สวัสดีครับผม Mr. Leon มาแล้ว จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลายประเทศทั่วโลกต้องเร่งสร้างมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบ ซึ่งอาจจะเป็นช่วงที่ยากลำบากของคนทำธุรกิจอยู่สักหน่อย ผู้ประกอบการร้านค้าต่างๆ ก็ต้องมีการปรับตัวจากวิกฤตครั้งนี้ สำหรับประเทศญี่ปุ่นนั้นช่วงหน้าร้อนที่ผ่านมาก็มีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยแคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศที่เรียกว่า Go to Travel ที่เริ่มใช้ไปแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2020 และคาดว่าจะดำเนินการต่อเนื่องไปจนถึงช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2021 รัฐบาลได้ส่งเสริมให้คนออกไปท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยที่รัฐบาลจะช่วยออกค่าใช้จ่ายให้สูงสุด 50%
มีคนแย้งว่าการส่งเสริมให้คนออกไปท่องเที่ยวในขณะที่ยังมีการระบาดของโรคโควิดนั้นอาจจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคมากยิ่งขึ้น ทั้งๆ ที่รัฐบาลเคยประกาศห้ามคนออกไปพบปะหรือรวมตัว แต่กลับกระตุ้นให้ออกเที่ยว มันขัดแย้งกันไหม จากโพลสำรวจพบว่าประชาชนกว่า 80% ที่ร่วมตอบแบบสอบถามรู้สึกว่ายังเร็วเกินไปที่อนุญาตให้คนเดินทางข้ามเมืองไปมา เพราะเชื้อไวรัสโคโรน่าอาจยิ่งแพร่ระบาดได้ ณ ตอนนั้นมีเพียง 15% ที่เห็นด้วยกับแคมเปญนี้ แต่อย่างไรก็ตามถ้าไม่กระตุ้นเศรษฐกิจเลยก็อาจจะทำให้เศรษฐกิจยิ่งแย่ลง ทั้งร้านค้า ร้านอาหารและโรงแรมต่างๆ อาจเกิดภาวะขาดทุนจนต้องปิดตัวเอง ด้วยความที่ไม่มีลูกค้า ไม่เกิดการจับจ่ายใช้สอย ไม่มีเงินหมุนเวียนในระบบ คนไม่เดินทาง เกิดการหยุดชะงักทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่ส่งผลให้เกิดปัญหาการฆ่าตัวตายมากยิ่งขึ้นก็ได้ ซึ่งการตัดสินใจว่าจะเลือกอย่างใดนั้นนับว่าเป็นเรื่องยากมาก จากกรณีดังกล่าวก็มีหลายๆ ฝ่ายออกมาโต้แย้งและแสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมาก แต่ทว่าก็เป็นเรื่องที่ต้องผลักดันต่อไปไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ที่บ้านคุณยายผมก็เปิดร้านขายเครื่องดื่มและมีมุมเหล้าเล็กๆ แต่เป็นร้านที่เปิดในบริเวณบ้านของตัวเองไม่ต้องเช่าที่ มีหน้าร้านเล็กๆ และส่วนที่นั่งรับประทานอาหารในร้านได้ ขาประจำก็พวกพนักงานร้านค้าละแวกนั้น ลุงๆ ช่างไม้ ช่างก่อสร้างแถวนั้นนั่นเอง ร้านแนวนี้ที่ญี่ปุ่นมีเยอะมาก กระจายไปตามพื้นที่แหล่งชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ แต่ร้านอาหารส่วนใหญ่ไม่ได้เปิดที่บ้านของตัวเอง ส่วนใหญ่ต้องเช่าที่ นั่นคือมีต้นทุนค่าใช้จ่ายจำนวนมากที่ต้องจ่ายทุกเดือน ถ้าไม่มีลูกค้านั่นหมายถึงขายไม่ได้ ไม่มีรายรับแต่มีรายจ่ายเกิดขึ้นจำนวนมากทุกเดือน แม้ว่าร้านประเภทนี้ส่วนใหญ่จะมีระบบติดเงินไว้จ่ายสิ้นเดือน เพราะลูกค้าส่วนใหญ่รู้จักคุ้นเคยกับร้านดี เป็นลูกค้าประจำ มารับประทานก่อนแล้วรอเงินเดือนออกช่วงสิ้นเดือนก็ค่อยมาเคลียร์บัญชีกัน เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องจริงตอนที่ผมทำงานข้าราชการนั้น ร้านค้าและร้านเหล้าต่างๆ จะให้เครดิตกับเจ้าหน้าที่ราชการมาก ไม่ใช่เพราะว่างานข้าราชการได้เงินเดือนสูงนะครับ แต่เพราะว่างานราชการเป็นงานที่ได้รับเงินเดือนแน่นอน ไม่ตกงาน ไม่สามารถหนีหนี้ได้ ทางร้านจึงค่อนข้างไว้ใจและให้เครดิตมาก แม้จะมีระบบเงินเชื่อจ่ายสิ้นเดือนร้านของยายผมยังเจอคนเบี้ยวและชักดาบหนีหนี้อยู่บ่อยๆ แล้วร้านอื่นๆ ล่ะที่ต้องมีค่าเช่า ค่าต้นทุนอาหาร ค่าน้ำค่าไฟ แถมโดนหนีหนี้อีก เครียดกันเป็นแถว ทำให้ร้านค้าบางร้านอยู่ต่อไม่ไหวและตัวเจ้าของร้านและครอบครัวเองก็จะอยู่ต่อไม่ไหวเช่นกัน
ล่าสุดผมได้ฟังมาจากเพื่อนที่ญี่ปุ่นว่า ร้านเหล้าที่เขาไปเป็นลูกค้าประจำอยู่บ่อยๆ นั้น ก็กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจดังกล่าว ทั้งค่าเช่าร้าน ค่าต้นทุนและรายจ่ายสารพัดมากมาย เจ้าของร้านตอนนี้มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายอย่างหนักและค่อนข้างจะเครียดมากเห็นบ่นอยากตายหลายครั้ง เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจเป็นอย่างมากสำหรับสังคมญี่ปุ่นตอนนี้
ทำให้นอกจากจะมีแคมเปญ Go to Travel แล้ว ตอนนี้รัฐบาลญี่ปุ่นก็ออกแคมเปญ Go to Eat ขึ้นมาสักพักแล้วครับ แต่แคมเปญนี้รัฐบาลโดนคนมีเล่ห์เหลี่ยมโกงเข้าแล้ว หลายคนไม่คิดว่าคนญี่ปุ่นสมัยนี้เปลี่ยนไปมาก เล็กๆ น้อยๆ ยังโกง
ก่อนอื่นแคมเปญ Go To Eat (Go To Eat キャンペーン) คืออะไร เป็นแคมเปญที่เชิญชวนให้คนออกไปรับประทานอาหารที่ร้านอาหารต่างๆ และมีการมอบสิทธิประโยชน์ให้ลูกค้า และช่วยกระตุ้นยอดขายให้ร้านอาหารในรูปแบบหนึ่ง โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
1. รับบัตรกํานัลอาหารพรีเมียม Premium Meal Vouchers (プレミアム付食事券)
กรณีคือ ลูกค้าสามารถซื้อบัตรกำนัลอาหารในราคาพิเศษ เมื่อลูกค้าไปรับประทานอาหาร ณ ร้านอาหารที่เข้าร่วมแคมเปญ Go To Eat ลูกค้าจะได้รับเงินเพิ่มอีก เช่น เมื่อซื้อบัตรกำนัลอาหาร 1,000 เยน ก็จะสามารถใช้ทานอาหารได้ในวงเงิน 1,250 เยน ณ ร้านอาหารที่ร่วมรายการ หรือบางร้านจำหน่ายบัตรกำนัลอาหารเป็นชุด ชุดละ 10 ใบ ราคาใบละ 800 เยน แต่มูลค่าบัตรกำนัลอาหารสามารถใช้ได้ถึงใบละ 1,000 เยน ซึ่งในแต่ละจังหวัดอาจมีรายละเอียดที่ต่างกันไป ส่วนโตเกียวนั้นเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ไม่ได้เข้าร่วมกับแคมเปญสำหรับเงื่อนไขนี้ และมีรายละเอียดเงื่อนไขเพิ่มเติมดังนี้
●บัตรกำนัลไม่สามารถทอนเป็นเงินสดได้
● มีการจำกัดจำนวนซื้อต่อคนต่อครั้ง ตามเงื่อนไข
● จัดจำหน่ายบัตรกำนัลถึงวันที่ 31 มกราคม 2021 หรือจนกว่าบัตรกำนัลจะหมด และสามารถใช้ได้ถึง 31 มีนาคม 2021
2. รับ Point พิเศษทันที เมื่อจองไปรับประทานอาหารและเครื่องดื่มแบบออนไลน์ในเว็บไซต์ที่ร่วมรายการ โดยนำคะแนนที่ได้นําไปใช้ ณ ร้านอาหารต่างๆ ที่ร่วมรายการ
ปัจจุบันนี้คนญี่ปุ่นจำนวนมากนิยมจองร้านอาหารผ่านแอพพลิเคชั่นทางโทรศัพท์มือถือ โดยแคมเปญ Go To Eat นี้จะแจก point ให้ทันทีเมื่อลูกค้าทำการจองร้านอาหารผ่านแอพพลิเคชันเว็บไซต์ที่ร่วมรายการ ซึ่ง point หรือคะแนนสะสมพิเศษนั้น สามารถนําไปใช้ ณ ร้านอาหารที่ร่วมรายการในมื้อต่อๆ ไปได้ จํานวนคะแนนสูงสุดที่แคมเปญมอบให้คือหนึ่งการจองได้ 10 คน รวมสูงสุดคิดเป็นมูลค่า 10,000 เยน โดยจะได้รับคะแนนสะสมทันทีเพียงแค่กดจอง
โดยมีเงื่อนไขของคะแนนสะสมคือ จะได้รับ point คิดเป็นมูลค่า 500 เยน/คน สำหรับการจองมื้อกลางวัน (ถึงเวลา 14:59 น) ส่วนในมื้อค่ำ (ตั้งแต่ 15:00 น) จะได้รับ point คิดเป็นมูลค่า 1,000 เยน/คน ซึ่ง point ส่วนนี้จะได้รับถึงวันที่ 31 มกราคม 2021 และสามารถใช้ได้ถึง 31 มีนาคม 2021 เช่นกัน
โดยแคมเปญ Go To Eat นี้รัฐบาลหวังจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้ประชาชนออกไปรับประทานอาหาร ณ ร้านอาหารที่ร่วมรายการ และทางรัฐบาลจะช่วยสนับสนุนให้ตามเงื่อนไขทั้งสองข้อดังกล่าว ตอนที่ทางรัฐบาลและผู้ที่คิดแคมเปญนี้คิดออกมานั้น ไม่ได้คำนึงถึงประเด็นที่ว่าจะเกิดผลกระทบหรือว่ามีคนโกงขึ้น แต่กลับมีบางคนใช้ช่องโหว่จากแคมเปญ Go To Eat ที่สร้างขึ้นมาเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจส่วนรวม คือ
▲ปกติแล้วถ้าไปรับประทานอาหารที่ร้านอาหารบางร้าน ยกตัวอย่างเป็นร้านเนื้อย่าง ก็อาจจะเสียเงินเฉลี่ยหัวละ 2,000 เยน แต่จากแคมเปญนี้ เมื่อลูกค้าจองร้านอาหารผ่านเว็บไซต์ปุ๊บลูกค้าจะได้ Point หรือคะแนนพิเศษเข้าระบบของตัวเองทันที แต่ทางร้านกลับต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้แอพพลิเคชันรับจองทุกครั้งที่มีการจองเข้ามา และเมื่อลูกค้าไปถึงร้านที่จองไว้นั้นกลับสั่งอาหารที่ถูกที่สุดอาจจะเป็นเมนูทานเล่นราคา 100 เยน แค่เป็นการยืนยันตัวเองตอนชำระเงินเท่านั้นว่าที่จองไว้น่ะมาใช้บริการจริง แล้วเก็บคะแนนสะสมไว้เพื่อไปใช้ที่อื่นต่อๆ ไป และก็ทำลักษณะนี้ทุกวัน จองร้านอาหารเพื่อให้ได้ Point พิเศษ แต่ไปสั่งอาหารเมนูที่ถูกที่สุด ทำให้เป็นที่เดือดร้อนของร้านด้วยที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเอย ทางลูกค้ามาสั่งแต่อาหารทานเล่นราคาถูกเอย และเป็นที่เดือดร้อนของรัฐบาลด้วยเพราะว่าต้องคืนเงินให้กับบุคคลเหล่านั้น การกระทำแบบนี้มีจำนวนมาก แชร์ต่อกันไปและเมื่อมีร้านไหนที่จะกระทำการลักษณะนี้ได้ ก็จะถูกแชร์ข้อมูลให้คนอื่นๆ ทราบเพื่อมาทำลักษณะเดียวกันนี้ บางคนเข้าไปสั่งน้ำจิ้มที่ราคาถูกที่สุดแล้วขอรับ Point เงินคืนจากทางรัฐบาล ช่างน่าเห็นใจ ค่าเดินทางยังแพงกว่าหรือเปล่า ไม่สงสารร้านอาหารเลย
แต่กระนั้นตอนนี้น่าจะมีมาตรการบางอย่างมารองรับแล้ว เช่นร้าน Torikizoku (鳥貴族) ร้านอิซากายะ ปิ้งๆ ย่างๆ ซึ่งมีสาขามากมาย อาหารทุกอย่าง ราคาถูกขายราคาเดียวทุกเมนู ด้วยความที่บรรยากาศดี บริการเยี่ยม แต่ราคาถูก ไม่มีเมนูบังคับและไม่มีค่าโต๊ะเพิ่มเติม ทำให้ได้รับความนิยมจากคนทุกวัย ถ้าร้านไม่ออกมาตรการอันใดออกมา คนที่จองจากแคมเปญ Go To Eat ก็จะมานั่งสั่งอาหารจานเล็กๆ หนึ่งจาน สมมุตราคา 327 เยน แต่เขาจะเหลือ Point ที่ได้รับจากแคมเปญอีก 673 เยน ทำให้ร้านระบุเซ็ตอาหารเป้าหมายออกมาเฉพาะเพื่อรองรับในครั้งนี้ เป็นต้น
และคิดว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น ทางรัฐบาลน่าจะหาแนวทางแก้ไขแล้ว และกำหนดเงื่อนไขให้เกิดความรัดกุมยิ่งขึ้น ทางผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงนี้กล่าวว่า "ก็คิดว่าอาจจะมีบ้าง สำหรับคนที่คิดจะทำในลักษณะเห็นแก่ตัวหรือเก็บ Point แบบนี้ แต่ไม่นึกว่าจะมีคนกล้าทำจริง" หลังจากที่ผมได้ยินเรื่องนี้แล้วผมก็คิดว่าคนญี่ปุ่นนี่ขี้เหนียวจริงๆ และเกิดการโกงมากกว่าสมัยก่อน ไม่ใช่ว่าสมัยก่อนไม่มีการโกง แต่ไม่ใช่เล็กๆ น้อยๆ ก็เอาเปรียบเช่นนี้ สมัยนี้แนวทางการโกงมันแย่ลง ไม่เห็นใจส่วนรวม ควรตะหนักว่าควรสนับสนุนร้านอาหารด้วยวิธีการที่มีศีลธรรม ไม่ใช่การโกงเอา วันนี้สวัสดีครับ