สวัสดีครับผม Mr. Leon มาแล้ว ที่เมืองไทยมีหัวข้อคุยเปรียบเทียบลักษณะนิสัยบุคลิกภาพของคนจังหวัดต่างๆ บ้างหรือเปล่าครับ ที่ญี่ปุ่นมีเว็บไซต์และมีหัวข้อพูดคุยแสดงความคิดเห็นว่าคนจังหวัดไหนหรือภูมิภาคใดมีลักษณะนิสัยอย่างไร เพราะคนแต่ละภูมิภาคจะมีลักษณะนิสัยที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งมีหัวข้อการจัดอันดับจังหวัดที่คนนิสัยไม่ดีเอาไว้ด้วย ส่วนใหญ่จากหลายๆ โพลจะมีอยู่สามจังหวัดที่จะขึ้นอันดับ Top3 / Top5 อยู่เสมอ นั่นคือ นาโกย่า (จังหวัดไอจิ) โอซาก้า เกียวโต ก็มีจังหวัดอื่นเบียดขึ้นมาบ้างแต่อย่างไรก็ตามสามจังหวัดนี้ติดโพลสลับกันไปสลับกันมาเสมอเลย และจังหวัดหรือภูมิภาคที่ไม่ค่อยติดอันดับคนนิสัยไม่ดีมักจะเป็นแถบฮอกไกโด (ซัปโปโร) , เมืองศูนย์กลางโทฮกกุอย่างเซนไดก็ไม่ติดโพล หรือเมืองศูนย์กลางของคิวชูอย่างฟูกุโอกะอาจจะมีบ้างแต่ก็น้อย
และชาวโตเกียวเองก็ได้รับการจัดอันดับในการสํารวจนี้เช่นกัน เพราะมีความเย็นชามาก แต่สมัยก่อนดั้งเดิมนั้นคือชาว 江戸っ子 Edokko เด็กจากสมัยเอโดะที่อาศัยอยู่ในโตเกียวมีจำนวนน้อยและเป็นชาวเมืองท้องถิ่น แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป กลายเป็นเมืองหลวงใหญ่ เป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง ก็เกิดการรวมตัวกันของคนจากภูมิภาคต่างๆ ด้วยเหตุผลหลายประการเช่น หางานทำ หรือ หาโรงเรียนที่ดี คนในโตเกียวส่วนใหญ่จะเป็นคนจากจังหวัดอื่น บางคนแสดงตนว่าเป็นคนโตเกียว ด้วยความที่มีความหลากหลายบางโพลจึงละไว้ในการจัดอันดับ
ทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นการวิจารณ์ที่เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลนะครับ ควรใช้วิจารณญาณในการพิจารณา เพราะเป็นไปไม่ได้ว่าทุกคนจะเป็นคนไม่ดีหรือเป็นคนดีทั้งหมด คนเราก็อาจจะมีส่วนที่ดีและไม่ดีอยู่บ้าง และคำว่านิสัยไม่ดีในความเห็นเหล่านี้ อาจจะต้องแยกก่อนว่าคนที่มีบุคลิกแบบนักเลง ไม่ได้แปลว่าเป็นคนไม่ดีเสมอไป คนที่นิสัยแย่ในที่นี้หมายถึงมีนิสัยเห็นแก่ตัวเอง ทำตัวเองเป็นศูนย์กลาง หรือคนที่มีนิสัยแตกต่างจากคนปกติจนทำให้เกิดความสับสนในการคบหาสมาคม หรือมารยาทไม่ดี เป็นต้น และต้องเรียนให้ทราบว่าบทความนี้ไม่ได้กล่าวร้ายคนที่อยู่ในจังหวัดดังกล่าวนะครับ เป็นการนำเสนอความคิดเห็นของคนญี่ปุ่นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ ในประเด็นเรื่องนิสัยของคนจังหวัดต่างๆ จากประสบการณ์ที่พวกเขาเคยไปอยู่อาศัยมาเท่านั้น
คนที่มาแสดงความคิดเห็นนั้นมาจากคนจากจังหวัดอื่นที่มีโอกาสย้ายไปอยู่ในจังหวัดดังกล่าวซึ่งเขาจะเห็นว่ามีลักษณะการใช้ชีวิตที่แตกต่างจากสภาพแวดล้อมเดิมและท้องถิ่นที่ตนเองเคยอยู่อาศัย อนึ่งอีกเหตุผลหนึ่งนั้นเพราะทั้งสามจังหวัดดังกล่าวเป็นจังหวัดใหญ่ศูนย์กลางของภูมิภาคนั้นๆ จึงมีคนจากหลายๆ ส่วนเข้ามาอยู่อาศัยจำนวนมาก การที่มีคนจำนวนมากก็อาจจะทำให้เกิดความหลากหลาย และแตกต่างทางลักษณะนิสัย และมีคนนิสัยไม่ดีอยู่เยอะก็เป็นได้
ซึ่งที่ญี่ปุ่นจะมีการโยกย้ายงานตามวาระ เรียกว่า 転勤 tenkin พนักงานบริษัทญี่ปุ่นโดยทั่วไปจะคุ้นเคยกับคำนี้เป็นอย่างดี คือการเปลี่ยนแปลงสถานที่ทํางานจากสถานที่ทํางานหนึ่งไปสาขาต่างจังหวัด หรือการโยกย้ายจากสํานักงานใหญ่ไปยังสํานักงานสาขา หรือ การโยกย้ายจากสํานักงานสาขาหนึ่งไปยังอีกสํานักงานสาขาหนึ่ง เป็นต้น บางบริษัทใหญ่ๆ อาจจะมีออฟฟิศสำนักงานสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ นั่นเองทำให้พนักงานบริษัทหลายคนได้มีโอกาสไปใช้ชีวิตในจังหวัดต่างๆ และมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับลักษณะของคนในจังหวัดที่เคยอยู่
ตัวอย่างความคิดเห็น เช่น
●ฉันย้ายตามสามีมาอยู่ที่นาโกย่า ช่วงที่สามีทำงานที่นี่ ฉันรู้สึกว่าทั้งผู้หญิงผู้ชายส่วนใหญ่เห็นแก่ตนเป็นใหญ่ ดูจะมีความภาคภูมิใจในความเป็นมนุษย์มาก แต่บางทีอาจจะเป็นเพราะเป็นเมืองใหญ่ศูนย์กลางด้วยหรือเปล่าจึงมีผู้คนที่หลากหลายมารวมตัวกันจำนวนมาก ( แม่บ้านสาว อายุ 38 ปี )
●ผมว่าคนโอซาก้าแปลก ดูภายนอกจะน่ากลัวหน่อย ภาพลักษณ์ภายนอกอาจจะดูเหมือนวายร้ายแต่บางทีข้างในก็จิตใจดี คําพูดที่ดูก้าวร้าวรุนแรง แม้ในความเป็นจริงพวกเขาเต็มไปด้วยความมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ก็อาจทำให้คนเข้าใจผิดได้ ( พนักงานบริษัทหนุ่ม อายุ 35 ปี)
สมัยก่อนที่ยังไม่มีอินเตอร์เน็ต คนทั่วไปจะเขียนบทความทางสื่อหนังสือพิมพ์ และการขายโฆษณาทางสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ เป็นที่นิยมมาก โฆษณาต่างๆ นั้นก็ให้ผลลัพธ์ที่ดีมาก มีการขายหนังสือพิมพ์แบบส่งตรงถึงหน้าบ้าน ผู้อยู่เบื้องหลังธุรกิจเหล่านี้ก็เป็นผู้มีอิทธิพล หรือเรียกว่าพวกยากูซ่าก็ได้ เวลามีคนมาเคาะประตูบ้านเพื่อเสนอขายหนังสือพิมพ์ หรือคนที่มาเผยแพร่ศาสนาก็ตาม คนทั่วไปจะค่อนข้างรำคาญอาจจะสอบถามคนที่มาเคาะประตูว่า "ใครนะ ?" และมีการโต้ตอบกันตามปกติ แต่ส่วนใหญ่ถ้าเปิดประตูบ้านออกมาก็เสร็จนักขายที่มีศิลปะการเจรจาต่อรองที่สุดยอดมาก ดังนั้นหลายๆ คนจึงไม่อยากคุยกับคนขายหนังสือพิมพ์ที่มาเคาะประตู มีเรื่องเล่าว่าถ้าไปเคาะบ้านคนโอซาก้าแท้ ก็จะเจอคนในบ้านตะโกนถามออกมาว่า “ใครมา!! 誰やねん!? Dareyaran!! ( ゚Д゚) “ ด้วยภาษานักเลงสักหน่อย แต่ถ้าคนขายรู้แนวก็จะโต้ตอบต่อไป
●แต่มีคนโอซาก้าบางคนขี้เกียจคุยกับนักขายหนังสือพิมพ์จะแกล้งพูดเป็นภาษาฮิโรชิมาว่า “แกเป็นใคร ? 誰ならぁ!? Darenaraa!! ( ゚Д゚) “ เมื่อคนขายหนังสือพิมพ์ได้ยินก็จะหนีทันที เพราะภาพลักษณ์คนฮิโรชิมานักเลงจริง กลัวมีเรื่องจึงถอยดีกว่า ทำไมคิดว่านักเลงเพราะเมืองที่มีท่าเรือมักจะมีพวกยากูซ่าและนักเลงเยอะนั่นเอง
●ชาวเกียวโตมักจะซ่อนความตั้งใจที่แท้จริงของพวกเขา ( พนักงานบริษัทหนุ่ม อายุ 46 ปี)
●ถ้าให้เปรียบเทียบจิตใจกับใบหน้าที่แสดงออกมา คนเกียวโตดูภายนอกเหมือนเป็นเจ็ดเทพเจ้าแห่งความโชคดี แต่จริงๆ แล้วภายในเป็นเหมือนปีศาจ ทัศนคติและคําพูดที่ดูเหมือนจะอ่อนโยน แต่มีมีนัยยะแอบแฝงที่น่ากลัว ( พนักงานบริษัทหนุ่ม อายุ 52 ปี)
เคยมีคนชาติตะวันตกแปลคำพูดของคนเกียวโตเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งคนญี่ปุ่นอ่านแล้วก็จะเข้าใจตรงกันว่าที่แปลมาไม่ตรงกับสิ่งที่คนเกียวโตจะสื่อเสียแล้ว เพราะว่าภาษาที่แปลออกมากับภาษาที่คนเกียวโตต้องการจะสื่อจริงๆ นั้นเป็นคนละความหมายกันเลยเชียว ซึ่งบางทีคนญี่ปุ่นเองก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน เช่น
▲元気なお子さんどすなあ... แปลมาว่า Your child looks Cheerful ลูกของคุณดูร่าเริงสดใสนะ แต่ความหมายที่แท้จริง คือ 静かにしろぉ、こんガキャー💢 Be quiet!! เงียบๆ หน่อยสิ!!
▲お子さんピアノ上手にならはりましたなあ... แปลมาว่า Your child's a good piano player ลูกคุณเล่นเปียโนเก่ง แต่ความหมายที่แท้จริงคือ ピアノの音うるせーよ💢 เสียงเปียโนนี่น่าสะพรึง( หนวกหู) จริงๆ
▲いい時計してはりますなあ... แปลมาว่า it's a good watch. แต่ความหมายที่แท้จริง คือ 話なげーよ。もう帰れ💢 (นี่ก็คุยมานานแล้ว).. กลับบ้านได้แล้ว!
เป็นต้น แค่เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าบางทีสิ่งที่คนพูดออกไป กับสิ่งที่เขาต้องการสื่อออกมานั้นเป็นคนละความหมายกันเลย นั่นหมายถึงถ้าเราต้องคบหาอยู่ในแวดวงของบุคคลเหล่านั้น ก็ค่อนข้างจะน่าอึดอัดและลำบากใจอยู่ไม่น้อย จึงทำให้มีผลโหวตจากหลายโพลว่าบุคคลประเภทนี้มีนิสัยไม่ดีนั่นเอง
ตามปกติแล้วคนญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในเมืองมักจะอาศัยอยู่ตามอพาร์ทเม้นท์หรือคอนโดมิเนียมที่ต้องอาศัยอยู่ร่วมกันจากคนหลายครอบครัว ซึ่งมักจะมีกฎระเบียบของส่วนรวมที่ต้องเคารพกฎร่วมกัน คนที่อยู่ในเมืองใหญ่ๆ อาจต้องคอยระมัดระวังไม่สร้างความรำคาญและรบกวนชาวบ้านข้างเคียง แต่ว่าคนที่อยู่ต่างจังหวัดหรือเมืองชนบทอาจจะแตกต่างคนละกรณี เมื่อก่อนเคยมีข่าวคนในอพาร์ทเมนท์ห้องหนึ่งเล่นเปียโนเสียงดังจนถูกคนในอพาร์ทเมนท์ฆ่าตายเลย น่ากลัวจริงๆ
และคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ที่อายุน้อยกว่า 50 ปีลงมา จะถูกเลี้ยงให้นอนแยกห้องตั้งแต่เด็กจนทำให้โตขึ้นมาแบบมีโลกส่วนตัวและเคยชินกับการอยู่คนเดียว นอนคนเดียว ไม่อยากที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับใครนัก นอกจากนั้นยังไม่มีวิถีของการฝึกหัดการใช้ชีวิตร่วมกันแบบลูกเสือหรือทหาร หรือว่าการพักร่วมห้องแบบแชร์ของใช้กับคนอื่น จึงทำให้ไม่คุ้นชินกับวัฒนธรรมการอยู่แชร์ห้องกับคนอื่นนัก ถ้าจะให้ไปพักด้วยกันกับเพื่อนในห้องเดียวกัน หรือต้องนอนโรงแรมห้องละหลายๆ คน คนญี่ปุ่นที่ถูกเลี้ยงให้อยู่คนเดียวมาตลอดจะค่อนข้างรู้สึกเครียดนิดหน่อย มีความเป็นส่วนตัวสูงนั่นเอง
ตอนที่ผมอยู่อพาร์ทเม้นท์ที่ญี่ปุ่นขนาดมีแค่ 8 ห้องยังไม่ค่อยรู้จักกันเลยครับ อาจจะเคยได้ยินเสียงคนที่อยู่ห้องข้างๆ และห้องข้างบนบ้างว่าทำอะไร ตอนไหน ก็พอจะรู้ว่าแต่ละคนจะมีวิถีชีวิตอย่างไรเพราะว่าบางทีคุณป้าข้างห้องเธอจะไม่ค่อยออกไปไหนแต่ว่าทุกเช้าก็จะทำอาหารแล้วใช้มีดสับหมูสับอะไรของเธอเสียงดังเวลาเดิมๆ หรือเวลาที่คนที่อยู่ห้องข้างบนจะกลับเข้าห้อง จะเปิดปิดห้องเสียงดังจนรู้ว่ากลับมาแล้ว เป็นต้น ทำให้เราพอรู้ว่าเวลาไหนมีคนอยู่ ที่เราจะต้องเกรงใจคนข้างๆ เพิ่มขึ้น
ซึ่งครั้งหนึ่งคุณป้าข้างห้องมาบอกภรรยาผมว่า "ต้องขอโทษนะคะที่อาจจะทำเสียงดังรบกวนบ้าง??" เพื่อนๆ ลองดูครับว่าถ้าเป็นคุณ คุณจะตอบคุณป้าว่าอย่างไร โดยเลือกข้อต่อไปนี้
1. え、どうしてそんなうるさくしてるんですか(・∀・) อืมค่ะ!! ทําไมทำอะไรหนวกหูน่ารำคาญ (・∀・)
2. 別に〜。そんなに気になりませんよ〜(^^)ไม่นี่คะ คุณไม่ได้ทำอะไรน่ารำคาญ ฉันไม่สนอะไรเรื่องแบบนั้นหรอก (^^)
3. いえいえ、こちらこそうるさくしてすみませんm(_ ;)mไม่เลยค่ะ ฉันก็ต้องขอโทษที่อาจจะสร้างความรำคาญเช่นกัน m( _;)m
4. てめえいつもうっせえんだよ!( `)Д´)ノ‘ ห่าเอ้ย ชอบสร้างความรำคาญตลอดเลย ! ( `)Д´)ノ‘
คำตอบข้างต้นจะได้คะแนนดังนี้ครับ ใครตอบข้อ 1. ติดลบ 5 คะแนน, ข้อ 2. ติดลบ 3 คะแนน, ข้อ 3. ได้ 10 คะแนนเต็ม , ข้อ 4. ติดลบ 10 คะแนน ตามลําดับครับ
ตอนนั้นภรรยาผมก็ยิ้มแล้วบอกไปว่า "ไม่เป็นไรค่ะ" แต่รู้ไหมว่าจริงๆ แล้วความหมายที่คุณป้าจะสื่อนั้น เขาจะบอกว่า "พวกแกดังหนวกหูกันมากเลย เบาหน่อยนะ" ซึ่งคำตอบที่ถูกต้องที่ต้องตอบคุณป้าในตอนนั้นก็คือ "ต้องขอโทษด้วยนะคะ ทางเราเองก็จะระมัดระวังเรื่องการใช้เสียงเช่นกันค่ะ" จะว่าไปการที่เขาไม่พูดออกมาตรงๆ นี่เป็นเรื่องที่เข้าใจยากเหมือนกันนะครับ ใครจะไปเข้าใจเขาได้ล่ะ เล่าสู่กันฟังครับ วันนี้สวัสดีครับ