xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นหวังไบเดน เดินหน้านโยบาย “อินโดแปซิฟิก” คานอำนาจจีน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐบาลญี่ปุ่นคาดหวังให้นายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ กลับมาให้ความสำคัญกับชาติพันธมิตร และขับเคลื่อนนโยบาย “อินโดแปซิฟิก” ร่วมกับญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย เพื่อปิดล้อมจีน

นายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูงะแห่งญี่ปุ่น ได้โพสต์แสดงความยินดีถึงนายโจ ไบเดน และนางกมลา แฮร์ริส บนทวิตเตอร์ว่า “ผมตั้งตารอที่จะได้ทำงานกับพวกคุณเพื่อกระชับความเป็นพันธมิตรระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐให้แน่นแฟ้นขึ้น รวมทั้งรับประกันสันติภาพ เสรีภาพ และความรุ่งเรืองในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกและกว้างขวางขึ้น”

ถึงแม้สื่อสหรัฐจะชี้ชัดว่านายไบเดนได้ชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ แต่รัฐบาลญี่ปุ่นยังสงวนท่าที โดยรอจังหวะเวลาที่เหมาะสมหลังมีการถ่ายโอนอำนาจในสหรัฐ เพื่อให้นายซูงะไปเยือนสหรัฐและพบกับนายไบเดน

ถ้อยคำแสดงความยินดีของผู้นำญี่ปุ่นแสดงชัดเจนว่า ต้องการให้นโยบาย “อินโดแปซิฟิกเป็นหลักสำคัญในพันธมิตรระหว่างญี่ปุ่น-สหรัฐ นโยบายนี้ริเริ่มในสมัยของนายกฯ ชินโซ อาเบะ โดยมุ่งจะคานอำนาจจีนจาก2 ฟากฝั่งมหาสมุทร ขณะนี้มี 4 ชาติพันธมิตร คือ ญี่ปุ่น สหรัฐ อินเดีย และออสเตรเลีย ญี่ปุ่นตั้งเป้าจะขยายพันธมิตรให้มากขึ้นอีก โดยประเทศเป้าหมายอันดับ 1 ในขณะนี้คือ เวียดนาม ซึ่งนายกฯ ซูงะ เลือกไปเยือนเป็นประเทศแรกหลักรับตำแหน่งผู้นำญี่ปุ่น


ชัยชนะของนายไบเดนทำให้ญี่ปุ่นผ่อนคลายความไม่แน่นอนจากนโยบาย “สหรัฐอเมริกาต้องมาก่อน” ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมุ่งสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับสหรัฐแต่ฝ่ายเดียว โดยละทิ้งชาติพันธมิตร รวมทั้งกดดันให้ประเทศต่าง ๆ ต้อง “เลือกข้าง” ยืนข้างสหรัฐ ต่อต้านจีน ท่าทีของนายทรัมป์ทำให้ญี่ปุ่นตกที่นั่งลำบาก เพราะญี่ปุ่นต้องการคานอำนาจจีนแบบประนีประนอม ไม่ใช่หักหาญแข็งกร้าวแบบที่ทรัมป์ต้องการ

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังต้องร่วมมือกับสหรัฐในการรับมือกับการระบาดของไวรัสโควิด และปัญหาระดับโลก เช่น ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก และประเด็นด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับโครงการนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ

ญี่ปุ่นประเมินว่า นายโจ ไบเดน จะนำพาสหรัฐหวนคืนสู่ประชาคมนานาชาติ และกลับเข้าสู่ความร่วมมือทางการค้าอย่าง ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP ที่นายทรัมป์ประกาศถอนตัว และญี่ปุ่นรับมาเป็นแกนนำขับเคลื่อนต่อในนาม CPTPP (ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก) รวมทั้ง ความตกลงปารีสปี 2015 ที่ทรัมป์ถอนตัวไปเช่นกัน โดยความตกลงปารีสตั้งเป้าให้ประเทศสำคัญ ๆ ที่รวมถึงสหรัฐและญี่ปุ่นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็น 0 ภายในปี 2593.


กำลังโหลดความคิดเห็น