คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน วัฒนธรรมการอาบน้ำของญี่ปุ่นนั้นน่าจะมีความแปลกสำหรับคนไทยอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นการแช่น้ำร้อนจัด การนั่งอาบน้ำ หรือการมีกระจกตระหง่านอยู่เบื้องหน้าเวลาอาบน้ำ สัปดาห์นี้เรามาดูเรื่องราวการอาบน้ำของญี่ปุ่นกันสักนิดเผื่อจะหายข้องใจกันดีกว่า
ฉันจำได้ว่าครั้งแรกที่เห็นห้องอาบน้ำแบบญี่ปุ่นนั้น รู้สึกสนเท่ห์กับความแปลกของทุกสิ่งที่รวมขึ้นเป็นห้องอาบน้ำจนถึงกับต้องมองไปรอบ ๆ เพื่อชั่งใจดูว่าน่าจะใช้ห้องอาบน้ำที่เห็นอย่างไร เพราะเจ้าของบ้านหลบไปตามมารยาทเสียก่อน ฉันจึงไม่มีโอกาสถามก่อนใช้งาน เขาก็คงไม่ทันนึกว่าเรื่องประจำวันง่าย ๆ อย่างการอาบน้ำจะเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับคนต่างชาติ ฉันเองก็ไม่เคยนึกมาก่อนว่าการอาบน้ำของแต่ละชาติจะไม่เหมือนกัน
คือแทนที่ห้องอาบน้ำจะเป็นห้องเดียวซึ่งเอาไว้ทำธุระทุกอย่างเกี่ยวกับการอาบน้ำ ซึ่งรวมถึงการเช็ดตัวและเปลี่ยนเสื้อผ้าด้วย บ้านในญี่ปุ่นกลับมีพื้นที่สำหรับเปลี่ยนเสื้อผ้าและพื้นที่สำหรับอาบน้ำแยกกันอย่างเป็นกิจลักษณะ คล้ายกับเป็นคนละห้องแต่อยู่ติดกัน
ส่วนที่ใช้เช็ดตัวและเปลี่ยนเสื้อผ้าจะเป็น “พื้นที่แห้ง” ซึ่งมักมีอ่างสำหรับล้างหน้าแปรงฟันและเครื่องซักผ้าอยู่ในบริเวณ ส่วนพื้นที่อาบน้ำเรียกได้ว่าเป็น “พื้นที่เปียก” มีฝักบัว ม้านั่งเล็ก ๆ กระจกติดผนัง และอ่างอาบน้ำ บางแห่งก็มีหน้าต่างเพื่อระบายอากาศด้วย
น่าแปลกที่หลายบ้านในญี่ปุ่นไม่มีที่แขวนผ้าเช็ดตัวเลยทั้งในพื้นที่แห้งและพื้นที่เปียก ทำให้ได้แต่ต้องพับผ้าเช็ดตัวและเสื้อผ้าวางไว้ข้างอ่างล้างหน้าหรือไม่ก็บนเครื่องซักผ้า และอย่างไรก็ต้องออกมาเช็ดตัวและเปลี่ยนเสื้อในพื้นที่แห้งเท่านั้น ไม่เหมือนเมืองไทยซึ่งเวลาอาบน้ำก็ต้องขนเอาเสื้อผ้าและผ้าเช็ดตัวเข้าห้องอาบน้ำด้วย
วัสดุทำห้องน้ำของบ้านญี่ปุ่นสมัยใหม่ดูจะนิยมใช้พลาสติกเสริมใยแก้ว มีความเบา ทนทาน และราคาถูก ไม่มีแนวยา ทำให้ไม่ต้องเจอปัญหาราขึ้นตามแนวกระเบื้อง หรือยาที่แนวไว้หลุดลอก น้ำไม่รั่วซึมง่าย ทำความสะอาดง่ายมาก นอกจากนี้ยังดีตรงที่ทำให้พื้นไม่เย็นเฉียบ ไม่ต้องสะดุ้งเหย็งยามเท้าสัมผัสพื้นห้องน้ำในฤดูหนาว
ส่วนบ้านที่สร้างมานานหลายสิบปีและไม่ได้รีโนเวทมักเป็นพื้นปูกระเบื้องเหมือนไทย ส่วนอ่างอาบน้ำทำจากวัสดุได้หลายแบบทั้งอ่างเคลือบ enamel (เหมือนหม้อเคลือบ) สเตนเลส หรือไม้หอม แบบที่เป็นสเตนเลสฉันยังไม่เคยเห็นของจริง เห็นแต่ในรูป ดูแล้วอดคิดไม่ได้ว่ามันจะให้ความรู้สึกเหมือนลงไปอาบน้ำในอ่างล้างจานไหมนะ
ถ้าไปเป็นแขกของบ้านคนญี่ปุ่น เขาจะให้เกียรติเราอาบน้ำก่อน เพราะน้ำที่ใช้แช่ตัวในอ่างจะเป็นน้ำที่ทุกคนในบ้านใช้ร่วมกัน ไม่ใช่ว่าปล่อยน้ำทิ้งทุกครั้งที่คนหนึ่งแช่เสร็จแล้วพออีกคนจะเข้าค่อยมารองน้ำเอาใหม่ ยิ่งถ้าเป็นบ้านแบบเก่าที่ไม่มีระบบอุ่นน้ำในอ่างอีกรอบแล้ว การได้แช่น้ำคนแรกคือได้แช่ในอุณหภูมิที่พอเหมาะที่สุด ส่วนคนที่เข้าต่อ ๆ มาจะได้แช่น้ำที่ความร้อนจางลงไป
ครั้งแรกที่เห็นอ่างอาบน้ำในบ้านคนญี่ปุ่นรู้สึกตกใจว่า “เล็กแค่เนี้ยะ!?” เพราะแคบมากและถ้าลงไปก็ต้องนั่งชันเข่า แต่ในขณะเดียวกันอ่างก็ลึกพอสมควร ซึ่งเมื่อแช่ตัวแล้วระดับน้ำจะอยู่ระดับอกหรือไหล่ แต่เดี๋ยวนี้อ่างอาบน้ำสมัยใหม่จะยาวคล้ายกับอ่างอาบน้ำแบบฝรั่งมากขึ้น
อีกอย่างที่ตกใจคือน้ำในอ่างที่เจ้าบ้านเตรียมไว้ให้ร้อนมาก จนไม่สามารถเชื่อได้ว่านี่คือร้อนสำหรับลงแช่ตัว เพราะกลัวจะสุกไปเสียก่อน (แต่จริง ๆ แล้วไม่เป็นไร) นอกจากนี้ก็เกรงใจเจ้าของบ้านด้วย คือกลัวว่าถ้าเราแช่แล้วคนอื่นมาแช่ต่อก็เท่ากับว่าคนอื่นได้แช่น้ำสกปรกหรือเปล่า สุดท้ายเลยแค่อาบน้ำฝักบัวอย่างเดียว เจ้าของบ้านเห็นอาบน้ำเสร็จอย่างรวดเร็วก็ถามด้วยความแปลกใจว่าไม่ได้แช่น้ำหรอกหรือ
แต่ที่จริงคนญี่ปุ่นไม่ได้รู้สึกว่าการแช่น้ำต่อ ๆ กันสกปรก เพราะก่อนแช่น้ำในอ่างต้องอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดก่อนอยู่แล้ว หากสำหรับคนไทยซึ่งยังไม่ชินคงอดไม่ได้ที่จะรู้สึกกระดาก อีกทั้งต่อให้อาบน้ำแล้วค่อยลงไปแช่ เหงื่อก็ยังออกในอ่างอยู่ดี
เรื่องแช่น้ำยังไม่หมดเท่านี้ คนญี่ปุ่นแช่น้ำร้อนและอาบน้ำร้อนกันตลอดปีกระทั่งฤดูร้อน ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นเรื่องปกติที่พ่อแม่จะอาบน้ำพร้อมลูก หรือปู่ย่าตายายอาบน้ำพร้อมหลาน เพราะเป็นช่วงเวลาที่จะได้สนุกหรือผ่อนคลายด้วยกัน
เวลาอาบต้องนั่งอาบกับม้านั่งพลาสติก ขวดยาสระผมและสบู่ก็อยู่ระดับต่ำพอดีกับความสูงในระดับนั่ง ส่วนฝักบัวก็มีที่เสียบไม่เกินสองระดับ ระดับต่ำคือพอดีหยิบถึงตอนนั่ง ระดับสูงหน่อยคือพอดีอกตอนยืน ทำให้ไม่สามารถยืนอาบอยู่ใต้ฝักบัวได้ ฉันเคยสงสัยว่าทำไมระดับความสูงของฝักบัวจึงอยู่ครึ่ง ๆ กลาง ๆ แทนที่จะอยู่เหนือศีรษะไปเลย ภายหลังเดาดูแล้วเขาอาจทำไว้เพื่อให้หยิบจับสะดวกเวลาทำความสะอาดห้องอาบน้ำกระมัง
เรื่องชวนให้ประหลาดใจอีกอย่างคือ "กระจก" ซึ่งอยู่ตรงหน้าพอดีเวลานั่งอาบน้ำ ที่ผ่านมาฉันนึกไม่ออกเลยค่ะว่ากระจกนี้มีไว้ทำอะไร เพิ่งได้ทราบว่าส่วนใหญ่ไว้สำหรับผู้ชายโกนหนวด และผู้หญิงสำหรับย้อมผมหรือล้างเครื่องสำอางออกให้หมดจด นอกจากนี้ยังทำให้เด็ก ๆ ได้เห็นเองว่าสระผมแล้วยังล้างฟองออกไม่หมด จะได้ยอมล้างให้สะอาด (และยังเอาไว้เล่นเขียนตัวหนังสือหรือวาดรูปเล่นได้ด้วยเพราะกระจกมักเป็นฝ้าตอนอาบน้ำ)
แต่ก็มีคนญี่ปุ่นหลายคนที่ไม่ได้รู้สึกว่ากระจกนี้จำเป็น บางคนรู้สึกเกะกะเสียอีกเพราะสิ่งสกปรกมักไปติดอยู่ในซอกกระจก ทำให้ทำความสะอาดลำบาก อีกทั้งกระจกก็มักเป็นฝ้าจากการใช้น้ำอุ่นอาบน้ำ ทำให้บางคนที่ทำห้องน้ำใหม่ในบ้านไม่เอากระจกก็มี เดี๋ยวนี้ห้องน้ำบางแบบจึงทำกำแพงที่เป็นแม่เหล็ก สามารถเอากระจกมาติดหรือเอาออกได้ง่าย หรือทำกระจกแบบที่ไม่เป็นฝ้า เป็นอะไรที่เล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ช่างคิดและเป็นประโยชน์ตามสไตล์คนญี่ปุ่นจริง ๆ นะคะ
ญี่ปุ่นยังนิยมแยกห้องอาบน้ำกับห้องสุขาจากกัน ซึ่งบางทีคนต่างชาติก็งุนงงว่ามันสำคัญอะไรอย่างไร ถึงขนาดต้องแยกกันด้วยหรือ ในขณะที่คนญี่ปุ่นบางคนก็งงว่า แล้วเห็นมันมารวมอยู่ในห้องเดียวกันโดยไม่รู้สึกอะไรเลยงั้นหรือ ประเด็นนี้ดูเหมือนจะอยู่ที่ความต่างของวัฒนธรรมการแช่น้ำอาบนี่เอง
คือคนญี่ปุ่นรู้สึกว่าห้องอาบน้ำเป็นที่ชำระล้างตัวให้สะอาด อีกทั้งยังไว้แช่ตัวเพื่อความผ่อนคลายสบายใจ จัดเป็นสถานที่อันรื่นรมย์ ส่วนห้องสุขาเป็นที่ปล่อยของเสีย หากมาอยู่รวมกันก็จะรู้สึกเหมือนเอาของสะอาดกับของสกปรกมาไว้ในที่เดียวกัน ชวนให้ตะขิดตะขวงใจ ไม่สามารถผ่อนคลายกับการอาบน้ำได้โดยที่เห็นโถส้วมอยู่ข้าง ๆ
ถ้าเพื่อน ๆ เคยไปบ้านคนญี่ปุ่นหรือพักในโรงแรมแบบญี่ปุ่นที่เรียกว่า “เรียวคัง” และได้เห็นเขาแยกสลิปเปอร์สำหรับเดินในตัวบ้านออกจากสลิปเปอร์ที่ใช้ในห้องสุขา ก็คงพอนึกภาพออกว่าคนญี่ปุ่นมีมุมมองต่อความสะอาดและความสกปรกอย่างไร
ด้วยเหตุนี้จึงมีคนญี่ปุ่นจำนวนมากที่ไม่ชอบอะพาร์ตเมนต์ที่ใช้ยูนิตบาร์ธ (ห้องอาบน้ำ โถสุขา และอ่างล้างหน้ารวมกันในห้องเดียว) บริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งเคยทำสำรวจพบว่า คนต้องการอะพาร์ตเมนต์ที่แยกห้องอาบน้ำและห้องสุขาออกจากกันมีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 เลยทีเดียว แต่กระนั้นอะพาร์ตเมนต์ที่ค่อนข้างเล็กและราคาถูกหน่อยก็มักใช้ยูนิตบาร์ธกันอยู่ดี คงเพราะไม่กินพื้นที่และราคาถูก
และแม้ว่าห้องสุขาจะถูกมองเป็นพื้นที่สกปรก แต่คนญี่ปุ่นก็หาทางทำให้รู้สึกดีที่จะใช้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ปลอกผ้านุ่ม ๆ คลุมฝาโถไว้ มีพรมวางเท้านุ่ม ๆ และบางทีที่วางกระดาษชำระก็ยังมีปลอกนุ่ม ๆ คลุมไว้อีก จนบางทีให้ความรู้สึกราวกับเป็นห้องนอน และด้วยความที่ห้องแคบมาก หากใช้เจลหอมติดโถสุขาไว้ พอชักโครกเสร็จ กลิ่นหอมจะฟุ้งทั่วห้องอย่างน่าประทับใจ แต่ถ้าเป็นห้องสุขาแบบไทยหรือฝรั่งที่ห้องกว้างหน่อย จะไม่ค่อยเกิดปรากฏการณ์นี้
ลำพังเรื่องง่าย ๆ ในชีวิตประจำวันนี่ก็แฝงไว้ด้วยวัฒนธรรมและค่านิยมที่แตกต่างกันกว่าที่คิดเลยนะคะ หากเพื่อนผู้อ่านทราบวัฒนธรรมการอาบน้ำชาติอื่นที่ต่างจากบ้านเรา ก็เล่าสู่กันฟังเป็นความรู้บ้างนะคะ
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
ป.ล. สัปดาห์ก่อนมีผู้อ่านถามมาว่า หนังญี่ปุ่นเขาตั้งชื่อหนังตามดาราเหมือนบ้านเราหรือเปล่า เช่น เหล็กใหญ่อึดบานฉ่ำ เป็นต้น....ฉันเองยังไม่เคยได้ยิน และพอลองไปค้นดูรายชื่อหนังฮอลลีวูดในญี่ปุ่นมาจำนวนหนึ่งก็ยังไม่เจอ ถามคนญี่ปุ่นดูก็ว่าไม่เคยเห็น เลยคาดเดาว่าอาจจะไม่มีนะคะ
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น”ที่MGR Onlineทุกวันอาทิตย์.