กองกำลังอาวุธของอาเซอร์ไบจานและอาร์เมเนียต่างอ้างว่าสามารถสร้างความเสียหายหนักให้ฝ่ายตรงข้าม ขณะที่การสู้รบอย่างดุเดือดในดินแดนแคว้นนากอร์โน-คาราบัค ล่วงเข้าสู่วันที่ 3 ในวันอังคาร (29 ก.ย.) ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตของทั้งสองฝ่ายเท่าที่มีรายงานกันเพิ่มเป็นเกือบ 100 คน ทางด้านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งยูเอ็นนัดหารือฉุกเฉิน เพื่อเร่งหาทางออกให้แก่วิกฤตความขัดแย้งนี้
กระทรวงกลาโหมอาร์เมเนียแถลงว่า กลุ่มแบ่งแยกดินแดนในนากอร์โน-คาราบัคได้ขับไล่กองกำลังของอาเซอร์ไบจันออกจากแนวชายแดน และสำทับว่า ศัตรูสูญเสียโดรนเกือบ 50 ลำ, เฮลิคอปเตอร์ 4 ลำ และรถถังอีก 80 คัน
ทว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมในบากู เมืองหลวงของอาเซอร์ไบจาน ปฏิเสธข้อกล่าวอ้างดังกล่าว รวมถึงข้อกล่าวอ้างที่ว่า กองกำลังของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ได้รับการสนับสนุนจากอาร์เมเนียสามารถยึดคืนดินแดนในคาราบัคได้แล้ว
อาเซอร์ไบจานเสริมว่า มีการสู้รบดุเดือดในช่วงเช้ามืดวันอังคาร และทหารของตนตอบโต้และทำลายหน่วยปืนใหญ่และกองพลทหารราบยานยนต์ทั้งหมดของอาร์เมเนีย
เจ้าหน้าที่คนหนึ่งในบากูเผยว่า กองกำลังอาเซอร์ไบจานระดมโจมตีเมืองฟิซูลีอย่างต่อเนื่อง ทำลายรถถัง 4 คันและยานยนต์หุ้มเกราะ 1 คัน รวมทั้งสังหารทหาร 10 นายของศัตรู และสำทับว่า กองกำลังฝ่ายตรงข้ามร้องขอให้ช่วยอพยพร่างทหารที่เสียชีวิตและบาดเจ็บออกจากสนามรบ
ดินแดนนากอร์โน-คาราบัค มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวอาร์เมเนีย แต่อยู่ในการปกครองของอาเซอร์ไบจัน ได้กลายเป็นข้อพิพาทของประเทศทั้งสองมาหลายสิบปีแล้ว ตั้งแต่ที่ทั้งอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานยังต่างเป็นสาธารณรัฐอยู่ในสหภาพโซเวียตด้วยซ้ำ
นากอร์โน-คาราบัคได้ประกาศเอกราช หลังสงครามระหว่างอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจานเมื่อช่วงปลายทศวรรษ 1980 ถึงต้นทศวรรษ 1990 ที่มีผู้เสียชีวิต 30,000 คน แต่ไม่มีประเทศใด รวมถึงอาร์เมเนีย ให้การรับรอง ถึงแม้ในทางพฤตินัยแล้วอาร์เมเนียได้เข้ายึดดินแดนอาเซอร์ไบจานในบริเวณนี้ รวมทั้งให้การสนับสนุนแก่พวกแบ่งแยกดินแดน และต่อจากนั้นมา ทั้งสองฝ่ายได้เกิดการปะทะกันเป็นระยะๆ โดยบางครั้งก็ขยายตัวรุนแรงอย่างเช่นในปี 2016 และในคราวนี้
นอกจากนั้นการต่อสู้ระหว่างอาเซอร์ไบจานซึ่งเป็นประเทศมุสลิม และอาร์เมเนียที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ ทำให้เกิดความกังวลว่า จะเป็นการชักชวนตุรกีและรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้เล่นทรงอิทธิพลในภูมิภาคคอเคซัสร่วมวงความขัดแย้งด้วย โดยมอสโกนั้นเป็นพันธมิตรทางทหารกับอาร์เมเนีย ส่วนอังการาสนับสนุนอาเซอร์ไบจาน และถูกกล่าวหาว่า ส่งทหารรับจ้างจากตอนเหนือของซีเรียไปช่วยบากูรบ
วันจันทร์ (28) ประธานาธิบดีเรเจป ตอยยิป แอร์โดอันของตุรกี ประกาศว่า ถึงเวลาแล้วที่ข้อพิพาทยาวนานนี้จะจบลง พร้อมกับเรียกร้องให้อาร์เมเนียถอนตัวออกจากดินแดนซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของอาร์เซอร์ไบจาน
แม้อาเซอร์ไบจานไม่เปิดเผยตัวเลขความสูญเสียของกองทัพ แต่รัฐบาลกลุ่มแบ่งแยกดินแดนได้เผยแพร่คลิปจากสนามรบที่มีภาพที่ถูกระบุว่า เป็นร่างทหารอาเซอร์ไบจาน
ทางด้านผู้ตรวจการสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของรัฐสภาอาร์เมเนียยืนยันว่า มีพลเรือนเสียชีวิตเพิ่มอีก 2 คน ขณะที่ประธานาธิบดีอิลแฮม อาลีเยฟของอาเซอร์ไบจานเปิดเผยจำนวนพลเรือนที่เสียชีวิตจากการสู้รบนี้เพิ่มเป็น 10 คน ส่งผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตที่ได้รับการยืนยันทั้งหมดอยู่ที่ 98 คน ซึ่งรวมถึงนักรบกลุ่มแบ่งแยกดินแดน 84 คน และพลเรือน 14 คน
ผู้สังเกตการณ์เรียกร้องให้นานาชาติเร่งหาทางออกทางการเมืองสำหรับความขัดแย้งนี้ และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ มีกำหนดประชุมฉุกเฉินในเวลา 17.00 น. วันอังคารตามเวลาท้องถิ่นของนิวยอร์ก (4.00 น. วันพุธตามเวลาไทย) ตามคำร้องของเบลเยียม และหลังจากที่ฝรั่งเศสและเยอรมนีร่วมกันผลักดันให้คณะมนตรีเพิ่มประเด็นนี้ในวาระการประชุม
โฆษกของนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคลของเยอรมนี แถลงเมื่อวันอังคารว่า แมร์เคลเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายหยุดยิงทันทีและกลับสู่โต๊ะเจรจา หลังจากได้หารือทางโทรศัพท์กับอาลีเยฟ ผู้นำอาเซอร์ไบจาน และนายกรัฐมนตรีนิโคล ปาชินยันของอาร์เมเนีย
อย่างไรก็ดี ลิลิต มากันส์ สมาชิกรัฐสภาอาร์เมเนียจากพรรคมาย สเต็ป อัลลายแอนซ์ ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล โพสต์บนเฟซบุ๊กว่า อาร์เมเนียกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ในการทำข้อตกลงเป็นพันธมิตรทางทหารและการเมืองกับนากอร์โน-คาราบัค
วันอาทิตย์ (27) อาร์เมเนียและคาราบัคประกาศกฎอัยการศึกและเคลื่อนย้ายกำลังพล ขณะที่อาเซอร์ไบจานบังคับใช้กฎทางทหารและเคอร์ฟิวในเมืองใหญ่ต่างๆ
อนึ่ง การเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งหยุดชะงักมาตั้งแต่ทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงหยุดยิงในปี 1994 และนักวิเคราะห์เรียกร้องให้นานาชาติเพิ่มความพยายามเพื่อไม่ให้สถานการณ์ในขณะนี้เลวร้ายลงไปอีก
ที่ผ่านมา ฝรั่งเศส รัสเซีย และอเมริกา ร่วมกันผลักดันการเจรจาสันติภาพในฐานะ “กลุ่มมินสก์” แต่ความพยายามครั้งใหญ่ล่มลงในปี 2010
(ที่มา : เอเอฟพี/รอยเตอร์/เอเจนซีส์)