะทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่จะให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ทำให้ต้องมีการทำการศึกษาและจัดทำรายละเอียดในส่วนนี้เพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ส่วนการพิจารณาอนุมัติงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการนี้ รัฐบาลปัจจุบันยังไม่ได้มีการตัดสินใจ และคงส่งต่อให้รัฐบาลใหม่ที่จัดตั้งขึ้นหลังการเลือกตั้งมาทำการพิจารณาโครงการนี้ ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งถือว่าล่าช้ากว่าแผนเนื่องจากเดิมคาดว่าโครงการนี้น่าจะได้รับอนุมัติ พร้อมทำการออกแบบและเริ่มก่อสร้างได้ตั้งแต่ต้นปี 2551 และสามารถใช้งานได้ภายในปี 2553

สำหรับรูปแบบของระบบขนส่งมวลชนเมืองเชียงใหม่ จากการศึกษาดังกล่าวพบว่า ระบบขนส่งมวลชนแบบรถประจำทางด่วนพิเศษ (Bus Rapid Transit หรือ BRT) มีความเหมาะสมกับเมืองเชียงใหม่ที่สุด ซึ่งตามแผนพัฒนาระบบจะแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 สำหรับ 3-10 ปี และระยะที่ 2 สำหรับ 11-20 ปี ซึ่งระยะที่ 1 จะประกอบด้วยโครงข่าย 4 เส้นทางระยะทางรวมไป-กลับประมาณ 106 กิโลเมตร มีค่าใช้จ่ายในการลงทุนก่อสร้างและติดตั้งระบบรวมราว 8,000 ล้านบาท

ระบบขนส่งมวลชนเมืองเชียงใหม่ตามแผนแม่บทนี้ ในระยะที่ 1 ประกอบด้วย 4 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางที่ 1 ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่-สวนสัตว์กลางคืนเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เป็นเส้นทางแนวเชื่อมเหนือ-ใต้ ของตัวเมือง ระยะทางไป-กลับรวมประมาณ 40 กิโลเมตร เส้นทางที่ 2 สนามกีฬา 700 ปี-ตลาดสันทราย เชื่อมด้านตะวันตก-ตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง ระยะทางไป-กลับรวมประมาณ 22 กิโลเมตร เส้นทางที่ 3 สวนสัตว์เชียงใหม่-บวกครก เชื่อมด้านตะวันตก-ตะวันออกของเมือง ระยะทางไป-กลับรวมประมาณ 34 กิโลเมตร และเส้นทางที่ 4 ท่าแพ-เม็งราย เป็นเส้นทางในย่านธุรกิจและการท่องเที่ยวในตัวเมือง ระยะทางไป-กลับรวมประมาณ 8 กิโลเมตร โดยในแต่ละเส้นทางจะมีการวางสถานีรับส่งผู้โดยสารทุก 300-600 เมตร

ส่วนรูปแบบการบริหารจัดการ ตามแผนแม่บทฉบับนี้เสนอให้รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและระบบทั้งหมด แล้วให้ท้องถิ่นเป็นผู้บริหารจัดการ โดยที่มีการจัดตั้งเป็นองค์การมหาชนขึ้นมารับผิดชอบดูแล ซึ่งการบริหารจัดการดังกล่าวนี้ยอมรับว่า อาจจะเป็นไปในลักษณะของการไม่แสวงหาผลกำไร แต่เน้นไปที่การบริการสาธารณะและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในภาพรวมมากกว่า เพราะมีการกำหนดค่าโดยสารที่เหมาะสมไว้ว่าไม่ควรจะเกิน 10 บาท/เที่ยว/คน ทำให้คงจะต้องมีการนำงบประมาณรายได้ของท้องถิ่นมาอุดหนุนด้วย

ในส่วนของเทศบาลนครเชียงใหม่ ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ร่วมกันผลักดันโครงการนี้มาตลอดนั้น ยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมาขาดการสานต่อความร่วมมือไปช่วงหนึ่ง เนื่องจากผู้บริหารชุดเดิมหมดวาระลงและมีผู้บริหารชุดใหม่ขึ้นมาแทน อย่างไรก็ตามคงจะมีการหารือร่วมกันเพื่อผลักดันเรื่องนี้ต่อไป

นอกจากนี้ ดร.รังสรรค์ กล่าวว่า ในภาวะปัจจุบันถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรจะต้องผลักดันให้เมืองเชียงใหม่มีระบบขนส่งมวลชนสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ ไม่เช่นนั้นแล้วคาดว่าภายในเวลา 4-5 ปีข้างหน้า การจราจรของเชียงใหม่จะเข้าสู่ขั้นวิกฤติอย่างแน่นอน เนื่องจากเมืองมีการเจริญเติบโตและมีปริมาณการใช้รถยนต์บนท้องถนนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหากมีระบบขนส่งมวลชนแล้วก็จะเป็นทางเลือกในการเดินทางให้กับประชาชน ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนตัวและลดการใช้พลังงานลงได้อย่างมาก รวมทั้งช่วยลดการก่อมลพิษอากาศที่เกิดจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ด้วย

ทั้งนี้ หากมีการนำระบบขนส่งมวลชนแบบรถประจำทางด่วนพิเศษ หรือ BRT ตามที่ได้จัดทำแผนแม่บทไว้มาใช้กับเมืองเชียงใหม่ จากการศึกษาพบว่าระบบขนส่งมวลชนดังกล่าว จะสามารถรองรับการขนส่งผู้โดยสารได้ประมาณ 300,000 เที่ยวคน/วัน และจะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะในการเดินทางมากยิ่งขึ้น เพิ่มจากทุกวันนี้ที่มีการใช้บริการอยู่ประมาณร้อยละ 8 ของการเดินทางทั้งหมดในเมืองเชียงใหม่เป็นร้อยละ 27 และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลงได้ปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท

“ในช่วงที่เราศึกษาจัดทำแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนเมืองเชียงใหม่กันอยู่ ราคาน้ำมันยังอยู่ที่ลิตรละประมาณ 18 บาท ซึ่งเราพบว่าหากมีการนำระบบขนส่งมวลชนมาใช้กับเมืองเชียงใหม่ได้ในตอนนั้น ก็จะช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในเรื่องของน้ำมันไปได้ปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท ขณะที่เวลานี้น้ำมันแพงขึ้นจนไปอยู่ที่ลิตรละ 30 กว่าบาทแล้ว ดังนั้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าหากมีการนำระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพมาใช้กับเมืองเชียงใหม่ จะช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลงไปได้อีกเป็นจำนวนมากอย่างแน่นอน” ดร.รังสรรค์ กล่าว

ด้านนายชุมพล ฐิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพลังงานภูมิภาคที่ 10 เชียงใหม่ แสดงความเห็นว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งแล้วที่รัฐบาลจะต้องเร่งส่งเสริมผลักดัน ให้มีระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพเกิดขึ้นในเมืองเชียงใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะราคาน้ำมันมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเชียงใหม่ในปัจจุบันมีจำนวนรถยนต์จดทะเบียนนับล้านคัน เป็นอันดับสองของประเทศ และมีอัตราการใช้รถยนต์ในเมืองแทบจะ 1 คนต่อรถยนต์ 1 คัน ซึ่งทำให้สิ้นเปลืองพลังงานมาก และยังเป็นการก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศตามมาอีกด้วย

ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนจะมีการใช้รถยนต์อย่างหนาแน่น ทำให้การจราจรบนท้องถนนแออัดไม่ต่างจากการจราจรในกรุงเทพฯ ซึ่งหากยังไม่มีการริเริ่มนำระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพมาใช้ เกรงว่าในที่สุดแล้วจะมีปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย ทั้งการสิ้นเปลืองพลังงาน การจราจรแออัด และปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ทำลายมนต์เสน่ห์ทางการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ทั้งสิ้น

“ถึงเวลานี้ผมว่า มีความจำเป็นแล้วที่คนเชียงใหม่ จะต้องออกมาช่วยกันรณรงค์และผลักดันให้มีการนำระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพมาใช้ในเมืองเชียงใหม่ เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางสำหรับประชาชน เป็นการลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนตัว และเป็นการประหยัดพลังงาน ซึ่งเท่าที่ทราบที่ผ่านมาจังหวัดเชียงใหม่ได้มีการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทด้วยการนำรถ BRT มาจัดระบบขนส่งมวลชนของเมืองเชียงใหม่ไว้แล้ว ดังนั้น ก็น่าจะมีการผลักดันให้ระบบขนส่งมวลชนดังกล่าวเกิดขึ้นจริงโดยเร็ว” ผู้อำนวยการสำนักงานพลังงานภูมิภาคที่ 10 เชียงใหม่ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น