สวัสดีครับผม Mr. Leon มาแล้ว ช่วงนี้เพื่อนๆ คงจะได้มีโอกาสร่วมทำบุญทอดกฐินกันบ้าง ซึ่งในแต่ละปีจะกำหนดให้มีการจัดทอดกฐินขึ้นภายในช่วงระยะเวลา 1 เดือน หลังจากออกพรรษา คือตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 11 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ ซึ่งเป็นทั้งประเพณีและวิถีไทยในเทศกาลงานบุญที่ผมเองก็รู้สึกสนใจเป็นอย่างมาก ปีนี้ผมรู้สึกว่าเวลาผ่านไปรวดเร็วจริงๆ นี่ก็จะเข้าสู่กลางเดือนตุลาคมอีกแล้วเพื่อนๆ คิดว่าปีนี้เป็นอย่างไรบ้างครับ ผมคิดว่าเป็นปีที่ค่อนข้างหนักเกิดเหตุการณ์หลายอย่างทั้งโรคระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง สำหรับคนวัยกลางคนอย่างผมก็ยังไม่เท่าไหร่แต่สำหรับเด็กๆ วัยรุ่นญี่ปุ่นและเด็กนักเรียนนักศึกษาที่ต้องเติบโตเป็นอนาคตของชาติก็อาจจะลำบากอยู่เหมือนกันเพราะต้องเจอภาวะที่ยากลำบากกันไปอีกสักระยะหนึ่ง
ใกล้ๆ ช่วงปลายปีแบบนี้ก็คงจะเริ่มทบทวนเรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปี อาทิตย์ที่แล้วผมพูดถึงเรื่องระบบการทำงานของญี่ปุ่นทั้งเรื่อง やりがい搾取 Yarigai sakushu คือลักษณะที่จูงใจให้คนทำงานนึกถึง "ความท้าทาย" แทนรางวัลทางการเงิน เพื่อให้คนทำงานคนนั้นยอมอุทิศตนใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรมและทํางานค่าจ้างต่ำหรือชั่วโมงการทํางานนาน ไม่ใช่เพิ่งมีในยุคสมัยนี้ เมื่อหลายร้อยปีก่อนก็มีการใช้ระบบนี้มาก่อนแล้วเหมือนกัน และการทำงานในส่วนงานราชการ ที่แค่ระดับผู้จัดการก็ค่อนข้างจะถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติและสูงมาก แต่ก็จะมีตำแหน่งหัวหน้าแบบย่อยๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย ที่จริงคนทั่วไปก็ไม่ได้อยากเป็นระดับหัวหน้ามากนักแต่สังคมคาดหวังและให้ความสำคัญมาก ว่าใครจะเป็นหัวหน้า ใครจะเป็นผู้ที่มีอำนาจมากที่สุดในองค์กร จึงทำให้พนักงานต้องยกระดับตัวเองให้ไต่เต้าขึ้นสูงสู่ระดับหัวหน้าหรือผู้บริหาร ตามที่สังคมจับตามอง และให้ความสำคัญนั่นเอง
นอกจากนั้นข่าวอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้คือ เมื่อช่วงต้นเดือนผมอ่านทวิตเตอร์ที่มีข่าวบอกว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา ได้ทวีตข้อความในทวิตเตอร์ส่วนตัวว่าเขามีผลตรวจเชื้อโควิด-19 ออกมาเป็นบวก และจะเข้าสู่กระบวนการกักตัวและการรักษาโดยเร็ว... ซึ่งอ่านแล้วก็รู้สึกตกใจเหมือนกัน ปัจจุบันนี้สื่อโซเชี่ยลมีความรวดเร็วและนำเสนอเรื่องที่อ่านแล้วเกิดความตกใจสะเทือนใจหลายๆ เหตุการณ์ ซึ่งมีข่าวต่างๆ ที่เกิดขึ้นใหม่และให้ข้อมูลเร็วทำให้คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะตรวจสอบและเช็คข้อมูลทาง SNS หรือสื่อโซเชี่ยลต่างๆ มากกว่าทางสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ทำให้ใช้เวลาในการดูโทรทัศน์น้อยลงมาก และก่อนหน้านี้สื่อโทรทัศน์บางช่องของญี่ปุ่นก็ไม่เคยรายงานข่าวบางข่าวเลย เช่น เรื่องความขัดแย้งระหว่างอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจาน เป็นต้น
แต่สามารถหาอ่านข้อมูลในทวิตเตอร์ได้ แค่ประมาณ 15 นาทีก็พอจะรู้เรื่องราวทั้งหมดได้ ก่อนนี้ผมก็ไม่รู้ว่าประเทศอาเซอร์ไบจานและประเทศอาร์เมเนียนี่อยู่ที่ไหน เมื่อหาข้อมูลอ่านดูก็คิดว่าประเทศอะไรเนี่ยมีประชากรนิดเดียวแถมยังเป็นประเทศเล็กๆ แต่ว่ากำลังจะสู้รบทำศึกสงคราม!! วันที่ผมอ่านข่าวจาก SNS เขาบอกว่าความขัดแย้งระหว่างอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจานนั้นหลักๆ อยู่ที่การแย่งชิงอธิปไตยเหนือดินแดนที่เรียกว่า ‘ภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค ที่อยู่ในอาเซอร์ไบจาน แต่กลายเป็นว่าประชากรส่วนใหญ่กลับเป็นชาวอาร์เมเนีย’ ซึ่งชนวนเหตุของเรื่องนี้น่าจะเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องยาวนานแล้ว แต่ปัจจุบันนี้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมีบุคคลที่สามเข้ามาเกี่ยวข้อง การต่อสู้กันในครั้งนี้อาจไม่ใช่แค่ 2 ประเทศ แต่เป็น ตุรกีที่หนุนฝ่ายอาเซอร์ไบจาน และรัสเซียสนับสนุนอาร์เมเนีย คนญี่ปุ่นคนอื่นๆ ก็หาอ่านข่าวนี้และแสดงความคิดเห็นในทิศทางเดียวกัน
ผมคิดว่าคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่คิดไม่ต่างจากผมนัก คือก่อนหน้านี้ไม่ได้นึกถึงเรื่องราวเกี่ยวกับอาร์เมเนียหรืออาเซอร์ไบจานเลย แต่อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสนใจที่ว่าคนจากหลากหลายที่แสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนหารือกันใน SNS บางคนเป็นคนที่มีความรู้ลึกซึ้งในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือเป็นบุคคลที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นๆ และนำข้อมูลมาแชร์ได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งเหตุการณ์นี้นอกจากคนญี่ปุ่นที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามแล้วดูเหมือนว่าคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะเห็นใจอาร์เมเนียมากกว่าประเทศอาเซอร์ไบจานที่ดูจะเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยน้ำมันและร่ำรวยกว่าใช้การบุกโจมตีโดยเทคโนโลยีแบบใหม่และโดรน ส่วนประเทศอาร์เมเนียประเทศที่ประชาชนส่วนมากยังมีความเป็นอยู่ที่ยากจน ติดอันดับประเทศที่ยากจนที่สุดของยุโรป ซึ่งเหมือนจะด้อยกว่าทั้งจำนวนประชากร, พื้นที่และขนาดทางเศรษฐกิจ ยังใช้อาวุธสมัยยุคโซเวียตในอดีต แต่มีกําลังใจอันสูงส่งของชาวอาร์เมเนียที่ระดมกำลังพลทหารจากผู้ชายวัยผู้ใหญ่ทุกคนในประเทศ นับว่าเป็นเรื่องราวที่น่าทึ่งอย่างสมบูรณ์สําหรับเราชาวญี่ปุ่น
และเมื่อพูดถึงเรื่องสงคราม ทำให้ผมนึกถึงญี่ปุ่นสมัยเมื่อ 500 ปีก่อน ที่มีการปกครองแบ่งแยกเป็นแคว้นต่างๆ โดยไดเมียวหรือเจ้าเมืองแต่ละแคว้น ถ้าถามว่าคุณคิดว่าไดเมียวที่มีความแข็งแกร่งมากที่สุดคือใคร คงได้คำตอบว่า เขาคือ "มังกรนีงาตะ" หรือ อูเอซูงิ เค็นชิน 上杉 謙信 Uesugi Kenshin ผู้ที่ไม่เคยหลุดออกนอกเวทีสงครามตลอดช่วงเกือบ 50 ปีของชีวิตของเขา ผู้ที่อยู่ในสมรภูมิสงครามและสนามรบกว่า 50 ครั้งในชีวิตตัวเอง และไม่เคยแพ้ใครเลย ตามข้อมูลทางประวัติศาสตร์พบว่าเขาเป็นผู้มีความแข็งแกร่ง รบชนะเกือบทุกสมรภูมิ ความแข็งแกร่งถูกจัดลำดับจากน้อยไปมากดังนี้ 織田 Oda << 徳川 Tokugawa <<<<<<<<<<< 武田 Takeda ≦ 上杉 Uesugi
อูเอซูงิ เค็นชิน 上杉 謙信 Uesugi Kenshin เป็นไดเมียวผู้ปกครองแคว้นเอจิโงะ และไดเมียวผู้ทรงอำนาจในยุคเซ็งโงกุของญี่ปุ่น ได้รับฉายาว่า "มังกรแห่งเอจิโงะ" หรือ "มังกรนีกะตะ" นั่นเอง อูเอซูงิ เค็นชิน เป็นคู่ปรับของไดเมียวทาเกดะ ชิงเง็ง ซึ่งไดเมียวทั้งสองได้ทำศึกสงครามกันหลายครั้งและไม่สามารถเอาชนะกันได้อย่างเด็ดขาด เขาไม่เคยสมรสกับสตรีใด ไม่มีบุตรชายไว้สืบทอดแคว้นของตน แต่รับบุตรชายบุญธรรมเอาไว้สองคน
เขาเป็นลูกชายของไดเมียว เมื่อพ่อไปออกรบและเสียชีวิตลง ทำให้พี่ชายทั้งสองคนทำศึกแย่งบัลลังก์กัน และเขาได้หลบหนีลี้ภัยการเมืองภายในครอบครัวไปอยู่วัด เพื่อศึกษาเล่าเรียน ต่อมาได้รับเชิญจากซามูไรประจำตระกูลคนหนึ่งให้ทำสงครามแย่งตำแหน่งคืนมาจากพี่ชายที่สนใจด้านกวีมากกว่าสงคราม และทำสำเร็จ เมื่อเขาก้าวขึ้นสู่อำนาจในแคว้นเอจิโงะนั้น ไดเมียวผู้ยิ่งใหญ่ทางใต้คือ ทาเกดะ ชิงเง็ง กำลังแผ่ขยายอำนาจขึ้นมาทางเหนือในแคว้นชินาโนะ ไดเมียวทั้งหลายแห่งแคว้นชินาโนะได้เดินทางมาร้องขอให้เขานำกำลังเข้าช่วยเหลือต่อต้านการรุกรานของตระกูลทาเกดะ นำไปสู่สงครามอันยืดเยื้อยาวนานระหว่างอูเอซูงิ เค็นชิน และทาเกดะ ชิงเง็ง โดยไม่มีผู้แพ้ชนะเด็ดขาดสักที ต่างก็คานอำนาจกัน การสู้รบของไดเมียวทั้งสองกลายเป็นตำนานที่สำคัญของกาลสมัย แท้จริงแล้วการทำสงครามของเขานั้นไม่ได้เกิดจากการอยากจะร่ำรวยจริงๆ จังแต่ดูเหมือนกับเป็นงานอดิเรก ทำสงครามเป็นว่าเล่นน่าจะเป็นความชอบส่วนตัวเสียมากกว่า กระนั้นเขาก็เป็นนักดื่มตัวยง จนกระทั่งล้มป่วยจากการดื่มสุราอย่างหนักมาตลอดชีวิต เเละป่วยจนเสียชีวิตลงในสมรภูมินั่นเอง ถึงขั้นมีคนเปรียบเปรยว่า ไม่ต้องสงสัยในความแข็งแกร่งของ Uesugi เลยว่าความลับคืออะไรแม้จะใช้วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ตีความก็ไม่อาจเข้าใจได้
ในสมัยก่อนนั้นในสมรภูมิสงครามมีฉากในจินตนาการของเรา ซึ่งเมื่อกลับไปอ่านประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกจริงจากบุคคลในยุคนั้นกลับพบว่าหลายเหตุการณ์ต่างจากที่พวกเราคิดอย่างสิ้นเชิงเลยทีเดียว อาทิเช่น
● ฉากบุกโจมตีโดยเหล่าทหารม้า คิดว่าหลายๆ ท่านอาจจะเคยดูภาพยนตร์ญี่ปุ่นเกี่ยวกับสงครามซามูไรต่างๆ มาบ้างแล้ว และได้เห็นฉากที่มีการขี่ม้าทำสงครามกันใช้ดาบประจันหน้าต่อสู้กันระยะประชั้นชิด คนตายเพราะดาบและการสู้รบแบบถึงตัว แต่ตามบันทึกต่างจากซีนในภาพยนตร์อย่างสิ้นเชิง → เพราะว่าปกติแล้ว ทหารกล้าส่วนใหญ่ไม่ได้เสียชีวิตจากดาบหรือปืนในการฟาดฟันกันในระยะประชั้นชิด แต่ส่วนใหญ่ตายเพราะถูกก้อนหินปาใส่กันในระยะไกลประมาณ 80% หรือจากลูกธนูระยะไกล อีก 10% นอกนั้นส่วนที่เหลืออาจจะเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยหรือจากการชนม้าและดาบ! ครั้นจะสร้างหนังซีนขว้างก้อนหินใส่กันก็ดูจะไม่อลังการนัก จึงมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงซีนสู้รบออกมาเป็นแบบที่เราจินตนาการกัน ทหารใหญ่บางคนถึงจะมีปืนแต่ถ้าเทียบกับจำนวนคนทั้งกองทัพ คงจะมีคนที่ถือปืนไม่เกินห้าคนซึ่งก็ไม่มีผลในการฆ่าคนจำนวนมากเท่ากับขว้างหินใส่กัน *ยุทธการสู้รบคงเหมือนกับ Goliate (กะไล'อัธ) นักรบยักษ์ของกองทัพฟิลิสไทน์ที่ถูกเดวิดฆ่าด้วยก้อนหิน นั่นเอง
● การแปรทัพหรือที่เรียกว่า รูปแบบการสู้รบประจัญบาน การจัดฟอร์มคนในกองทัพให้ออกมาเป็นรูปแบบต่างๆ แบบกองหน้า กองกลาง กองหลัง และอื่นๆ รูปแบบที่มีชื่อเสียงได้แก่แบบเกล็ดปลา,นกกระเรียนกางปีก และลูกศรผึ้ง เป็นต้น และยังมีอีกมากมาย ซึ่งจะมีความหมายในแต่ละรูปแบบ อย่างไรก็ตามคิดว่าแบบเกล็ดปลา และ ลูกศรผึ้ง ดูเหมือนจะมีความแข็งแกร่งในการป้องกันกองทัพมาก หรือแม้กระทั่งการใช้กลยุทธ์สู้รบแบบวงล้อ เป็นการจู่โจมแบบลักษณะการหมุนวงล้อของรถ คืออาจจะมีการแบ่งทหารม้าออกเป็นกลุ่มๆ ละ 1,000 คน 5 กลุ่ม ให้กลุ่มแรกโจมตีแล้วกลุ่มที่สองเข้าโจมตีต่อ กลุ่มที่สามบุกมาช่วย และโจมตีต่อๆ หมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ เหมือนกลิ้งล้อรถ อย่างนี้เองที่ทุกคนคิดมาตลอดว่าสมัยนั้นเป็นลักษณะการทำสงครามตามรูปแบบนี้ แต่ที่จริงแล้วเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องไม่จริงเหมือนกัน→ เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมาในนิยายให้เป็นฉากที่สวยงามนั่นเอง
เรื่องราวเช่นนี้ได้รับฟังมาตลอด เพราะเป็นฉากไฮไลท์ในภาพยนตร์และละคร ทั้งกลยุทธ์การจัดฟอร์มกำลังพล การกระจายกำลังทหารต่างๆ ผมได้ยินเรื่องราวเช่นนี้ตั้งแต่ผมอยู่ในโรงเรียนประถม แต่เมื่ออ่านจากผู้ที่อยู่ในสมรภูมิจริงบันทึกไว้ก็รู้ว่าเรื่องราวไฮไลท์ในภาพยนตร์และละครเป็นเรื่องแต่งขึ้นมา โกหกคนญี่ปุ่นนะเนี่ย!!( ・ω・') แต่จะว่าไป แม้ตอนนี้คนเราก็ยังชอบเรื่องราวที่สวยงามและเพลิดเพลินมากกว่าความเป็นจริง
พอผมรู้ว่าสิ่งที่จินตนาการอย่างเท่ห์สวยหรูเหมือนฉากสวยๆ ในภาพยนตร์นั้นไม่จริง ผมก็เริ่มไม่แน่ใจแล้วหล่ะ แต่อย่างไรก็ตามเรื่องจริงที่เชื่อได้คือ อูเอซูงิ เค็นชิน มีความแข็งแกร่งมากๆ ในความรู้สึกคนญี่ปุ่นครับ จากประเด็นเรื่องสงครามทำให้คิดได้ว่าหลายๆ เรื่องที่เกิดขึ้นนั้นให้ความรู้สึกว่าไม่ว่าจะมีการพัฒนาในส่วนของเทคโนโลยีอะไร หรือในส่วนของวิทยาการ วิทยาศาสตร์หรือว่าเรื่องความเชื่อต่างๆ ดูเหมือนว่าจุดประสงค์หลักที่แอบแฝงอยู่ก็เพื่อการสงคราม วันนี้สวัสดีครับ