xs
xsm
sm
md
lg

เหตุปะทะอาร์เมเนีย-อาเซอร์ไบจาน ทวีความดุเดือด ตายเพิ่มอีก 55 ราย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เหตุสู้รบระหว่างอาเซอร์ไบจาน กับ อาร์เมเนีย ในภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค ทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อวันจันทร์ (28 ก.ย.) และมีผู้เสียชีวิตอีกอย่างน้อย 55 คน ในวันที่ 2 ของการปะทะอย่างดุเดือด


ทั้งสองฝ่ายต่างยิงจรวดและปืนใหญ่เข้าใส่ ในเหตุปะทะครั้งดุเดือดที่สุดในรอบหลายสิบปี ในความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมานานกว่า 25 ปี “นี่คือ สงครามอยู่หรือตาย” อรายิค ฮารัตยุนยาน ผู้นำกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในนากอร์โน-คาราบัค กล่าว

อาร์เมเนีย และอาเซอร์ไบจาน ที่ต่างเป็นอดีตสาธารณรัฐของสหภาพโซเวียต มีข้อพิพาทกันเกี่ยวกับภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค มาหลายสิบปีแล้ว ตั้งแต่ก่อนสหภาพโซเวียตล่มสลายด้วยซ้ำ โดยที่ดินแดนเทือกเขาสูง ซึ่งอยู่ระหว่างสองประเทศแห่งนี้ ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวอาร์เมเนีย ซึ่งเป็นชาวคริสต์ แต่อยู่ในการปกครองของอาเซอร์ไบจาน ซึ่งเป็นชาติมุสลิม

ความเคลื่อนไหวใดๆ ที่มุ่งหน้าสู่สงครามเต็มรูปแบบ อาจลากมหาอำนาจหลักในภูมิภาคอย่างรัสเซีย และตุรกี เข้าร่วมด้วย โดยมอสโกเป็นพันธมิตรป้องกันตนเองกับอาร์เมเนีย ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนสำคัญของวงล้อมแห่งนี้ และเป็นสายยังชีพเชื่อมนากอร์โน-คาราบัค กับโลกภายนอก ส่วนอังการาสนับสนุนเครือญาติเชื้อสายเตอร์กิสของพวกเขาในอาเซอร์ไบจาน

กลุ่มแบ่งแยกดินแดนนากอร์โน-คาราบัค เปิดเผยว่า ทหารของพวกเขา 53 นาย ถูกสังหาร ในเหตุปะทะกับกองกำลังอาเซอร์ไบจานในวันจันทร์ (28 ก.ย.) หลังจากเผยว่า ต้องสูญเสียกำลังพลไป 31 นาย เมื่อวันอาทิตย์ (27 ก.ย.) และบาดเจ็บกว่า 200 คน จากการถูกอาเซอร์ไบจานโจมตี

ทั้งนี้ กลุ่มแบ่งแยกดินแดนนากอร์โน-คาราบัค เผยด้วยว่า พวกเขาสามารถทวงดินแดนที่สูญเสียไปเมื่อวันอาทิตย์ (27 ก.ย.) คืนมาได้บางส่วน แต่ผู้นำท้องถิ่นเผยในเวลาต่อมาว่า ทั้งกองกำลังอาเซอร์ไบจานและกองทัพอาร์เมเนีย ไม่มีฝ่ายใดที่ยึดที่มั่นทางยุทธศาสตร์ได้ระหว่างการสู้รบในวันจันทร์ (28 ก.ย.)

ทางฝั่งของอาเซอร์ไบจาน สำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า มีพลเมืองอาเซอร์ไบจาน 2 คน เสียชีวิตในวันจันทร์ (28 ก.ย.) หลังจากเมื่อวันอาทิตย์ (27 ก.ย.) มีผู้เสียชีวิต 5 ราย และบาดเจ็บ 30 คน แต่ไม่มีข้อมูลอย่างเป็นทางการว่ามีทหารของอาเซอร์ไบจานเสียชีวิตจากเหตุปะทะมากน้อยแค่ไหน


อาเซอร์ไบจานได้ระดมกำลังบางส่วนในวันจันทร์ (28 ก.ย.) หลังประกาศอัยการศึกเมื่อวันอาทิตย์ (27 ก.ย.) ส่วนทางอาร์เมเนียกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนนากอร์โน-คาราบัค ก็ประกาศอัยการศึกเช่นกัน และระดมกำลังประชากรผู้ชายในวันอาทิย์ (27 ก.ย.) พร้อมกันนั้น ทางอาร์เมเนีย ยังสั่งห้ามผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 18 ปี เดินทางออกนอกประเทศ

นักวิเคาะห์มองว่า การใช้จรวดและปืนใหญ่ในการสู้รบ ทำให้มีความเสี่ยงสูงที่พลเรือนจะเสียชีวิตในเหตุปะทะครั้งนี้ ซึ่งจะผลักให้สถานการณ์ลุกลามบานปลายจนยากที่หนทางด้านการทูตหยุดยั้งได้

รัสเซียและตุรกี 2 มหาอำนาจหลักในภูมิภาค มีจุดยืนต่างกันในวิกฤตครั้งนี้ โดยทางฝั่งมอสโกเรียกร้องขอให้หยุดยิงในทันที แต่ทางตุรกีบอกว่าพวกเขาจะให้การสนับสนุนอาเซอร์ไบจาน

ประธานาธิบดีตุรกี เรียกร้องให้อาร์เมเนียออกจากผืนแผ่นดินของอาเซอร์ไบจานในทันที โดยชี้ว่า มันเป็นการรุกรราน แต่ระบุถึงเวลาแล้วที่ต้องหาทางยุติวิกฤตนากอร์โน-คาราบัค

อาร์เมเนีย และอาเซอร์ไบจาน ที่ต่างเป็นอดีตสาธารณรัฐของสหภาพโซเวียต มีข้อพิพาทกันเกี่ยวกับภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค มาหลายสิบปีแล้ว ตั้งแต่ก่อนสหภาพโซเวียตล่มสลายด้วยซ้ำ โดยที่ดินแดนเทือกเขาสูงซึ่งอยู่ระหว่างสองประเทศแห่งนี้ ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวอาร์เมเนีย ซึ่งเป็นชาวคริสต์ แต่อยู่ในการปกครองของอาเซอร์ไบจานซึ่งเป็นชาติมุสลิม

นากอร์โน-คาราบัค ได้ประกาศเอกราช หลังสงครามระหว่างอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจานเมื่อช่วงปลายทศวรรษ 1980 ถึงต้นทศวรรษ 1990 ที่มีผู้เสียชีวิต 30,000 คน แต่ไม่มีประเทศใด รวมถึงอาร์เมเนีย ให้การรับรอง ถึงแม้ในทางพฤตินัยแล้วอาร์เมเนียได้เข้ายึดดินแดนอาเซอร์ไบจานในบริเวณนี้ รวมทั้งให้การสนับสนุนแก่พวกแบ่งแยกดินแดน และต่อจากนั้นมา ทั้งสองฝ่ายได้เกิดการปะทะกันเป็นระยะๆ โดยบางครั้งก็ขยายตัวรุนแรงอย่างเช่นในปี 2016 และในคราวนี้

การสู้รบครั้งใหม่รื้อฟื้นความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพในภูมิภาคคอเคซัสใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางของท่อลำเลียงต่างๆ ที่นำส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติป้อนตลาดโลก

อนึ่ง คณะผู้แทนทูตเปิดเผยว่า สหราชอาณาจักร เบลเยียม เอสโตเนีย ฝรั่งเศส และ เยอรมนี มีแผนหยิบยกประเด็นความขัดแย้งนี้เข้าหารือในที่ประชุมลับของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในวันอังคาร (29 ก.ย.)

(ที่มา:รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น