สวัสดีครับผม Mr. Leon มาแล้ว ปัจจุบันนี้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญและมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของทุกคนมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนคงจะรู้จักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เมื่ออาทิตย์ที่แล้วผมไปซื้ออุปกรณ์สื่อสารใหม่แทนของเดิมที่เริ่มจะใช้การไม่ได้แล้ว ด้วยความที่ผมไม่ค่อยมีเวลาที่จะเลือกมากนักจึงให้พนักงานช่วยแนะนำข้อมูลต่างๆ คนที่เข้ามาแนะนำนั้นตอนแรกน่าจะเป็นระดับหัวหน้าที่เข้ามาดูแล และให้คำแนะนำรุ่นนั้นรุ่นนี้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นยังมีกลวิธีการขายชักชวนให้ซื้ออุปกรณ์เสริมต่างๆ หลายอย่าง ผมตั้งใจจะซื้อใหม่อยู่แล้วจึงตัดสินใจไม่ยาก หลังจากชำระเงินเรียบร้อยแล้วเธอก็ฝากให้ลูกน้องคนอื่นเข้ามาช่วยแนะนำการใช้งานของอุปกรณ์ให้ผม งานของหัวหน้าคนนั้นจึงถูกส่งต่อให้พนักงานคนอื่นแทน
เมื่อหัวหน้างานส่งต่องานให้กับลูกน้องอีกสองคน เพื่อมาสาธิตและแนะนำการใช้งานให้ผม ทั้งสองคนดูมีความตั้งใจ ใส่ใจ และใจเย็นค่อยๆ เซ็ตระบบและสอนการใช้งาน รู้สึกว่าจะกินเวลาค่อนข้างเยอะเหมือนกัน พวกน้องๆ ค่อยๆ สอนและแก้ไข และช่วยเพิ่มแอพลิเคชั่น ฟังก์ชันต่างๆ ให้กับอุปกรณ์ของผม ระหว่างนั้น หัวหน้าคนเดิมจะเดินเข้ามาจิกเป็นระยะๆ ไม่ใช่อาการเป็นห่วงว่า ทำไมนานจังลูกค้ามีปัญหาอะไรไหม แต่เหมือนจะเป็นอาการที่ว่า ทำไมนานจังรีบๆ ทำให้เสร็จเร็วๆ มีลูกค้าคนอื่นเข้ามาแล้ว เหมือนจะส่งรังสีอำมหิตบอกพนักงานอีกสองคนว่า พวกเธอดูเหมือนจะใช้เวลากับผมมากเกินไปหรือเปล่า ทำไมไม่รีบทำงานงานไวๆ อะไรอย่างนี้มากกว่า
ซึ่งถ้ามองจากในมุมมองของลูกค้าแล้ว พนักงานทั้งสองคนที่เข้ามาช่วยอธิบายการใช้งานให้ผมนั้น เป็นคนที่ใส่ใจทำงานและให้การบริการลูกค้าเป็นอย่างดีซึ่งทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจ แต่ถ้ามองในแง่มุมมองของเจ้าของบริษัทหรือเจ้าขององค์กรคงจะชอบคนที่มีลักษณะแบบคนที่เป็นหัวหน้าคนนั้นมากกว่า ด้วยความที่เหมือนจะมีความใส่ใจลูกค้าแต่พอเสร็จงานก็ไม่ได้สนอะไรมาก ช่วยรักษาผลประโยชน์ของบริษัทหรือเปล่าไม่ทราบได้ ซึ่งในส่วนนี้อาจมองได้ว่าถ้าใครอยากจะมีความก้าวหน้าสู่การก้าวขึ้นเป็นระดับหัวหน้าก็คงจะมาทำตัวแบบพนักงานน้องๆ สองคนนั้นไม่ได้
หลังจากนั้นผมก็ไปทานอาหารญี่ปุ่นที่ร้านข้าวหน้าเนื้อญี่ปุ่นร้านหนึ่ง ปกติผมจะสั่งอาหารชุดกิวด้งหรือชุดข้าวหน้าเนื้อ และสั่งไข่ออนเซนเพิ่มด้วย แต่ว่าในวันนั้นน้องที่ทำหน้าที่เป็นพนักงานรับออเดอร์อาหาร ดูกระตือรือล้น และมีไหวพริบมาก เขาแนะนำเมนูอาหารให้เป็นอย่างดี และบอกว่าถ้าลูกค้าสั่งแบบนั้นแบบนี้ จะมีไข่ออนเซนเพิ่มมาให้ด้วยจะทำให้ลูกค้าได้ราคาพิเศษกว่าสั่งแยกต่างหาก !! ปกติไม่เคยมีใครแนะนำเลยครับ ทำให้ผมรู้สึกว่าน้องคนนี้มีจิตใจที่รักงานบริการดีและนึกอีกหนึ่งประเด็นว่า การที่ร้านค้าหรือบริษัทจะเลือกให้ใครมาเป็นหัวหน้าหรือคนที่สามารถที่จะเป็นผู้นำในอนาคตได้นั้นส่วนใหญ่จะต้องถูกจับตามองและถูกเลือกเอาไว้อยู่แล้ว นั่นเป็นประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะบริษัทองค์กรของญี่ปุ่น นั่นคือคนที่จะได้ขึ้นมาเป็นระดับหัวหน้านั้นถ้าไม่ใช่คนที่ถูกเล็งเอาไว้ก่อนตั้งแต่แรกก็ไม่มีสิทธิ์หรือเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสามารถไต่เต้าขึ้นมาเป็นระดับผู้นำในองค์กรนั้นๆ ได้
ถึงตรงนี้ได้เห็นในสองประเด็นคือ ลักษณะของหัวหน้างานที่องค์กรชอบ และคนที่องค์กรเล็งตัวเอาไว้แล้วตั้งแต่ต้นเพื่อจะดันให้ขึ้นมาเป็นหัวหน้างาน
☆ กลับกันในวันนี้อยากพูดเกี่ยวกับเรื่องที่ว่า ที่จริงแล้วคนญี่ปุ่นอยากจะมีความก้าวหน้าขึ้นมาเป็นคนในระดับหัวหน้าขององค์กรหรือไม่ (โดยเฉพาะองค์กรของญี่ปุ่น?!)
☆และประเด็นที่ว่าการที่จะไต่เต้าขึ้นมาเป็นระดับหัวหน้าในองค์กรได้นั้น คือบุคคลที่มีความภูมิใจและเป็นสิ่งที่น่าดีใจจริงๆ หรือเปล่า
มีผลการวิจัยทางจิตวิทยาของทางยุโรป ซึ่งก็ค่อนข้างตรงกับผลการวิจัยทางฝั่งญี่ปุ่นอยู่เหมือนกัน เกี่ยวกับเรื่องของระดับความเครียดของบุคคล ผลการวิจัยเรื่องความเครียดนั้น พบว่าคนจะมีความเครียดขึ้นสูงเป็นอันดับหนึ่งนั้นเกิดจากเหตุการณ์ที่ตรงกันทั้งญี่ปุ่นและยุโรปคือ กรณีที่ครอบครัวหนึ่งสามีหรือภรรยาเสียชีวิต จะทำให้อีกคนที่ยังมีชีวิตเกิดความเครียดสูง สำหรับความเครียดลำดับที่สองของฝั่งยุโรปคือการหย่าร้าง แต่ในฝั่งของญี่ปุ่นนั้นการหย่าร้างไม่ทำให้คนเกิดความเครียดมากนัก กลายเป็นว่าระดับความเครียดอันดับที่สองของคนญี่ปุ่นก็คือเรื่องธุรกิจล้มเหลว นอกจากนั้นระดับความเครียดของคนญี่ปุ่นที่ที่ติดอันดับความเครียดสะสมนั้นก็คือเรื่องเพื่อนร่วมงานได้เลื่อนตำแหน่ง อยู่ในระดับสูงเทียบเท่ากับตัวเองต้องขึ้นเป็นหัวหน้าหรือผู้บริหารในที่ทำงาน !! นี่คือเรื่องที่ทำให้คนญี่ปุ่นเกิดความเครียดมาก
จากผลการวิจัยนั้น ความเครียดไม่สามารถที่จะตีออกมาเป็นตัวเลขได้ แต่ว่าจากผลการวิจัยนั้นเทียบกับความเครียดในระดับต่างๆ เป็นมูลค่าเงินว่าจะเป็นยอดประมาณเท่าไหร่ ซึ่งลำดับที่หนึ่งที่ทุกคนเครียดมากเมื่อสามีหรือภรรยาเสียชีวิตนั้นเมื่อตีเป็นเงินที่ประมาณ 10,000,000 เยน แต่ว่าในกรณีที่ตัวเองต้องไต่เต้าขึ้นมาเป็นระดับหัวหน้านั้นมีความเครียดมากถึงครึ่งหนึ่งของกรณีที่สามีหรือภรรยาเสียชีวิตเลยทีเดียว!!
เมื่อดูจากผลการวิจัยนี้บางคนอาจจะค้านว่ามันเป็นไปได้จริงหรือใครๆ ก็อยากขึ้นมาเป็นระดับหัวหน้าในองค์กรไม่ใช่หรือ ซึ่งจากผลการวิจัยนี้ไม่ว่าคนอื่นหรือว่าแม้แต่ผมเองก็เกิดความเข้าใจผิดเหมือนกัน แต่ต้องยอมรับว่า คนเรามีความอยากได้เงินทอง อยากมีอำนาจวาสนา กับการไต่เต้าขึ้นมาเป็นระดับหัวหน้าในองค์กรนั้นเป็นเรื่องที่แยกกันอย่างสิ้นเชิง
นอกจากนั้นจากการวิจัย มีการทดสอบโดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายที่มีความเครียดในระดับเทียบเท่ากันเป็น 2 กลุ่ม เพื่อที่จะตรวจสอบผลลัพธ์ของสิ่งกระตุ้น เมื่อให้การกระตุ้นที่ต่างกันกลุ่มไหนจะสามารถลดความเครียดได้มากกว่ากันโดยที่กลุ่มหนึ่งจะให้ยาลดเครียดปริมาณหนึ่งทุกวันๆ กับอีกกลุ่มหนึ่งให้เงินคนละ 50 ยูโรทุกวันๆ แน่นอนว่ากลุ่มที่ความเครียดลดลงอย่างมีนัยยะก็คือกลุ่มที่ได้รับเงินวันละ 50 ยูโรทุกวันๆ จากผลการทดสอบนี้สามารถจะยืนยันได้ว่าไม่มีใครเลยที่ไม่อยากได้เงินทุกคนอยากได้เงิน การได้รับเงินคนละประเด็นกับสิ่งที่ทำให้คนเครียดเมื่อต้องขึ้นมาทำงานเป็นระดับหัวหน้าหรือผู้นำ ซึ่งคนที่อยากเป็นหัวหน้าในองค์กรนั้นเป็นเรื่องส่วนบุคคลแต่ละคนมีความมุ่งหวังไม่เหมือนกัน และไม่ใช่ทุกคนที่จะอยากขึ้นมาเป็นระดับหัวหน้า ด้วยภาระงานที่มากเกินไป หรือชั่วโมงทำงานที่ไม่ยืดหยุ่น ยาวนานมากเกินไป ภาระความรับผิดชอบต่างๆ ทำให้ยิ่งเกิดความเครียดเพิ่มเป็นทวีคูณ
แต่ก็แล้วแต่องค์กรเหมือนกันนะครับ ตอนที่ผมทำงานที่องค์กรเดิมที่ญี่ปุ่น รู้สึกว่า 70% ของคนที่ทำงานที่นั่นจะมีความรู้สึกว่าอยากมีความก้าวหน้าทางหน้าที่การงาน อยากไต่เต้าไปสู่ระดับที่สูงขึ้น ส่วนอีก 30% นั้นไม่อยากมีความก้าวหน้าในที่ทำงานซึ่งเมื่อคุยเกี่ยวกับความคิดเห็นของคน 30% ก็ค่อนข้างน่าสนใจอยู่ไม่น้อย กระนั้นก็มีไม่น้อยที่คนที่สามารถไต่เต้าขึ้นไปเป็นระดับผู้จัดการหรือว่ามีตำแหน่งหน้าที่การงานใหญ่โต แต่ไม่สามารถที่จะทนความเครียดความกดดันและปริมาณงานและการรับผิดชอบได้ ก็ร้องขอที่จะกลับมาอยู่ในตำแหน่งพนักงานดังเดิม หรือว่ามาอยู่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่าเดิม ซึ่งถ้าคนที่มีลักษณะเช่นนี้ทำงานอยู่ในบริษัทเอกชนทั่วไปน่าจะถูกไล่ออกไปแล้ว แต่ด้วยความที่เป็นข้าราชการก็ยังสามารถที่จะอนุโลมกันได้
ส่วนอีกอาชีพหนึ่งที่มีความเหนื่อยยากลำบากใจไม่น้อยเลยก็คืออาชีพครูบาอาจารย์ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีแค่ตำแหน่งอาจารย์ทั่วไปกับระดับผู้บริหารก็จะมี 2 ตำแหน่งคือ รองผู้อำนวยการโรงเรียนและผู้อำนวยการโรงเรียน ที่ถือว่าเป็นตำแหน่งที่สูง มีคนกล่าวว่าโลกของครูมีลักษณะเหมือนฝาหม้อเพราะทุกตำแหน่งอยู่ในแนวระนาบมีแค่สองตำแหน่งเท่านั้นที่สูงขึ้นมา คนที่อยากมีความก้าวหน้าในอาชีพการงานก็มีอยู่บางส่วน ส่วนคนที่ไม่อยากจะไต่เต้าขึ้นไปอยู่ตำแหน่งสูงๆ ก็มีอยู่ไม่น้อย เพราะไม่มีใครอยากเป็นตำแหน่งรองผู้อำนวยการโรงเรียน อาจจะมีหลากหลายเหตุผลไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการงานและต้องทำงานที่ยุ่งและเหนื่อยมากกว่าเดิม แต่ว่าเหตุผลหลักบางเหตุผลก็คือขึ้นอยู่กับพื้นที่ของที่ตั้งโรงเรียนด้วยบางพื้นที่มีนักเรียนที่ค่อนข้างเกเร เด็กที่ร้ายหัวรุนแรงจำนวนมาก อาทิตย์หนึ่งๆ จะมีตำรวจมาโรงเรียนอยู่บ่อยๆ ซึ่งกรณีที่ตำรวจมาโรงเรียนคนที่ต้องรองรับและรับผิดชอบก็คือผู้รองผู้อำนวยการโรงเรียนนั่นเอง คือปกติแล้วการไต่เต้าตามลำดับเนี่ยก็จะต้องเป็นระดับรองผู้อำนวยการก่อนจึงจะเลื่อนขึ้นเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนได้ ดังนั้นความยากลำบากและหน้าที่อันสูงส่งและรับผิดชอบมากของรองผู้อำนวยการโรงเรียนนั้นส่วนใหญ่โรงเรียนประถม และโรงเรียนมัธยมต้นก็จะไม่มีผู้หญิงในตำแหน่งนี้เลย ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถที่จะขึ้นเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนได้ ถึงแม้ว่าจะมีความมุ่งมั่นที่จะก้าวหน้าในหน้าที่การงานมากเพียงใดก็ตาม
ดังนั้นจากประเด็นที่ว่า
☆ ที่จริงแล้วคนญี่ปุ่นอยากจะมีความก้าวหน้าขึ้นเป็นคนในระดับหัวหน้าขององค์กรหรือไม่โดยเฉพาะองค์กรของญี่ปุ่น?! → แล้วแต่บุคคล แต่ด้วยความที่สังคมคาดหวังและระบบไต่เต้าตามอายุการทำงาน เป็นเรื่องปกติที่คนที่ทำงานมานานจะต้องขึ้นเป็นหัวหน้างานในวันหนึ่ง
☆ประเด็นที่ว่าการที่จะไต่เต้าขึ้นมาเป็นระดับหัวหน้าในองค์กรได้นั้น คือบุคคลที่มีความภูมิใจและเป็นสิ่งที่น่าดีใจจริงๆ หรือเปล่า → มีความเครียดความกดดันที่มากขึ้น อาจจะไม่ได้ดีใจนัก แต่ความเครียดกับความอยากได้เงินนั้นคนละเรื่อง จึงยินยอมทำต่อไปโดยหลีกเลี่ยงยาก
และนี่ก็คือลักษณะอย่างหนึ่งของสังคมญี่ปุ่นครับ การทำงานที่เมืองไทยเครียดไหม วันนี้สวัสดีครับ