โครงการเราเที่ยวด้วยกัน กำหนด 7 กลุ่มรับสิทธิ์สนับสนุนค่าเดินทางโดยเครื่องบิน 40% สูงสุด 1,000 บาท 2 สิทธิ์ต่อ 1 ห้องพัก พบคนภาคกลาง-ตะวันออก-ตะวันตก (ไม่รวมตาก) และนครราชสีมา อยู่ในกลุ่มพิเศษ ขึ้นเครื่องที่กรุงเทพฯ ไปภาคเหนือ-อีสาน-ใต้ ได้ด้วย
จากกรณีที่รัฐบาลดำเนินโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภาคประชาชนผ่านการท่องเที่ยวภายในประเทศ ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง สนับสนุนการสร้างงานและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในองค์รวม โดยสนับสนุนส่วนลดค่าโรงแรมที่พัก 40% ของราคาที่พักต่อห้องต่อคืน ไม่เกิน 3,000 บาท ต่อห้องต่อคืน จำกัดสิทธิคนละไม่เกิน 5 ห้อง หรือ 5 คืน พร้อมสนับสนุนส่วนลดค่าอาหารและค่าเข้าสถานที่ท่องเที่ยว มูลค่า 600 บาทต่อห้องต่อคืน ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” และสนับสนุนค่าเดินทางโดยเครื่องบินนั้น
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับหลักเกณฑ์ในการสนับสนุนค่าเดินทางโดยเครื่องบินนั้น จะต้องเป็นผู้ที่จองโรงแรมผ่านโครงการเราเที่ยวด้วยกันเท่านั้น โดยมีสิทธิในการได้รับเงินสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบิน 2 สิทธิผู้โดยสาร ต่อ 1 ห้องโรงแรมที่จอง แต่ไม่เกิน 10 สิทธิผู้โดยสารต่อประชาชน ทั้งนี้ เงินสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบินเท่ากับ 40% ของราคาค่าตั๋วเครื่องบิน แต่ไม่เกิน 1,000 บาท ต่อผู้โดยสาร โดยประชาชนต้องจ่ายเงินค่าตั๋วเต็มจำนวนไปก่อน ณ ตอนจองตั๋วเครื่องบิน และต้องมีการเดินทางในเที่ยวบินนั้นจริง รวมถึงเช็กอินและเช็กเอาต์ที่โรงแรมที่จองไว้กับโครงการจริง
โดยตั๋วเครื่องบินเป็นประเภทไปหรือกลับ หรือทั้งไปและกลับจากจังหวัดที่อยู่ภาคเดียวกันจังหวัดที่จองโรงแรม กรณีขึ้นลงคนละจังหวัดก็สามารถทำได้กับเป็นจังหวัดที่อยู่ในภาคเดียวกันกับจังหวัดที่จองโรงแรม ซึ่งวันที่เดินทางไปหรือกลับ ต้องไม่ห่างจากวันเช็กอินหรือเช็กเอาต์โรงแรมที่จองผ่านโครงการไม่เกิน 5 วัน และการเดินทางกลับจากการท่องเที่ยวจะต้องอยู่ภายใน 31 ตุลาคม 2563 ทั้งนี้ วันที่ออกตั๋วเครื่องบิน (Issue Date) ต้องเป็นตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป
สำหรับการลงทะเบียนรับสิทธิตั๋วเครื่องบิน คลิกที่เว็บไซต์ เราเที่ยวด้วยกัน.com/register/user เลือก “ลงทะเบียนรับสิทธิตั๋วเครื่องบิน”
สำหรับเส้นทางและกลุ่มจังหวัดในภาคต่างๆ ตามที่โครงการกำหนด ประกอบด้วย กลุ่มจังหวัดที่ 1 ภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย (CEI) เชียงใหม่ (CNX) น่าน (NNT) พะเยา แพร่ (PRH) แม่ฮ่องสอน (HGN) ลำปาง (LPT) ลำพูน อุตรดิตถ์ ตาก (MAQ) พิษณุโลก (PHS) สุโขทัย (THS)
กลุ่มจังหวัดที่ 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บึงกาฬ บุรีรัมย์ (BFV) มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด (ROI) เลย (LOE) สกลนคร (SNO) สุรินทร์ ศรีสะเกษ หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี (UTH) อุบลราชธานี (UBP) อำนาจเจริญ
กลุ่มจังหวัดที่ 3 ภาคกลาง ได้แก่ กรุงเทพฯ (DMK) กำแพงเพชร ชัยนาท นครนายก นครปฐม นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ลพบุรี สมุทรปราการ (BKK) สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สระบุรี อ่างทอง อุทัยธานี
กลุ่มจังหวัดที่ 4 ภาคตะวันออก ได้แก่ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด (TDX) ปราจีนบุรี ระยอง (UTP) สระแก้ว
กลุ่มจังหวัดที่ 5 ภาคตะวันตก ได้แก่ กาญจนบุรี ตาก (MAQ) ประจวบคีรีขันธ์ (HHQ) เพชรบุรี ราชบุรี
กลุ่มจังหวัดที่ 6 ภาคใต้ ได้แก่ กระบี่ (KBV) ชุมพร (KKC) ตรัง (TST) นครศรีธรรมราช (NST) นราธิวาส (NAW) ปัตตานี พังงา พัทลุง ภูเก็ต (HKT) ระนอง (UNN) สตูล สงขลา (HDY) สุราษฎร์ธานี (URT, USM) ยะลา
และ กลุ่มจังหวัดที่ 7 จังหวัดเมืองท่องเที่ยว กรุงเทพฯ + สมุทรปราการ ได้แก่ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก (ไม่รวม ตาก) และ นครราชสีมา
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สาเหตุที่กำหนดกลุ่มจังหวัดที่ 7 เพิ่มเติม คาดว่า เพื่อครอบคลุมผู้โดยสารที่จะมาใช้บริการที่ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อเดินทางไปยังกลุ่มจังหวัดที่ 1 (ภาคเหนือ) กลุ่มจังหวัดที่ 2 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) และกลุ่มจังหวัดที่ 6 (ภาคใต้) โดยเพิ่มจังหวัดนครราชสีมา เนื่องจากท่าอากาศยานนครราชสีมา ไม่มีเที่ยวบินพาณิชย์ให้บริการ นักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งนิยมไปขึ้นเครื่องที่กรุงเทพฯ เพื่อเดินทางไปยังภาคเหนือและภาคใต้ รวมทั้งกรณีที่คนต่างจังหวัดจะไปพักรีสอร์ตที่เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา สามารถลงเครื่องที่กรุงเทพฯ เพื่อไปยังเขาใหญ่เช่นกัน แต่ที่ไม่รวมจังหวัดตาก เนื่องจากอยู่ในกลุ่มจังหวัดที่ 1 ซึ่งท่าอากาศยานที่ใกล้ที่สุด คือ ท่าอากาศยานสุโขทัย (THS) และท่าอากาศยานพิษณุโลก (PHS) และกลุ่มจังหวัดที่ 5 ซึ่งมีเที่ยวบินจากท่าอากาศยานดอนเมือง (DMK) ไปยังท่าอากาศยานแม่สอด (MAQ) อยู่แล้ว