การสู้รบระหว่างกองกำลังอาวุธของอาร์เมเนีย กับของอาเซอร์ไบจาน ยังคงเป็นไปอย่างดุเดือดในวันอาทิตย์ (4 ต.ค.) เพื่อช่วงชิงดินแดนนากอร์โน-คาราบัค โดยที่เมืองใหญ่อันดับ 2 ของอาเซอร์ไบจาน ก็ถูกโจมตีด้วย ทำให้เกิดความกังวลว่าศึกคราวนี้กำลังขยายตัวออกไป
พวกเจ้าหน้าที่อาเซอร์ไบจานกล่าวในวันอาทิตย์ (4) ว่า กองกำลังอาวุธของอาร์เมเนียคือผู้ที่โจมตี กานจา เมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศตน ฮิคเมต ฮาจึเยฟ ผู้ช่วยคนหนึ่งของประธานาธิบดีอาเซอร์ไบจาน ทวิตเผยแพร่คลิปวิดีโอซึ่งระบุว่าแสดงให้เห็นอาคารต่างๆ ที่ถูกทำลายเสียหาย และระบุว่านี่เป็นผลจาก “การโจมตีด้วยขีปนาวุธอย่างมโหฬารของอาร์เมเนียเพื่อเล่นงานพื้นที่ต่างๆ ที่มีประชากรพำนักแน่นหนา” ในกานจา
สำนักข่าวเอพีบอกว่าในเฉพาะหน้านี้ยังไม่สามารถตรวจสอบยืนยันว่าคลิปวิดีโอนี้เป็นของจริงหรือไม่ ขณะที่ฮาจีเยฟกล่าวในอีกข้อความที่เขาทวิตว่า การโจมตีกานจา ตลอดจนดินแดนอื่นๆ ในอาเซอร์ไบจาน เกิดขึ้น “จากในดินแดนของอาร์เมเนีย”
ทางด้านกระทรวงกลาโหมอาร์เมเนียแถลงปฏิเสธว่า “ไม่มีการยิงโจมตีไม่ว่าด้วยอาวุธชนิดใดๆ เกิดขึ้นจากดินแดนของอาร์เมเนีย โดยมุ่งทิศทางไปยังอาเซอร์ไบจาน” แต่ อารายิค ฮารุตีอุนยัน ผู้นำของนากอร์โน-คาราบัค ออกมายืนยันบนเฟซบุ๊กว่า เขาได้สั่ง “การโจมตีด้วยจรวดเพื่อสยบทำลายพวกวัตถุทางทหาร” ในกานจา โฆษกของเขาที่ชื่อ วาห์รัม ปอกโฮสยาน กล่าวด้วยด้วยว่า กองทัพของดินแดนนากอร์โน-คาราบัค สามารถทำลายสนามบินทหารแห่งหนึ่งในกานจา ซึ่งเชื่อว่าเป็นจุดส่งอากาศยานมาโจมตีนากอร์โน-คาราบัค โดยที่การกล่าวอ้างเรื่องทำลายสนามบินนี้พวกเจ้าหน้าที่อาเซอร์ไบจานพากันปฏิเสธว่าไม่จริง
ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศอาเซอร์ไบจานทวิตว่า การโจมตีต่อกานจาทำให้มีพลเรือนถูกสังหารไป 1 คน บาดเจ็บ 4 คน แต่ ฮารุตีอุนยัน บอกว่าเขาสั่งกองกำลังของเขาให้หยุดการโจมตีกานจาแล้วเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้พลเรือนต้องบาดเจ็บล้มตาย ผู้นำนากอร์โน-คาราบัคผู้นี้กล่าวต่อไปว่า การถล่มโจมตี “อย่างสมน้ำสมเนื้อและเด็ดขาด” ซี่งพุ่งเป้าใส่กองกำลังอาวุธของศัตรูจะยังคงดำเนินต่อไป ถ้าอาเซอร์ไบจานยังคงล้มเหลว “ไม่สรุปบทเรียนที่ถูกต้องเหมาะสม”
การสู้รบคราวนี้ซึ่งปะทุขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 กันยายน และดำเนินต่อเนื่องมาเป็นวันที่ 8 แล้ว ถือเป็นการบานปลายขยายตัวครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายๆ ปี ของข้อพิพาทช่วงชิงนากอร์โน-คาราบัค ซึ่งยืดเยื้อมาหลายทศวรรษ ดินแดนแห่งนี้ตั้งอยู่ในอาเซอร์ไบจาน แต่ถูกควบคุมโดยกองกำลังชาติพันธุ์อาร์เมเนียท้องถิ่นซึ่งได้รับการหนุนหลังจากอาร์เมเนีย ทั้งสองฝ่ายต่างแถลงว่าการสู้รบในเวลานี้ได้ขยายเลยออกไปดินแดนที่ประกาศแยกตัวเป็นเอกราชแห่งนี้ รวมทั้งต่างกล่าวหากันและกันว่ากำลังถล่มโจมตีพื้นที่ต่างๆ ซึ่งอยู่นอกนากอร์โน-คาราบัค
กานจา ซึ่งมีประชากรมากกว่า 330,000 คน ตั้งอยู่ห่างออกไปราว 100 กิโลเมตรจากทางเหนือของ สเตปานาเคิร์ต เมืองเอกของนากอร์โน-คาราบัค
“การเปิดฉากยิงใส่ดินแดนของอาเซอร์ไบจานจากดินแดนของอาร์เมเนีย คือการยั่วยุและการขยายพื้นที่ของการสู้รบเป็นศัตรูกันออกไปอย่างชัดเจน” ซาคีร์ ฮาซานอฟ รัฐมนตรีกลาโหมอาเซอร์ไบจานระบุในคำแถลงเมื่อวันอาทิตย์
ในขณะที่การสู้รบเริ่มต้นขึ้นมาใหม่ในตอนเช้าวันอาทิตย์นั้น พวกเจ้าหน้าที่อาร์เมเนียได้กล่าวหาฝ่ายอาเซอร์ไบจานว่า กำลังเข้าถล่มโจมตีเมืองสเตปานาเคิร์ต โดยพุ่งเป้าเล่นงานพื้นที่พลเมืองที่นั่น ฮารุตีอุนยัน ผู้นำนากอร์โน-คาราบัคกล่าวว่า เพื่อเป็นการตอบโต้ กองกำลังของเขาจะพุ่งเป้าหมายโจมตี “พวกสถานที่ทางทหารที่ตั้งอยู่อย่างถาวรในเมืองใหญ่ๆ ทั้งหลายของอาเซอร์ไบจาน”
กระทรวงกลาโหมอาเซอร์ไบจานระบุในคำแถลงที่ออกมาหลังจากนั้นในวันเดียวกัน ปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่ากำลังมุ่งเล่นงานพลเรือนและโครงสร้างต่างๆ ของฝ่ายพลเรือน
ทางพวกเจ้าหน้าที่นากอร์โน-คาราบัค ระบุว่ามีกองกำลังอาวุธของฝ่ายตนเสียชีวิตไปแล้วเกือบๆ 200 คน โดยที่ทางการอาเซอร์ไบจานไม่ให้รายละเอียดจำนวนทหารบาดเจ็บล้มตายของฝ่ายตน แต่กล่าวว่ามีพลเรือนถูกสังหารไป 22 คนและอีก 74 คนได้รับบาดเจ็บ
นากอร์โด-คาราบัค ถูกกำหนดให้เป็นดินแดนปกครองตนเองภายในอาเซอร์ไบจานตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียต ดินแดนนี้ได้ประกาศแยกตัวเป็นเอกราชจากอาเซอร์ไบจานเมื่อปี 1991 ราว 3 เดือนก่อนที่สหภาพโซเวียตจะล่มสลาย ต่อมาได้เกิดสงครามแบบเต็มพิกัดระเบิดขึ้นเมื่อปี 1992 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตไปประมาณ 30,000 คน
เมื่อถึงเวลาที่สงครามสงบลงในปี 1994 กองกำลังอาวุธของอาร์เมเนียไม่เพียงยึดนากอร์โน-คาราบัคเอาไว้เท่านั้น และยังพื้นที่จำนวนหนึ่งซึ่งอยู่นอกพรมแดนอย่างเป็นทางการของดินแดนนี้อีกด้วย รวมทั้ง มาดากิซ หมู่บ้านที่ฝ่ายอาเซอร์ไบจานอ้างว่ายึดได้ในวันเสาร์ (3) พร้อมกับหมู่บ้านอื่นๆ อีกหลายแห่ง
การสู้รบที่ดำเนินมา 1 สัปดาห์เศษแล้ว ทำให้มีเสียงเรียกร้องให้หยุดยิงจากทั่วโลก เมื่อวันพฤหัสบดี (1) พวกผู้นำของรัสเซีย, ฝรั่งเศส, และสหรัฐฯ ได้ออกคำแถลงร่วมเรียกร้องให้สงบศึก และกลับมาเจรจากันภายใต้การอุปถัมภ์ของกลุ่มมินสก์แห่งโอเอสซีอี ทั้งนี้ 3 ชาติดังกล่าวนี้คือ ประธานร่วมของ “กลุ่มมินสก์” ที่จัดตั้งขึ้นโดยองค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (โอเอสซีอี) ตั้งแต่ปี 1992 เพื่อแก้ไขกรณีความขัดแย้งนี้
ประธานาธิบดี อิลฮัม อาลีเยฟ ของอาเซอร์ไบจาน บอกว่า เงื่อนไขเพียงอย่างเดียวที่จะทำให้การสู้รบยุติลงได้คือ อาร์เมเนียต้องถอนตัวออกไปจากนากอร์โด-คาราบัค
พวกเจ้าหน้าที่อาร์เมเนียกล่าวหาว่าตุรกีเข้ามาเกี่ยวข้องแทรกแซงในการสู้รบคราวนี้ด้วย
โดยกำลังจัดส่งทหารรับจ้างจากซีเรียและลิเบียเข้ามาในบริเวณแถบนี้ โดยที่เรื่องนี้ทางฝรั่งเศสและรัสเซียได้ยันยันว่าเป็นความจริง
นายกรัฐมนตรีนิโคล ปาชิเนียน ของอาร์เมเนีย เคยแถลงในสัปดาห์ที่แล่วว่า การหยุดยิงจะเกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อตุรกีถอนตัวออกไปจากภูมิภาคแถบนี้ ซึ่งเรียกกันว่าคอเคซัสใต้
(ที่มา: เอพี, เอเอฟพี)