xs
xsm
sm
md
lg

วิธีใช้ชีวิตในญี่ปุ่นแบบ "คนขี้งก"

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก https://okane-madoguchi.com/setuyaku-tousi/
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”


สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน ฉันไม่ค่อยได้เล่าเรื่องประสบการณ์ชีวิตในญี่ปุ่นมาเสียนาน สัปดาห์นี้นึกขึ้นมาได้ถึงบางเวลาที่เคยงกจัดตอนอยู่ญี่ปุ่น และพอรู้วิธีประหยัดสตางค์อยู่บ้างนิดหน่อย เลยเขียนมาเล่าสู่กันฟังเพลิน ๆ ค่ะ

ที่จริงวิธีประหยัดสตางค์ที่จะเล่าต่อไปนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้มีคนบอก อาศัยว่าอยู่ในญี่ปุ่นไปนาน ๆ หรือคอยเปิดหูเปิดตาและสังเกตสังกาสักนิดหนึ่ง ก็จะพอรู้แกว มาดูกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้างน้า

1.บัตรชมภาพยนตร์

ปัจจุบันบัตรชมภาพยนตร์ราคาปกติจะอยู่ที่ 1,900 เยนสำหรับผู้ใหญ่ แต่ก็มีหนทางซื้อบัตรได้ถูกอยู่อย่างน้อยสามแบบเชียวละค่ะ

แบบแรกที่ง่ายที่สุดเลยคือ เลือกไปดูวันที่เขาลดราคา ทีนี้โรงหนังแต่ละแห่งอาจจะกำหนดวันไม่เหมือนกัน อาจจะต้องเช็คดูอีกทีนะคะ สำหรับโรงหนังใหญ่ที่มีสาขาเยอะอย่างโทโฮซีนีมาส์จะมีหลายวันที่ลดราคาเหลือ 1,100 เยน ได้แก่ทุกวันที่ 1 และ 14 ของเดือน ถ้าเป็นผู้หญิงจะได้ราคาเดียวกันนี้ทุกวันพุธ และถ้าเป็นผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปจะได้ราคานี้ทุกวัน นอกจากนี้โรงหนังยังใจดีให้ส่วนลดกับคู่สามีภรรยาที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอายุ 50 ปีขึ้นไปด้วย โดยจะได้ราคาลดทั้งสองคน

บัตรเข้าชมภาพยนตร์ ภาพจาก http://henalife45.blog.fc2.com/
แบบที่สองคือ ถ้ารู้ล่วงหน้าแต่เนิ่น ๆ ว่าจะมีหนังใหม่เข้าฉาย ก็สามารถซื้อ “บัตรล่วงหน้า” ได้ ราคาจะถูกกว่านิดหน่อยคืออยู่ที่ 1,500 เยน ถ้าเป็นหนังที่ฉันอยากดูมากก็จะพยายามซื้อบัตรล่วงหน้าไว้ เพราะมักมีของแถมมาให้ด้วย อย่างเช่น แฟ้มพลาสติกและชุดโปสการ์ด ทีนี้พอถึงวันที่หนังเข้าฉาย เราก็ต้องเอาบัตรล่วงหน้าไปแลกเป็นบัตรชมภาพยนตร์ตามปกติเสียก่อน ถึงจะเข้าโรงได้

แบบที่สามคือ ไปซื้อบัตรจากร้านขายบัตรถูก ซึ่งจะเล่าต่อไปนี้นะคะ

2.ร้านขายตั๋วถูกสารพัดแบบ

ตามเมืองใหญ่จะมีร้านขายตั๋วถูกกระจายอยู่ตามแหล่งใกล้สถานีรถไฟ ไม่ว่าจะเป็นบัตรคอนเสิร์ต บัตรชมกีฬา บัตรเข้าชมพิพิธภัณฑ์ บัตรชมภาพยนตร์ บัตรเข้าสวนสนุก ตั๋วรถไฟ แสตมป์ ไปรษณียบัตร คูปองเงินสดของร้านอาหารหรือเครือร้านอาหาร คูปองเงินสดที่สามารถใช้กับห้างสรรพสินค้าได้หลายแห่ง และอื่น ๆ อีกมาก

ร้านพวกนี้น่าจะได้บัตรหรือคูปองมาจากการรับซื้อ แล้วเอามาขายต่อเก็งกำไรอีกที ซึ่งบางคราวราคาขายก็ถูกกว่ามูลค่าจริงไม่มากเท่าไหร่ เพียงแต่ถ้าเป็นบัตรหรือคูปองเงินสดที่ฉันต้องการใช้อยู่แล้ว ก็อาจจะซื้อมาเหมือนกัน

ภาพจาก https://gorosetsuyaku.com/kinken/kinken-shop/10834/
เวลาจะไปดูหนังโดยไม่ได้จองตั๋วไว้ล่วงหน้า ถ้ามีเวลาฉันจะแวะไปร้านแบบนี้ก่อนหากวันนั้นไม่ใช่วันลดราคาของโรงหนัง เขาก็เอาพวก “บัตรล่วงหน้า” ที่เล่าไปนี่แหละค่ะมาขาย เคยซื้อมาราคาประมาณ 1,200-1500 เยน ก็ยังนับว่าถูกกว่าไปซื้อบัตรออนไลน์หรือหน้าเคาน์เตอร์ เพียงแต่บางทีทางร้านก็อาจจะมีหรือไม่มีบัตรชมภาพยนตร์ที่เราต้องการดู

3.คูปองสำหรับผู้ถือหุ้น
ญาติฉันบางคนซื้อหุ้นไว้หลายแห่ง ซึ่งบริษัทเหล่านี้จะคอยส่งคูปองเงินสดหรือบัตรอะไรต่าง ๆ มาให้อยู่เรื่อย ไม่ว่าจะเป็นคูปองเงินสดร้านอาหาร คูปองเงินสดร้านข้าวหน้าเนื้อ คูปองเงินสดห้างสรรพสินค้า บัตรเข้าสวนสนุก หรือกระทั่งคูปองส่วนลดซื้อตั๋วเครื่องบินครึ่งราคา แล้วแต่เป็นบริษัททำธุรกิจอะไร คูปองบางอย่างญาติฉันไม่ได้ใช้จึงส่งมาให้ฉันกับสามี แต่บางอย่างพวกฉันก็ไม่ได้ใช้เหมือนกัน สุดท้ายก็เอาไปขายให้ที่ร้านซื้อขายบัตร ดีกว่าทิ้งไว้จนหมดอายุไปเปล่า ๆ

ภาพจาก https://freetonsha.com/2017/12/17/daikokuya-yabai/
แต่ถ้าไม่ได้ซื้อหุ้น ก็สามารถหาคูปองเหล่านี้จากร้านซื้อขายบัตรถูกที่เล่าไปในข้อสอง เพียงแต่บางทีก็อาจจะถูกกว่าไม่มากเท่าไหร่อย่างที่กล่าวมา แต่ถ้าซื้อหลายใบก็อาจจะคุ้มหน่อย โดยเฉพาะถ้าเป็นคูปองที่ใกล้หมดอายุแล้วอาจจะถูกกว่าคูปองที่ยังใช้ได้อีกนาน

4.ตั๋วรถไฟราคาถูก

รถไฟหลายสายของญี่ปุ่นมักมีตั๋วราคาถูกบางประเภทวางจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็นตั๋วเดือน ตั๋ววันเดียวขึ้นกี่ครั้งก็ได้ ตั๋วชุด 11 ใบ ตั๋วโปรโมชั่น และอื่น ๆ อีกมากมาย สามารถตรวจสอบได้จากปุ่มบนหน้าจอเครื่องขายตั๋วอัตโนมัติ จะมีเขียนว่า “お得なきっぷ” หรือ “お得な乗車券” หรือภาษาอังกฤษ “Value ticket”

4.1 ตั๋วเดือน

สำหรับตั๋วเดือนนั้นจะมีระยะเวลากำหนดแบบ 1 เดือน 3 เดือน หรือ 6 เดือน ราคาถูกกว่าซื้อตั๋วเที่ยวเดียวมาก และสามารถใช้กี่ครั้งก็ได้ตลอดระยะเวลาที่กำหนด แต่จะต้องเดินทางภายในเส้นทางที่ระบุไว้บนบัตรเท่านั้น หากออกนอกเส้นทางต้องจ่ายเพิ่ม ซึ่งเครื่องตรวจตั๋วจะตัดยอดเงินออกจากบัตรโดยอัตโนบัติ

ตั๋วเดือนจะเป็นบัตรเติมเงินซึ่งมีค่ามัดจำบัตร 500 เยน หน้าบัตรจะระบุชื่อเจ้าของบัตร เพศ อายุ ชื่อสถานีต้นทางกับปลายทาง ราคาบัตร และอายุการใช้งาน หากทำหายสามารถขอทำเรื่องออกบัตรใหม่ได้ด้วย มีข้อแม้ว่าตอนทำบัตรครั้งแรกต้องใส่ชื่อนามสกุลตัวเองให้ถูกต้อง

ภาพจาก https://leemanparadise.com/neta/post-5182/
ตั๋วประเภทนี้เรียกว่า “เทขิเค็น” (แปลว่า ‘ตั๋วมีระยะเวลากำหนด’) แต่คนชอบเรียกกันสั้น ๆ ว่า “เทขิ” ซึ่งแปลว่า ‘ระยะเวลาที่กำหนด’ ตอนที่ฉันยังไม่ทราบเรื่องนี้ ครั้งหนึ่งเคยทำงานพิเศษอยู่ร้านอาหาร มีลูกค้าคนหนึ่งที่ออกจากร้านไปแล้วกลับเข้าร้านมาใหม่ วิ่งหน้าตาตื่นมาบอกฉันว่าสงสัยจะทำ “เทขิ” หล่นที่ร้าน ฉันงุนงงที่ได้ยินว่าเธอบอกว่าทำ “ระยะเวลาที่กำหนด” หาย เธอเห็นฉันยืนเซ่อไปจึงไปถามเพื่อนร่วมงานอีกคนแทน แล้วก็ได้บัตรรถไฟของเธอคืน กว่าฉันจะรู้ว่า “เทขิ” ย่อมาจาก “เทขิเค็น” ก็อีกหลายปีให้หลังตอนที่ฉันมีบัตรชนิดนี้แล้ว

4.2 ตั๋วชุด 11 ใบ

ฉันเคยพาครอบครัวเที่ยวในกรุงโตเกียว ตอนนั้นมีกันอยู่ห้าคน ขึ้นรถไฟเส้นทางสั้น ๆ ซึ่งค่ารถไฟต่อเที่ยวสำหรับขาไปและกลับราคาเท่ากัน (เท่ากับว่ามีค่ารถไฟทั้งหมด 10 เที่ยว) ฉันจึงซื้อเป็นตั๋วชุดที่มี 11 ใบแต่ราคาเท่ากับ 10 ใบ ข้อดีอีกอย่างสำหรับตั๋วชนิดนี้คือมีอายุการใช้งาน 3 เดือนนับแต่วันออกตั๋ว ซึ่งหากเรามีตั๋วเหลือและต้องเดินทางด้วยค่าโดยสารที่เกินราคาบนหน้าตั๋ว ก็ยังใช้ตั๋วนี้ได้ เพียงแต่ก่อนจะออกจากสถานีปลายทาง ให้ไปจ่ายเพิ่มที่เครื่องหรือกับเจ้าหน้าที่ก่อนออกจากช่องตรวจตั๋ว แค่นี้ก็ไม่มีปัญหาแล้ว

ภาพจาก https://nstn.at.webry.info/200709/article_4.html
4.3 ตั๋วโปรโมชั่น

ฉันเคยเดินทางจากกรุงโตเกียวไปคามาคุระซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 1 ชั่วโมงโดยรถไฟ โชคดีว่าตอนนั้นอ่านจากคู่มือท่องเที่ยวมาก่อน เลยได้ทราบว่าถ้าไปถึงคามาคุระแล้ว ต้องการนั่งรถไฟหรือรถเมล์ท้องถิ่นหลายเที่ยวในวันเดียว ก็สามารถซื้อตั๋วสุดคุ้มจากเครื่องขายตั๋วอัตโนมัติในกรุงโตเกียวได้ ซึ่งประหยัดไปได้หลายร้อยเยน แต่หลังจากช่วงนั้นพอจะไปคามาคุระอีกที ตั๋วสุดคุ้มนั้นก็ไม่มีขายเสียแล้ว จึงเดาว่าน่าจะเป็นตั๋วโปรโมชั่นเฉพาะช่วงเวลาเท่านั้น

พวกตั๋วรถไฟสุดคุ้มจะมีโปรโมชั่นเป็นช่วง ๆ สามารถเช็คได้จากอินเทอร์เน็ต หรือไม่ก็เวลาไปซื้อตั๋วที่เครื่อง ถ้าไม่มีตั๋วสุดคุ้มที่ต้องการถึงค่อยซื้อเป็นตั๋วราคาปกติ

5.สิทธิพิเศษสำหรับพนักงานบริษัท

บางบริษัทที่เป็นคู่ค้ากันจะมีข้อตกลงเรื่องสิทธิพิเศษสำหรับพนักงานของอีกบริษัทหนึ่งเวลาไปใช้บริการ ตัวอย่างเช่น ฟิตเนสที่ฉันเคยไปใช้บริการนั้นจะมีราคาสำหรับลูกค้าทั่วไป และราคาพิเศษสำหรับลูกค้าที่ทำงานในบริษัทคู่ค้าของฟิตเนสนั้น และตัวคนที่จะไปใช้บริการก็ต้องรู้ว่าสามารถใช้สิทธิพิเศษได้ ไม่งั้นก็เสียสิทธิ์ฟรี

ภาพจาก https://www.s-re.jp/24hours/
คู่ค้าแต่ละเจ้าของฟิตเนสนั้นจะได้รับสิทธิพิเศษไม่เท่ากัน แล้วแต่ว่าทางบริษัทเขาตกลงกันไว้อย่างไรบ้าง อย่างสามีฉันกับเพื่อนฉันทำงานกันคนละบริษัท แม้จะได้สิทธิพิเศษจากฟิตเนสเดียวกันนี้ แต่ราคาพิเศษที่ได้รับไม่เท่ากัน

บริษัทสามีฉันยังได้คูปองรับกาแฟร้อนฟรีโดยไม่ต้องซื้ออาหารจากร้านแฮมเบอร์เกอร์แห่งหนึ่งเป็นจำนวนมากด้วย อย่างนี้ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของสิทธิพิเศษที่บริษัทคู่ค้าให้มาเช่นกัน

6.ส่วนลดร้านอาหารจากหนังสือ, เว็บไซต์

ร้านอาหารในเมืองจำนวนมากจะมีคูปองส่วนลด ของแถม หรือต่อระยะเวลาดื่มไม่อั้นให้ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากหนังสือแจกฟรีที่แนะนำร้านอาหารในย่านต่าง ๆ หรือไม่ก็จากเว็บไซต์แนะนำร้านอาหาร อย่างเช่น Hot Pepper หรือ ぐるなび (กุรุนาบิ) หรือ 食べログ (ทาเบะโรกุ) ถ้าเป็นต่างจังหวัด บางทีส่วนลดร้านอาหารก็อยู่ในคู่มือท่องเที่ยว หรือแผ่นพับประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในย่านนั้น

ภาพจาก https://www.facebook.com/HOTPEPPER.Gourmet/
เวลาจะใช้ส่วนลดแบบนี้ตามร้านอาหาร ต้องบอกพนักงานตั้งแต่ตอนสั่งอาหารเลย บางทีถ้าบอกตอนจ่ายเงินอาจมีโอกาสไม่ได้รับส่วนลด โดยเฉพาะถ้าโปรโมชั่นนั้นหมดอายุแล้ว

7.ส่วนลดจากการเป็นเพื่อนทางไลน์

ฉันเคยเดินผ่านสถานีรถไฟแห่งหนึ่ง เห็นโปสเตอร์ติดไว้ว่าถ้าแอดไลน์ของห้างสรรพสินค้าที่กำหนด จะได้รับคูปองแทนเงินสดสำหรับใช้ในห้างนั้น 500 เยน หรือบางทีไปซื้อเสื้อก็เคยมีพนักงานบอกว่าถ้าแอดไลน์จะได้ส่วนลด 200 เยน วิธีได้รับส่วนลดแบบนี้มีมากขึ้นหลายแห่ง ลองสังเกตบางร้านจะมีป้ายบอกไว้ เผื่อจะได้ไม่เสียสิทธิ์นะคะ

ญี่ปุ่นมีส่วนลดอะไรทำนองนี้ซ่อนอยู่อีกมาก บางทีวันดีคืนดีจ๊ะเอ๋ไปเจอส่วนลดเข้าก็จะตื่นเต้นดีใจเป็นพิเศษ เหมือนได้เจออะไรสนุก ๆ เลยละค่ะ

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้านะคะ สวัสดีค่ะ.

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น”ที่MGR Onlineทุกวันอาทิตย์.



กำลังโหลดความคิดเห็น