xs
xsm
sm
md
lg

ช้อปปิ้งที่ "ญี่ปุ่น" กับ "อเมริกา" ต่างกันตรงไหน (1)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก https://tabinaka.co.jp/
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”


สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน เรื่องธรรมดาอย่างการจับจ่ายซื้อของนั้น หากเจอประสบการณ์ที่ไม่คุ้นเคยบางทีก็สร้างความรู้สึกแปลกใหม่ได้เหมือนกันนะคะ อย่างในญี่ปุ่นกับอเมริกาที่ฉันมีประสบการณ์ ก็จะมีหลายส่วนที่แตกต่างกับบ้านเรา บางอย่างก็ทำให้รู้สึกดี ๆ บางอย่างก็ทำให้รู้สึกชอบกล วันนี้ฉันขอนำเรื่องราวที่ได้เจอมาเล่าสู่กันฟังสบาย ๆ นะคะ

วิธีสร้างฐานลูกค้า

ญี่ปุ่น - ถ้าใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่นช่วงหนึ่ง รู้สึกตัวอีกทีอาจพบว่ากระเป๋าสตางค์อ้วนพี ไม่ใช่ว่าเงินเยอะแต่อย่างใด หากแต่อัดแน่นไปด้วยบัตรสะสมแต้มและบัตรสะสมตราประทับหนาเป็นปึก จนในที่สุดก็ต้องหาสมุดเก็บแยกไว้จากกระเป๋าสตางค์ ไม่อย่างนั้นไม่มีที่เก็บ เวลาจะซื้อของแล้วใช้บัตรของร้านใดร้านหนึ่งก็ต้องมาเปิดไล่หาบัตรกันให้ควั่กอยู่พักหนึ่งเป็นประจำ

ภาพจาก https://www.goodspress.jp/
เวลาไปซื้อของจากร้านขายยา ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านเครื่องไฟฟ้า ร้านเสื้อผ้า ร้านขายรองเท้า ร้านขายใบชา ร้านขายเมล็ดกาแฟ ร้านกาแฟ และอื่น ๆ หลายร้านมักถามว่ามีบัตรสะสมแต้มหรือบัตรสะสมตราประทับไหม ถ้ายังไม่มีจะทำไหมจะได้สิทธิพิเศษอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าตอบว่าไม่ทำ เขาก็จะบอกว่าถ้าอย่างนั้นต้องขอโทษด้วยที่ถามอะไรเสียมารยาท

อเมริกา - บางร้านในอเมริกาก็คล้ายกับญี่ปุ่นตรงที่จะถามเราว่ามีบัตรสมาชิกหรือเปล่า อยากทำไหม ทำได้เลย ฟรีนะ หลายร้านจะให้แผ่นพลาสติกมาใบหนึ่ง ซึ่งมีบัตรขนาดเท่าการ์ดใบหนึ่งและใบขนาดเท่าป้ายติดสินค้าเล็ก ๆ มีรูเจาะอีกใบหนึ่งหรือสองใบ ทุกใบจะมีบาร์โค้ด ใบขนาดเท่าการ์ดมักไม่ค่อยใช้กัน แต่มักใช้ใบเล็กร้อยใส่ห่วงพวงกุญแจได้ ไม่ต้องเก็บเป็นบัตรใหญ่ให้เกะกะ เวลาไปซื้อของก็แค่หยิบพวงกุญแจออกมา หาบัตรของร้านให้เจอ แล้วพลิกด้านที่เป็นบาร์โค้ดให้ทางร้านสแกนเพื่อสะสมแต้มหรือรับส่วนลด

ภาพจาก https://www.iheartpublix.com
มีบางร้านหรือบางห้างที่พอจ่ายเงินซื้อของ พนักงานก็จะบอกให้ใส่อีเมลลงไปที่เครื่องด้วย ตอนแรกฉันก็เกือบเผลอใส่ไปเหมือนกัน แต่เอะใจเลยถามว่าทำไมต้องใส่ เขาบอกว่าเพื่อจะได้รับข่าวสารจากเราไง ฉันเห็นว่าเป็นวิธีที่ไม่ค่อยน่ารัก คือไม่ถามลูกค้าว่าอยากได้ข้อมูลข่าวสารจากร้านไหม แต่จู่ ๆ ก็บอกให้ใส่อีเมล แล้วถึงเวลาก็ส่งโฆษณามาดื้อ ๆ พนักงานเห็นฉันยืนกรานว่าจะไม่ใส่อีเมล ก็เงียบไปนิดหนึ่งก่อนจะกดปุ่มอะไรต่อมิอะไรให้ ทำให้ไม่ต้องใส่อีเมลก็ทำการซื้อขายได้

แต่ส่วนที่ฉันชอบเป็นพิเศษเกี่ยวกับพวกร้านค้าในอเมริกาคือ ถ้าเป็นร้านอาหารหรือร้านกาแฟที่เราเป็นสมาชิกและมียอดจับจ่ายกับทางร้านต่อเนื่องถึงระดับหนึ่ง พอถึงวันเกิดเขาจะให้ยอดเงินเรามาจำนวนหนึ่งสำหรับซื้อสินค้าของเขา เช่น $5 สำหรับซื้อกาแฟ หรือ $10 สำหรับซื้อสลัดของร้าน ที่ผ่านมาในวันเกิดฉันเคยได้กาแฟจากร้านกาแฟโปรดสองร้าน สลัดชามโตอร่อย ๆ หนึ่งชาม และขนมเบเกอรี่หนึ่งชิ้น แค่นี้ก็ทำให้รู้สึกดีใจเหมือนมีคนฉลองวันเกิดให้ด้วยสิ่งที่เราชอบ

ถ้าพูดเสียงเบาไป

ญี่ปุ่น - “ช่วยพูดอีกครั้งได้ไหมคะ/ครับ” ด้วยท่าทีสุภาพและเกรงใจ

อเมริกา - “ไม่ได้ยิน!” ด้วยเสียงอันดัง

ภาพจาก https://www.bengo4.com
ฉันเคยเข้าใจผิดอยู่ช่วงหนึ่งว่าคนอเมริกันจำนวนมากมีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยิน มารู้ทีหลังว่าไม่ใช่อย่างที่คิด คนอเมริกันมักพูดเสียงดังเหมือนตะโกน และไม่ค่อยสนใจว่าจะรบกวนคนรอบข้างหรือเปล่า ตอนฉันไปยุโรป สังเกตดูคนก็ไม่ได้พูดเสียงดังโหวกเหวกแบบคนอเมริกัน ทำให้คุยกันด้วยระดับเสียงปกติก็ได้ยิน ทำให้ฉันได้รู้ว่าไม่ใช่ว่า “ฝรั่ง” ทุกชาติจะพูดเสียงดังกันหมด ตอนฉันไปนั่งรอเครื่องอยู่ที่สนามบินในเยอรมัน เห็นคนยุโรปเขานั่งคุยกันเบา ๆ ดูสุภาพ ส่วนคนอเมริกันพูดทีคือได้ยินกันไปทั้งบาง บางคนคุยกันกลางถนนดังลั่น นึกว่าตะโกนด่ากันเหมือนมีเรื่องทะเลาะวิวาท พอหันไปมองด้วยความตกใจ กลับเห็นเขาคุยกันสนุกสนาน ฉันเผลอเหลียวไปมองอีกหลายทีด้วยความสับสน เพราะภาพที่เห็นกับความรับรู้เรื่องเสียงขัดกันไปคนละทาง

ราคาสินค้าและเงินทอน

ญี่ปุ่น - เวลาซื้อของที่ญี่ปุ่น แน่นอนว่าของราคาเท่าใดก็ต้องจ่ายเท่านั้น ทอนให้เท่านั้น ไม่มีการหมกเม็ดทั้งฝั่งคนซื้อและคนขาย จะมีก็แต่ร้านขายของอยู่แห่งหนึ่งที่มีเหรียญ 1 เยนวางไว้ให้จำนวนหนึ่ง หากลูกค้าขาดเศษสตางค์ไปไม่เกิน 4 เยนก็สามารถหยิบจากเคาน์เตอร์จ่ายเงินมาใช้ได้ ฉันค่อนข้างงงกับวิธีคิดเงินแบบนี้อยู่เหมือนกันว่าทางร้านจะทำบัญชีอย่างไรกันนะ

ภาพจาก https://supermarket-baito-part.com/
อเมริกา - ประเทศนี้มีเรื่องให้เซอร์ไพรส์ไม่หยุดหย่อนทีเดียว นอกจากบางทีจะหมกเม็ดเศษเงิน ไม่ยอมทอนลูกค้าที่ไม่ถึง 5 เซนต์แล้ว หากยืนรอเงินทอน 1 เซนต์ พนักงานก็ถามเข้าให้อีกว่า “นี่คุณรอเอาเงินทอน 1 เซนต์เหรอ?” โอ้โฮ...แร๊งส์!

แต่ในทางเดียวกัน ถ้าเราซื้อของแล้วเงินไม่พอ เขาก็จะหยวน ๆ ให้ ที่น่าประหลาดใจที่สุดคือตอนนั้นฉันเพิ่งย้ายไปอเมริกาและข้าวของยังส่งทางเรือจากญี่ปุ่นมาไม่ถึง อากาศหนาวมากเลยไปหาซื้อรองเท้าบูทกันหนาว ฉันยังไม่ได้ทำบัตรเครดิตเลยใช้เงินสด ตอนหยิบรองเท้าไปจ่ายเงิน ราคาก็เพิ่มจากราคาป้ายเพราะต้องบวกภาษี เงินสดก็เลยไม่พอ ฉันบอกพนักงานไปตามตรงแล้วก็ว่าจะคืนรองเท้าไป พนักงานถามว่าขาดกี่เหรียญ แล้วก็กดปุ่มต๊อกแต๊กที่เครื่อง ลดราคาให้ฉันเสียอย่างนั้น ฉันตกใจมากที่พนักงานสามารถกำหนดราคาสินค้าใหม่ได้เองแบบชิลล์ ๆ เหมือนเป็นเรื่องปกติ ทำให้ฉันเกิดความสงสัยอีกว่าเขาทำบัญชีอย่างไรกันนี่

ภาพจาก https://www.myrecordjournal.com
วันหนึ่งฉันไปซื้อคุกกี้หนึ่งชิ้นจากร้านที่ขายแบบร้อน ๆ จากเตา ปกติจะใช้บัตรเครดิตจ่ายได้ แต่วันนั้นเครื่องรูดเสีย เศษสตางค์ฉันก็ไม่มี มีแค่ธนบัตรใบละยี่สิบเหรียญเท่านั้น (อารมณ์คล้าย ๆ ซื้อของ 20 บาทจ่ายธนบัตรใบละ 500) คนขายซึ่งเป็นชาวผิวดำเลยทำมือไล่โดยไม่พูดอะไร ราวกับจะบอกว่างั้นเอาไปเหอะ ฉันกับสามีมองหน้ากันงง ๆ ไม่เข้าใจว่าของซื้อของขายสามารถให้ฟรีกันอย่างนี้ได้ด้วยหรือ เจ้าของร้านจะไม่ว่าเขาหรือ คนขายเห็นไม่ไปสักทีก็ถลึงตาใส่ ก่อนจะยิ้มแล้วบอกว่า “ไม่ใช่อะไรหรอก ผมไม่มีเงินทอน”

หรือบางทีซื้อโดนัทชิ้นเดียว เปิดถุงออกมาเจอสองชิ้น พอเดินเอากลับไปคืน เขากลับยิ้มให้บอกว่า “แถมให้ไง เอาไปเถอะ”

…อย่างนี้ก็มีด้วย

สินค้ามีตำหนิ

ญี่ปุ่น - ครั้งหนึ่งฉันซื้อกีวีสองลูกจากในซูเปอร์มาร์เก็ต ไม่ทันดูให้ดี ตอนไปจ่ายเงิน คุณป้าพนักงานขายบอกว่าลูกนึงมันดูเน่า ๆ นะ หนูไปเปลี่ยนลูกใหม่ดีกว่า แล้วป้าก็เอากีวีลูกนั้นออกไป รอให้ฉันวิ่งไปหยิบลูกใหม่มาคิดเงิน

ภาพจาก https://job-list.net/
อเมริกา - ฉันว่าปกติตัวเองจะดูสินค้าให้ถ้วนถี่ก่อนไปจ่ายเงินนะคะนี่ แต่บางวันคงเบลอหรือไม่ก็คงเพราะแก่แล้วเลยเผลอเลือกของมีตำหนิไป วันหนึ่งไปซื้อกระถางพลาสติกมาปลูกต้นไม้ พอไปจ่ายเงิน พนักงานบอกว่า “กระถางแตกนี่นา คุณเอาใบนี้ไปคืนที่เดิมแล้วเปลี่ยนใบใหม่มาดีกว่า” ฉันถามเธองง ๆ ว่า “แล้วคุณไม่ต้องเอาสินค้ามีตำหนิแยกไว้ต่างหากหรือ จะได้ไม่มีลูกค้าไปหยิบเจอแล้วต้องเปลี่ยนอีก” 

เธอส่ายศีรษะบอกว่า “มันเป็นหน้าที่ของคนดูแลชั้นวางของตรงนั้น” ฉันฟังแล้วก็อึ้ง ฟังดูคล้าย ๆ เธอบอกว่าไม่ใช่หน้าที่ของเธอ แต่คิดดูแล้วบางทีทางร้านอาจจะใช้ระบบควบคุมดูแลที่ไม่เหมือนของญี่ปุ่นก็เป็นได้

เรื่องทำนองนี้มีเยอะทีเดียวค่ะ ไว้สัปดาห์หน้าจะมาเล่าให้ฟังต่อ อย่าลืมติดตามอ่านกันนะคะ สวัสดีค่ะ.

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น”ที่MGR Onlineทุกวันอาทิตย์.



กำลังโหลดความคิดเห็น