xs
xsm
sm
md
lg

ชู4มาตรการสู้น้ำมันแพงสั่งดูผลดี-เสียปิดปั้ม 4 ทุ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คจร.เห็นชอบ 4 มาตรการเร่งด่วนการจราจรขนส่งเพื่อแก้ปัญหาราคาน้ำมันพุ่ง ขณะเดียวกันสั่งศึกษาผลดี ผลเสีย หากต้องย้อนกลับมาใช้มาตรการปิดปั้ม 4 ทุ่ม ส่วนมาตรการสลับเวลาทำงาน 3ช่วงแก้ปัญหาจราจรติดขัดในพื้นที่ กทม.พบ ขรก.กว่า 70 % ยังชอบทำงานช่วง 8 โมงเช้า

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก( คจร.) นัดสุดท้าย ที่มีนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.อุตสาหกรรม เป็นประธาน เห็นชอบตามมาตรการจราจรขนส่ง 4 มาตรการระยะเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย 1. เร่งรัดดำเนินการปรับปรุงระบบขนส่งในลักษณะการเชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะ เช่น เชื่อมโยงทางรถและทางเรือ

2. เร่งรัดมาตรการเพิ่มผิวการจราจรโดยรณรงค์ให้ใช้รถสาธารณะมากขึ้น 3. ให้หน่วยราชการรัฐวิสาหกิจพิจารณาจัดหาสถานที่ราชการหรือรัฐวิสาหกิจให้ประชาชน ได้ใช้ที่จอดรถ และ 4. มาตรการประหยัดพลังงาน ให้หน่วยราชการปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานทดแทน ส่งเสริมการใช้ก๊าชเอ็นจีวี

ทั้งนี้ในที่ประชุม คจร. ตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงเร่งด่วน อาจต้องรณรงค์ให้ใช้ รถแท๊กซี่แทนการใช้รถยนต์ส่วนตัวมากขึ้น โดยอาจมีมาตรการอื่นที่จูงใจ และเพิ่มสถานบริการเชื้อเพลิงทดแทนให้เพียงพอกับความต้องการผู้ใช้

ขณะเดียวกันยังมีมาตรการย่อย เช่น มาตรการลดหย่อนภาษีกับผู้ผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงาน แม้ขณะนี้จำนวนผู้ผลิตจะน้อย แต่ก็ต้องเร่งส่งเสริม รวมถึงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาการกลับมาใช้มาตรการกำหนดเวลา ในการเปิดปิดปั๊มน้ำมันอีกครั้งหลังจากที่ผ่านมารัฐบาลเคยประกาศให้ปั๊มเปิดเวลา 05-.00 น.-22.00 น. ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมและผลได้หรือผลเสีย หากผลศึกษาเห็นควรให้กำหนดเวลาก็เป็นเรื่องที่ต้องเสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณา อีกครั้ง

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมยังรับทราบความคืบหน้ามาตรการการขอยกเว้น การปฎิบัติงานในการสลับเวลาทำงานของหน่วยงานราชการเพื่อแก้ปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ผ่านความเห็นชอบ ครม. มาแล้วก่อนหน้านี้ โดยได้กำหนดมาตรการสลับเวลาการทำงานไว้ 3 ระยะเวลา เได้แก่ 1. เวลา 07.30 น.-15.30 น. 2. เวลา 09.30 น.-16.30 น. และ 3. เวลา 09.30 -17.30 น. จากเดิมที่สถานที่ราชการจะเปิดทำการเวลา 08.00 -16.00 น.

ทั้งนี้แผนดังกล่าวอยู่ในช่วงการขอความเห็นจากหน่วยงานราชการต่างๆ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ว่าช่วงไหนเป็นเวลาที่เหมาะสม แต่จะเป็นการให้สลับเวลาตามความสมัครใจของหน่วยราชการนั้น

อย่างไรก็ตามจากความเห็นของหน่วยงานราชการ ส่วนใหญ่เห็นว่า การทำตามความสมัครใจมีบางหน่วยงาน ที่ครอบครัวของข้าราชการมีปัญหาในเรื่อง ของกิจกรรมของครอบครัวไม่ตรงกัน เช่น การไปส่งลูกหลานไปโรงเรียน เป็นต้น

อย่างไรก็ตามได้มีการยกเว้นส่วนราชการ 3 ส่วนที่ได้รับการยกเว้นในการสลับเวลาในการทำงาน เช่น สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานอาหารและยา(อย.) กรมส่งเสริมการส่งออก , สำนักงานขนส่งทางบก ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้ ได้ขอยกเว้นเพราะข้าราชการมีความจำเป็นในการทำงานอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่หน่วยงานอย่างสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) และหน่วยงานที่มีข้าราชการจำนวนน้อยก็ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องสลับเวลาทำงาน รวมทั้งราชการที่ต้องติดต่อกับข้าราชการการเมือง เช่น สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, รัฐสภา

รายงานข่าวแจ้งว่าบางหน่วยงานได้ให้เหตุผลขอไปทบทวนการสลับเวลาทำงาน เนื่องจากเห็นว่ากว่า 70 % ของข้าราชการยังต้องการทำงานในช่วง 08.00- 16.00 น. เช่น กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมพัฒนาที่ดิน ฯลฯ ที่ต้องการจะลดค่าใช้จ่าย ในการใช้พาหนะหน่วยงานราชการมากกว่าที่จะให้ทำการสลับเวลา
กำลังโหลดความคิดเห็น