มีทหารอย่างน้อย 16 นาย และพลเมืองหลายคนเสียชีวิตเมื่อวันอาทิตย์ (27 ก.ย.) ในเหตุปะทะครั้งดุเดือดที่สุดระหว่างอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจานนับตั้งแต่ปี 2016 โหมกระพือความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพในแถบคอเคเซัสใต้ ซึ่งเป็นแนวท่อลำเลียงน้ำมันและก๊าซสู่ตลาดโลก
เหตุปะทะระหว่างสองชาติอดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งเคยทำสงครามกันในช่วงทศวรรษที่ 1990 คือเหตุกระทบกระทั่งหนล่าสุดในความขัดแย้งที่ยาวนานเกี่ยวกับนากอร์โน-คาราบัค แคว้นปกครองตนเองที่อยู่ภายในดินแดนอาเซอร์ไบจาน แต่อยู่ภายใต้การควบคุมของชนเชื้อสายอาร์เมเนีย
นากอร์โน-คาราบัค เผยว่าทหารของพวกเขา 16 นายเสียชีวิต และมากกว่า 100 นายได้รับบาดเจ็บ หลังอาเซอร์ไบจานโจมตีทางอากาศและปืนใหญ่ในช่วงเช้าวันอาทิตย์ (27 ก.ย.) ซึ่งจากนั้นอาร์เมเนียและแคว้นนากอร์โน-คาราบัคได้ประกาศกฎอัยการศึกและระดมกำลังพลเมืองที่เป็นผู้ชาย
อาเซอร์ไบจานซึ่งประกาศกฎอัยการศึกเช่นกัน ระบุว่าปฏิบัติการของพวกเขาก็เพื่อตอบโต้เหตุยิงปืนใหญ่เข้ามาของฝ่ายอาร์เมเนีย ส่งผลให้สมาชิก 5 คนของครอบครัวหนึ่งเสียชีวิต
ทั้งนี้ อาร์เซอร์ไบจานบอกว่ากองกำลังของพวกเขาเข้ายึดหมู่บ้านต่างๆ สูงสุด 7 แห่ง เบื้องต้นทางนากอร์โน-คาราบัค ปฏิเสธเรื่องนี้ แต่ต่อมายอมรับว่าได้สูญเสียที่มั่นบางส่วนไป และมีพลเมืองจำนวนหนึ่งเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ เพิ่มเติม
การปะทะครั้งนี้กระตุ้นความพยายามทางการทูตเพื่อลดความตึงเครียดครั้งใหม่ในความขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนานมาหลายทศวรรษ ระหว่างอาร์เมเนียซึ่งมีชาวคริสเตียนเป็นชนกลุ่มใหญ่ กับอาเซอร์ไบจานที่มีคนกลุ่มใหญ่เป็นชาวมุสลิม โดยรัสเซียเรียกร้องให้หยุดยิงในทันที ส่วน ตุรกี อีกหนึ่งมหาอำนาจในภูมิภาค บอกว่าพวกเขาให้การสนับสนุนอาเซอร์ไบจาน
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เผยแพร่ถ้อยแถลงประณามความรุนแรงครั้งนี้ และเรียกร้องให้ระงับความเป็นปรปักษ์ในทันที รวมถึงคำพูดใดๆ หรือพฤติกรรมอื่นๆ ที่อาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ส่วนองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป วิงวอนทั้งสองฝ่ายหยุดปฏิบัติการทหารและคืนสู่การเจรจา เช่นเดียวกับสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
ท่อน้ำมันที่ลำเลียงน้ำมันแคสเปียนและก๊าซธรรมชาติจากอาเซอร์ไบจานสูโลก อยู่ใกล้กับนากอร์โน-คาราบัค ในขณะที่ อาร์เมเนีย เคยเตือนถึงความเป็นไปได้เกี่ยวกับความเสี่ยงด้านความมั่นคงในแถบคอเคเซัสใต้ ในเดือนกรกฎาคม หลังอาเซอร์ไบจานขู่โจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอาร์เมเนีย ในปฏิบัติการโจมตีแก้แค้นใดๆ
นากอร์โน-คาราบัค แยกตัวออกจากอาเซอร์ไบจาน ในความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991
หลังผู้คนหลายพันคนถูกสังหารและจำนวนมากต้องไร้ถิ่นฐาน ทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงหยุดยิงในปี 1994 ทว่านับตั้งแต่นั้น อาเซอร์ไบจาน และอาร์เมเนีย ต่างกล่าวหาอีกฝ่ายต่อเหตุโจมตีแถวๆ นากอร์โน-คาราบัค และตามแนวชายแดนที่กั้นระหว่างอาเซอร์ไบจานกับอาร์เมเนีย
ในเหตุปะทะวันอาทิตย์ (27 ก.ย.) นักเคลื่อนไหวอาร์เมเนียบอกว่าผู้หญิงเชื้อสายอาร์เมเนียรายหนึ่งและเด็กเสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ด้วยเช่นกัน ในขณะที่อาร์เมเนียกล่าวหาว่ากองกำลังอาเซอร์ไบจาน โจมตีเป้าหมายพลเมืองต่างๆ ในนั้นรวมถึง สเตพานาแกร์ต เมืองหลวงของอาเซอร์ไบจาน และสัญญาว่าจะตอบโต้อย่างสาสม
อาเซอร์ไบจาน ปฏิเสธถ้อยแถลงที่กระทรวงกลาโหมอาร์เมเนียที่อ้างวาฝูงบินเฮลิคอปเตอร์และรถถังของอาเซอร์ไบจานถูกทำลาย และกล่าวหากองกำลังอาร์เมนียลงมือโจมตีโดยตั้งใจและเล็งเป้าหมายบริเวณแนวหน้า “เราปกป้องอาณาเขตของเรา เหตุผลของเรามีความชอบธรรม!” อิลฮาม อาลิเยฟ ประธานาธิบดีอาเซอร์ไบจานกล่าว
ก่อนหน้านี้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 200 คนในเหตุปะทะระหว่างอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานในเดือนเมษายน 2016 และมีผู้เสียชีวิตอีกอย่างน้อย 16 คนในเหตุปะทะเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
(ที่มา : รอยเตอร์)