xs
xsm
sm
md
lg

Exclusive: ยืนเฉยๆ เขาไม่รัก! ญี่ปุ่นในวันที่ “หมางเมิน” ไทย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่คนไทยมากมายชื่นชอบ แต่ในมุมของญี่ปุ่นแล้ว ประเทศไทยมีความสำคัญน้อยลงเรื่อย ๆ บริษัทญี่ปุ่นเริ่มย้ายฐานการผลิตออกจากไทย ความสนใจของคนญี่ปุ่นต่อประเทศไทยก็ลดน้อยถอยลงเช่นกัน ศ.ดร.ปิยะ พงศาพิทักษ์สันติ ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาคนไทยหนึ่งเดียวในญี่ปุ่น เล่าถึงความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นที่เปลี่ยนไป

ผู้สื่อข่าว MGR Online ประจำญี่ปุ่น นัดสัมภาษณ์พิเศษ ศ.ดร.ปิยะ พงศาพิทักษ์สันติ หรือ “อาจารย์ทอม” ซึ่งใช้ชีวิตในญี่ปุ่นมานานกว่า 20 ปี สังเกตเห็นว่าความสนใจประเทศไทยของชาวญี่ปุ่นลดน้อยลงมาก

“ในช่วงทศวรรษ 1980 มหาวิทยาลัยญี่ปุ่นเปิดสอนภาษากันไทยมาก เพราะไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของอุตสาหกรรมญี่ปุ่น แต่ทุกวันนี้คนญี่ปุ่นที่สนใจเรียนภาษาไทยมีน้อยมาก หลายมหาวิทยาลัยต้องรวมสาขาวิชาภาษาไทยไว้ในสาขาวิชาภาษาเอเชีย เพราะมีนักศึกษาน้อยมาก”

เมื่อมองจากมุมของการศึกษาที่แทบจะไม่มีคนอยากเรียนภาษาไทยแล้ว ก็อาจสะท้อนว่าความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่น-ไทยไม่ได้มีความสำคัญเหมือนเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว

ศ.ดร.ปิยะซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มนักวิชาการญี่ปุ่น-ไทยกล่าวว่า จำนวนผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องประเทศไทยลดลงอย่างมาก ในช่วงทศวรรษ 1980-90 มีจำนวนสมาชิกมากที่สุด เพราะญี่ปุ่นไปลงทุนในประเทศไทย บริษัทญี่ปุ่นส่งคนไปทำงานเมืองไทยจำนวนมาก จึงมีการศึกษาเรื่องประเทศไทยอย่างกว้างขวาง แต่ทุกวันนี้เหลือเพียงอาจารย์รุ่นเก่าที่วิจัยเรื่องเมืองไทย ถ้าอาจารย์เหล่านี้เกษียณอายุไป ก็คงหาคนที่จะสนใจเรื่องของเมืองไทยได้ยากแล้ว

ตัวอย่างที่แสดงถึงสถานะประเทศไทยที่ไม่เหมือนเดิมในสายตาของญี่ปุน คือ การเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งแรกภายหลังนายกฯ โยชิฮิเดะ ซูงะ เข้ารับตำแหน่ง ที่เลือกเดินทางเยือนเวียดนามและอินโดนีเซีย นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้นำญี่ปุ่นเลือกเยือนเวียดนามเป็นประเทศแรก ในเดือนธันวาคม 2555 นายชินโซ อาเบะ ที่เพิ่งรับตำแหน่งนายกฯ ญี่ปุ่น ก็เลือกเยือนเวียดนาม ไทย และอินโดนีเซียเป็นเป้าหมายแรกเช่นกัน แต่ครั้งนี้นายกฯ ซูงะไม่ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทย

ศ.ดร.ปิยะ พงศาพิทักษ์สันติ ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยเกียวโตซังเกียว
คนไทยชอบญี่ปุ่น แต่คนญี่ปุ่นเฉย ๆ กับเมืองไทย

หลังจากญี่ปุ่นมีนโยบาย “ฟรีวีซ่า” นักท่องเที่ยวไทยเดินทางมาญี่ปุ่นอย่างล้นหลาม ติดอันดับสูงสุด เป็นรองเพียงนักท่องเที่ยวจีน เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีผลการสำรวจพบว่า คนไทยมีทัศนคติเชิงบวกต่อญี่ปุ่นสูงในสัดส่วนที่สูงมาก แต่ในมุมของคนญี่ปุ่นแล้ว ศ.ดร.ปิยะมองว่า คนรุ่นใหม่ของญี่ปุ่น “หมางเมิน” 無視 ไม่ได้สนใจประเทศไทย

“ความสำคัญของเมืองไทยในสายตาคนญี่ปุ่นน้อยลงไปเยอะ วัยรุ่นญี่ปุ่นก็ไม่ได้นิยมไปเที่ยวเมืองไทยเหมือนเดิม ถ้าถามว่าทัศนคติของคนญี่ปุ่นต่อเมืองไทยเป็นบวกหรือลบ คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ไม่ได้คิดเลย คือไม่ได้ให้ความสำคัญถึงขนาดที่ต้องคิดว่าบวกหรือลบ”

ศ.ดร.ปิยะคิดว่า ที่คนไทยชื่นชอบญี่ปุ่นอย่างมาก เป็นเพราะญี่ปุ่นเป็นสังคมอุดมคติ ที่คนไทยอยากให้ประเทศไทยพัฒนา
มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยเหมือนญี่ปุ่น นอกจากนี้คนไทยยังไม่รู้ว่าแท้จริงแล้ว ญี่ปุ่นมี “ภาพที่แสดงออก” (ทาเทะมาเอะ 建前) และ “ความรู้สึกจริง” (ฮนเนะ 本音) ที่บางครั้งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

“คนญี่ปุ่นเรียบร้อย น่ารัก มีน้ำใจ ซึ่งเป็นทาเทะมาเอะทั้งหมด....ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ดูสวยงามเพราะทุกคนไม่ได้ทำตามใจตัวเอง แต่ทำตามสิ่งที่สังคมคาดหวัง เช่น ผมยาวแล้วต้องตัด ออกไปข้างนอกต้องแต่งตัวแต่งหน้า ไม่งั้นคนอื่นจะมองเราไม่ดี สิ่งเล็กน้อยเหล่านี้ที่เห็นความสำคัญของคนอื่นมากกว่าตัวเองปรากฎอยู่ในทุกอณูของคนญี่ปุ่น และถูกปลูกฝังมาตั้งแต่ในครอบครัว ในโรงเรียน ในสื่อ”

ผลสำรวจพบว่าคนไทยมีทัศนคติที่ดีต่อญี่ปุ่นสูงที่สุดร้อยละ 96.5
เมืองไทยไม่สำคัญเหมือนเมื่อ 30 ปีก่อน

ประเทศไทยมักเอ่ยอ้างว่าเป็นศูนย์กลางของอาเซียน มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ แต่นั่นคืออดีต ทุกวันนี้ประเทศไทยไม่ใช่ฐานการผลิตที่แรงงานราคาถูกอีกต่อไป แต่ก็ไม่ได้ยกระดับการพัฒนาเพื่ออัพเกรดตัวเอง บริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากจึงย้ายฐานการผลิตไปเวียดนามและประเทศอื่น

ศ.ดร.ปิยะคิดว่า ประเทศไทยต้องมีการกระจายรายได้ที่ดี ใช้ภาษีให้เกิดประโยชน์จริง ๆ เมืองไทยจะพัฒนาและมีความสำคัญในระดับโลกมากขึ้น โดยยกตัวอย่างโรงเรียนในญี่ปุ่น

“โรงเรียนในญี่ปุ่นเหมือนกันแทบทุกแห่ง มาตรฐานทัดเทียมกัน ใช้ตำราแบบเดียวกัน ครูมีคุณวุฒิใกล้เคียงกัน แม้แต่ตึกอาคาร โต๊ะเก้าอี้ก็ไม่แตกต่างกันมาก แสดงถึงความพยายามในการลดความเหลื่อมล้ำ”

นอกจากบทบาทของภาครัฐแล้ว ความก้าวหน้าของญี่ปุ่นมาจาก “ทุกคนทำสิ่งที่ควรจะทำ ไม่ใช่สิ่งที่อยากจะทำ” ชาวญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับกลุ่มและสังคมมากกว่าความต้องการส่วนตัว ทำให้สังคมญี่ปุ่นเป็นไปตามที่ควรจะเป็น

ขณะที่คนไทยมองว่า “ทำได้ตามใจคือไทยแท้” แต่คนญี่ปุ่นจะไม่ทำสิ่งที่ผิดแผกไปจากสังคมส่วนใหญ่ ไม่ทำตามใจตัวเอง แต่ตามทำที่สังคมและกลุ่มคาดหวังให้ทำ


ญี่ปุ่นไม่เติบโตไปกว่านี้

ปัญหาใหญ่ที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญคือ สังคมผู้สูงอายุและขาดแคลนแรงงาน ศ.ดร.ปิยะบอกว่าเป็นปราการสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นไม่อาจรุดหน้าไปมากกว่านี้ และจำเป็นที่จะต้องเปิดให้ชาวต่างชาติมาทำงานในญี่ปุ่นมากขึ้น แต่รัฐบาลญี่ปุ่นยังไม่เปิดรับมากพอ

“ญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมเป็นเกาะจึงกลัวว่าถ้าให้ชาวต่างชาติเข้ามามาก ๆ จะทำให้ความปลอดภัยแย่ลง คนญี่ปุ่นยังกีดกันชาวต่างชาติเพราะคิดว่าไม่เข้าใจวัฒนธรรมญี่ปุ่น จะเข้ากับคนญี่ปุ่นไม่ได้”

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีทั้งมิติของ “การแข่งขัน” และ “ความผูกพัน” เมื่อ 30 ปีก่อน ไทยเคยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของญี่ปุ่น แต่เมื่อมีประเทศอื่นที่ได้เปรียบทางการแข่งขันมากกว่า ธุรกิจต่าง ๆ ก็โยกย้ายไป และส่งผลให้ความผูกพันลดน้อยลงด้วย....เหมือนเช่นคนรักกัน “ถ้าอยากให้เขาให้ความสำคัญก็ต้องทำตัวให้มีความสำคัญ” จะ ยืนเฉย ๆ แล้วจะหวังให้เขามารักคงเป็นไปไม่ได้.
----------------------------------------------------------------------

ย้อนอ่านตอนแรก : ศ.ดร.ปิยะ พงศาพิทักษ์สันติ พูดถึงคนรุ่นใหม่ของญี่ปุ่นที่เปลี่ยนไป
เยาวชนญี่ปุ่นคิด “ปลดแอก” ไหม ?


กำลังโหลดความคิดเห็น