xs
xsm
sm
md
lg

‘อินฟราสตรักเจอร์ ฟันด์’ในไทยเกิดยากโปรดักส์มีน้อย-สัญญาภาครัฐมีความเสี่ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เหล่าผู้จัดการกองทุนแสดงทรรศนะ การจัดตั้งกองทุนเพื่อโครงสร้างพื้นฐาน ในระบบสาธารณูปโภคของไทย ยังไม่มีความเหมาะสม เหตุมีสินค้าเชิญชวนรายย่อยน้อย อีกทั้งผลตอบแทนมีความเสี่ยง หากภาครัฐไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญา ระบุนานาประเทศมีการจัดตั้งกันเพียบ เพราะผลตอบแทนดี ภาครัฐและเอกชนเคารพในสัญญาที่ตกลงกันไว้

นายบุญชัย เกียรติธนาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน (บลจ.) ธนชาต จำกัด กล่าวถึงแนวโน้มการจัดตั้งกองทุนเพื่อลงทุนในโครงการสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภคในประเทศว่า ว่า กองทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับประเทศไทยนั้นยังไม่มีความน่าสนใจ เนื่องจากมีโปรดักส์ให้น่าเข้าไปลงทุนไม่เยอะมาก เช่นเดียวกับกองทุนประเภทสุขภาพ (เฮลพ์แคร์ ฟันด์) ที่ยังมีโปรดักส์ในเรื่องนี้อยู่เพียงเล็กน้อย

“กองทุนประเภทนี้ในต่างประเทศ มีโอกาสและทางเลือกมากกว่าในเมืองไทย ที่หลายๆประเทศมีการจัดตั้งกองทุนเหล่านี้ได้ เพราะเขามีสินค้าที่จะขายให้กองทุนได้เยอะ อาทิ สนามบิน ถนน รถไฟฟ้า ก็มีขนาดใหญ่กว่าของเราแล้ว ดังนั้นหากบลจ.ไหนมีแนวคิดที่จะจัดตั้งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ความว่าจะสมารถจัดตั้งได้แต่เพียงไซด์เล็กๆเท่านั้น”

ขณะที่ นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า แนวคิดการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดี แต่กับเมืองไทยในปัจจุบันยังไม่มีความเหมาะสมที่จะจัดตั้งหรือเข้าลงทุนในกองทุนโครงการพื้นฐาน เนื่องจากอาจไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ลงทุนได้

นอกจากนี้ สินทรัพย์ที่จะนำมาขายให้กับกองทุน สำหรับประเทศไทยแล้วยังมีน้อยอยู่ ขณะเดียวกันเรื่องดังกล่าวยังต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสัญญาหรือข้อตกลงของรัฐบาลด้วยว่า จะเป็นไปตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ได้หรือไม่ เช่น การสร้างทางด่วนพิเศษ ที่มีเงื่อนไขในสัญญาต้องปรับขึ้นราคาค่าใช้บริการในทุก 5 ปี แต่ถ้าถูกรัฐบาลสั่งชะลอการปรับขึ้น ก็จะทำให้ผลตอบแทนไม่ดี หรือไม่เป็นไปตามที่กำหนดหรือตกลงกันไว้ในสัญญา ทำให้ไม่น่าลงทุน

“ในหลายประเทศ ได้มีการจัดตั้งกองทุนประเภทนี้กันเยอะ อาทิเช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย หรือในประเทศยุโรป แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้กองทุนเหล่านี้ได้รับความสนใจ เพราะว่าพวกเขาคือทั้งฝ่ายรัฐบาล และผู้จัดตั้งกองทุน ต่างเคารพด้านเงื่อนไขสัญญาที่ตกลงกันไว้ ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับผลตอบแทนสม่ำเสมอ และอยู่ในอัตราที่ดี ดังนั้นหากใครที่มีแนวคิดที่จะจัดตั้งกองทุนประเทศนี้ต้องศึกษาในเรื่องดังกล่าวเป็นสำคัญด้วย”

ด้านนายกำพล อัศวกุลชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานธุรกิจกองทุนรวมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)ไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าวว่ากองทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านสาธาณูปโภคนั้น มีความเป็นไปได้ที่อาจจะอาจจะมีการจัดตั้งขึ้นในประเทศไทย แต่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับภาครัฐ บาลเพราะปัจจุบันภาครัฐเลือกที่จะกู้ยืมจากต่างประเทศมากกว่า โดยเฉพาะธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิก)

อย่างไรก็ตาม ต่อไปในอนาคตอาจจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนมากขึ้น จึงอาจจะมีการระดมทุนผ่านกองทุนรวม เช่นกองจัดตั้งกองทุนรวมวายุภักษ์ 2-3 ก็มีความเป็นไปได้

ก่อนหน้านี้ บลจ. ฟินันซ่า จำกัด ออกมาเปิดเผยว่า บริษัทมีแผนที่จะจัดตั้งกองทุน โกลบอล อินฟราสตักเจอร์ฟันด์ ซึ่งเป็นกองทุนเอฟไอเอฟที่เน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ประกอบกิจการโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โรงผลิตไฟฟ้า ท่าเรือน้ำลึก ฯลฯ ทั่วโลกในปี 2551 โดยคาดว่าน่าจะยื่นขออนุญาตกับทางคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ภายในไตรมาส 1 นี้ และคาดว่าจะสารมารถเปิดจำหน่ายหน่วยลงทุนได้ภายในเดือนมีนาคม 2551

เช่นเดียวกับ บลจ.พรีมาเวสท์ จำกัด ที่ได้ออกกองทุนต่างประเทศ( FIF ) ภายใต้ชื่อ กองทุนเปิดพรีมาเวสท์(ไทยแลนด์) ไดนามิก วอเตอร์ ฟันด์ มูลค่าโครงการ 1,700 ล้านบาท เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ของปีที่ผ่านมา โดยกองทุนดังกล่าวมีนโยบายลงทุนในธุรกิจน้ำและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำ ผ่านดัชนี WOWAXD ซึ่งเป็นหุ้นจำนวน 20 ของบริษัทที่มีความมั่นคงสูงมีขนาดใหญ่ ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนาผ่านกองทุนรวมหลัก (Lyxor Dynamic Water Fund)ซึ่งเป็นกองทุนที่จดทะเบียนในฮ่องกง

สำหรับรายละเอียดของธุรกิจน้ำและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำ แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ประกอบด้วย 1. กลุ่มบริษัทด้านการสาธารณูปโภค(Water Utilities) เช่น บริษัทที่ดำเนินธุรกิจผู้ผลิตและบริษัทบำบัดน้ำเสีย ธุรกิจการวางโครงข่ายที่จำเป็นเพื่อป้องกันการขาดแคลนน้ำ 2. กลุ่มบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านโครงสร้างพื้นฐาน(Water Infrastructure) ซึ่งเป็นบริษัทที่มีบทบาทสำคัญด้านโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรมน้ำ ได้แก่ ผู้ผลิตท่อ ปั๊ม วาล์ว และมาตรวัด รวมถึงบริษัทที่ปรึกษาด้านการวางโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และ3.กลุ่มบริษัทจัดการคุณภาพน้ำ(Water Treatment) ได้แก่ ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีสำหรับฆ่าเชื้อ การกรอง และการกลั่นน้ำ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม กองทุนดังกล่าว เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการรับผลตอบแทนสูงจากศักยภาพของการขยายตัวของอุตสาหกรรมน้ำผ่านการลงทุนในหลักทรัพย์ของดัชนีWOWAXD นอกจากนี้มีโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีทั้งในภาวะที่ตลาดทุนมีความผันผวนต่ำและสูง

ขณะเดียวกัน บลจ. ไอเอ็นจี ที่มี "กองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย โกลบอล วอเตอร์" (ING Thai Global Water Fund) หรือ ING GW ภายใต้การบริหารภายใต้การบริหารจัดการ ซึ่งเป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในต่างประเทศ(FIF)โดยเน้นลงทุนในกิจการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมน้ำทั่วโลกเช่น ได้เคยเปิดเผยถึง ผลตอบแทนของกองทุนดังกล่าวเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2550 ว่า ING GW อยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยสามารถเติบโตได้ในสถานการณ์ที่ตลาดทุนทั่วโลกกำลังผันผวนอย่างหนัก

ทั้งนี้ รูปแบบการลงทุนของกองทุน ING GW จะเป็นการลงทุนในดัชนี s&p global water index ผ่านกองทุน claymore s&p global water index etf ที่ครอบคลุมหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ “น้ำ” ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลก รวมทั้งหมด 50 บริษัท โดยกองทุน ing gw ถือเป็นการลงทุนในกองทุนETF กองแรกของบริษัท

โดยบริษัทจดทะเบียนที่ทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องและมีรายได้จากน้ำที่อยู่ใน ดัชนี s&p global water index แบ่งออกเป็น 2 ประเภทชัดเจน ได้แก่ ธุรกิจสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับน้ำ จำนวน 25 บริษัท ประกอบด้วย ธุรกิจการจัดหาน้ำ การทำน้ำประปา การบำบัดน้ำเสีย การผลิตน้ำ และระบบลำเลียงน้ำ และ ธุรกิจวัสดุและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำ จำนวน 25 บริษัท เช่น ธุรกิจผลิตสารเคมีบำบัดน้ำเสีย อุปกรณ์บำบัดน้ำเสีย เครื่องสูบน้ำ ท่อลำเลียงน้ำ ตลอดจนมาตรวัดน้ำ

อนึ่ง ข้อมูลจากสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ จากผลสำรวจความเห็นนักวิเคราะห์ล่าสุด เกี่ยวกับแนวโน้มการลงทุนในตลาดหุ้นช่วงธันวาคม 2550 – ธันวาคม 2551 โดยจากผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักวิเคราะห์ในด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคมและการเมืองสำหรับปี 2551 เทียบกับปี 2550 พบว่า นักวิเคราะห์ร้อยละ 65 เชื่อว่า เศรษฐกิจ ในปี 2551 จะดีขึ้นจากปี 2550 เล็กน้อย โดยมีนักวิเคราะห์ร้อยละ 15 มีความเชื่อมั่นเท่าเดิม สำหรับในด้านสังคมและการเมืองนักวิเคราะห์ร้อยละ 65 เชื่อมั่นจะดีขึ้นเล็กน้อย และร้อยละ 25 มีความเชื่อมั่นเท่าเดิม

สำหรับ มาตรการสำคัญที่นักวิเคราะห์เสนอแนะให้รัฐบาลชุดหน้าที่มาจากการเลือกตั้ง ดำเนินการเพื่อประโยชน์ของเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม อันดับแรกคือ การผลักดันและเร่งรัดการลงทุนและใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการขนาดใหญ่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภคขนส่งมวลชนและโลจิสติกส์ มีผู้ตอบร้อยละ 65 อันดับที่สองคือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่จริงจังและต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน โดยมีผู้ตอบร้อยละ 30 ด้านกฎหมายและมาตรการสำคัญ เป็นอันดับที่สาม มีผู้ตอบร้อยละ 25 โดยนักวิเคราะห์เสนอให้เร่งสร้างความชัดเจน และใช้ความรอบคอบในการพิจารณากฎหมายที่สำคัญ เช่น พรบ.ค้าปลีกค้าส่ง พรบ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว มาตรการกันสำรอง 30% เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น