xs
xsm
sm
md
lg

“ฉลามชล” ภาค 2 บนเส้นทาง ไทยลีก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในรอบปี 2550 ที่ผ่านมานับว่าวงการฟุตบอลไทยตื่นตัวและคึกคักขึ้นมากมาย นับเนื่องมาจากความสำเร็จของทีมชาติไทยในหลายรายการ ตั้งแต่ผ่านเข้ารอบ 20 ทีมสุดท้ายของศึกฟุตบอลโลก 2001 โซนเอเชีย คว้าแชมป์ฟุตบอลซีเกมส์ ครั้งที่ 24 รวมถึงการคว้าแชมป์ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ครั้งที่ 38

โดยความสำเร็จที่ผ่านมานั้นถือเป็นการแจ้งเกิดของผู้เล่นหลายรายไม่ว่าจะเป็น อดุล หละโสะ, อาทิตย์ สุนทรพิธ, เกียรติประวุฒิ สายแวว รวมทั้ง สุรีย์ สุขะ ซึ่งต่างเป็นผู้เล่นกำลังหลักของสโมสรฟุตบอลชลบุรีที่สร้างผลงานเกรียงไกรในศึกไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก 2007 แชมป์ฟุตบอลลีกอาชีพสูงสุดของประเทศได้อย่างพลิกความคาดหมาย หลังปราบทีมลูกหนังชั้นนำจากเมืองหลวงอย่าง “มังกรไฟ” บีอีซี เทโรศาสน หรือ “วายุภักษ์” ธนาคารกรุงไทย พร้อมกับปั้นดาวมาประดับวงการลูกหนังไทยได้อย่างน่าชื่นชม

จากการประกาศศักดาความสามารถในเกมลูกหนังของสโมสรชลบุรีนับเป็นการสร้างปรากฏการณ์ใหม่แห่งวงการฟุตบอลไทย เมื่อทีมจากต่างจังหวัดทีมนี้เป็นทีมแรกที่คว้าแชมป์ฟุตบอลลีกสูงสุดของประเทศได้ จึงมีคำถามว่า “อะไรคือจุดเริ่มต้นแห่งความสำเร็จของชลบุรี”

- จากทีมภูธรสู่นครแห่งลูกหนัง
ท่ามกลางความร้อนของเปลวแดดจากฟากฟ้าสะท้อนสู่พื้นสนามฟุตบอลเทศบาลเมืองชลบุรีที่ตั้งอยู่ริมทะเลอ่าวไทย เราได้พบกับหนุ่มใหญ่ร่างท้วม ที่ชื่อ อรรณพ สิงห์โตทอง ในฐานะผู้ช่วยผู้จัดการสโมสรฟุตบอลชลบุรี ที่เป็นเหมือนหัวเรือใหญ่ของทีมมาโดยตลอด จนแฟนคลับของทีมยกฉายา “เดอะ เซนต์” ให้กับเขาคนนี้ไปด้วยความเต็มใจ

อรรณพ เปิดเผยถึงความสำเร็จที่ผ่านมาของสโมสรชลบุรีว่ามาจากความร่วมมือของทุกฝ่ายที่ต้องการเห็นทีมฟุตบอลจากภาคตะวันออกอย่าง “ชลบุรี เอฟซี” ประสบความสำเร็จในฟุตบอลลีกสูงสุดของประเทศ

“ความสำเร็จทุกอย่างมาจากการบริหารจัดการที่ดีโดยมีคุณสนธยา คุณปลื้ม ในฐานะประธานสโมสร และ คุณวิทยา คุณปลื้ม ในฐานะผู้จัดการทีม ที่ดูแลทีมชลบุรีมาเป็นอย่างดี รวมไปถึงหน่วยงานในระดับท้องถิ่นทั้ง อบจ. เทศบาล จังหวัด ที่เราต้องขอความร่วมมีเขาทั้งเรื่องสนาม ที่พัก เรื่องรถ งบประมาณ รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานเอกชน เช่น ช้าง อมตะ โค้ก ปตท. หรืออะไรก็แล้วแต่ที่สนับสนุนเรื่องเงิน ซึ่งถือว่าดีมากสำหรับชลบุรีที่ได้รับการสนับสนุนเหล่านี้”

ส่วนประกอบอื่นที่นำพาความสำเร็จสู่สโมสรลูกน้ำเค็มแห่งนี้ “เดอะ เซนต์” กล่าวว่า

“ปัจจัยต่อมาคือเรามีทีมงานที่ดี ไม่ว่าจะเป็น จเด็จ มีลาภ ที่รับหน้าที่โค้ช และความหมายของตำแหน่งนี้สำหรับผมแล้วคือคนที่ต้องทำตามนโยบายของผู้บริหารได้ รวมถึงโค้ชทีมโรงเรียนอย่างอัสสัมศรีราชา และโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ก็เดินตามแนวทางของทีมชลบุรีที่กำหนด คือทั้งสองโรงเรียนนี้เป็นเหมือนกับ อคาเดมีของทีมเรา ผู้เล่นส่วนใหญ่ หรือเกือบทั้งหมดก็ผ่านมาทางสองโรงเรียนนี้”

“เมื่อเราบริหารทีมได้ดี มีการวางแผนล่วงหน้า นักฟุตบอลฝีเท้าดีมันก็เยอะขึ้น ตัวเลือกเราก็มีเยอะขึ้น พอเด็กจากทั้งสองโรงเรียนจบ ม.6 เราก็จับส่งไปเรียนตามสถาบันการศึกษาต่างๆ เขาก็ไปเรียนรู้ทักษะการเล่นฟุตบอลจากที่ต่างๆ พอเก่งขึ้นเราก็เรียกกลับมารวมทีมชลบุรีกันใหม่ มารวมกับเยาวชนของเราที่ฝีเท้าดี มันก็เลยกลายเป็นทีมชลบุรีขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน”


- ลบรอยอันธพาลลูกหนังสู่ “ชาร์กอาร์มมี่”
นอกจากจะได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็นทีมฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จเรื่องถ้วยรางวัล และการจัดอย่างมีระบบมากกว่าสโมสรอื่นๆ ในไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก “ฉลามชล” ยังเป็นทีมที่ได้รับการยอมรับในส่วนของการจัดตั้งกองเชียร์ที่สร้างสีสันและความคึกคักได้มากที่สุดในเวลานี้ โดยแต่ละนัดที่ลงฟาดแข้ง ณ สนามเทศบาลเมืองชลบุรี ซึ่งเป็นสนามเหย้าของทีม จะมีกองเชียร์นับพันคนเข้าชมการแข่งขัน

ซึ่งเรื่องนี้ “เดอะ เซนต์” ยอมเปิดอกพูดถึงจุดเริ่มต้นของ “ชาร์กอาร์มมี่” ว่า

“ผมโชคดีมากที่มีเพื่อนดี มีเจ้านายดี มีลูกน้องดี ทุกอย่างมันก็เลยดีตามไปด้วย แต่ที่โชคดีกว่านั้นคือ ชลบุรี มีกองเชียร์ที่ดี ซึ่งส่งผลกับทีมมาก”

“จุดเริ่มต้นของกองเชียร์ชลบุรีเกิดจากช่วงแรกๆ ที่ทีมลงแข่งขันมันค่อนข้างเงียบ คนไทยเราไม่กล้าแสดงออก จะรักจะชอบก็ไม่บอก นั่งดูกันนิ่งๆ ทีนี้มันไม่สนุกผมเลยเรียกลูกน้องผมที่เป็น อบต. บอกให้เขาขับรถกระบะตระเวนพาพวกนักเลง วินมอเตอร์ไซด์ แถวบ้านมาก่อนเลย พวกวัยรุ่นเกเรนั่นแหละมาช่วยกันเฮในสนามหน่อย แรกๆ มันก็เกเรตามประสาแหละ ด่ากรรมการบ้าง ด่าคู่แข่งบ้าง แต่มันก็เป็นสีสันในสนาม จากนั้นก็เริ่มเอารถบัสไปรับพวกนี้มาเชียร์คือพอมันเริ่มส่งเสียงเฮฮา ก็มีอีกกลุ่มที่กล้าขึ้นมา คือเป็นกองเชียร์คุณภาพ เริ่มมาแล้ว”

การอยู่รวมกันของกองเชียร์ทีมลูกหนังจำนวนมาก ย่อมหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้ยาก ซึ่ง อรรณพ ก็ยอมรับในเรื่องดังกล่าว “คือช่วงแรกๆ ก็มีตะโกนด่าหยาบคาย ทีนี้มันเสียถึงภาพพจน์ของทีมสิ ผมต้องไปทำความเข้าใจกับเขาว่ารักกันจริงก็อย่าหยาบคาย ไม่ชอบโห่ได้ ซึ่งเขาก็ดี เดี๋ยวนี้เพลาไปเยอะแล้ว แต่ถามว่ายังมีอยู่ไหมก็มีอยู่ เรื่องธรรมดาของคนเชียร์บอล แต่พอจบเกมเขาก็จบนะ จับมือกับกองเชียร์ฝ่ายตรงข้าม ถ่ายรูปกับนักฟุตบอลคู่แข่งก่อน แล้วค่อยมาถ่ายรูปกับนักฟุตบอลทีมเรามันเริ่มดีขึ้น เขาคุยกันเอง อย่างในพรีเมียร์ลีกอังกฤษนี่เขาชี้หน้าด่ากัน แจกของลับกัน มันก็ของเขา แต่ของเราทำแบบนั้นไม่ได้ เดี๋ยวจะลุกลามใหญ่โต เราไปน่ารักแบบของเราดีกว่า”

“จากที่เคยเชียร์กันในสนามเฉยๆ ทีนี้ก็ลุกลามออกไปแล้ว กองเชียร์เขาเริ่มต้นจากการที่เขาไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลย ต่างคนมาจากต่างตำบล ต่างอำเภอ ต่างซอย แต่พอมาถึงสนามกองเชียร์เขามีการถามไถ่พูดคุยกัน เออบ้านอยู่ไหน ทักทายกัน มันเลยเกิดเป็นกลุ่มเป็นก้อน ต่อมาเขาก็ทำเว็บไซด์ http://www.chonburifc.net กันเอง เป็นการขยายข้อมูล เป็นแหล่งแพร่กระจายข่าวสาร เป็นศูนย์กลางการติดต่อของแฟนคลับกัน เมื่อพร้อมทุกอย่างก็จะมาเอง”

“เรามีกลุ่มแฟนฟุตบอลที่ชัดเจน ต่อจากนี้ใครก็อยากเป็นสปอนเซอร์หน้าอกเสื้อชลบุรี มากกว่าทีมดังแต่แฟนน้อยอย่าง บีอีซีฯ หรือ กรุงไทย มันไม่ใช่ว่าสโมสรอื่นๆ ในกรุงเทพฯเขาไม่ดี เพียงแต่เราพูดถึงเรื่องความเป็นไปได้ ซึ่งทุกทีมทำได้เหมือนที่เราทำ เพราะเมื่อ 15 ปีที่แล้วเราก็เหมือนทีมอื่นๆ แต่วันนี้ชลบุรีมาถึงวันนี้ได้ เพราะเรามีแผนการที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าจะทำอะไร ซึ่งต่อให้ทุกอย่างดี มีแบ็กอัพดี สปอนเซอร์ดี การจัดการทีมดี ถ้าคุณผลงานไม่ดี แฟนบอลจะมาเชียร์ไหม สุดท้ายก็มีแต่เสียเงิน แล้วแฟนหาย แต่วันนี้พอทำทีมดี เล่นเกมบุก ทีมชนะ คนก็เฮมาหนุนหลังเรา แฟนฟุตบอลเดินกลับบ้านด้วยความยิ้มเปื้อนหน้า เพราะเราทำให้เขามีความสุข เขากล้าพูดกล้าคุยกับคนอื่นว่าเขาเป็นแฟนทีมชลบุรี”

- สนามใหม่คืออนาคตและหัวใจแห่งการอยู่รอด
เมื่อประสบความสำเร็จทั้งในแง่ของความสำเร็จ และกองเชียร์ แต่ทีมดังแห่งเมืองชล กลับไม่สามารถมีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ โดย “เดอะ เซนต์” กล่าวยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่สโมสรชลบุรีจะยืนอยู่ได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพาเงินอุดหนุนจากประธานสโมสร งบประมาณจังหวัด และผู้สนับสนุนที่เป็นแบรนด์สินค้าต่างๆ ในเวลานี้

“ตอนนี้อย่าเพิ่งพูดถึงเรื่องรายได้กัน เพราะยังไงมันก็ไม่คุ้ม ปัจจัยการสร้างสโมสรฟุตบอลอาชีพมันอยู่ที่รายได้ ต้องถามว่าวันนี้คุณมีรายได้พอหรือยังที่จะกลายเป็นทีมฟุตบอลอาชีพที่เลี้ยงตัวเองได้ อย่างสนามเทศบาลชลบุรีที่เราใช้เป็นสนามเหย้า ตีเป็นความจุ 4,000 คน ตั๋วราคา 30 บาทต่อ 1 คน แต่เก็บค่าตั๋วได้แค่ 1,000 คนเท่านั้น ที่เหลือก็เป็นบัตรหน้าด้าน บัตรปีน บัตรมุด คือสังคมไทยมันยังมีเรื่องแบบนี้อยู่เยอะ อย่างที่ผ่านมานัดที่เก็บค่าบัตรได้เยอะคือนัดชลบุรี เจอ บีอีซีฯ เราได้สตางค์ 55,000 บาท เพราะขายบัตรได้แค่ 1,650 คน ทั้งๆที่คนดูเยอะ แต่พวกขอเข้ามาดูเยอะกว่า”

“หากวันใดเรามีสนามฟุตบอลที่ได้มาตรฐานพวกเข้ามาดูไม่จ่ายเงินก็ไม่มีแล้ว เพราะรั้วรอบขอบชิด จะเข้าต้องมีบัตร ใครไม่มีก็ไม่ให้เข้า เพราะสนามมันดี เก็บเงินคนดูได้ เอาแค่คนเข้าสนาม 8,000 คน หรือ 10,000 คน เมื่อแฟนติดแล้ว แต่คุณต้องมีสนามฟุตบอลที่ดี เหมือนโรงหนังเมเจอร์ เสียค่าดูประมาณ 2 ชั่วโมง โรงหนังมีเบาะที่นั่งดี มีอาหารดี มีห้องน้ำสะอาด สนามฟุตบอลก็เหมือนกัน ต้องมีที่นั่งให้เขา มีห้องน้ำสะอาด มีอาหารการกินสมบูรณ์ มี เคเอฟซีสำหรับคนที่เขาชอบ พ่อแม่เขาก็อยากพาลูกมาดูในวันเสาร์-อาทิตย์ ถ้ามีสนามฟุตบอลดีเมื่อไหร่ เชื่อผมฟุตบอลอาชีพเกิด แต่ถ้ามีสนามฟุตบอลแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เป็นที่นั่งปูนยาวๆ ใครเดินเหยียบขี้หมามาเช็ดกับพื้นที่นั่ง ห้องก็น้ำสกปรก แล้วใครมันจะอยากมาดู”

โดย “เสี่ยณพ” ยืนยันว่าสนามฟุตบอลที่ได้มาตรฐานจะสามารถทำให้สโมสรยืนอยู่ได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง “ถ้ามีสนามดีๆ เก็บบัตรราคา 100 บาท ความจุสนาม 10,000 คน ต่อนัด เก็บเงินได้ 1 ล้านบาท แข่งไทยลีก15 นัด ได้ 15 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีรายได้จากการขายอาหาร ขายเครื่องดื่ม คิดเล่นๆ ดูว่า 1 คน เฉลี่ยกินวันละ 50 บาทที่สนามฟุตบอล ก็ได้ 5 แสนบาทแล้ว กับฟุตบอล 1 นัด เสื้อทีม หรือของที่ระลึกต่างๆ สมมติซื้อกันเอาสักแค่อาทิตย์ละ 1,000 คนมันได้เท่าไหร่ รวมถึงป้ายสปอนเซอร์ต่างๆ ที่ติดริมสนาม เอาเป็นป้ายละ 10,000 บาท ติดไป 20 ป้ายได้เท่าไหร่ เมื่อเราจัดการได้ดีทุกอย่างก็จะตามมาเอง”

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการวางแผนถึงเรื่องสนามเหย้าแห่งใหม่ที่ตั้งเป้าจุผู้ชมที่ 10,000-15,000 ที่นั่ง ทว่าความหวังดังกล่าวก็ยังเป็นเพียงความฝันของผู้บริหารทีม รวมทั้งนักเตะ และกองเชียร์

“เรื่องสนามใหม่ของชลบุรีเป็นเรื่องที่อย่างไรเสียก็ต้องสร้าง แต่ว่ามันจะได้เมื่อไหร่ ยังไม่มีใครรู้ เพราะจะต้องใช้งบประมาณมหาศาลทีเดียว เราต้องรอซึ่งผมก็เชื่อว่ากองเชียร์ทุกคนรอได้ เพราะจากจุดเริ่มต้นถึงวันที่เราเป็นแชมป์ไทยลีก ก็ 15 ปีมาแล้ว ผมเชื่อว่าคงไม่ต้องรอกันนานขนาดนั้น แล้วเราจะเป็นสโมสรฟุตบอลอาชีพแห่งแรกของเมืองไทยให้ได้”

คงต้องรอดูกันต่อไปว่า สุดท้ายแล้วสโมสรฟุตบอลชลบุรีจะก้าวสู่ความเป็นสโมสรฟุตบอลระดับอาชีพอย่างแท้จริงได้เมื่อไหร่และจะมีสโมสรใดก้าวตามเส้นทางสายนี้ร่วมกันบ้าง แต่ต้องยอมรับว่าตลอดเส้นทางการฝ่าฟันด้วยตัวเองแล้วมาได้ถึงขนาดนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “ฉลามชล” คือทีมที่มีผลงานสุดยอดจริงๆ

**************************
เรื่อง/ภาพ เชษฐา บรรจงเกลี้ยง







กำลังโหลดความคิดเห็น