อาร์เมเนียแถลงในวันอังคาร (29 ก.ย.) ว่า เครื่องบินขับไล่ลำหนึ่งของตุรกี ได้ยิงเครื่องบินรบของตนตก 1 ลำ ระหว่างกำลังสู้รบอย่างดุเดือดกับอาเซอร์ไบจาน ซึ่งเป็นพันธมิตรของตุรกี อย่างไรก็ดี ทางฝ่ายอังการาได้แถลงปฏิเสธข้อกล่าวหานี้อย่างเกรี้ยวกราด
ถ้าหากตุรกีเข้าร่วมการปฏิบัติการทางทหารเล่นงานอาร์เมเนียโดยตรงจริงๆ ตามรายงานข่าวนี้ ย่อมหมายความถึงการบานปลายขยายตัวอย่างสำคัญของการสู้รบหนักหน่วงที่ดำเนินมา 3 วันแล้ว ระหว่างกองกำลังอาวุธของอาร์เมเนียกับของอาเซอร์ไบจาน เพื่อช่วงชิงดินแดนนากอร์โน-คาราบัต ซึ่งได้ประกาศแยกตัวออกจากอาเซอร์ไบจาน
ถึงแม้มีเสียงเรียกร้องจากนานาชาติ ให้ทั้งสองฝ่ายหยุดยิง แต่อาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานก็ยังไม่มีท่าทีโอนอ่อนยินยอม แถมต่างอ้างว่าสามารถสร้างความเสียหายหนักให้ฝ่ายตรงข้าม
ดินแดนนากอร์โน-คาราบัคนั้นมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวอาร์เมเนีย แต่อยู่ในการปกครองของอาเซอร์ไบจัน ได้กลายเป็นข้อพิพาทของประเทศทั้งสองมาหลายสิบปีแล้ว ตั้งแต่ที่ทั้งอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานยังต่างเป็นสาธารณรัฐอยู่ในสหภาพโซเวียตด้วยซ้ำ
นากอร์โน-คาราบัคได้ประกาศเอกราช ภายหลังสงครามระหว่างอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจานเมื่อช่วงปลายทศวรรษ 1980 ถึงต้นทศวรรษ 1990 ที่มีผู้เสียชีวิต 30,000 คน แต่ไม่มีประเทศใด รวมถึงอาร์เมเนีย ให้การรับรอง ถึงแม้ในทางพฤตินัยแล้วอาร์เมเนียได้เข้ายึดดินแดนอาเซอร์ไบจานในบริเวณนี้ รวมทั้งให้การสนับสนุนแก่พวกแบ่งแยกดินแดน และต่อจากนั้นมา ทั้งสองฝ่ายได้เกิดการปะทะกันเป็นระยะๆ โดยบางครั้งก็ขยายตัวรุนแรงอย่างเช่นในปี 2016 และในคราวนี้
ตุรกีประกาศสนับสนุนอาเซอร์ไบจานอย่างชัดเจนในความขัดแย้งนี้ และในวันอังคาร (29) กระทรวงกลาโหมอาร์เมเนียแถลงว่า เครื่องบินขับไล่ เอฟ-16 ลำหนึ่งของตุรกี ซึ่งกำลังปฏิบัติการสนับสนุนกองกำลังอาวุธของอาเซอร์ไบจานอยู่ ได้ยิงเครื่องบินรบ ซู-25 ของอาร์เมเนียลำหนึ่งตก
ซูซาน สเตปานียัน โฆษกกระทรวงกลาโหมแถลงว่า เอฟ-16 ของตุรกีลำดังกล่าวกำลังสนับสนุนการทิ้งระเบิดทางอากาศของฝ่ายอาเซอร์ไบจานใส่ชุมชนพลเรือนแห่งต่างๆ ในอาร์เมเนีย ตอนที่ยิงเครื่องบินอาร์เมเนียตก ทำให้นักบินเสียชีวิต
ด้านผู้ช่วยระดับสูงด้านสื่อมวลชนของประธานาธิบดีเรเจป ตอยยิป แอร์โดอัน แห่งตุรกี ได้ออกมาเรียกการกล่าวอ้างของฝ่ายอาร์เมเนียว่า “ไม่เป็นความจริงโดยสิ้นเชิง”
“อาร์เมเนียควรถอนตัวออกจากดินแดนที่ถูกพวกเขายึดครองเอาไว้นี้ แทนที่จะหันกลับมาใช้กลเม็ดโฆษณาชวนเชื่อราคาถูกๆ” ผู้ช่วยผู้นี้ซึ่งมีชื่อ ฟาห์เรตติน อัลตุน แถลง
สำหรับโฆษกกระทรวงกลาโหมอาเซอร์ไบจาน วากิฟ ดียาร์กาห์ลี ก็เรียกการกล่าวอ้างนี้ว่า “เป็นเพียงการโกหกอีกครั้งหนึ่งในการโฆษณาชวนเชื่อของอาร์เมเนีย”
การปะทะกันอย่างดุเดือดคราวนี้ ปะทุขึ้นตั้งแต่วันอาทิตย์ (28) โดยที่ทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวหากันและกันว่าเป็นผู้จุดชนวน และจนถึงวันอังคาร มีผู้เสียชีวิตซึ่งได้รับการยืนยันแล้วเกือบๆ 100 คน
พวกมหาอำนาจต่างประเทศ รวมทั้งสหรัฐฯ และรัสเซีย ต่างเรียกร้องให้หยุดยิงกันในทันที และหวนกลับคืนสู่การเจรจาเกี่ยวกับอนาคตของดินแดนคาราบัคหลังจากชะงักงันไปเป็นปีๆ
คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชนมีกำหนดหารือฉุกเฉินกันในวันอังคาร (29) เกี่ยวกับสถานการณ์ที่กำลังบานปลายออกไปทุกทีนี้ ทว่าทั้งสองฝ่ายยังไม่มีฝ่ายใดส่งสัญญาณว่าพร้อมที่จะหยุดยิง
ทั้งประธานาธิบดีอิลฮัม อาลิเยฟ ของอาเซอร์ไบจาน และนายกรัฐมนตรีนิคอล ปาชินยัน ของอาร์เมเนีย ต่างแถลงในวันอังคารว่าจะสู้รบต่อ ขณะที่กองทัพของทั้งสองฝ่ายต่างอ้างว่าสามารถสร้างความเสียหายหนักให้แก่กองกำลังของศัตรู
กระทรวงกลาโหมอาร์เมเนีย ในกรุงเยเรวาน แถลงว่า กองกำลังของฝ่ายแบ่งแยกดินแดนในคาราบัต ได้ผลักดันการบุกโจมตีตรงบริเวณแนวหน้าของฝ่ายอาเซอร์ไบจานให้ถอยกลับไป และ “ฝ่ายศัตรูประสบความเสียหายหนักหน่วงในด้านกำลังพล”
ทางกระทรวงยังอ้างว่ากองทัพอาเซอร์ไบจานสูญเสียโดรนไปเกือบ 50 ลำ, เฮลิคอปเตอร์ 6 ลำ และรถถังอีก 80 คัน
ในกรุงบากู พวกเจ้าหน้าที่อาเซอร์ไบจานปฏิเสธข่าวที่ว่า พวกแบ่งแยกดินแดนที่หนุนหลังโดยอาร์เมเนีย ได้กลับเข้าควบคุมดินแดนซึ่งฝ่ายนี้สูญเสียไปในการสู้รบเมื่อวันอาทิตย์
อาเซอร์ไบจานบอกว่า กองทหารของตนสามารถขับไล่การตีโต้ของฝ่ายอาร์เมนีย และทำลายขบวนยานยนต์ไป 1 ขบวน และหน่วยปืนใหญ่อีก 1 หน่วย แล้วในเวลาต่อมา ได้ทำลายกรมทหารราบยานยนต์ไปทั้งกรม
(ที่มา : เอเอฟพี/เอเจนซีส์)