xs
xsm
sm
md
lg

Exclusive เยาวชนญี่ปุ่นคิด “ปลดแอก” ไหม ?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลายประเทศกำลังเผชิญกระแสคนรุ่นใหม่ที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลง เป็นการเผชิญหน้าของคน 2 รุ่น ญี่ปุ่นซึ่งเป็นสังคมอนุรักษ์นิยมก็กำลังถูกดิสรับชั่นจากการเปลี่ยนแปลงของประชากรเช่นกัน ศ.ดร.ปิยะ พงศาพิทักษ์สันติ ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาคนไทยหนึ่งเดียวในญี่ปุ่น เล่าถึงเยาวชนญี่ปุ่นที่กำลังเปลี่ยนไป

ผู้สื่อข่าว MGR Online ประจำญี่ปุ่น นัดสัมภาษณ์พิเศษ ศ.ดร.ปิยะ พงศาพิทักษ์สันติ หรือ “อาจารย์ทอม” คนไทยที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดทางวิชาการในญี่ปุ่น เป็นศาสตราจารย์หนุ่มในวัยเพียง 44 ปี ผู้ซึ่งบอกว่า ตำแหน่งศาสตราจารย์ในญี่ปุ่นแสดงถึงความเชี่ยวชาญทางวิชาการมากกว่าเป็นเสมือนยศศักดิ์ รวมทั้งสังคมญี่ปุ่นที่กำลังเผชิญกับคนรุ่นใหม่ที่ไม่ขวนขวาย

ศ.ดร.ปิยะบอกว่า “สังคมญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับความกลมกลืน ถึงขนาดที่มีคำกล่าวว่าถ้ามีตะปูตัวหนึ่งที่โผล่ขึ้นมา จงตอกมันลงไป ! ญี่ปุ่นจึงไม่ปรากฏภาพความขัดแย้งมากเหมือนในประเทศอื่น เยาวชนไม่ออกมาเรียกร้องบนท้องถนน แต่โครงสร้างสังคมก็บีบให้คนรุ่นใหม่ของญี่ปุ่นต้องเปลี่ยนแปลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

คนรุ่นใหม่ของญี่ปุ่นเป็นยุคที่เรียกว่า ยุโทริ ゆとりหรือ ผ่อนปรน เพราะทุกวันนี้ญี่ปุ่นมีชนชั้นกลางจำนวนมาก คนรุ่นใหม่จึงไม่ต้องขวนขวายเท่ากับพ่อแม่ยุคก่อร่างสร้างชาติ พวกเขารับข่าวสารจากอินเทอร์เน็ต เชื่ออินฟลูเอนเซอร์ ละทิ้งสิ่งของและค่านิยมหลายอย่างที่คนรุ่นเก่าเคยยึดถือ

ผลสำรวจพบว่า เยาวชนญี่ปุ่นวัย 20-30 ปี ห่างเหิน จากรถยนต์และหนังสือพิมพ์ มากที่สุด
ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุและเด็กเกิดน้อย ทำให้มีคน 2 ช่วงวัยที่แตกต่างกันอย่างมาก เยาวชนญี่ปุ่นห่างเหิน ( 離れ บานาเร) จากสิ่งต่าง ๆ ในยุคก่อน มีผลการสำรวจพบว่า คนรุ่นใหม่ของญี่ปุ่นในวัย 20-30 ปี ห่างเหินจากรถยนต์ หนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์ มากที่สุด สิ่งเหล่านี้เคยเป็นสิ่งสำคัญในคนรุ่นก่อน หรือนี่อาจจะเรียกว่า “ปลดแอก” ? เพียงแต่ไม่ใช่เรื่องการเมือง

โฆษณาทางอินเทอร์เน็ตในญี่ปุ่นเริ่มแซงหนังสือพิมพ์เมื่อ 10 ปีก่อน และในปีที่แล้วงบโฆษณาทางออนไลน์ได้แซงหน้าโทรทัศน์ไปแล้ว โลกออนไลน์คือโลกของคนรุ่นใหม่ ส่วนโทรทัศน์และและหนังสือพิมพ์คือสื่อของผู้สูงวัย เมื่อรับสื่อต่างกัน วิถีชีวิตต่างกัน สิ่งที่เชื่อและยึดถือก็ย่อมต่างกันด้วย

ในเรื่องการศึกษา ญี่ปุ่นมีผู้ที่เรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยสูงถึงราวร้อยละ 60 การเรียนมหาวิทยาลัยยังคงเป็นขั้นตอนหนึ่งของชีวิต เชื่อกันว่าถ้าไม่จบมหาวิทยาลัยก็อาจจะไม่ได้งานที่ดี แต่ศ.ดร.ปิยะบอกว่า แนวโน้มใหม่คือนักศึกษายุค “รักสบาย” จำนวนมากเลือกเรียนในมหาวิทยาลัยระดับกลางและวิชาที่ไม่ยากเย็น ไม่ได้มุ่งแข่งขันเพื่อเป็นที่หนึ่งเหมือนในอดีต

สังคมญี่ปุ่นมีการกระจายรายได้ที่ค่อนข้างเท่าเทียม ความแตกต่างทางชนชั้นน้อย ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ต้องดิ้นรน แต่เมื่อถึงวัยทำงานพวกเขาก็พบว่าต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการของคนรุ่นก่อนอย่างหนัก คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยมองว่านี่คือภาระของพวกเขา

โครงสร้างประชากรในทุกวันนี้ทำให้ญี่ปุ่นมีคน 2 รุ่นที่มีโลก 2 ใบ ยิ่งเมื่อญี่ปุ่นต้องเปิดรับผู้คนจากต่างชาติมากขึ้น ต้องเผชิญกับความแตกต่างจากทั้งในบ้านตัวเองและวัฒนธรรมภายนอก เยาวชนญี่ปุ่นก็กำลัง “ปลดแอก” อย่างค่อยเป็นค่อยไป


มหาวิทยาลัยฝ่ากระแสดิสรับชั่น

มหาวิทยาลัยทั่วโลกกำลังเผชิญความท้าทายจากเทคโนโลยีที่ทำให้ความรู้ไม่ได้อยู่แค่ในชั้นเรียนจนคนรุ่นใหม่ในหลายประเทศไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องเรียนในระบบการศึกษา ศ.ดร.ปิยะบอกว่า ญี่ปุ่นยังไม่ไปถึงขั้นนั้น แต่มหาวิทยาลัยก็เผชิญกับความยากลำบากเช่นกัน รัฐบาลญี่ปุ่นได้รับมือกระแสดิสรับชั่นด้วยการไม่สนับสนุนให้เปิดมหาวิทยาลัยเพิ่มเติม
รวมทั้งการให้มหาวิทยาลัยเปลี่ยนทิศทางไปยังสาขาวิทยาศาสตร์ เพื่อตอบสนองเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยเองก็ต้องหาทางรอดทางธุรกิจด้วยการเปิดหลักสูตรสำหรับผู้สูงอายุ คนทำงาน รวมทั้งนักศึกษาต่างชาติ

ศ.ดร.ปิยะยังได้รับเชิญไปสอนที่ประเทศไทยหลายครั้ง เขาเปรียบเทียบว่าความแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือ นักศึกษาไทยไม่ตรงเวลา ไม่ส่งงานตามกำหนด แต่นักศึกษาไทยจะให้ความเคารพอาจารย์มากกว่านักศึกษาญี่ปุ่น ที่จะมองอาจารย์เป็นเหมือนรุ่นพี่
ส่วนการเรียนการสอนในไทยและญี่ปุ่นจะไม่แตกต่างกันมาก คือ มีทั้งการบรรยายและอภิปรายกลุ่ม แต่นักศึกษาจะมีความเกรงใจมาก มีความคิดเชิงวิพากษ์น้อยกว่านักศึกษาชาติตะวันตกที่กล้าตั้งคำถามและโต้แย้ง


ศาสตราจารย์คือผู้เชี่ยวชาญ ไม่ใช่ฐานันดร

การได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ในประเทศไทยจะต้องผ่านกระบวนการของมหาวิทยาลัย ไปสู่กระทรวงเพื่อเห็นชอบ แล้วนำเข้าคณะรัฐมนตรี เพื่อผ่านการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ แต่ศ.ดร.ปิยะบอกว่า ตำแหน่งศาสตราจารย์ในญี่ปุ่นไม่ได้มีกระบวนการโปรดเกล้าฯ เหมือนไทย เป็นการพิจารณาของแต่ละมหาวิทยาลัยให้กับผู้ที่มีผลงานตามวิชาการ มีระยะเวลาการสอน รวมทั้งมีงานเพื่อสังคมตามเกณฑ์ที่กำหนด

“ศาสตราจารย์ในญี่ปุ่นเป็นตำแหน่งทางวิชาการจริง ๆ ไม่ได้ใช้เพื่อแสดงสถานะทางสังคม สอดคล้องกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่ไม่นิยมยกตนข่มท่าน”


จากลูกแม่โดม สู่เส้นทางอาจารย์แดนอาทิตย์อุทัย

หลังจบชั้นปริญญาตรีเกียรตินิยมเหรียญทองด้านโฆษณา คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ม.ธรรมศาสตร์ ปิยะได้เข้าทำงานที่บริษัทโฆษณาชื่อดังอยู่ 3 ปี ก่อนที่จะได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลญี่ปุ่นมาศึกษาต่อ ณ แดนอาทิตย์อุทัย

แต่การมาเรียนต่อที่ญี่ปุ่นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเขาไม่มีพื้นฐานภาษาญี่ปุ่นมาก่อนเลย และเงื่อนไขของทุนคือ ใช้เวลาเรียนภาษาญี่ปุ่นไม่เกิน 2 ปี และต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ หากทำไม่ได้ก็ต้องกลับประเทศไทย

ปิยะต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการเริ่มต้นที่ญี่ปุ่น ในช่วงแรกเขาสื่อสารภาษาญี่ปุ่นไม่ได้เลย เผชิญความยากลำบากทั้งการใช้ชีวิตและการเรียน เขาบอกว่าทุกค่ำคืนเขาจะคัดอักษรคันจิจนนิ้วมือมีรอยกดทับของดินสออยู่ถึงทุกวันนี้ จนในที่สุดก็สามารถเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท-เอก ด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาโอซากาและมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของญี่ปุ่น

ในปีสุดท้ายก่อนจบการศึกษาปริญญาเอก ดร.ปิยะก็ได้งานเป็นอาจารย์ด้านสื่อและข้อมูลที่มหาวิทยาลัยจังหวัดนางาซากิ และปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์คณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยเกียวโตซังเกียว ระยะเวลาที่ใช้ชีวิตในญี่ปุ่นนานกว่า 20 ปี.

โปรดติดตามตอนที่ 2 ศ.ดร.ปิยะ พงศาพิทักษ์สันติ เล่าถึงญี่ปุ่นในวันที่ไม่สามารถเติบโตไปกว่านี้ และความสัมพันธ์ในวันที่ญี่ปุ่น “หมางเมิน” ไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น