คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน คนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยเลยรู้สึกว่าเรียนภาษาอังกฤษกันมาแต่เด็กแต่พอถึงเวลาจะใช้จริงกลับพูดกันไม่ค่อยออก เว้นแต่จะเป็นคนที่ขวนขวายเรียนรู้เพิ่มเติมเองหรือมีโอกาสได้ใช้ภาษาอังกฤษบ่อย วันนี้ฉันจะเล่าถึงลักษณะการใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันคนญี่ปุ่น และการใช้ภาษาอังกฤษของคนญี่ปุ่นรอบตัวให้ฟังนะคะ
สมัยนี้เราจะเห็นป้ายหรือข้อมูลที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นทั่วทุกแห่งโดยเฉพาะย่านที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมาก แต่หลายครั้งก็เป็นภาษาอังกฤษแปลก ๆ ที่ชวนให้อ่านแล้วงง คาดว่าคงมาจากการใช้เครื่องมือแปลภาษาออนไลน์ หรืออาจใช้วิธีถอดความหมายเป็นคำ ๆ ออกมาตรง ๆ แต่ผิดธรรมชาติของภาษาอังกฤษ ทำให้หลายครั้งเจอภาษาที่อ่านแล้วชวนขำดังต่อไปนี้
ป้ายภาษาญี่ปุ่นบอกว่ามี “แท่นเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก” แต่ภาษาอังกฤษกลายเป็น “Baby diaper exchange” แปลว่า “แลกเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก” ไปเสีย
คำว่า 交換 แปลได้ทั้ง แลกเปลี่ยน หรือ สับเปลี่ยน แม้ในพจนานุกรมจะแปลคำนี้ว่า exchange ก็จริง แต่ถ้าเอาคำนี้มาใช้เลยโดยไม่ได้ตรวจดูวิธีการใช้เสียก่อนก็อาจจะความหมายเพี้ยน “Baby diaper exchange” เลยฟังดูเหมือนให้เอาผ้าอ้อมมาแลกกัน กลายเป็นความหมายตลกไปโดยไม่ตั้งใจ
เอาละ มาดูป้ายต่อไปกันดีกว่า
ป้ายนี้อยู่ที่เครื่องขายกระดาษชำระในห้องน้ำ เขียนภาษาญี่ปุ่นแปลว่า “ห้องน้ำนี้ไม่มีทิชชูให้ ท่านที่ต้องการใช้กรุณาซื้อ” แต่ภาษาอังกฤษแปลว่า “เพราะฉันไม่ได้มีทิชชูพร้อมอยู่เสมอในห้องน้ำนี่ กรุณาซื้อแบบที่ใช้แล้ว” (!?)
ตัวอย่างนี้ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมจึงแปลออกอ่าวไปจากต้นฉบับเพียงนั้น อ่านแล้วชวนให้หลุดขำก๊ากออกมาทันใด ใครจะรู้ว่าหากกำลังปวดชิ้งฉ่องเต็มที่ แล้วมาอ่านเจอที่แปลเป็นภาษาอังกฤษเข้า อาจซื้อทิชชูสายเกินการณ์
คราวนี้มาดูป้ายสุดท้าย
ภาษาญี่ปุ่นต้นฉบับเขียนว่า “ร้านนี้มีนั่งแบบสูบบุหรี่”
ภาษาอังกฤษเขียนว่า “เราเตรียมที่นั่งซึ่งมันสูบบุหรี่แก่คุณ”
เอ่อ...
ป้ายลักษณะนี้มีให้เห็นเยอะบ่อยจนกลายเป็นสีสันอย่างหนึ่งในญี่ปุ่น แต่หลายครั้งป้ายเหล่านี้ก็ถูกแก้ภาษาอังกฤษใหม่ คาดว่าเจ้าของภาษามาเห็นแล้วคงคันไม้คันมือทนไม่ไหว บางทีแก้ให้เสียยืดยาวเลยทีเดียว
การปล่อยให้มีป้ายที่เขียนผิด ๆ ถูก ๆ แบบนี้ออกจะผิดวิสัยคนญี่ปุ่นซึ่งนิยมความสมบูรณ์แบบ ถ้าเจอตามชนบทหรือร้านค้าแบบในครอบครัวยังว่าไปอย่าง แต่กลับพบเห็นตามมหาวิทยาลัย หน่วยงานราชการ บริษัทเอกชน ร้านค้าหรือร้านอาหารดัง ซึ่งน่าจะสามารถหาใครสักคนที่มีความรู้ภาษาอังกฤษแบบใช้การได้มาช่วยแปล หรืออย่างน้อยอาจจ้างบริษัทแปลให้ บางทีเจ้าของสถานที่อาจจะคิดว่าคนอ่านไม่ใช่คนญี่ปุ่น เลยไม่ต้องเคร่งครัดเรื่องคุณภาพนักหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ
สำหรับเหตุผลที่คนญี่ปุ่นพูดอังกฤษไม่ค่อยได้ส่วนหนึ่งก็คล้ายกับของบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเรียนการสอนที่ขาดมุมมองของการนำไปใช้ในชีวิตจริง จึงเน้นไวยากรณ์ ศัพท์ การอ่านการเขียน และมุ่งไปที่การเรียนเพื่อสอบ แต่ไม่ค่อยเน้นการพูดการฟังในแบบที่จะทำให้สื่อสารในชีวิตจริงได้ ทำให้พอถึงเวลาต้องสนทนาเป็นภาษาอังกฤษก็ไม่มั่นใจ อาย กลัวพูดผิดพูดถูก นอกจากนี้คนสอนเองที่เรียนมาด้วยวิธีการแบบดั้งเดิมหรือออกเสียงภาษาอังกฤษโดยยึดตามเสียงในภาษาแม่ ก็พลอยทำให้คนเรียนออกเสียงภาษาอังกฤษเพี้ยนไปด้วย
แต่กระนั้นเมื่อเทียบกับคนญี่ปุ่น คนไทยยังอาจได้เปรียบเรื่องการออกเสียงภาษาอังกฤษอยู่บ้าง เพราะภาษาไทยมีเสียงสระมากกว่า เช่น มีเสียง แอะ-แอ เอาะ-ออ เออะ-เออ เอือะ-เอือ ซึ่งเป็นเสียงที่ในภาษาญี่ปุ่นไม่มี
อย่างคำว่า “ban” ภาษาไทยอ่านได้ใกล้เคียงว่า “แบน” ของญี่ปุ่นอ่านเป็น “บั้น”
“Turn” ภาษาไทยอ่านได้ใกล้เคียงว่า “เทิน” ภาษาญี่ปุ่นจะอ่านเป็น “ท่าน” (ออกเสียงสระอายาว ๆ)
แถมเสียงสะกด “ん” ในภาษาญี่ปุ่นซึ่งสามารถออกเสียงได้ทั้ง “-ง” และ “-น” นั้น จะเลือกออกเสียงแบบไหน ก็แล้วแต่ตัวอักษรที่อยู่ข้างหน้าหรือตามมาข้างหลัง อย่างเช่น
“あん” อ่านว่า “อัง”
“あんこ” อ่านว่า “อังโกะ”
“あんちゃん” กลับอ่านว่า “อันจัง”
มีเรื่องขำ ๆ อยู่เรื่องหนึ่งค่ะ ตอนนั้นฉันกับเพื่อน ๆ ไปร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่ญี่ปุ่นระยะสั้น สมาชิกในกลุ่มมีชื่อ “อัง” “อัน” “แอน” “แอ๊น” อย่างที่บอกว่าภาษาญี่ปุ่นไม่มีสระแอ และเสียงสะกดที่เพิ่งอธิบายไปก็จำกัดวิธีการออกเสียง คนญี่ปุ่นจึงมึนกับการเรียกชื่อสาวสี่คนนี้มาก เพราะเวลาเขาเขียนเป็นตัวคะตะคะนะ (ตัวอักษรแทนเสียงคำต่างประเทศ) จะเขียนออกมาได้แบบเดียวคือ “アン” (หรือตัวฮิระงะนะเขียนว่า “あん” ดังข้างต้น) ซึ่งออกเสียงว่า “อัง” ได้เพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ คำภาษาอังกฤษในญี่ปุ่นก็มักไม่ค่อยเขียนด้วยตัวอักษรอังกฤษ แต่จะเขียนแทนด้วยตัวอักษรญี่ปุ่น ออกเสียงแบบญี่ปุ่น ทำให้คนญี่ปุ่นคุ้นเคยกับการออกเสียงภาษาอังกฤษที่ผิด และทำให้ฟังยากสำหรับคนต่างชาติด้วย คำหรือรูปประโยคนั้นจะประกอบไปด้วยเสียงสั้น ๆ เรียงกันเหมือนเป็นคำภาษาญี่ปุ่น และบางทีมีเสียงพยางค์เพิ่มไปจากเดิมอีกมาก ซึ่งถ้าหากไม่เคยได้ยินคำนั้นมาก่อน ทีแรกอาจฟังแล้วไม่รู้เรื่องว่าอีกฝ่ายหมายถึงอะไร เช่น “เซะบุงเอเลบุง” (Seven-11) หรือ “มะคุโดนารุโดะ” (McDonald’s)
ครั้งหนึ่งฉันกำลังฟังเพื่อนคนญี่ปุ่นคุย พอถึงตรงที่เขาพูดว่า “หมิ-โดะ-ท่าม” ฉันฟังไม่รู้ว่าเขาหมายถึงอะไร ถามว่า “มิดทาวน์เหรอ?” เขาก็ยังยืนยันว่า “หมิ-โดะ-ท่าม” ใช้เวลาพักใหญ่กว่าจะเข้าใจว่าหมายถึงข้อสอบ “mid-term” (กลางภาค) แม้จะเป็นคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ แต่การออกเสียงเป็นแบบญี่ปุ่น ทำให้ไม่ทันคิดว่าเขาพูดคำภาษาอังกฤษอยู่
ส่วนสามีฉันเองบางทีก็พูดภาษาอังกฤษฟังยากเหมือนกัน เพราะติดตรงที่ชอบออกเสียงแบบคะตะคะนะเป็นบางคำ มีอยู่วันหนึ่งเขาทำยูทูปภาษาอังกฤษ มีคนคอมเมนต์ว่า “พูดอย่างกับมีอาหารร้อน ๆ อยู่ในปากแน่ะ ฟังไม่ค่อยออกเลย” เราหัวเราะขำกันใหญ่ สามีฉันนึกสนุกเลยเอาประโยคนี้มาเล่นมุกฮา ๆ อยู่หลายวัน
ยิ่งไปกว่านั้น คนญี่ปุ่นยังประดิษฐ์คำภาษาอังกฤษขึ้นมาใช้กันทั่วไปด้วย และหลายคนก็ไม่ทราบว่าคำเหล่านี้ไม่มีจริงในภาษาอังกฤษ ที่ได้ยินบ่อยได้แก่คำว่า salary man (พนักงานบริษัท) OL (office lady - พนักงานบริษัทหญิง) image change (เปลี่ยนลุค) high tension (ตื่นเต้น) Happy Wedding (เป็นคำที่มักใช้อวยพรการแต่งงาน) order-made (สั่งตัด) cooler (เครื่องปรับอากาศ) consent (เต้าเสียบปลั๊กไฟ) skinship (สัมผัสทางกาย) goal in (ชนะการแข่งขัน / ได้แต่งงาน)
(ที่เขียนด้วยตัวอักษรสีฟ้าคือคำภาษาอังกฤษในญี่ปุ่นที่ใช้กันไม่ถูกต้อง ส่วนที่เขียนด้วยตัวอักษรสีแดงคือภาษาอังกฤษที่ถูกต้อง)
และยังมีคำที่ขึ้นต้นด้วย my ทั้งหลายแหล่ ไม่ว่าจะเป็น my boom (สิ่งที่ฉันกำลังสนใจ) my pace (ตามจังหวะของตัวเอง) my bag (กระเป๋าพกพา) my hashi (ตะเกียบพกพา) และชื่อเมนูอาหารประเภทราดข้าวที่ลงด้วย rice เช่น taco rice (ข้าวราดไส้ทาโก้) curry rice (ข้าวราดแกง) om-rice (ข้าวห่อไข่)
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการย่อคำศัพท์ภาษาอังกฤษให้สั้นลง เช่น nice shot กลายเป็น “ไน-โฉะ” ซึ่งเพื่อนที่เล่นเทนนิสด้วยกันมักพูดชมเวลาใครตีลูกได้ดี หรือ application (แอปพลิเคชัน) กลายเป็น “อะ-ปุ-หริ” หรือ appointment (นัดหมาย) กลายเป็น “อา-โปะ” หรือ Merry Christmas กลายเป็น “เม-ริ-คุ-ริ” หรือล่าสุดคำว่า social distancing (การเว้นระยะห่างทางสังคม) ก็ตัดเหลือ social distance กลายเป็นการใช้คำผิดไปอย่างน่าเสียดาย
มองในแง่ดีภาษาอังกฤษของญี่ปุ่นก็มีความเป็นเอกลักษณ์และดูน่ารักแบบโนะ ๆ เนะ ๆ แม้บางคราวอาจจะเข้าใจยากอยู่บ้าง แต่มองอีกทีก็น่าเสียดายที่ความเคยชินเหล่านี้ก็อาจเป็นปราการในการสื่อสารภาษาอังกฤษด้วยเช่นกัน
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น”ที่MGR Onlineทุกวันอาทิตย์.