xs
xsm
sm
md
lg

ท้าพิสูจน์ “เราเที่ยวด้วยกัน” จ่ายจริง-เที่ยวจริง-เช็กอินจริง คุ้มค่าจริงหรือไม่?

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

เมื่อวันก่อน เพิ่งได้มีโอกาสใช้สิทธิที่พักในโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เข้าพักโรงแรมในจังหวัดทางภาคเหนือ จากที่เคยใช้สิทธิด้วยตัวเอง จึงพอจะอธิบายถึงข้อดีข้อเสีย และข้อแนะนำสำหรับคนที่คิดจะจองที่พักผ่านโครงการนี้มาเล่าสู่กันฟัง

แต่ก่อนอื่น ขออนุญาตชี้แจงจากที่ก่อนหน้านี้ บนโซเชียลต่างวิจารณ์ว่า โรงแรมที่เข้าร่วมโครงการบางแห่ง ปรับราคาห้องพัก "เพิ่มขึ้น" อย่างน่าเกลียด บางคนจองผ่านออนไลน์ ทราเวล เอเจนซี (Online Travel Agency หรือ OTA) ก็ยังได้ราคาที่สูง

ปรากฎว่าหนึ่งใน OTA อย่าง “อโกด้า” ชี้แจงผ่านกองบรรณาธิการ MGR Online ยืนยันว่า ไม่ได้เก็บ “ค่าคอมมิชชัน” เนื่องจากได้พัฒนาแพลตฟอร์มนี้พิเศษให้กับโครงการเราเที่ยวด้วยกันโดยเฉพาะ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศไทย

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาไปตรวจสอบ หากโรงแรมไหนขึ้นบัญชีกับโครงการเราเที่ยวด้วยกัน แต่กลับไปขึ้นราคามากกว่าที่ตกลงกันไว้ จะขึ้น "บัญชีดำ" (แบล็กลิสต์) ไว้ทั้งหมด

ส่วนกระทรวงการคลัง ขอความร่วมมือโรงแรมบางแห่ง เลิกฉวยโอกาสปรับราคาห้องพักให้สูงขึ้น เพราะปัจจุบันผู้บริโภครู้จักวางแผนการเดินทาง มีเทคโนโลยีช่วยเปรียบเทียบราคาและคุณภาพ อาจจะได้ไม่คุ้มเสียในระยะยาว

ปัญหาที่พักราคาแพงน่าจะคลี่คลายไปแล้ว เหลือแต่ช่วงนี้ประชาชนต่างระมัดระวังในการใช้จ่าย เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ในต่างประเทศ บางคนอาจจะชะลอการเดินทางไปก่อน จนกว่าจะมีส่วนลดที่ดีที่สุด

แต่สำหรับคนที่อยากจะเดินทางพักผ่อนต่างจังหวัดในช่วงนี้ เมื่อรัฐบาลสนับสนุนทั้งช่วยออกค่าที่พัก 40% ส่วนลดร้านอาหาร/ท่องเที่ยว 40% และยังเบิกค่าตั๋วเครื่องบินได้ 40% ถือเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในช่วงเวลานี้


ก่อนที่คิดจะจองโรงแรมในโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” อยากจะบอกเอาไว้ก่อนว่า ขอให้เป็นคนที่ตัดสินใจจะเดินทางท่องเที่ยว “แน่นอน” แล้วจริงๆ เพราะหากยกเลิกการจอง หรือไม่ไปเช็กอินตามกำหนด จะขอรับเงินคืนไม่ได้

คนที่จะท่องเที่ยวในลักษณะเช่นนี้ ต้องวางแผนเดินทางล่วงหน้าในระดับหนึ่ง อย่างน้อยที่สุดก็ต้องทำเรื่องลาพักผ่อนประจำปี จองตั๋วเครื่องบินเอาไว้ก่อน ที่สำคัญก็คือ ต้องมีเงินจ่ายค่าโรงแรมและตั๋วเครื่องบิน (ถ้ามี)

สำหรับขั้นตอนการใช้สิทธิในโครงการฯ โดยสรุปก็คือ ให้เตรียมโทรศัพท์มือถือ และบัตรประชาชน ลงทะเบียนที่เว็บไซต์ เราเที่ยวด้วยกัน.com ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” รอ SMS ประมาณ 3 วันทำการ แล้วถึงจองที่พักได้

นอกจากนี้ อยากจะแนะนำให้แอดไลน์ Krungthai Connext ฟรี เพื่อแจ้งเตือนโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ทั้งแจ้งผลการลงทะเบียน แจ้งเตือนการชำระเงินค่าโรงแรม แจ้งเตือนเงินเข้า-ออก G-Wallet และแจ้งเตือนรับเงินคืนค่าตั๋วเครื่องบิน

มีบางคนประสบปัญหาลงทะเบียนไปแล้ว ผ่านไป 3 วันไม่พบว่ามี SMS ตอบกลับมา อาจเป็นเพราะติดวันหยุดยาว ทำให้ได้รับ SMS ล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น แนะนำว่าให้โทรศัพท์ไปที่หมายเลข 0-2111-1144 เพื่อสอบถามเจ้าหน้าที่โดยตรง

การจองโรงแรมมีให้เลือก 2 ช่องทาง คือ จองผ่านโรงแรมโดยตรง กับจองผ่าน OTA ที่ร่วมรายการ มีอยู่ 2 แห่ง ได้แก่ แอปพลิเคชันอโกด้า (AGODA) กับ แอสเซนด์ ทราเวล (Ascend Travel) ซึ่งราคาที่จ่าย คือราคาที่หักส่วนลดจากรัฐบาล 40% เรียบร้อยแล้ว

แม้ราคาที่เสนอขายจะไม่ต่างกันมากนัก แต่เราสามารถเปรียบเทียบราคาได้ด้วยตัวเอง อาจจะเปรียบเทียบระหว่าง OTA กับช่องทางประชาสัมพันธ์ของโรงแรม เช่น เฟซบุ๊กเพจของโรงแรม หรือเว็บไซต์ของโรงแรมก็ได้เช่นกัน

เมื่อจองโรงแรม ชำระเงินสำเร็จ คูปองที่พักจะปรากฎในแอปฯ เป๋าตัง แสดงชื่อโรงแรม วันที่เช็กอิน จำนวนห้องและคืน พร้อมปุ่ม “เช็กอินเพื่อรับคูปองอาหาร/ท่องเที่ยว” นำมาแสดงที่โรงแรมได้เลย


ส่วนขั้นตอนการเข้าพักนั้นไม่ยุ่งยาก นอกจากแสดงบัตรประชาชน กรอกใบ ร.ร.3 ตามปกติแล้ว เราก็กดเมนู “เช็กอินเพื่อรับคูปองอาหาร/ท่องเที่ยว” แล้วคิวอาร์โค้ดจะปรากฎบนจอ ให้พนักงานสแกนคิวอาร์โค้ดผ่านแอปฯ “ถุงเงิน” เป็นอันสำเร็จ




จากประสบการณ์ของผู้เขียนพบว่า หากได้ศึกษารายละเอียดโครงการเราเที่ยวด้วยกัน หรือโครงการชิมช้อปใช้มาก่อน จะรู้สึกว่าไม่ยุ่งยาก แต่หากคนที่ไม่ค่อยได้ทำธุรกรรมแบบอี-เปย์เมนต์ (E-Payment) บ่อยครั้งอาจจะรู้สึกสับสนไปบ้าง

ส่วนคำถามที่ว่า "ที่พักราคาแพงหรือไม่" จังหวัดแรกที่ไปก็คือจังหวัดน่าน เข้าพักที่ โรงแรมน้ำทองน่าน หลังสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดน่าน เป็นห้องซูพีเรีย เตียงแฝด ห้องกว้าง 29 ตารางเมตร พร้อมสระว่ายน้ำและห้องออกกำลังกาย

ปกติแล้วราคาห้องพักที่ขายในอโกด้าอยู่ที่ 918 บาท ไม่รวมอาหารเช้า แต่ได้รับส่วนลดจากรัฐบาลไป 367.20 บาท บวกภาษีและค่าธรรมเนียม 114.58 บาท เท่ากับจ่ายจริงคืนละ 550.80 บาท


อีกวันหนึ่ง ผู้เขียนไปจังหวัดเชียงใหม่ เข้าพักที่ โรงแรมฮอลลิเดย์ การ์เด้น โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท บริเวณถนนห้วยแก้ว ห้องที่ไปพักเป็นแบบสุพีเรียการ์เดน ไม่รวมอาหารเช้า ราคาปกติเริ่มต้นที่ 1,100 บาทต่อคืน

เราจองที่พักไป 2 คืนผ่านอโกด้า ในราคา 1,502.27 บาท แต่ได้รับส่วนลดจากรัฐบาลไป 600.97 บาท บวกภาษีและค่าธรรมเนียม 197.32 บาท เท่ากับจ่ายจริง 901.30 บาท ตกคืนละ 450.65 บาทเท่านั้น

ถือว่าโชคดีที่ไม่เจอโรงแรมที่โก่งราคา ได้ที่พักอย่างดีในราคาเพียงแค่โรงแรม 2-3 ดาวเท่านั้น

ส่วนการเช็กเอาต์ พบว่าเราไม่ต้องทำอะไร หลังคืนกุญแจห้องและพนักงานต้อนรับประสานแม่บ้านให้ตรวจสอบห้องตามปกติแล้ว ทางโรงแรมจะเป็นฝ่ายกดปุ่มเช็กเอาต์ผ่านแอปฯ ถุงเงิน เอง




แต่สำหรับคูปองอาหาร/ท่องเที่ยว 600 บาทต่อวัน แม้มองผิวเผินเหมือนรัฐบาลช่วยจ่ายให้ 40% แต่เราต้องชำระเงินเองอีก 60% โดยการเติมเงินลงใน G-Wallet ผ่านพร้อมเพย์คิวอาร์โค้ด หรือโมบายแบงกิ้ง และตู้เอทีเอ็มก่อนเป็นหลัก

หากจะใช้คูปองอาหาร/ท่องเที่ยวให้เต็มวงเงิน 600 บาท ต้องใช้จ่ายสะสมในช่วงเข้าพักให้ได้ 1,500 บาท โดยที่เราจะต้องจ่ายเองอีก 900 บาท จึงเหมาะสำหรับคนที่มีกำลังซื้อมากกว่า

แต่เมื่อเราค้นหาร้านอาหาร โรงแรม แหล่งท่องเที่ยวที่เข้าร่วมโครงการในเว็บไซต์เราเที่ยวด้วยกัน เมนู “ค้นหากิจการ” พบว่าระบบออกแบบมาไม่ดีเท่าที่ควร ผลการค้นหาเหมือนจะให้เหมารวมทั้งจังหวัด โดยที่เราจะค้นหาแบบรายอำเภอก็ไม่ได้

อีกทั้งเวลาแสดงผลยังระบุแค่ชื่อกิจการ ไม่มีในรูปแบบแผนที่ปักหมุด ซึ่งคนที่จองโรงแรมผ่าน OTA จะคุ้นเคยกับการค้นหารูปแบบนี้มากกว่า เพราะนอกจากจะแสดงผลราคาแล้ว ยังเลือก "กดแผนที่" เพื่อดูทำเลกิจการได้อีกด้วย

ขณะเดียวกัน พบว่าแต่ละร้านค้าจูงใจให้นักท่องเที่ยวชำระเงินผ่านแอปฯ เป๋าตัง น้อยมาก เวลาใช้บริการต้องคอยถามทางร้านอาหาร ร้านค้าก่อนว่า “รับคูปองเราเที่ยวด้วยกันไหมครับ?” ในใจรู้สึกเหมือนกับมาขอส่วนบุญยังไงยังงั้น

ถ้าทางโครงการฯ จะเอาจริงเอาจังกับการให้นักท่องเที่ยวใช้ G-Wallet ก็ควรมีป้าย โปสเตอร์ หรือแผ่นกระดาษระบุว่าเข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ติดไว้ที่กระจก หรือกรอบอะครีลิคหน้าเคาน์เตอร์ให้ชัดเจน เพื่อดึงดูดลูกค้าไปด้วยจะดีมาก

จะมีก็แต่ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ที่อาศัยแคมเปญ “เราเที่ยวด้วยกัน อิ่มด้วยกัน” ให้ร้านอาหารในศูนย์ฯ รับคูปองอาหาร/ท่องเที่ยวในโครงการ ซึ่งถือว่าช่วยได้เยอะ เพราะปัญหาหลักๆ ของนักท่องเที่ยวคือ “ไม่รู้จะเอาไปใช้ที่ไหน?”




ที่กาดหลวง ตลาดวโรรส จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนหน้านี้เคยติดโปสเตอร์ “ชิมช้อปใช้” ซึ่งสิ้นสุดโครงการไปนานแล้วเต็มไปหมด แต่มีร้านค้าแห่งหนึ่ง อย่างแหนมป้าย่น เขียนใส่กระดาษตัวโตๆ ว่า “ขอต้อนรับ เราเที่ยวด้วยกัน” เสียดายที่ร้านปิดไปแล้ว

นึกในใจว่า เจ้าของโครงการอย่าง กระทรวงการคลัง หรือธนาคารกรุงไทย ไม่คิดจะช่วยร้านค้าเหล่านี้หน่อยหรือ?

มีเรื่องตลกอยู่เรื่องหนึ่ง ด้วยความเร่งรีบ แม่ค้าก็ชักชวน เราก็ถามแบบอ้ำๆ อึ้งๆ ว่า “รับแอปฯ เป๋าตังไหมครับ” เขาก็บอกว่ารับค่ะ คิวอาร์โค้ดก็รับ เลยซื้อน้ำพริกหนุ่ม กับแคปหมูไป 400 บาท

ปรากฎว่าตอนคิดเงิน ลูกสาวแม่ค้าชูป้ายห้อยคอคิวอาร์โค้ดบอกว่า “สแกนได้เลยค่ะ” ด้วยความอ้ำอึ้ง คิดว่าร้านคงเข้าใจไปว่ารับชำระด้วย "คิวอาร์โค้ดธรรมดา" เลยต้องเปลี่ยนมาสแกนจ่ายผ่านแอปพลิเคชันธนาคารแบบเต็มจำนวน

กระทั่งเพิ่งนึกได้ว่าที่บ้านฝากซื้อชามะลิ พอจ่ายด้วยเงินสดไปแล้ว ลูกสาวแม่ค้าบอกว่า “เราเที่ยวด้วยกันก็มีนะคะ”

ในใจอึ้งไป 3 วินาที คิดว่า “ทำไมเพิ่งจะมาบอก...” สุดท้ายก็ซื้อสตอร์เบอร์รีอบแห้ง กับลำไยอบแห้งมาเพิ่ม

แม่ค้าบอกกับเราว่า เมื่อวานนี้มีลูกค้ามาใช้แล้ว ปรากฎว่าใช้ไม่ได้ พร้อมกับถือไอแพดที่ติดตั้งแอปฯ “ถุงเงิน” รับสัญญาณไว-ไฟได้อย่างเดียว ปรากฎว่าแอปพลิเคชันช้าและค้างพอสมควร

เราเลยแนะนำให้แม่ค้าปิดไว-ไฟแล้วเปิดใหม่ เพื่อดึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตอีกรอบ แม่ค้ากำลังกดปุ่มค้างเพื่อปิดเครื่อง ดีที่เรากับลูกสาวแม่ค้าเบรกไว้ทัน ลูกสาวแม่ค้าจึงคว้าไอแพดปิดแล้วเปิดไว-ไฟอีกรอบ


ความยุ่งยากในฝั่งผู้ใช้อีกอย่างหนึ่งก็คือ ก่อนหน้านี้ไปกดคูปองโรงแรมที่เช็กเอาต์ไปแล้ว พอสแกนจ่ายปรากฎว่าไม่หักส่วนลด จึงย้อนกลับไปที่เมนูคูปองที่พักอีกรอบ เลือกโรงแรมที่พักอยู่ในปัจจุบัน สแกนจ่ายแล้วจึงปรากฎส่วนลดตามปกติ

คนที่ออกแบบเมนูเราเที่ยวด้วยกัน ในแอปฯ เป๋าตัง ควรมีแท็บแยกระหว่าง “ห้องพักที่กำลังจะมาถึง” กับ “เช็กเอาต์ไปแล้ว” เหมือนกับแอปพลิเคชันสายการบิน เพื่อไม่ให้ฝั่งผู้ใช้สับสนเวลาจะใช้คูปองอาหาร/ท่องเที่ยว


สิทธิอีกอย่างหนึ่งสำหรับคนที่จองที่พักในโครงการก็คือ เราสามารถขอรับเงินสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบินจากรัฐบาลได้ 40% สูงสุด 1,000 บาท หลังเช็กเอาต์ไปแล้ว โดยมีสิทธิตั๋วเครื่องบินเพียงแค่ 2 ล้านสิทธิเท่านั้น

เงื่อนไขก็คือ ต้องเป็นผู้จองโรงแรมและจองตั๋วเครื่องบินในชื่อเดียวกัน (ภาษาอังกฤษ) เท่านั้น วันที่ออกตั๋วต้องเริ่มตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป เดินทางภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2563

เท่ากับว่า คนที่ซื้อตั๋วเครื่องบินล่วงหน้าก่อนวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ไม่ว่าจะจองในราคาปกติ หรือราคาโปรโมชัน ไม่สามารถขอรับเงินสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบินจากรัฐบาลได้

ส่วนวันเดินทางด้วยเครื่องบินต้องห่างจากวันที่เช็กอิน (ขาไป) หรือเช็กเอาต์ (ขากลับ) ไม่เกิน 5 วัน และต้องโดยสารเที่ยวบินนั้นจริง โดยรัฐบาลจะส่งข้อมูลที่กรอกในเว็บไซต์ไปตรวจสอบกับสายการบิน


อีกทั้งจังหวัดที่เดินทางด้วยสายการบินและจังหวัดของโรงแรมที่จอง ต้องอยู่ในกลุ่มจังหวัดเดียวกัน แบ่งออกเป็น 7 กลุ่มตามภูมิภาคต่างๆ อย่างผู้เขียนจองโรงแรมที่น่าน ลงเครื่องบินที่พิษณุโลกก็ได้ เพราะอยู่ในกลุ่มจังหวัดที่ 1 เหมือนกัน

จะมีบางจังหวัดที่ส่วนใหญ่ลงเครื่องที่สนามบินดอนเมืองหรือสุวรรณภูมิ จัดอยู่ในกลุ่มจังหวัดที่ 7 เช่น ภาคกลางถึงกำแพงเพชร ภาคตะวันออกถึงตราด ภาคตะวันตกถึงประจวบคีรีขันธ์ (ไม่รวมตาก) และภาคอีสานเฉพาะจังหวัดนครราชสีมา


ปัจจุบันเปิดให้ลงทะเบียนแล้วทางเว็บไซต์ airline.เราเที่ยวด้วยกัน.com โดยใช้เลขที่บัตรประชาชน และโทรศัพท์มือถือที่ลงทะเบียน จากนั้นให้กรอกชื่อ นามสกุลภาษาอังกฤษ ระบุสายการบินและรหัสการจอง (Booking No.)

น่าสังเกตว่า ตัวเลือกโรงแรมที่พัก จะมีช่องให้เลือกสายการบินและรหัสการจองเพียงช่องเดียว เท่ากับว่าคนที่จองเที่ยวเดียวขาไป และเที่ยวเดียวขากลับ ต้องเลือกเที่ยวบินอย่างใดอย่างหนึ่งที่ต้องการรับเงินคืนเท่านั้น

แต่ไม่ใช่ว่าลงทะเบียนแล้วจะได้รับเงินคืนทันที เพราะจะขึ้นข้อความว่า “ระบบได้รับข้อมูลเรียบร้อย โปรดตรวจสอบผลการขอรับสิทธิผ่านทาง Website” หากเข้าสู่ระบบอีกรอบ จะขึ้นสถานะว่า “ทางระบบกำลังตรวจสอบข้อมูลของท่าน”

ดีที่สุดก็คือ รอให้ระบบแจ้งเตือนรับเงินคืนค่าตั๋วเครื่องบินผ่านทางไลน์ Krungthai Connext ซึ่ง ณ วันที่เขียนต้นฉบับ จำนวนสิทธิตั๋วเครื่องบินเหลือ 2 ล้านสิทธิ แสดงว่ายังไม่มีใครได้สิทธิตรงนั้นไป




ที่น่าสนใจก็คือ ข้อมูลจากกระทรวงการคลัง ณ วันที่ 4 สิงหาคม 2563 ระบุว่า มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกัน 4.75 ล้านคน ลงทะเบียนสำเร็จแล้ว 4.5 ล้านคน กำลังทยอยแจ้งผลทาง SMS

ส่วนการจองโรงแรมพบว่า มีโรงแรมที่จองทั้งสิ้น 3,426 แห่ง ประชาชนนิยมไปจังหวัดชลบุรีมากที่สุด 14,338 ห้อง รองลงมาคือ ประจวบคีรีขันธ์ 6,497 ห้อง กรุงเทพมหานคร 5,261 ห้อง เชียงใหม่ 5,258 ห้อง และกระบี่ 4,626 ห้อง

แสดงให้เห็นว่า แหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดใกล้กรุงเทพฯ เช่น บางแสน พัทยา หัวหิน ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดที่ห่างไกลออกไปพบว่าที่ได้รับความนิยมก็คือ เชียงใหม่ และกระบี่

แม้ผลตอบรับโครงการนี้ยังมีจำนวนน้อย ผ่านไปครึ่งเดือนมีผู้ใช้สิทธิที่พักไม่ถึง 4 แสนราย แต่ทราบมาว่ากำลังจะมีโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 2” ทั้งการกระตุ้นเที่ยวเมืองรอง และเที่ยววันธรรมดามากขึ้น

ถ้าถามว่า อยากให้ปรับปรุงอะไรในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน อย่างแรกคือ "เงื่อนไขการจองโรงแรม" ควรมีความยืดหยุ่น เพราะการห้ามเปลี่ยนแปลงการจองวันที่เข้าพัก ในสถานการณ์ที่ทุกคนต้องระมัดระวัง อาจจะทำให้มีคนลังเลไม่กล้าใช้สิทธิ

แต่ก็เข้าใจเหตุผลของฝั่งกระทรวงการคลัง เคยกล่าวไว้ในช่วงเปิดตัวโครงการว่า ที่ให้นักท่องเที่ยวจองและชำระเงินก่อนเข้าพัก 3 วัน เพื่อให้โรงแรมนำเงินที่ได้จากนักท่องเที่ยวเป็นกระแสเงินสด (Cash Flow) หมุนเวียนกิจการ

อีกอย่างหนึ่งก็คือ คูปองอาหาร/ท่องเที่ยว ควรมีการประชาสัมพันธ์จากฝั่งร้านค้า หรือมีหน่วยงานสนับสนุนมากกว่านี้ ไม่ใช่ต้องให้นักท่องเที่ยวคอยถาม บางครั้งพบข้อมูลกิจการในเว็บไซต์ แต่พอไปใช้บริการจริง กลับบอกว่า “ใช้ไม่ได้” ก็มี

จากประสบการณ์ที่ได้ออกเดินทางก็พอจะบอกได้ว่า โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เป็นโครงการที่ดี ที่นำเทคโนโลยีมากระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ และค่อนข้างจะรัดกุมกว่าโครงการชิมช้อปใช้ ที่แจกเงิน 1,000 บาทแบบหว่านแห 

แต่โครงการนี้ใช้วิธีรัฐช่วยจ่ายส่วนหนึ่ง เราจ่ายเองอีกส่วนหนึ่ง ก็จะได้นักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อจริงๆ ที่พร้อมจะจ่ายหากมีข้อเสนอที่ดีกว่า ซึ่งส่วนลดและเงินคืน 40% ถือว่าไม่ใช่น้อยๆ แทบจะเกือบครึ่งหนึ่งเหมือนกัน

อย่างน้อยนักท่องเที่ยวได้มีโอกาสเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ แม้จะต้องปฏิบัติตามแบบชีวิตวีถีใหม่ (New Normal) ก็ตาม แต่ก็คิดว่าลดความตึงเครียดได้บ้าง ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ครึ่งปีแรกที่ผ่านมา คนไทยแทบจะไม่ได้ออกไปไหนเลย

ส่วนผู้ประกอบการโรงแรม อย่างน้อยก็มี “เครื่องทุ่นแรง” ทางธุรกิจไว้ต่อลมหายใจเล็กๆ น้อยๆ ในช่วงที่แทบจะไม่มีชาวต่างชาติเดินทางมาพักผ่อนในประเทศ และการท่องเที่ยวของไทยซบเซาจากสถานการณ์โรคระบาดทั่วโลกถึงขีดสุด


กำลังโหลดความคิดเห็น