xs
xsm
sm
md
lg

“สุจิตต์” นักประวัติศาสตร์ชื่อดังไม่ฟันธงประสาทพระวิหารของไทยหรือเขมร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุจิตต์ วงษ์เทศ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์บรรยายพิเศษเรื่อง “ประวัติศาสตร์แห่งชาติและปราสาทพระวิหาร”
อุบลราชธานี - ม.อุบลฯ จัดบรรยายประวัติศาสตร์และปราสาทพระวิหาร โดยนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ “สุจิตต์ วงษ์เทศ” ซึ่งยืนยันขอมคือเขมรปัจจุบัน แต่ไม่ฟันธงกรณีปราสาทพระวิหารเป็นของไทยหรือเขมร

วันนี้ (21 ก.ค.) ที่โรงละครคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นายสุจิตต์ วงษ์เทศ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ได้บรรยายพิเศษเรื่อง “ประวัติศาสตร์แห่งชาติ และปราสาทพระวิหาร” โดยมีอาจารย์ นักศึกษา ประชาชนสนใจเข้าร่วมฟังจนล้นโรงละครกว่า 500 คน เพราะต่างคาดหวังที่จะได้ฟังจุดยืนนักประวัติศาสตร์ชื่อดังผู้นี้ชี้นำว่าแท้จริงแล้ว ประสาทพระวิหารนั้นชาติใดเป็นเจ้าของระหว่างไทย และกัมพูชา

อย่างไรก็ตาม การบรรยายเน้นเนื้อหาสาระการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาติพันธุ์ต่างๆ เมื่อกว่า 3,000 ปี ซึ่งขณะนั้นภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่มีการแบ่งเป็นชนชาติชัดเจนเหมือนปัจจุบัน มีเพียงกลุ่มชาติพันธุ์เล็กๆ เช่น มอญ ขอม ไทยใหญ่ ไทยน้อย โดยกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมดมีภาษาและวัฒนธรรมเชื่อมโยงสอดคล้อง จึงเป็นพี่น้องไม่มีการแบ่งแยกอาณาเขตชัดเจน

นายสุจิตต์ กล่าวถึงความรุ่งเรืองของชาติพันธุ์ขอมหรือเขมรปัจจุบันว่า ขณะนั้นขอมมีอารยธรรมมากกว่าชาติพันธุ์อื่น โดยมีเมืองพระนคร หรือนครวัด-นครธม เป็นศูนย์กลางของอารยธรรม มีเมืองสุโขทัยควบคุมดูแลเส้นทางคมนาคม ในลุ่มแม่น้ำยมและพื้นที่ติดทะเลอันดามัน มีเมืองอโยธยาที่โตขึ้นมาพร้อมเมืองละโว้ดูแลลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาเมื่อชาติพันธุ์ต่างๆ เริ่มรุ่งเรืองขึ้นภายหลังจึงมีการสถาปนาแบ่งแยกเป็นชนชาติต่างๆ

“สำหรับชนชาติไทยเกิดขึ้นในยุคของจอมพล ป.พิบูลสงคราม และต้องการให้กระทรวงศึกษาธิการเปลี่ยนตำราใช้สอนเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทยให้ชัดเจน จะได้ไม่เรียนรู้กันอย่างผิดๆ”

โดยตลอดการบรรยายมีการขับเสภา และมีการนำเพลงที่แต่งโดยหลวงวิจิตรวาทการมาขับร้องโดยวงออเคสตราลูกทุ่งกรมศิลปากร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดการบรรยายผู้บรรยายพยายามหลีกเลี่ยงการกล่าวถึงปราสาทพระวิหารอย่างตรงไปตรงมา แต่ยอมรับว่าขอมคือต้นตระกูลของชนชาติเขมรปัจจุบัน แม้ช่วงการตอบข้อซักถามที่มีผู้ถามว่า เมื่อคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นคนกลุ่มเดียวกัน กรณีความขัดแย้งปราสาทพระวิหารจะแก้ปัญหาอย่างไร ผู้บรรยายรายนี้ตอบเลี่ยงว่า ต้องการให้ร่วมกันดูแล ไม่ต้องการให้ทะเลาะกัน และต้องมีการศึกษาด้านประวัติศาสตร์เพิ่มเติมควบคู่กันไปด้วย

นอกจากนี้ ได้มีการนำหนังสือ “ปราสาทพระวิหาร ทำไม? มาจากไหน” เขียนโดยนายสุจิตต์ วงษ์เทศ พิมพ์ขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2551 แจกให้ผู้ร่วมฟังการบรรยาย โดยหนังสือเล่าความเป็นมาของชาติพันธุ์ในภูมิภาคนี้ รวมทั้งความร่วงโรยของอาณาจักรขอม กระทั่งปราสาทพระวิหารถูกทิ้งให้รกร้างว่างเปล่าอยู่บนเทือกเขาพนมดงรัก แต่ไม่มีการกล่าวถึงการค้นพบตัวปราสาทพระวิหารเมื่อ พ.ศ.2442 โดยกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์

แต่กลับมีการนำภาพกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะทรงฉายไว้ระหว่างทางขึ้นเขาพระวิหารร่วมกับนายทหารฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ.2472 มาตีพิมพ์ไว้ที่ปกหลัง

ขณะเดียวกัน บริเวณหน้าโรงละคร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้นำภาพประวัติศาสตร์การค้นพบปราสาทพระวิหารโดยกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ขณะมาปกครองมณฑลบูรพา เมื่อ พ.ศ.2442 หรือ รศ.118 พร้อมระบุว่าหลังการค้นพบกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ได้ขนานนานปราสาทพระวิหารว่า “ปราสาทพรหมวิหาร” และระบุด้วยว่ายังพบรอยจารึกการค้นพบของกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ที่ชะง่อนผาเป้ยตาดีความว่า “118 - สรรพสิทธิ” ด้วย
อาจารย์ นักศึกษา ประชาชนสนใจเข้าร่วมฟังจนล้นโรงละครกว่า 500 คน เพราะต่างคาดหวังที่จะได้ฟังจุดยืนนักประวัติศาสตร์ชื่อดังผู้นี้ชี้นำว่าแท้จริงแล้ว ประสาทพระวิหารชาติใดเป็นเจ้าของระหว่างไทยกับกัมพูชา

กำลังโหลดความคิดเห็น