รัสเซียเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการเจรจาเพื่อยุติการสู้รบระหว่างกองกำลังอาเซอร์ไบจานกับอาร์เมเนีย ในดินแดนพิพาทนากอร์โน-คาราบัค ขณะที่เหตุปะทะระหว่างสองชาติยืดเยื้อเข้าสู่วันที่ 4 และมีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 100 ศพ
เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียยื่นข้อเสนอดังกล่าวระหว่างต่อสายพูดคุยกับรัฐบาลทั้งสองชาติ จากการเปิดเผยของกระทรวงการต่างประเทศหมีขาว พร้อมเรียกร้องให้สองฝ่ายหยุดใช้คำพูดชวนทะเลาะ
มีรายงานผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 100 คนนับตั้งแต่เหตุปะทะปะทุขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ (27 ก.ย.) ในการสู้รบครั้งหนักหน่วงที่สุดในรอบหลายปีเกี่ยวกับดินแดนนากอร์โน-คาราบัค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาเซอร์ไบจานอย่างเป็นทางการ แต่ปกครองโดยชนเชื้อสายอาร์เมเนีย
อาร์เมเนีย และอาเซอร์ไบจาน 2 ชาติอดีตสหภาพโซเวียต เคยทำสงครามสู้รบกันเกี่ยวกับดินแดนแห่งนี้มาแล้วระหว่างปี 1998-1994 และมีความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าบรรดาชาติมหาอำนาจของโลกอาจถูกลากเข้าสู่ความขัดแย้งนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ในวันพุธ (30 ก.ย.) กระทรวงการต่างประเทศของรัสเซียเปิดเผยว่า ลาฟรอฟ ได้ต่อสายโทรศัพท์ถึงรัฐมนตรีต่างประเทศของทั้งอาร์เมเนีย และอาเซอร์ไบจาน เพื่อแสดงจุดยืนว่ารัสเซียมีความตั้งใจเป็นเจ้าภาพการเจรจาหย่าศึก
ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่ง ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ก็ต่อสายตรงถึง เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส หารือเกี่ยวกับสถานการณ์การสู้รบดังกล่าวเช่นกัน โดยผู้นำทั้งสองได้เน้นย้ำข้อเรียกร้องของบรรดามหาอำนาจโลก ที่ขอให้ทั้งสองฝ่ายหยุดยิงในทันที
รัสเซียเป็นส่วนหนึ่งในพันธมิตรทหารของอาร์เมเนียและมีฐานทัพอยู่ในประเทศแห่งนี้ อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งมอสโกก็มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอาเซอร์ไบจาน
ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าอะไรเป็นชนวนเหตุการสู้รบในครั้งนี้ แต่เมื่อวันพุธ (30 ก.ย.) ประธานาธิบดีอิลฮัม อาลีเยฟ ของอาเซอร์ไบจาน ประกาศจะสู้จนกว่ากองกำลังของอาร์เมเนียจะล่าถอยออกจากดินแดนของพวกเขา
“เรามีเพียงเงื่อนไขเดียว นั่นคือกองทัพอาร์เมเนียต้องออกจากผืนแผ่นดินของเราอย่างไม่มีเงื่อนไข ทั้งหมดและโดยทันที” เขากล่าว ในขณะเดียวกันนั้นทาง อาเซอร์ไบจาน ได้เผยแพร่วิดีโอที่อ้างว่าเป็นซากรถถัง 2 คันของศัตรู และกองทหารอาร์เมเนีบได้หลบหนีออกจากพื้นที่แถวๆ หมู่บ้านโตนาเชนแล้ว
สื่อวลชนอาร์เมเนียรายงานว่ามีพลเรือน 3 รายเสียชีวิตในปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของอาเซอร์ไบจานถล่มเมืองมาร์ตาเกิร์ตเมื่อวันพุธ (30 ก.ย.) ส่งผลให้เวลานี้มีพลเรือน 7 คน และบุคลากรทางทหารของอาร์เมเนีย 80 นายเสียชีวิตนับตั้งแต่การสู้รบเริ่มต้นขึ้น
นอกจากนี้แล้วทางกระทรวงกลาโหมของอาร์เมเนียยังได้เผยแพร่ภาพภ่ายเครื่องบินขับไล่ SU-25 ของพวกเขา ที่อ้างว่าถูกเครื่องบิน F-16 ของตุรกียิงตกเมื่อวันอังคาร (29 ก.ย.) แม้ทางตุรกี ซึ่งเป็นพันธมิตรของอาเซอร์ไบจาน ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยบอกว่ามันเป็นเพียง “โฆษณาชวนเชื่อราคาถูก”
ความขัดแย้งครั้งนี้โหมกระพือความตึงเครียดระหว่าง 2 พันธมิตรนาโต้อย่างฝรั่งเศสและตุรกี เนื่องจากฝรั่งเศสเป็นถิ่นพำนักของคนเชื้อสายอาร์เมเนียจำนวนมาก ส่วนตุรกีให้กับสนับสนุนชนเชื้อสายเติร์กในอาเซอร์ไบจาน
เมื่อวันพุธ (30 ก.ย.) รัฐมนตรีต่างประเทศของตุรกีกล่าวหาฝรั่งเศสให้การสนับสนุนอาร์เมเนียบุกยึดอาเซอร์ไบจาน กระตุ้นให้ประธานาธิบดีมาครงตอบโต้กลับ โดยวิพากษ์วิจารณ์ตุรกีว่า “ใช้คำพูดชวนทะเลาะ” พร้อมกล่าวหาตุรกีว่ากำลังหาทางรื้อถอนเครื่องกีดขวางใดๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้ายึดครองนากอร์โน-คาราบัคของทางอาเซอร์ไบจาน “และเราจะไม่ยอมรับเรื่องนี้”
หลังจากมาครงและปูตินพูดคุยกัน ทางเครมลินออกถ้อยแถลงว่าทั้งสองได้หารือถึงก้าวย่างต่างๆ ในอนาคตที่ทางองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE) จะดำเนินการเพื่อช่วยคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างสองชาติ
(ที่มา : บีบีซี)