ญี่ปุ่นประเมินว่าหากนายโจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ จะเป็นประโยชน์ต่อญี่ปุ่นมากกว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งคาดเดานโยบายไม่ได้ และยึดถือประโยชน์ของสหรัฐเป็นใหญ่ จนเหมือนญี่ปุ่นเป็นดั่งลูกไล่
การเลือกตั้งสหรัฐในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากญี่ปุ่นน้อยกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาอย่างมาก เนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิดคือเรื่องที่สำคัญที่สุด แม้แต่การแถลงนโยบายครั้งแรกของนายกฯ โยชิฮิเดะ ซูงะ ก็ยังให้เวลากับเรื่องการพลิกฟื้นเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด รวมทั้งบอกว่าจะรักษาความสัมพันธ์กับจีน และเกาหลีใต้เป็นเพื่อนบ้านที่สำคัญอย่างยิ่ง แทนที่จะพูดถึงความสัมพันธ์กับสหรัฐเหมือนผู้นำญี่ปุ่นคนก่อน ๆ
ในครั้งที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งเป็นผู้นำสหรัฐเมื่อ 4 ปีก่อน กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นตกอยู่ในสภาพ “อลหม่าน” เพราะประเมินว่านางฮิลลารี คลินตัน จะชนะเลือกตั้ง และแทบจะไม่มีข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ นายกฯ ชินโช อาเบะ จึงต้องแหวกธรรมเนียมการทูต บินไปยังสหรัฐเพื่อพบกับนายทรัมป์ ก่อนที่เขาจะสาบานตัวเข้าดำรงตำแหน่ง นายอาเบะอ้างว่าได้สร้าง “ความสัมพันธ์ส่วนตัว” กับนายทรัมป์ เคยตีกอล์ฟด้วยกันหลายครั้ง และนายทรัมป์ก็ยอมรับว่าสนิทสนมกับนายเบะเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไม่อาจอยู่บนความสัมพันธ์ส่วนตัว และขณะนี้นายอาเบะก็พ้นจากตำแหน่งนายกฯ แล้ว ญี่ปุ่นอยู่ภายใต้การนำของนายโยชิฮิเดะ ซูงะ ที่ถึงแม้จะสานต่อนโยบายส่วนใหญ่ของนายอาเบะ แต่นายซูงะ ซึ่งเติบโตขึ้นมาจากสามัญชน จึงมีความเป็น “แบบแผน” และพึ่งพาระบบราชการมากกว่านายอาเบะ
ความสัมพันธ์กับสหรัฐถือเป็นแกนหลักของนโยบายต่างประเทศของญี่ปุ่น เนื่องจากญี่ปุ่นต้องพึ่งพาสหรัฐในการป้องกันประเทศและสนับสนุนญี่ปุ่นในเกือบทุกเรื่อง แต่นายโดนัลด์ ทรัมป์ได้ทำให้ญี่ปุ่นซึ่งคุ้นเคยกับการวางแผนและคาดการณ์ในทุกเรื่องถึงกับ “ไปไม่เป็น” เพราะนายทรัมป์ดำเนินนโยบายตามใจตัวเอง และคาดเดาไม่ได้เลย
นโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ของทรัมป์ ก็คือการถือประโยชน์ของตนเป็นใหญ่ ปฏิเสธพันธมิตร ปฏิเสธการรวมกลุ่มต่าง ๆ ทรัมป์ถอนตัวจากความร่วมมือระหวางประเทศมากมาย เช่น ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP , ข้อตกลงปารีสเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน, ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน และยังห้ามประเทศอื่นทำมาค้าขายกับอิหร่านด้วย ทั้ง ๆ ที่ญี่ปุ่นซื้อน้ำมันจากอิหร่านเป็นจำนวนมาก
นายโดนัลด์ ทรัมป์ยังสร้างประวัติศาสตร์พบกับนายคิมจ็องอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ แต่ว่าไม่สนใจนำพาขอเรียกร้องของญี่ปุ่นเรื่องที่ให้นำตัวญี่ปุ่นที่เกาหลีเหนือลักพาตัวไปกลับมาตุภูมิ ทำให้นายอาเบะต้องประกาศว่า พร้อมจะพบกับนายคิมจ็องอึนโดยไม่มีเงื่อนไข แต่ผู้นำโสมแดงก็หาได้ใส่ใจข้อเสนอของญี่ปุ่นแม้แต่น้อย
พฤติกรรมของนายทรัมป์ทำให้ญี่ปุ่นวางแผนนโยบายไม่ได้ และยังเสียประโยชน์จากการมีส่วนร่วมในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากมาย บางเรื่องอย่างเช่นข้อตกลง TPP ญี่ปุ่นต้องรับมาสานต่อ แต่บางเรื่องญี่ปุ่นก็ถูกบีบให้เลือกข้างสหรัฐ แทนที่จะอยู่ข้างประชาคมนานาชาติ
นายทรัมป์ยังเรียกร้องให้ญี่ปุ่นแบกรับค่าใช้จ่ายของฐานทัพสหรัฐในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว รวมทั้งซื้อระบบป้องกันขีปนาวุธราคาสูงลิบลิ่วจากสหรัฐ ทั้งๆที่ชาวญี่ปุ่นคัดค้านอย่างหนัก
ในช่วงที่โควิดระบาดแรก ๆ สถานทูตสหรัฐประจำญี่ปุ่น ยังออกประกาศให้เจ้าหน้าที่และพลเมืองสหรัฐพิจารณาเดินทางออกจากญี่ปุ่น โดยอ้างว่าญี่ปุ่นซุกจำนวนผู้ติดเชื้อ ไม่ตรวจหาเชื้ออย่างทั่วถึง เรื่องนี้ทำให้ญี่ปุ่นเสียหน้าอย่างมาก
ถึงแม้นายทรัมป์จะบอกว่าสนิทกับนายกฯอาเบะ ญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรสำคัญ แต่ความเป็นจรืงแล้ว ก็ยึดถือแต่ประโยชน์ของสหรัฐเท่านั้น
ไบเดนยึดมั่นระเบียบโลก ญี่ปุ่นวางนโยบายง่ายกว่า
ญี่ปุ่นประเมินว่า นายโจ ไบเดน จะให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างประเทศและความสัมพันธ์พหุภาคี ซึ่งจะทำให้ญี่ปุ่นสามารถปรับความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านไปพร้อม ๆ กับการคานอำนาจจีนอย่างไม่หักหาญ เนื่องจากนายไบเดนมองว่า
จีนเป็น “คู่แข่ง” ไม่ใช่ “ศัตรู”
นายไบเดนจะสร้างความเข้มแข็งกับพันธมิตรต่าง ๆ ในอินโดแปซิฟิก ยุโรป และองค์กรระหว่างประเทศ ทั้งด้านความมั่นคง การค้า การพัฒนาเศราฐกิจ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร
หากนายไบเดนได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ญี่ปุ่นจะวางนโยบายได้ง่าย เพราะพรรคเดโมแครตมีค่านิยมที่เป็นแบบแผนชัดเจน
ญี่ปุ่นจะขยายพันธมิตรได้มากกว่าพึ่งพิงสหรัฐชาติเดียว และไม่ต้องถูกบีบให้ต้องเผชิญหน้ากับจีนอีกด้วย
ด้านความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ ไบเดนจะมียุทธศาสตร์และระบบมากกว่าทรัมป์ ที่ใช้การติดต่อแบบส่วนตัวกับนายคิมจ็องอึน ทำแบบตามอำเภอใจ และแฝงเร้นการหาประโยชน์ส่วนตัว
หากนายไบเดนเป็นผู้นำสหรัฐ แนวทางของพรรคเดโมแครตจะให้ความสำคัญกับสิทธิแรงงานและสิ่งแวดล้อม สหรัฐจะยังคงใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อลดการขาดดุลการค้า แต่ว่าจะเป็นมาตรฐานสากล เคารพกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ เป็นการส่งเสริมความร่วมมือ ไม่ใช่การกดดัน ข่มขู่ และเอาแต่ใจ เหมือนเช่นที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ทำ.