xs
xsm
sm
md
lg

ชะตาโชวห่วยใต้กรงเล็บยักษ์ค้าปลีก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ไม่คิดว่าการผลักดันร่างกฎหมายค้าปลีก ซึ่งใกล้จะถึงปลายทางแล้วกลับต้องเผชิญกับอำนาจแฝงที่เข้ามาทุกรูปแบบจนทำให้ชะงักในที่สุด นับจากนี้ห้างยักษ์ใหญ่คงฉวยโอกาสเร่งขยายสาขาให้เร็วที่สุด และเมื่อถึงวันที่กฎหมายดังกล่าวสามารถออกมาบังคับใช้ก็ไม่มีความหมายแล้วเพราะห้างฯ ผุดสาขาเต็มไปหมดแล้ว” พันธุ์เทพ สุลีสถิร รองประธานศูนย์ประสานงานผู้ค้าปลีกและผู้ประกอบการอิสระของคนไทย (ศปท.) ให้ความเห็นหลังรับทราบว่าร่างพ.ร.บ.ค้าปลีกค้าส่งฯ ถูก วิษณุ เครืองาม ประธานคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ สนช. เก็บเข้าลิ้นชักก่อนสภาฯ จะปิดสมัยการประชุม รอคณะผู้บริหารประเทศชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่
หลายปีมาแล้วที่โชวห่วยทั่วประเทศกว่า 700,000 ร้าน ตกอยู่ใต้กรงเล็บยักษ์ค้าปลีกต่างชาติและทุนระดับชาติซึ่งเป็นพันธมิตรธุรกิจกับทุนต่างชาติ คราใดที่ทุนยักษ์ยาตราทัพลงไปบรรดาโชวห่วยในพื้นที่เป้าหมายต่างล้มหายตายจากชนิดราบเป็นหน้ากลอง
เริ่มจากหัวเมืองใหญ่จากเหนือจรดใต้ แทรกซึมลึกลงไปถึงอำเภอรอบนอกไม่เว้นแม้ท้องถิ่นทุรกันดาร ขณะเสียงคร่ำครวญโอดโอยของทุนเล็กทุนน้อยที่ร้อยเรียงเป็นกระดูกสันหลังเศรษฐกิจของชาติ ที่ขอให้รัฐฯ ยื่นมือเข้าช่วยเหลือ วางกฎกติกาเพื่อความอยู่รอดกันทุกฝ่ายไม่เคยได้รับการเหลียวแล
“สนช. และรัฐบาลชุดนี้สร้างความผิดหวังให้แก่ผู้ค้าปลีกผู้ค้าส่งรายย่อยอย่างมาก ที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพวกเราได้ คงต้องยกประเทศให้ทุนต่างชาติเป็นใหญ่ ขณะที่ค้าปลีกรายย่อยของไทยสูญสิ้นไปหมด ผู้มีอำนาจยืนดูความพ่ายแพ้ของผู้ประกอบการคนไทยที่ล้มตายต่อหน้าอย่างเลือดเย็น” พันธุ์เทพ ตอกย้ำ
เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความสำเร็จของทุนยักษ์ค้าปลีกข้ามชาตินั้นเกิดขึ้นจากการอาศัยช่องว่างช่องโหว่ของกฎหมายที่มีอยู่และเกิดจากการเอื้อประโยชน์ให้กับทุนข้ามชาติของเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ รวมถึงการเข้าร่วมทุนหรือเป็นหุ้นส่วนธุรกิจกับทุนท้องถิ่นและกลุ่มอิทธิพล ดังนั้น ถึงแม้จะมีกฎหมายที่เข้ามากำกับดูแลถึง 8 ฉบับ แต่ก็ไม่สามารถชะลอการรุกขยายสาขาของยักษ์ค้าปลีกได้ พวกเขาจึงหวังอย่างยิ่งต่อกฎหมายค้าปลีกฯ ที่จะออกมา
สำหรับกฎหมายทั้ง 8 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ. 2518, พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522, พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542, พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542, พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ, พ.ร.บ.กำหนดราคาสินค้าและบริการฯ, พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ และกฎหมายว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น
ไม่นับการออกมติคณะรัฐมนตรี ที่ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด พิจารณายับยั้ง ชะลอการเปิดสาขาของห้างค้าปลีกสมัยใหม่ทั่วประเทศ พร้อมทั้งให้ทำหนังสือเวียนถึงเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทุกแห่งในพื้นที่ให้ยึดเป็นแนวปฏิบัติเพื่อเป็นมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อโชวห่วย ร้านค้าปลีกรายย่อย
แต่กฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี คำสั่ง ที่ออกมาก็ไม่สามารถระงับยับยั้งการขยายธุรกิจของทุนยักษ์ได้ เพราะช่องโหว่ช่องว่าง เช่น พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ ที่มีช่องให้ฉกฉวยเพราะสามารถใช้เงื่อนไขตามมาตรา 39 ทวิ แจ้งการก่อสร้าง “เพื่อทราบ” เท่านั้น
ขณะที่พ.ร.บ.ผังเมืองฯ แม้จะมีข้อกำหนดเรื่องการใช้อาคารพาณิชย์ค้าปลีก- ค้าส่ง จะต้องอยู่ห่างจากตัวเมืองไม่ต่ำกว่า 15 กม. แต่กลับมีมาตรา 10 (2) ที่เปิดช่องให้เทศบาล – อบต. สามารถออกเทศบัญญัติ ข้อบังคับ อนุญาตให้ห้างใหญ่เข้ามาเปิดสาขาได้โดยขอความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งผู้ว่าฯ จะส่งต่อให้สำนักควบคุมอาคารตรวจสอบ พิจารณาภายใน 60 วัน ก่อนจะส่งให้รัฐมนตรีพิจารณาใน 30 วัน เป็นต้น
นอกจากนั้น บรรษัทค้าปลีกข้ามชาติ ยังเร่งระดมขยายสาขาก่อนหน้าที่ประกาศกรมโยธาธิการและผังเมืองฉบับใหม่ ที่กำหนดหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ในการวางและจัดทำผังเมืองรวมจะทยอยประกาศบังคับใช้ ในปี 2550
ซ้ำร้ายในหลายพื้นที่ผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่น ยังปกปิดข้อมูลการขออนุญาตเข้ามาตั้งสาขาไม่ให้ประชาชนในพื้นที่รู้ ด้วยผลประโยชน์ที่ซุกซ่อน เข้าไปมีส่วนได้เสียกับการเข้ามาตั้งสาขา ไม่ว่าจะเป็นการขายที่ดิน การให้เช่าที่ดิน หรือแม้กระทั่งผลประโยชน์ใต้โต๊ะและบนโต๊ะผ่านคำอธิบายว่าอยากให้ท้องถิ่นเจริญ ดังกรณีในพื้นที่อ่างทอง, สุพรรณบุรี, ศรีสะเกษ, สระแก้ว, ระนอง ฯลฯ
การสมประโยชน์กันระหว่างทุนค้าปลีกต่างชาติกับกลุ่มต่างๆ ในท้องถิ่นทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ กลุ่มอิทธิพล นายทุนที่ดินในท้องถิ่นซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจ-นักการเมืองที่มีอิทธิพลในพื้นที่ ล้วนส่งผลให้แรงต้านทุนค้าปลีกยักษ์ใหญ่จากผู้ค้าปลีกรายย่อยอ่อนล้าและหมดแรงลง
อาจกล่าวได้ว่า หนทางข้างหน้าตลอดปี 2551 ชะตาโชวห่วยคงไม่ต่างไปจากเดิม เหลียวมองทางไหนล้วนแต่ตีบตัน ครั้นจะหันกลับมาพัฒนาร้านเล็กๆ ก็ติดขัดทั้งทุน ทั้งอำนาจต่อรอง และแรงโหมโปรโมชั่นตัดราคาของยักษ์ค้าปลีกเพื่อเข่นฆ่าให้ร้านค้าย่อยให้ดับสิ้น
อย่างไรก็ตาม ตลอดปีนี้ กลุ่มโชวห่วยที่ยังพอมีเรี่ยวแรงและหวังพึ่งพากระบวนการยุติธรรม ยกคดีขึ้นสู่ศาลปกครอง ยังต้องเดินหน้าสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ต่อไป หลังจากคดีความที่นำขึ้นสู่ศาลปกครองชั้นต้นถูกยกคำฟ้องเกือบทั้งหมดด้วยคำสั่งศาลที่ให้เหตุผลว่าผู้ฟ้อง “ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง”
ขณะที่ฟากฝั่งของโชวห่วยดับดิ้นเหลือรอดน้อยถอยลงทุกวันเวลา ทุนยักษ์ใหญ่ค้าปลีกต่างเฟื่องฟู เติบโตก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จากการมีสาขาเพียง 1,800 แห่ง เมื่อปี 2544 เพิ่มขึ้นเป็น 5,000 แห่ง ในปี 2550 และมีแนวโน้มเพิ่มเป็น 5,700 แห่งในเร็ววันนี้ พร้อมกับยึดกุมส่วนแบ่งตลาดประมาณ 60% ของมูลค่ารวม 1.3 ล้านล้านบาท และมีอัตราเติบโตของยอดขายสูงถึงปีละประมาณ 20% โดยมียักษ์ค้าปลีก เทสโก้ โลตัส จากอังกฤษ รั้งอันดับหนึ่งในขบวนทุนยักษ์ข้ามชาติ
การทุ่มทุนขยายสาขาปีหนึ่งหลายพันล้านบาท พร้อมกับการซอยแบ่งโมเดลร้านค้าปลีกของกลุ่มทุนค้าปลีกข้ามชาติให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะ เทสโก้ โลตัส บิ๊กซี เป็นหัวใจของความสำเร็จในการขยายสาขา โดย เทสโก้ โลตัส มีรูปแบบค้าปลีกถึง 4 รูปแบบ ตามขนาดของพื้นที่ คือ ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ ขนาด 10,000 ตรม.ขึ้นไป, แวลูสโตร์ (ร้านคุ้มค่า) 6,000-8,000 ตรม., ตลาดโลตัส 700 – 1,500 ตรม. และโลตัสเอ็กเพรส (คอนวีเนียนสโตร์) ขนาด 500 ตรม.
ส่วนบิ๊กซี มีซุปเปอร์เซ็นเตอร์ มาตรฐาน 10,000 ตรม.ขึ้นไป, ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ คอมแพ็ค 6,500 ตรม., ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ มินิคอมแพ็ค ขนาด 4,500 ตรม. และลีดเดอร์ไพรซ์ ขนาด 300 ตรม.
เมื่อบวกกับกลยุทธ์การทำธุรกิจที่ใช้วิธีขายลดราคาถึงขั้นขายต่ำกว่าทุนในบางโอกาส เพื่อดึงดูดลูกค้า เพิ่มยอดขาย เพิ่มกำไร เพิ่มส่วนแบ่งการตลาด สร้างอำนาจต่อรองกับผู้ผลิตหรือซัพพลายเออร์ พร้อมๆ กับการแสวงหารายได้อื่นๆ ที่มาพร้อมกับการขยายสาขาและลูกค้าที่เพิ่มขึ้น ล้วนแต่หนุนส่งให้ยักษ์ค้าปลีกประสบความสำเร็จอย่างงดงาม และดูเหมือนว่า ลูกค้าหรือผู้บริโภค จะพึงพอใจที่มีทางเลือกในการจับจ่ายใช้สอยและได้สินค้าราคาถูกในช่วงโปรโมชั่น
กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่จับเอาลูกค้าเป็นพวกได้ ทำให้ประเด็นผลกระทบเชิงโครงสร้างทางธุรกิจค้าปลีกค้าส่งของไทยที่ถูกยึดกุมโดยทุนยักษ์ค้าปลีกข้ามชาติและทุนใหญ่ระดับชาติที่จะก่อให้เกิดผลกระทบตามมาเป็นลูกโซ่ ถูกเพิกเฉยจากผู้บริโภคและผู้คนสังคมที่ยังมองไม่เห็นผลลัพธ์ที่จะตามมา เมื่อการรุกรานถึงขีดสุด วิถีชีวิต วัฒนธรรม ชุมชนย่อมเลี่ยงการล่มสลายไปไม่พ้น
ส่วนการจ้างงานที่หมุนเวียนอยู่ในระบบค้าปลีกค้าส่งทั่วประเทศกว่า 6 ล้านคน จะถดถอยลงเพียงใดเมื่อห้างยักษ์รุกเปิดสาขาจนกระทั่งร้านเล็กร้านย่อยตายเกลี้ยง พนักงานที่ห้างว่าจ้างก็มีเพียงเท่าที่จำเป็นเพราะมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยมากขึ้น
ยังไม่นับช่องทางระบายสินค้า ทั้งสินค้าเกษตร สินค้าจากผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ผลิตภัณฑ์จากชุมชนท้องถิ่นที่เคยกระจายไปตามร้านค้าต่างๆ ก็ลดน้อยลง หากจะส่งเข้าห้างก็ไม่มีอำนาจต่อรอง หรือตกอยู่ใต้เงื่อนไขที่ห้างเป็นผู้กำหนด
เมื่อโครงสร้างธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป ไม่เพียงแต่โชวห่วยเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ ผู้ผลิตสินค้า กระทั่งผู้บริโภคก็จะตกเป็นเหยื่อ เหมือนดังเช่นที่เกิดขึ้นในต่างประเทศอย่างอังกฤษ ประเทศแม่ของเทสโก้ โลตัส ที่มีการฮั้วขึ้นราคาสินค้าโดยผู้บริโภคถูกเอาเปรียบข้ามปี สูญเสียประโยชน์หลายล้านปอนด์
ผลกระทบที่จะตามมาเป็นลูกโซ่ดังกล่าวข้างต้น หาใช่เป็นเรื่องวิตกเกินเหตุ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง กระทั่งมีการสรุปบทเรียน ถ่ายทอดประสบการณ์จากพื้นที่หนึ่งสู่พื้นที่หนึ่งทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
โลกทุนนิยมแข่งขันเสรีไร้ขอบเขต เอื้ออำนวยให้ทุนใหญ่ไล่ล่าทุนเล็กโดยไม่มีขีดจำกัด เสมือนชะตาโชวห่วยที่ตกอยู่ใต้กรงเล็บยักษ์ค้าปลีกจะขยุ้มก็ตายจะคลายก็รอด ขณะที่ผู้มีอำนาจวางกฎกติกานั่งมองการเข่นฆ่าอย่างเลือดเย็น
กำลังโหลดความคิดเห็น