xs
xsm
sm
md
lg

ช้อปปิ้งที่ "ญี่ปุ่น" กับ "อเมริกา" ต่างกันตรงไหน (2)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก http://www.mammemo.net/
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน สัปดาห์ก่อนเล่าประสบการณ์ส่วนตัวเกี่ยวกับการจับจ่ายซื้อของในญี่ปุ่นและอเมริกา รู้สึกดีใจที่เพื่อนผู้อ่านบางท่านชอบและกรุณาเขียนให้กำลังใจมา ขอบคุณมากนะคะ สัปดาห์นี้กลับมาเล่าตอนต่อตามสัญญาค่ะ ตามไปดูกันดีกว่าว่าซื้อของในญี่ปุ่นกับอเมริกาเป็นอย่างไรบ้าง

ของหมดอายุกับราคาสินค้า

ญี่ปุ่น - ที่ญี่ปุ่นนั้นฉันยังไม่เคยเจอแม้แต่ครั้งเดียวว่าเจอของหมดอายุเวลาซื้อของ รวมทั้งไม่เคยเจอว่าตอนจ่ายเงินแล้วราคาของต่างจากราคาป้ายที่ติดไว้

หากใครเคยใช้บริการร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่นบ่อย ๆ ก็คงเคยเห็นพนักงานมาเช็คสต็อกและจัดวางสินค้าใหม่อยู่บ่อยครั้ง ที่ผ่านมาเวลาฉันซื้อของในร้านสะดวกซื้อหรือซูเปอร์มาร์เก็ตก็มักได้สินค้าที่ยังมีอายุบริโภคได้อีกพอสมควร ทำให้รู้สึกว่าได้รับประทานของสดใหม่อยู่เสมอ

ภาพจาก https://www.urethanegel.jp/
ในขณะเดียวกันของที่ใกล้หมดอายุแล้ว บางที่ก็อาจเอามาขายเหมือนกันแต่ติดป้ายลดราคา ยิ่งช่วงใกล้ปิดร้าน ซูเปอร์มาร์เก็ตมักติดป้ายลดราคากระหน่ำสำหรับอาหารกล่องหรืออาหารสดที่ต้องรับประทานภายในวันนั้นอย่างซูชิ ซาชิมิ ส่วนร้านเบเกอรี่ก็มักลดราคาขนมปังที่ยังขายไม่หมดช่วงใกล้ปิดร้านเช่นกัน บางทีกะซื้อขนมปังไปเป็นอาหารเช้าวันถัดไป แต่พอซื้อเสร็จคนขายจะบอกว่าให้รับประทานภายในวันนั้นทุกทีเลย ซึ่งจริง ๆ แล้ววันต่อไปก็ยังรับประทานได้ แต่คนขายอาจไม่รับรองในรสชาติและความสดใหม่จึงบอกให้รับประทานในวันนั้น

อเมริกา - ซื้อข้าวของในซูเปอร์มาร์เก็ตของอเมริกานี่ต้องทำใจมากค่ะ เจอทั้งของหมดอายุแล้วยังวางเด่นหราอยู่บนชั้น ราคาก็มักไม่ตรงตามป้ายบอกราคา หรือบางทีป้ายบอกราคากับสินค้าที่วางอยู่ก็ไม่ตรงกัน เวลาเขาสแกนราคาแล้วมักได้ออกมาเป็นราคาที่สูงกว่าเดิม จึงต้องคอยดูและบอกพนักงานบ่อยครั้งจนระอาใจ บางร้านพนักงานจะวิ่งไปเช็คที่ป้าย บางร้านพนักงานจะถามว่าแล้วมันติดไว้ราคาเท่าไหร่ จากนั้นก็คิดราคาให้ตามที่เราบอก แปลกดีที่ไว้ใจลูกค้าขนาดนั้น หรืออาจจะไม่คิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ถ้าบอกราคาผิดกระมัง

ภาพจาก https://grapee.jp
สำหรับสินค้าอาหารญี่ปุ่นซึ่งมักละเอียดกับเรื่องรสชาติและคุณภาพถึงขนาดบอก “วันหมดอายุความอร่อย” สำหรับอาหารบางชนิด หรือไม่ก็ “วันหมดอายุสินค้า” พอนำเข้ามาในอเมริกากลับไม่ค่อยยอมระบุวันทั้งสองแบบไว้ โดยเฉพาะของที่รับประทานอร่อยในเวลาไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์อย่างเช่น เส้นราเม็งสด ถั่วเน่า(นัตโต) และเค้กแช่เย็น เหตุผลอาจเป็นไปได้สองอย่าง คือ หนึ่ง - เพราะอาหารญี่ปุ่นสดใหม่เลยหมดอายุเร็ว คนต่างชาติที่ไม่เข้าใจอาจคิดว่าเป็นของใกล้เสีย หรือสอง - คนญี่ปุ่นอาจกลัวว่าถ้าระบุวันหมดอายุความอร่อยของอาหารชนิดนั้น คนต่างชาติอาจเข้าใจผิดว่าเป็นวันหมดอายุสินค้าก็จะไม่ซื้อ เลยตัดปัญหาไม่ระบุวันหมดอายุมันทั้งสองแบบเลยก็เป็นได้ แต่ฉันไม่ชอบสินค้าที่ไม่บอกวันหมดอายุแบบนี้เพราะมันทำให้ไม่รู้ว่าสินค้านี้เก่าเก็บนานแค่ไหนแล้ว และชวนให้รู้สึกว่าเป็นของไม่ดี

การชำระเงิน

ญี่ปุ่น - เพื่อนผู้อ่านเคยซื้อของแล้วคนขายถามว่า “มีเศษ X บาทไหม” บ้างไหมคะ เพื่อที่คนขายจะได้ทอนเป็นเหรียญใหญ่หรือธนบัตรให้แทนที่จะทอนเป็นเศษสตางค์ เช่นหากเขาต้องทอนให้เรา 4 บาท เขาจะถามว่าเรามีบาทหนึ่งไหม เขาจะได้ให้มาเป็นเหรียญห้าบาทแทน ที่ญี่ปุ่นฉันยังไม่เคยเจอคนขายถามแบบนี้ แต่ด้วยความที่อยากใช้เหรียญในกระเป๋าสตางค์ให้มากที่สุด ก็เลยมักคิดเองว่าจะจ่ายอย่างไรให้ได้ทอนกลับมาเป็นเศษน้อยที่สุด

สมมติของราคา 258 เยน ถ้าเราจ่ายไป 300 เยน ก็จะได้ทอนมา 42 เยน ((เหรียญ 10 เยน x 4 เหรียญ = 40 เยน) + (เหรียญ 1 เยน x 2 เหรียญ + 2 เยน)) รวมทั้งหมดมีตั้ง 6 เหรียญ ดังภาพ


แต่ถ้าหากมีเศษสตางค์ในกระเป๋าอยู่บ้างแล้ว ลองคิดว่าจะต้องให้เท่าไหร่เพื่อให้ได้ทอนเศษสตางค์กลับมาน้อยที่สุด ก็อาจจะจ่ายไป 313 เยน จะได้เงินทอนมา 55 เยน เหลือเศษแค่ 2 เหรียญ


ฉันชอบเวลามีโอกาสจ่ายเงินแบบนี้ เพราะได้สนุกกับการคิดเลขในหัวนิดหน่อย ไม่รู้ทำไมอยู่ญี่ปุ่นแล้วฉันถึงใช้วิธีนี้บ่อยทั้งที่ไม่เคยมีใครบอก อาจเพราะเวลาจ่ายเงินจะเห็นตัวเลขยอดเงินจากเครื่องคิดเงินซึ่งอยู่ตรงหน้าจึงทำให้คิดเงินง่าย ซึ่งวิธีนี้คงมีคนญี่ปุ่นทำกันหลายคนเพราะเวลาจ่ายเงินแล้วท่าทางพนักงานเข้าใจตรงกัน ไม่เคยเจอคนทำหน้างงใส่

พูดถึงเรื่องเศษสตางค์ก็นึกขึ้นได้ว่า เคยไปจ่ายเงินค่าอาหารเช้าที่ร้านข้าวหน้าเนื้อ ตอนนั้นเศษสตางค์เยอะมากและหนักกระเป๋า จึงอยากจะใช้ให้หมด แต่กว่าจะนับได้ครบจำนวนเงินที่ต้องจ่ายก็ใช้เวลาพอสมควร จึงขอโทษคุณป้าพนักงานด้วยความเกรงใจที่ทำให้เขาต้องรอนาน คุณป้าใจดียิ้มให้กำลังใจว่า “ไม่หรอกจ้ะ ดีออกจะตาย ร้านค้าน่ะชอบเศษสตางค์ จะได้มีทอนลูกค้าไง” ทำให้นึกไปถึงสมัยก่อนแม่ฉันก็เคยพูดทำนองนี้ และมักจะใช้เศษสตางค์ในการจ่ายเงิน

ภาพจาก https://topics.smt.docomo.ne.jp
อเมริกา - วันหนึ่งมีคนญี่ปุ่นเล่าให้ฟังว่า ตอนอยู่ญี่ปุ่นจ่ายเงินด้วยวิธีที่ทำให้ได้เศษสตางค์ทอนกลับมาน้อยที่สุดเหมือนกัน แต่พอมาทำแบบเดียวกันในอเมริกา ไม่รู้ทำไมเจอแต่พนักงานทำหน้างงใส่ว่าทำไมจ่ายเกินและให้เศษสตางค์มาเยอะแยะ ฉันนึกได้ว่าเคยเจอเหตุการณ์คล้าย ๆ กันและทำให้เลิกจ่ายเงินด้วยวิธีนี้ตอนอยู่อเมริกา เดาว่าคนอเมริกาอาจจะไม่มีแนวคิดเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพราะคนอเมริกาไม่ใส่ใจกับเรื่องเศษสตางค์อย่างที่เล่าไปในสัปดาห์ก่อน คือไม่ได้คิดว่าจะต้องจ่ายเงินจำนวนเป๊ะ ๆ หรือทอนเงินเป๊ะ ๆ หากไม่มีเงินพอดีทอน ก็จะทอนแบบปัดเศษออก ส่วนใหญ่จะปัดแบบที่เราขาดทุน น้อยครั้งจะเจอร้านที่ปัดแบบให้เราได้เศษสตางค์เพิ่ม และแน่นอนว่าถ้าเรามีเศษสตางค์ไม่พอ ทางร้านก็หยวนให้แบบไม่คิดมาก

ในร้านอาหาร

ญี่ปุ่น - เวลาชำระเงินที่ร้านอาหารในญี่ปุ่น ส่วนใหญ่จะไม่ได้จ่ายที่โต๊ะอาหาร แต่ต้องบอกกับพนักงานก่อนว่าจะชำระเงินแล้ว พนักงานจึงจะเตรียมสลิปค่าอาหารให้ แล้วให้เราไปจ่ายที่เคาน์เตอร์ซึ่งมักอยู่หน้าร้าน เว้นแต่ว่าจะเป็นร้านแบบบ้าน ๆ ก็อาจจะจ่ายที่โต๊ะอาหารได้เลย

ภาพจาก https://airregi.jp/
หรือในบางร้านเราต้องซื้อคูปองอาหารจากเครื่องขายอัตโนมัติเสียก่อน แล้วพอพนักงานมาต้อนรับค่อยเอาคูปองให้กับพนักงาน ถ้าเป็นร้านราเม็ง หากนั่งรับประทานอยู่แล้วต้องการสั่งอะไรนิดหน่อยเพิ่ม หลายร้านจะให้จ่ายเงินตรงนั้นได้เลย ไม่ต้องเดินไปต่อคิวซื้อจากเครื่องขายอีกรอบ

อเมริกา - ของอเมริกาส่วนใหญ่จะคล้ายบ้านเรา คือต้องเรียกพนักงานมาเก็บเงินที่โต๊ะ หากจ่ายสดบางทีเขาก็จะถามว่าต้องการเงินทอนไหม ถ้าไม่ต้องการเงินทอนก็หมายความว่าที่เกินจากค่าอาหารนั้นให้เป็นทิปทั้งหมด ซึ่งเราสามารถที่จะบอกว่าต้องการเงินทอน แล้วให้ทางร้านทอนเงินมาก่อน แล้วเราค่อยให้ทิปตามจำนวนเงินที่ต้องการก็ได้

มีบางร้านเหมือนกันที่ต้องสั่งอาหารและชำระเงินที่เคาท์เตอร์ก่อน แล้วเขาจะให้ป้ายที่เขียนเบอร์ไว้สำหรับวางไว้ที่โต๊ะ จากนั้น เราก็ไปเลือกที่นั่งเอง ถึงเวลาที่อาหารทำเสร็จพนักงานก็เดินมาเสิร์ฟที่โต๊ะตามหมายเลขป้ายที่วางไว้ นอกจากนี้ บางร้านมีระบบคอมพิวเตอร์เพิ่มเติมด้วย คือให้เราไปกดสั่งอาหารและชำระเงินจากเครื่องได้เอง จากนั้นเราต้องหยิบป้ายอิเล็คทรอนิคส์ที่วางอยู่ใกล้ ๆ กันมาด้วย แล้วคีย์หมายเลขบนป้ายลงไปที่เครื่องสั่งอาหาร จากนั้นก็ไปหาที่นั่ง เมื่ออาหารทำเสร็จพนักงานก็จะเดินมาเสิร์ฟให้แล้วรับป้ายคืนไป

ภาพจาก https://www.lrsus.com/
ขอจบเรื่องของการจับจ่ายซื้อของในญี่ปุ่นและอเมริกาไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อน ถ้านึกอะไรได้อีกจะมาเล่าให้ฟังในคราวต่อไปนะคะ ขอบคุณที่ติดตามอ่านกัน สวัสดีค่ะ.

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น”ที่MGR Onlineทุกวันอาทิตย์.



กำลังโหลดความคิดเห็น