ทั้งอาเซอร์ไบจานและอาร์เมเนีย ต่างปฏิเสธการเจรจาและเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องหยุดยิงของยูเอ็น เปิดฉากรบกันต่อในวันพุธ (30 ก.ย.) เพื่อช่วงชิงดินแดนนากอร์โน-คาราบัต โดยที่ประเด็นร้อนนี้ยังทำให้เกิดคู่ฟัดใหม่ระหว่างฝรั่งเศสกับตุรกี
ทั้งกองทหารอาเซอร์ไบจานและกองกำลังอาวุธของนากอร์โน-คาราบัค ซึ่งเป็นดินแดนของชนกลุ่มน้อยชาวอาร์เมเนียที่แยกตัวมาจากอาเซอร์ไบจานเมื่อต้นทศวรรษ 1990 และอาร์เมเนียให้การหนุนหลังอยู่ ต่างอ้างว่า ตนถูกฝ่ายตรงข้ามโจมตี โดยมีรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตเกือบร้อยคนและบาดเจ็บหลายร้อยคนนับจากที่การสู้รบเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ (27 ก.ย.) และลามออกนอกดินแดนนากอร์โน-คาราบัคจนหลายฝ่ายกลัวว่า จะกลายเป็นสงครามใหญ่ระหว่างอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจานที่ต่างเคยเป็นสาธารณรัฐในสหภาพโซเวียต รวมถึงดึงมหาอำนาจในภูมิภาคอย่างรัสเซียและตุรกีร่วมวงด้วย
อาเซอร์ไบจานไม่เปิดเผยข้อมูลการสูญเสียกำลังพล ขณะที่อาร์เมเนียเผยว่า มีผู้เสียชีวิต 81 คน และจำนวนพลเรือนที่เสียชีวิตของทั้งสองฝ่ายรวมกันอยู่ที่ 17 คน
อย่างไรก็ดี กระทรวงกลาโหมอาเซอร์ไบจานแถลงเมื่อวันพุธว่า ยังมีการสู้รบดุเดือดต่อเนื่อง และอ้างว่า กองทัพของตนสังหารกองกำลังแบ่งแยกดินแดนคาราบัค 2,300 คนนับจากวันอาทิตย์ รวมทั้งยังทำลายอาวุธยุทโธปกรณ์ของศัตรูจำนวนมาก
ทางด้านอาร์เมเนียแถลงเมื่อวันอังคาร (29 ก.ย.) ว่า เครื่องบินขับไล่แบบ เอฟ-16 ลำหนึ่งของตุรกียิงเครื่องบินรบแบบ ซู-25 ของตนตก 1 ลำ ขณะเครื่องบินตุรกีกำลังสนับสนุนการโจมตีทิ้งระเบิดทางอากาศใส่ชุมชนต่างๆ ของชาวอาร์เมเนีย ทว่า ทั้งอังการาและอาเซอร์ไบจานต่างปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง โดยเป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อ
ตุรกีนั้นเป็นรัฐสมาชิกรายหนึ่งขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) และเพื่อนๆ ชาติพันธมิตรนาโต้ต่างกังวลมากขึ้นกับจุดยืนของอังการา หลังจากเมื่อวันจันทร์ (28 ก.ย.) ประธานาธิบดีตอยยิป แอร์โดอัน ของตุรกีประกาศว่า อาเซอร์ไบจานต้องจัดการเรื่องนี้ด้วยตนเอง โดยที่ตุรกีพร้อมเคียงข้างสนับสนุนด้วยหัวใจและทรัพยากรทั้งหมดที่มี
ต่อมาในวันพุธ เมฟลุต คาวูโซกลู รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกี ย้ำว่า อังเกราจะทำทุกอย่างที่จำเป็น หลังถูกผู้สื่อข่าวถามว่า พร้อมให้การสนับสนุนทางทหารหรือไม่หากอาเซอร์ไบจานร้องขอ
ขณะประธานาธิบดีอิลฮัม อาลีเยฟ ของอาเซอร์ไบจาน แถลงในเวลาต่อมาขอบคุณตุรกีสำหรับความสนับสนุน แต่กล่าวว่าประเทศของเขาไม่มีความจำเป็นต้องขอรับความช่วยเหลือทางทหาร พร้อมบอกด้วยว่าการสู้รบจะสิ้นสุดลงถ้ากองกำลังอาวุธของพวกอาร์เมเนีย “ถอนตัวออกจากดินแดนของเรา” ในทันที
รัฐมนตรีต่างประเทศคาวูโซกลูของตุรกี ยังวิจารณ์ว่า การที่ฝรั่งเศสแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับอาร์เมเนียเท่ากับสนับสนุนให้อาร์เมเนียยึดครองดินแดนในอาเซอร์ไบจาน
ด้านประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส ซึ่งประเทศของเขาเป็นถิ่นเกิดของผู้คนจำนวนมากซึ่งมีบรรพบุรุษเป็นชาวอาร์เมเนีคย ได้ตอบโต้ระหว่างเดินทางไปเยือนลัตเวีย ว่า ปารีสกังวลอย่างยิ่งกับการส่งข้อความ “เหมือนทำสงคราม” ของตุรกี ซึ่งกลายเป็นการรื้อถอนความหักห้ามใจใดๆ ที่อาเซอร์ไบจานมีอยู่ ในการกลับเข้ายึดคืนดินแดนนากอร์โน-คาราบัค “และนั่นเป็นสิ่งที่เรา (ฝรั่งเศส) จะไม่ยอมรับเด็ดขาด” เขากล่าว
ปารีสบอกก่อนหน้านี้ว่า ต้องการให้ “กลุ่มมินสก์” ซึ่งนำโดยรัสเซีย, ฝรั่งเศส, และสหรัฐฯ และทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจานมาหลายสิบปี จัดการหารือกันเรื่องการสู้รบคราวนี้ นอกจากนั้นพวกผู้นำของสหภาพยุโรปก็จะคุยกันถึงความขัดแย้งนี้ในระหว่างการประชุมซัมมิตสัปดาห์นี้ด้วย แหล่งข่าวรัฐบาลเยอรมันรายหนึ่งเปิดเผย
เมื่อวันอังคาร คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ นัดประชุมฉุกเฉินและออกคำแถลงเรียกร้องให้ยุติการต่อสู้ในนากอร์โน-คาราบัคทันที
แต่วันเดียวกัน นายกรัฐมนตรีนิโคล ปาชินเนียน ของอาร์เมเนีย ยืนกรานว่า จะไม่มีการเจรจากับอาเซอร์ไบจานเกิดขึ้นตามที่รัสเซียและนานาชาติเรียกร้อง หากยังมีการสู้รบกันอยู่แบบนี้
ปาชินเนียนเสริมว่า ยังไม่คิดขอความช่วยเหลือจากองค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วม (ซีเอสทีโอ) ในขณะนี้ และสำทับว่า ไม่ได้หารือกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย เรื่องการแทรกแซงทางทหารของรัสเซียในความขัดแย้งนากอร์โน-คาราบัค ระหว่างหารือทางโทรศัพท์กันเมื่อวันอังคาร
ที่ผ่านมา รัสเซียอาศัยซีเอสทีโอควบคู่กับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย ซึ่งเป็นกลุ่มการรวมตัวระดับภูมิภาคที่มุ่งเน้นการค้า เพื่อขยายอิทธิพลในอดีตชาติสมาชิกส่วนใหญ่ของสหภาพโซเวียต
(ที่มา: รอยเตอร์,เอเอฟพี,เอเจนซีส์)